กรมทรัพยากรธรณี ชี้แจงกรณีเครือข่ายประชาชนร้องเรียนเอกชนขอสัมปทานแหล่งหินในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ระบุสามารถดำเนินการได้แต่ต้องไม่กระทบต่อแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญหรือพื้นที่นั้นต้องไม่เป็นแหล่งธรณีวิทยา
26 มี.ค. 2565 กรมทรัพยากรธรณีแจ้งข่าวต่อสื่อวลชนว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนหลายสื่อกรณีเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยื่นหนังสือร้องเรียน กรณีบริษัทเอกชนขอสัมปทานระเบิดเหมืองหิน ในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีระดับโลกของประเทศไทย บริเวณภูเขา จำนวน 3 ลูก ได้แก่ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า เขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู และเขาโต๊ะกรัง อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายประชาชนร้องยูเนสโก-กมธ.ที่ดินฯ สอบสัมปทานระเบิดหินภูเขา 3 ลูกในอุทยานธรณีโลก จ.สตูล
กรมทรัพยากรธรณี ขอเรียนชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริง ดังนี้
1. กรณีการขออนุญาตทำเหมืองหิน อำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง เป็นการขอนุญาตทำเหมืองหิน ที่อยู่นอกพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลและกรณีเขาลูกเล็กลูกใหญ่ อำเภอทุ่งหว้า และเขาจูหนุงนุ้ย อำเภอละงู เป็นการขออนุญาตทำเหมืองหิน ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล สามารถดำเนินการได้ทั้งสองกรณี แต่ต้องไม่กระทบต่อแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ หรือพื้นที่นั้นต้องไม่เป็นแหล่งธรณีวิทยา หรือแหล่งประเภทอื่นๆ ทั้งนี้การขออนุญาตประกอบกิจการและการทำเหมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแร่อย่างเคร่งครัด โดยต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ตามหลักการที่กฎหมายกำหนด และกรณีที่พบซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
2. อุทยานธรณีโลกสตูล ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอเมือง กรณีการขอขยายพื้นที่อุทยานธรณี ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก คือ กำหนดให้อุทยานธรณีโลกใดๆ ที่จะขอขยายพื้นที่ออกไปนั้น พื้นที่ที่จะขยายจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมดที่เคยประกาศไว้ โดยต้องทำเรื่องเสนอไปที่ยูเนสโก ทั้งนี้ ต้องมีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เช่น การค้นพบแหล่งที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาอื่น หรือแหล่งที่สำคัญอื่น ๆ หรือเหตุผลในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งหากมีการขอขยายพื้นที่เพิ่มเติม จะเป็นการดำเนินการเหมือนการสมัครขอรับการรับรองใหม่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก หากมีเหตุผลไม่เพียงพอ ทั้งนี้สภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจะมีการพิจารณาในการประชุม ช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี