Skip to main content
sharethis

‘เอเนออส’ บ.พลังงานยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น จ่อถอนตัวจากโครงการผลิตก๊าซ ‘เยตะกุน’ ในเมียนมา ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ระงับการลงทุน เกรงให้เงิน 'มินอ่องหล่าย' ซื้ออาวุธ-KNLA กองพล 6 ตรงข้าม จ.ตาก ยังคงรบเดือดกับกองทัพพม่า ชาวบ้านหนีตายมาบริเวณชายแดนพม่า-ไทยนับพัน 

 


28 มี.ค. 65 สำนักข่าวประเทศญี่ปุ่น ‘นิเคอิ เอเชีย’ รายงานเมื่อ 25 มี.ค. 65 ว่า เอเนออส โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทโรงกลั่นน้ำมันชั้นนำของญี่ปุ่น จะถอนตัวจากโครงการก๊าซ ‘เยตะกุน’ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางทิศใต้ของเมียนมา ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า โครงการดังกล่าวเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเผด็จการพม่าใช้ปราบประชาชน 

แผนที่ : โครงการผลิตก๊าซ เยตะกุน (ที่มา เว็บไซต์บริษัท JX Nippon Oil and Gas Exploration)

สำหรับโครงการผลิตก๊าซ ‘เยตะกุน’ ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลและบริษัทญี่ปุ่น แต่เรื่องดังกล่าวกลายเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการต่อ หลังบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ป. ของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่าจะถอนตัวจากโครงการดังกล่าว

บริษัทสำรวจ นิปปอน ออยล์ (เมียนมาร์) (Nippon Oil Exploration (Myanmar)) เข้ามาลงทุนเป็นหุ้นส่วนในโครงการเยตะกุน ตั้งแต่ปี 2534 และเริ่มผลิตก๊าซอย่างเป็นทางการในปี 2543 ทั้งนี้ บริษัท นิปปอน ออยล์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น เอเนออส ร่วมกับ บริษัทสำรวจ เจเอ็กซ์ นิปปอน ออยล์ แอนด์ ก๊าซ (JX Nippon Oil and Gas Exploration) และ มิตซูบิชิ คอร์ป. ปัจจุบัน ถือหุ้นในโครงการผลิตก๊าซเยตะกุน อยู่ที่ 19.3 เปอร์เซ็นต์ 

บริษัทสำรวจ นิปปอน ออยล์ (เมียนมาร์) (Nippon Oil Exploration (Myanmar)) ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่น รัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้นของบริษัทนี้ จำนวน 50% ขณะที่ บ.สำรวจ เจเอ็กซ์ นิปปอน ออยล์ แอนด์ ก๊าซ (JX Nippon Oil and Gas Exploration) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ 'บ.เอเนออส' ถือหุ้น 40% และมิตซูบิชิ คอร์ป. อีก 10% ขณะที่บริษัทพลังงานของประเทศมาเลเซีย ‘ปิโตนาส’ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ มีแผนจะถอนตัวออกจากโครงการเยตะกุน 

ผลผลิตของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ เยตะกุน ลดลงตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติถูกส่งออกให้ประเทศไทยผ่านทางท่อส่งก๊าซ โดยเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 16 ล้านคิวบิกฟุตต่อวัน ซึ่งลดลงถึง 96 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผลิตก๊าซได้สูงสุดเมื่อปี 2550 

‘เอเนออส’ ยังไม่สามารถหาผู้ซื้อหุ้นที่สนใจในโครงการเยตะกุน รับช่วงต่อได้ และการถอนตัวออกอาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับภาวะการขาดทุน 

ทั้งนี้ อ้างอิงจากยื่นหลังทรัพย์ของบริษัทเอเนออส เมื่อ มี.ค.ปีที่แล้ว ทุนของบริษัท Nippon Oil Exploration (Myanmar) อยู่ที่ 3.54 พันล้านเยน (หรือ 29.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

ภาพโครงการผลิตก๊าซ เยตะกุน (จากเว็บไซต์ TNS)

ก่อนหน้าการประกาศถอนตัวของเอเนออส องค์กรสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นๆ พยายามรณรงค์เรียกร้องให้นักลงทุนต่างชาติระงับการลงทุนในโครงการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเมียนมา โดยอ้างว่าโครงการเหล่านี้เป็นแหล่งทุนของบริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ซ (MOGE) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเมียนมา และมีสายสัมพันธ์กับธุรกิจของกองทัพ

ก่อนหน้านี้ โททาล เอเนอยี่ จากฝรั่งเศส และเชฟรอน ของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะถอนตัวจากโครงการผลิตก๊าซในพม่า ‘ยานาดา’ ขณะเดียวกัน บริษัท ปตท. (PTT) ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของ ได้รับหุ้นส่วนต่อจากบริษัทโททาล และกำลังจะกลายเป็นผู้ดำเนินโครงการยานาดา ซึ่งจะมีผลในเดือน ก.ค.นี้ และบริษัทโพสโค อินเตอร์เนชั่นแนล ของประเทศเกาหลีใต้ ตัดสินใจลงทุนเพิ่มในโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับโครงการเยตากุนมีผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ บริษัทปิโตรนาส กับ พีซี เมียนมา (ฮ่องกง) อยู่ที่ 40.9% ตามมาด้วยบริษัทเมียนมาออยแอนด์ก๊าซ (MOGE) ของรัฐบาลพม่า อยู่ที่ 20.5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ มีบริษัทของญี่ปุ่นที่นำโดยรัฐบาล และเอเนอออส และ บริษัทสำรวจเจเอ็กซ์ นิปปอน ออยล์ แอนด์ ก๊าซ ถือหุ้นอีก 19.3 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงบริษัท PTTEP ของไทยอีก 19.3 เปอร์เซ็นต์

ภาพผู้ถือหุ้นในโครงการเยตะกุน (ที่มา เว็บไซต์ ปตท.สผ. เมียนมาร์)

KNLA กองพล 6 รบกองทัพพม่าต่อเนื่อง  

28  มี.ค. 65 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวานนี้ (27 มี.ค.) นายซอบออะ ผู้เชี่ยวชาญชาวกะเหรี่ยงซึ่งติดตามสถานการณ์การสู้รบชายแดนไทย-พม่าอย่างใกล้ชิด เผยว่า เมื่อ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.อุ้มผาง จ.ตาก ส่งผลให้มีชาวบ้านฝั่งรัฐกะเหรี่ยงอพยพมายังบริเวณชายแดนอุ้มผางหลายจุด เนื่องจากมีการแจ้งเตือนจากกองพล 6 แห่งกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA ซึ่งเป็นปีกกองทัพของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ว่าจะมีการโจมตีฐานพม่าที่อยู่ประชิดชายแดน จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม KNLA กองพัน 201 ได้เข้าโจมตีและยึดพื้นฐานมอคี ของทหารพม่าได้สำเร็จ

นายซอบอบะ กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านอพยพเข้ามาก่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อมีการโจมตีฐานทหารพม่า ทางกองทัพพม่าจะมีปฏิบัติการทางอากาศ ทั้งนี้ ภายหลังจากทหารพม่าถูกยึดฐานแล้ว ล่าสุด กองทัพพม่าเสริมกำลังเพื่อที่จะยึดพื้นที่คืน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดชายแดนลักษณะหูช้างบริเวณรอยต่อ อ.พบพระ กับ อ.อุ้มผาง ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ของ KNU แต่ถูกทหารพม่ามายึดไป ขณะที่ในวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา KNU กองพัน 103 ได้เข้าโจมตีทหารพม่าที่บ้านคีกะเปอ บริเวณตรงข้ามบ้านหนองหลวง อ.อุ้มผาง แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากทหารพม่าใช้อากาศยานตอบโต้ทำให้ทหารกะเหรี่ยงต้องถอนตัว

ผู้เชี่ยวชาญชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่า ภายหลังจากมีข่าวว่าพม่าเสริมกำลัง ทำให้ชาวบ้านหนีมาอยู่ชายแดนไทยด้าน อ.อุ้มผาง มากขึ้น จำนวนราว 3 พันคน ซึ่งขณะนี้คนในพื้นที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับหนึ่ง นอกจากจุดนี้แล้ว ในส่วนของชายแดนด้าน อ.แม่สอด ยังคงมีชาวบ้านอพยพอยู่ริมน้ำเมยราว 4 พันคน โดยชาวบ้านกลุ่มนี้อพยพมาตั้งแต่การสู้รบใหญ่เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 64 ซึ่งยังกลับบ้านไม่ได้ เพราะทหารพม่ายังเสริมกำลังอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเช้าวันที่ 25 มี.ค. 65 เกิดเหตุระเบิดขึ้นในเมืองเมียวดี คาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ ซึ่งในตอนนี้การสู้รบระหว่างกำลัง KNU ทหารพม่า กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีใจเมตตา (DKBA) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด DKBA สั่งปลดนายทหารระดับผู้บังคับการกองพัน เพราะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ KNU โจมตีทหารพม่า

ผู้พลัดถิ่นจากพม่า (ภาพจาก สำนักข่าวชายขอบ)

“สถานการณ์การสู้รบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตอนนี้ฝั่งตรงข้ามบ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง ได้เกิดการปะทะกันซึ่งอยู่ในความดูแลของ KNU กองพล 6 และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 (ผู้สื่อข่าว - เดือน มี.ค.) ทางจังหวัดดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ได้มีคำสั่งห้ามสัญจรบนถนน AH1 (เมียวดี-กอกะเร็ก) จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้เหตุผลว่า กองทัพพม่าได้ใช้เส้นทางนี้เคลื่อนกำลังพลจึงเกรงว่า ชาวบ้านจะไม่ได้รับความปลอดภัย และทางกองพล 6 KNU ได้มีคำสั่งให้ทุกกองพันเตรียมตัวเปิดศึกเพราะหลายพื้นที่ทหารพม่าได้ข่มขู่ชาวบ้าน จึงควรกำจัดทหารพม่าออกไป” ซอบอบะ กล่าว

นายซอบอบะ กล่าวว่า เมื่อเช้าวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 02.00 น. ทหารพม่าได้ใช้อากาศยานทิ้งระเบิดฐาน KNU ตรงข้ามกับ อ.อุ้มผาง ทำให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีการสูญเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บ ซึ่งปฏิบัติการทางอากาศของทหารพม่ามักเกิดขึ้นเสมอเมื่อเกิดเหตุปะทะกัน 

KNLA กองพล 5 รุกคืบเมืองผาปูน

ส่วนสถานการณ์การสู้รบระหว่าง KNU กองพล 5 ด้านตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น เมื่อเวลา 03.00 น. ทหารพม่าได้มีการโจมตีทางอากาศที่เมืองเดปูโหน่ ซึ่งมีบ้านเรือนเสียหาย 2 หลัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะชาวบ้านไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านช่วงกลางคืนแต่หลบไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

“สาเหตุที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและ KNU ยังหนักหน่วง เพราะ KNU กองพล 5 มีความเข้มแข็ง และรุกคืบคุมพื้นที่ภาคพื้นดินได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เข้าไปเกือบถึงเมืองผาปูน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของรัฐกะเหรี่ยง ผมเชื่อว่าหากไม่ติดชุมชนโดยรอบ กองพล 5 คงรุกคืบเข้าไปในเมืองผาปูนแล้ว ตอนนี้กองกำลังทหารพม่ากำลังเสียขวัญและทหารพม่าได้หนีทัพกันจำนวนมาก ทำให้ทหารกะเหรี่ยงรุกคืบในหลายพื้นที่ ส่วน KNU กองพล 6 ทหารพม่ามองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่กองกำลังประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า เขาจึงมุ่งโจมตีในสถานการณ์แบบนี้ผมคิดว่า หากคนกะเหรี่ยงมีความสามัคคีกกัน ยิ่งเกิดความได้เปรียบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากวันนี้ 27 มี.ค. เป็นวันกองทัพพม่า แต่กลับไม่มีการจัดงานวันกองทัพพม่าในพื้นที่เมืองเมียวดี หรือเมืองสำคัญๆ ของพม่า จัดเพียงที่กรุงเนปยีดอแห่งเดียว”

ทหารพม่าประสานไทย งดช่วยผู้ลี้ภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ช่วงบ่ายวันที่ 27 มี.ค. 65 ทหารพม่าได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำโจมตีทหาร KNU บริเวรณชายแดนตรงข้ามหมู่บ้านห้วยน้ำนัก อ.พบพระ จ.ตาก ทำให้ชาวกะเหรี่ยง 270 คนต้องอพยพมาฝั่งไทย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าทหารพม่าได้ประสานมายังทหารไทยทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลางเพื่อขอไม่ให้ส่งผ่านความช่วยเหลือใดๆ ไปยังกลุ่มชาวกะเหรี่ยงที่อพยพหนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดน โดยทหารพม่าให้เหตุผลว่าอาจเป็นการสนับสนุนกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่ต่อต้านกองทัพพม่า ทำให้ขณะนี้มีคำสั่งห้ามสื่อมวลชนและภาคประชาชนไทยเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะห้ามส่งภาพถ่ายกลุ่มผู้อพยพเผยแพร่สู่สาธารณชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net