2 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการควบคุมการระบาดของการชุมนุมและเสียงวิจารณ์

25 มี.ค. 2563 คือวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 เวลาล่วงเลยมาสองปี พ.ร.ก. ยังถูกต่ออายุ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่าสามล้านคน และจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมแตะ 1,447 ราย

ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจับกุมผู้ชุมนุมรายหนึ่งเมื่อ 28 ก.ย. 2564 (ภาพโดย แมวส้ม)

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถูกนำกลับมาบังคับใช้ทั่วประเทศในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกเริ่มระบาดในประเทศไทย ในทางอำนาจ มันคือการดึงอำนาจบริหารจากมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ กลับมาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีและโครงสร้างหน่วยงานราชการภายใต้กระรทรวงเพื่อกระชับอำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 หลังจากนั้นก็มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจอย่างศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และประกาศยิบย่อยสารพัด ตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นชัดเจนก็คือการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว และการดำเนินคดีต่อประชาชนจำนวนราว 1,400 คนที่เกี่ยวข้องกับการออกมาชุมนุมทางการเมือง

ควบคุมโรค และ/หรือ ควบคุมเสียงผู้ไม่พอใจ

ท่ามกลางการประโคมกระแสจากภาครัฐเรื่องชีวิต “นววิถี” ที่แปลงมาจากคำว่าภาวะปกติใหม่หรือ new normal พ.ร.ก. ฉุกเฉินถูกต่ออายุมาทีละสามเดือนโดยมติคณะรัฐมนตรี ถูกตีความอย่างกว้างขวางเพื่อจำกัดการชุมนุมมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ตามข้อห้ามที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในหมวดหมู่ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งต่อมาก็ปรากฎอยู่ในการประกาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่ชุมนุม และในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาของผู้ถูกดำเนินคดีอีกที

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) มองว่าข้อห้ามเรื่องการชุมนุมถูกใช้เพื่อควบคุมการประท้วงเสียเป็นส่วนใหญ่ อ้างอิงจากจำนวนคดีความที่ผู้ชุมนุมที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้พฤติการณ์จะไม่สอดคล้องกับข้อห้ามตามกฎหมายก็ตาม 

เมื่อ 10 ธ.ค. 2564 กลุ่มนักกิจกรรมจำนวนราว 10 คนนัดรวมตัวกันที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ถนนราชดำเนินเพื่อยื่นจดหมายให้กับทาง UN เกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย แม้ขณะนั้น พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกประกาศเป็นพื้นที่สีฟ้าเพื่อนำร่องการกลับมาเปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ผู้ชุมนุมในวันนั้นก็ยังถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้การชุมนุมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ควบคุมก็ตาม

ยิ่งชีพเล่าต่อไปว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกใช้เป็นเหตุผลของตำรวจในการสั่งให้เลิกชุมนุม แม้จะยังไม่เห็นพฤติการณ์ของการทำให้เกิดการระบาดก็ตาม นอกจากนั้น สถานการณ์ฉุกเฉินยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมอีกด้วย

“การสลายการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า การชุมนุมมันไม่ผิดกฎหมายอะไร เขาไม่มีสิทธิสลาย เขาก็เลยอ้างว่ามันผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขาเลยมีอำนาจสลาย ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขายิงไม่ได้” ยิ่งชีพกล่าว

ในทางจำนวน ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) รายงานว่า ณ วันที่ 22 มี.ค. 2565 มีประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งสิ้น 1,447 รายใน 629 คดี ในจำนวนนี้มี 24 รายที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงที่มีการประกาศในช่วงวันที่ 15-21 ต.ค. 2563

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าเท่าที่ทราบ ยังไม่มีรายงานการเกิดคลัสเตอร์การระบาดจากที่ชุมนุม และการชุมนุมที่มีจุดยืนสนับสนุนภาครัฐไม่ถูกดำเนินคดี ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนมากมักจะเป็นฐานความผิดเล็กน้อยที่มีโทษปรับ ซึ่งส่วนนี้เธอมองว่าเป็นมาตรฐานที่ดีซึ่งควรจะถูกใช้กับการชุมนุมที่มีจุดยืนแตกต่างกันด้วย

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 12 คดี เล่าว่า ส่วนมากคำฟ้องมักจะมีการอ้างว่าการชุมนุมสร้างความเดือดร้อนต่อสาธารณะและมักกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลานั้นๆ 

“แต่ในหลายๆ คดี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์โควิดในตอนนั้น ถ้าเทียบกับตอนนี้คือไม่แรงมาก ก็มีตัวเลขที่ประมาณหลักสิบกว่าคนต่อวัน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่พอเข้าไปสืบจริงๆ แล้วเราก็บอกว่า ณ ขณะนั้นมันไม่ได้มีวิกฤตการติดเชื้อโควิด-19 มากเท่าตอนนี้ แต่ก็กลับถูกบังคับใช้ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอาจเห็นถึงความไม่เหมาะสมของการหยิบใช้ พ.ร.ก. ตัวนี้ ที่ดูเจตนาแล้วเหมือนจะเอามารใช้โจมตีหรือจำกัดเสรีภาพผู้ชุมนุมหรือเปล่า” 

แต่ไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งสำหรับการสู้คดีมากขนาดไหน ขั้นตอนทางกฎหมายจำนวน  12 คดีทำให้ภัสราวลีรู้สึกเสียเวลาในการดำเนินชีวิตมากๆ เธอเล่าว่า การเดินทางจากที่อยู่ของเธอที่อยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ มักใช้เวลาเฉลี่ยวันละสี่ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีเวลาในการรอ การดำเนินการตามกระบวนการ และการเตรียมตัวเพื่อสู้คดี

ยิ่งชีพ (แถวหลังคนที่สาม จากซ้ายไปขวา) ภัสราวลี (แถวหน้าคนที่ห้า จากซ้ายไปขวา) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นสืบเนื่องจากการร่วมกิจกรรมการชุมนุมเมื่อ 24 มี.ค. 2564

นอกจากการแสดงออกทางการเมืองแล้ว การทำงานของสื่อมวลชนก็ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน การประกาศบังคับใช้ข้อบังคับฉบับที่ 27 ที่ประกาศเมื่อกลางเดือน ก.ค. 2564 ที่ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความหวาดกลัวต่อสาธารณะ ซึ่งข้อห้ามไม่ได้กำหนดว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่เท็จหรือจริง และข้อบังคับฉบับที่ 29 ที่บังคับใช้เมื่อ 2 ส.ค.  ในปีเดียวกันที่ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้เผยแพร่ข้อมูลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ

คำสั่งที่ 29 ถูกเพิกถอนในวันที่ 10 ส.ค. หลังศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ ภาคประชาชน และภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวและฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว

ตัวแทนสื่อมวลชนและภาคประชาชนแถลงข่าวก่อนเดินเข้าศาลแพ่งเมื่อ 2 ส.ค. 2564

ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง สำนักข่าวประชาไท วอยซ์ทีวี เดอะสแตนดาร์ด และเดอะรีพอร์ตเตอร์ และเพจเฟซบุ๊คเยาวชนปลดแอก ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องต่อศาลให้ลบเนื้อหาและปิดช่องทางการเผยแพร่ข่าว สืบเนื่องจากการรายงานข่าวการชุมนุมที่เรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์ ต่อมาศาลได้ยกเลิกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้แสดงเหตุความผิดชัดเจน และการดำเนินงานของสื่อได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

สื่อพลเมืองที่ไม่มีสังกัดกับองค์กรสื่อที่เป็นทางการก็ตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยเช่นกัน เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ยังมีการประกาศเคอร์ฟิว ณัฐพงษ์ มาลี และปนิดา (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมขณะรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุหลังจับกุมว่ายูทูปเบอร์และสื่ออิสระไม่สามารถอยู่รายงานข่าวได้ถ้าหากไม่สามารถระบุสังกัดอย่างชัดเจน

โอกาสของการลอยนวลพ้นผิด

ตำรวจควบคุมฝูงชนยิงอาวุธปืนไม่ทราบชนิดกระสุน เหตุเกิดระหว่างการชุมนุมเมื่อ 28 ก.ย. (ภาพโดย แมวส้ม)

แม้การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจทางปกครองโดยตรง เพราะเป็นการที่รัฐออกคำสั่งให้ประชาชนปฏิบัติตาม แต่ว่ามาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตัดกลไกการตรวจสอบภาครัฐผ่านศาลปกครองออกไป โดยมีใจความว่า

"มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง" 

นอกจากนั้น มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ โดยระบุว่า 

"พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกําหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทําผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทําที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่" 

ยิ่งชีพมองว่าหากไม่มีมาตราที่ 17 คงจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเป็นจำนวนมาก และคงจะมีคนที่ชนะคดี ภายใต้เงื่อนไขนี้ ประชาชนที่ต้องการฟ้องร้องค่าเสียหายก็จะต้องไปศาลแพ่งซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อน กินเวลายาวนานและมีต้นทุนที่ต้องจ่ายมากกว่า ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้ร้องต้องดีดลูกคิดเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าก่อนที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ผู้จัดการไอลอว์ที่ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 10 คดีเล่าถึงความผิดแปลกที่เจอภายใต้กระบวนการดำเนินคดี ประการแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนอยากจะทำคดีให้เสร็จๆ ไป เช่น มีผู้ต้องหา 10 คน ตำรวจก็จะเตรียมพนักงานสอบสวนและเครื่องพิมพ์เอาไว้ในจำนวนที่เท่ากัน เพื่อทำให้ทุกอย่างเสร็จเร็วที่สุด 

ประการที่สอง ตำรวจไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดของความผิดที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไป ตนเคยถามถึงรายละเอียดข้อกำหนดที่นำมาใช้เป็นฐานในการดำเนินคดี เช่น ข้อกำหนดไหนออกก่อน ออกหลัง ข้อกำหนดที่แจ้งมานั้นใช้งานด้วยกันอย่างไร แต่ตำรวจก็อธิบายไม่ได้ นอกจากนั้นยังไม่สามารถอธิบายว่าการชุมนุมแต่ละครั้งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไร ก่อความไม่สงบอย่างไร กระบวนการการสืบสวนมิชอบเช่นนี้ ที่จริงสามารถฟ้องร้องในฐานการปฎิบัติหน้ามิชอบได้ หากแต่มีข้อกำหนดที่ยกเว้นการรับผิดมาครอบอยู่ตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครอบเอาไว้อยู่

“ที่ผ่านมา ตำรวจไม่เคยอธิบายว่าการชุมนุมแต่ละครั้งมันเสี่ยงต่อการแพร่โรคอย่างไร ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยอย่างไร เขาอธิบายแค่ว่าเราเข้าไปร่วมชุมนุมในสถานที่แห่งนั้น เราก็ได้ตั้งคำถามกลับไป ตำรวจก็ยืนยันว่าเขาจะไม่อธิบาย เราก็บอกว่าถ้าเขาไม่อธิบาย เขาผิดนะ เขาก็บอกว่าเขาจะเอาแค่นี้แหละ ซึ่งในทางกฎหมายมันคือการสอบสวนไม่ชอบนะ คุณไม่ได้อธิบายพฤติการณ์ที่ครบถ้วนให้เห็นองค์ประกอบ แล้วคุณสอบสวน ก็คือสอบสวนไม่ได้ ถึงศาลต้องยกฟ้องทันที ตำรวจก็รู้ข้อกฎหมายนี้อยู่ แต่ก็ขี้เกียจที่จะทำให้ถูกต้อง ก็ทำๆ แบบนี้ไป”

ภาวะ (ไม่) ปกติใหม่

ยิ่งชีพและพูนสุขเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องหาแนวทางอื่นๆ ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แทนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกี่ยข้องกับความมั่นคงและภาวะสงคราม

“ถ้าดูสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐพยายามจะโปรโมทว่ามันจะเป็นโรคประจำถิ่น แปลว่ามันไม่ได้มีความอันตรายหรือน่ากลัวระดับนั้นหรือเปล่า ข้อสังเกตที่สองก็คือ โควิดมันเป็นเรื่องในการจัดการมากกว่า การห้ามขาด หรือถึงจะบอกว่าห้ามขาด แต่ไปชุมนุมแล้วดำเนินคดีทุกกรณี โดยลักษณะมันก็คือการห้าม โดยไม่ให้ออกไปทำกิจกรรมใดๆ โควิดเป็นเรื่องการจัดการ ประชาชนจึงควรออกไปชุมนุมได้ แต่ถ้าบังคับใส่หน้ากากอนามัย อันนี้คิดว่าประชาชนน่าจะยอมรับได้และเป็นส่วนในการทั้งป้องกันโรคและเคารพเสรีภาพในการชุมนุมด้วย"

"เราคิดว่าการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้เพื่อควบคุมโรค มันเป็นการใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงเสียทีเดียว จริงๆ เรามี พ.ร.บ. โรคติดต่ออยู่แล้ว ระยะเวลา 2 ปี จริงๆ มันเพียงพอที่ ถ้ากฎหมายเดิมไม่ครอบคลุม รัฐก็มีโอกาสและมีเสียงข้างมากในมือ ควรจะแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากลและนำมาบังคับใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาควบคุมโรค ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ควบคุมโรค มันถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมเรื่องความมั่นคงและเราก็เห็นได้ชัดเจนว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพของคนที่มาใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง” พูนสุขกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าคดีที่พอกพูนเหล่านี้สามารถจัดการทางนโยบายได้ด้วยการสั่งไม่ฟ้อง เพื่อประหยัดเวลาและทรัพยากรของภาครัฐที่ต้องนำมาดำเนินคดี

อนึ่ง สัญญาณบวกต่อการดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็มีอยู่บ้าง หลังอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีตามความผิดข้างต้นไปแล้ว 6 คดี และมีอีก 7 คดีที่ศาลยกฟ้อง โดยเหตุผลสำหรับการตัดสินใจดังกล่าว ส่วนมากมักระบุว่า เป็นเพราะการชุมนุมจัดขึ้นในพื้นที่เปิด ไม่แออัด ผู้ชุมนุมมีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัย และการชุมนุมไม่ได้ทำให้เกิดความวุ่นวาย ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงของภัสราวลี ที่เพิ่งมีการยกฟ้องไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ศาลก็ยกเหตุผลว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

ยิ่งชีพมองว่าประชาชนมีชีวิตอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนเป็นความเคยชิน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย การมีอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิวเกือบสองร้อยวันเมื่อปี 2564 สร้างผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างมาก และท้ายที่สุดไม่ได้ทำให้การระบาดของโควิด-19 ลดลง เมื่อทุกคนต้องรีบออกมาจับจ่ายใช้สอย ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ลดลง

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้กับโรคระบาดอยู่แล้ว มันถูกออกแบบมาใช้กับภาวะสงคราม แต่ว่าในมีนาคม ปี 63 รัฐบาลก็อาจจะอยู่ในภาวะตกใจ ทุกคนแพนิคหมด ทุกประเทศก็เหมือนกัน พอแพนิคมันก็ต้องใช้อำนาจอะไรบางอย่างเข้ามาในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วกฎหมายที่เรามีมันมีแค่นี้ ก็คือมีกฎหมายที่ใช้กับการทหาร ก็ใช้ก็ได้ ใช้ไปก่อนก็ได้ แต่ระหว่างใช้มันก็ต้องคิดไปด้วยว่ามันมีมาตรการอื่นไหมที่มันอาจจะดีกว่านี้”

ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนส่องสายตาผ่านร่องของกำแพงตู้คอนเทนเนอร์ที่กั้นกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังและสนามหลวง (แฟ้มภาพ)

“มันไม่มีการทบทวนหรือตั้งคำถามว่ากฎหมายการทหารที่ใช้กับโรคระบาด ใช้แล้วมันใช่ไหม คือพอใช้มาเดือนสองเดือนแรก สามเดือน มันก็ควรจะเห็นแล้ว อันดับแรกก็คือตอนนั้นผู้ติดเชื้อเราไม่เยอะ อันดับที่สองก็คือเนื้อหาของกฎหมายมันไม่ได้เกี่ยวอะไร การสั่งไม่ให้ขายเหล้า สั่งปิดสถานบันเทิง สั่งไม่ให้ไปโรงเรียน ก็เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่ออยู่แล้ว และข้อกำหนดหลายฉบับก็สั่งว่าให้คนที่จะออกคำสั่งเหล่านี้ไปใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อในการออกคำสั่ง สรุป พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันมีไว้เพื่ออะไร เพื่อหนึ่ง เคอร์ฟิว สองห้ามชุมนุม สามคุ้มครองเจ้าหน้าที่ สี่จัดตั้งหน่วยงานให้ประยุทธรวบอำนาจ มันมีแค่นี้ ดังนั้นพอสามเดือนผ่านไปมันเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่แล้ว คุณกำลังยึดประเทศด้วยการอ้างโควิดแล้วใช้กฎหมายพิเศษยึดอำนาจปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เปรียบได้กับเป็นรัฐบาลรัฐประหาร” ยิ่งชีพกล่าว

ภัสราวลีมองว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเวลาสองปีนั้นกระทบกับชีวิตประชาชนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องบังคับใช้อีกต่อไป 

“เราต้องสังเกตด้วยว่ารัฐพยายามใช้กฎหมายทุกวิถีทางในการที่จะโต้กลับ หรือแม้กระทั่งเรื่องเงื่อนไขการให้ประกัน แต่เชื่อว่า เมื่อการใช้กฎหมายเริ่มแรงขึ้น คนที่เริ่มรู้สึกว่าอยากจะเป็นกบฎในระบอบก็ย่อมมีด้วยเหมือนกัน คนที่เป็นศาลหรือเป็นอัยการที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบแบบนี้และทำตามคำสั่งไปเรื่อยๆ หลายๆ คนก็คงมีความรู้สึกนึกคิดที่อยากจะกลับมายึดถือในความยุตธิรรมเข้าไว้ก็น่าจะยังมี เพราะเราก็เห็นหลายคนที่เดินมาแวะเวียน ให้กำลังใจ หลายคนก็ไม่ได้ออกท่าทาง ออกอะไรมาก 

“แน่นอนว่าเราไม่ได้เห็นความเกลียดชังที่ถูกส่งต่อมาที่อยากจะให้อัยการลงดาบ หรือศาลลงดาบในคดีการชุมนุมทั่วไป ถ้าไม่ใช่ [มาตรา] 112 นะ มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีใครพอใจหรอก คนที่มีจรรยาบรรณทางอาชีพในงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมยังไงมันก็ต้องมีความรู้สึกนึกคิดว่าตรงนี้มันไม่ถูกต้องอยู่แล้ว มันชัดเจนมาก ไม่มีอะไรที่ชัดเจนไปมากกว่าสถานการณ์ในตอนนี้แล้วที่จะตอบว่าเรา [รัฐ] ลิดรอนสิทธิประชาชนยังไง รัฐเป็นคนกระทำต่อประชาชนยังไง แล้วประเทศไทยมันเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราถูกวาดไว้หรือเปล่า” ภัสราวลีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท