Skip to main content
sharethis

ก้าวไกล ย้ำชัด ตรวจสอบงบสถาบันกษัตริย์เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร หลัง กกต. เรียกชี้แจง เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองหรือไม่ ด้าน 'ชัยธวัช' เลขาฯ พรรค ซัดแรง อย่าใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมยืนหยัดตรวจสอบงบประมาณ ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรเคียงข้างประชาชน

29 มี.ค. 2565 ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงกรณีพรรคก้าวไกลได้รับหนังสือจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกไปชี้แจงกรณีจากการที่สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่อภิปรายตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92(2) เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ชัยธวัช กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ว่าการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เมื่อเดือน ส.ค. 2654 ของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในประเด็นงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์และเนื้อหาการเผยเเพร่หลังจากนั้น เข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคก้าวไกลขอชี้เเจงว่า ประการแรก ตามบันทึกข้อเท็จจริงเเละรับทราบข้อเท็จที่ กกต. ส่งมาถึงพรรคก้าวไกลเพื่อให้โต้เเย้งประเด็นที่ถูกร้อง ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าข้อความใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข มีเเต่ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ทั้งที่ข้อหาร้ายเเรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

ประเด็นที่สอง การอภิปรายงบประมาณตามที่ถูกร้อง เป็นการทำหน้าที่ตามปกติที่ผู้แทนราษฎรต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้งบประมาณทุกหมวด ทุกกระทรวง ทุกหน่วยรับงบประมาณ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การกระทำของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง เเละไม่ใช่เหตุที่ทำให้ถูกยุบพรรคได้

"การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีแต่ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และยังทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพ ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย มีพระราชสถานะดำรงไว้ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" ชัยธวัช กล่าว

ด้านเบญจา กล่าวว่า กระบวนการพิจารณางบประมาณเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี เป็นขั้นตอนปกติที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีส่วนร่วมแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้มีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน การอภิปรายของตนเป็นการอภิปรายตามชื่อโครงการเเละหน่วยงานตามเอกสารรับงบประมาณทั้งสิ้น เมื่อหน่วยราชการของบประมาณมา ถ้าเราเห็นงบประมาณไม่เหมาะสมเช่นนี้ เรามีหน้าที่ตัด จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เเละภายหลังจากการอภิปรายเสร็จเเล้ว ในการลงพื้นที่ตนได้รับกระเเสตอบรับจากประชาชน เป็นกำลังใจให้กับพรรคก้าวไกล และเห็นด้วยกับการตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์

"ในฐานะ ส.ส. ยืนยันว่า จะยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และตรวจสอบงบประมาณต่อไป เราจะต่อสู้ ยืนหยัด ยืนตรง ประจันหน้าต่อผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกศรัทธาให้กับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน" เบญจากล่าว

ขณะที่ รังสิมันต์ ระบุว่า กรณีนี้เป็นการทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นได้ หากเราไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ตนไม่แน่ใจว่าเราจะมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไม

"หากเรามองอย่างเป็นธรรม การที่มีหน่วยงานของบประมาณจากประชาชน เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ อภิปรายงบประมาณ แต่กรณีเช่นนี้เมื่อเราทำหน้าที่เเล้ว ถูกโดนฟ้องร้อง ข้อหาถึงยุบพรรค สุดท้ายการตัดงบประมาณไม่สามารถทำได้เลย นี่เป็นการสร้างความกลัวที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับพรรคก้าวไกล แต่เป็นการสร้างความกลัวที่ผู้มีอำนาจต้องการทำให้กับผู้แทนราษฎรทุกคน" รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะพิทักษ์ผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนอย่างถึงที่สุด หากประชาชนต้องการสนับสนุนพรรคก้าวไกล สามารถทำได้ในขั้นตอนการจ่ายภาษี บริจาคให้พรรคก้าวไกล รหัส 164 เราจะนำเม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนบริจาคผ่านการจ่ายภาษีมาทำกิจกรรม ทำหน้าที่เป็นพรรคการเมืองเพื่อพี่น้องประชาชน เคียงข้างประชาชนอย่างถึงที่สุด

"เราจะยืนหยัดหยัดทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ของประชาชน และอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน" ชัยธวัช กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net