Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 64-65 มีเยาวชนโดนคดีชุมนุม 270 คน เด็กสุดอายุ 12 เสียชีวิต 1 แต่คดีไม่คืบ คนที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออกโดนคดีถึง 1,460 คนเป็นคดีม.112 ถึง 116 คน 

29 มี.ค.2565 ที่โรงแรมสุโกศล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจัดงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564/2565 สำหรับประเทศไทยมีประเด็นสิทธิที่ถูกละเมิดปรากฏในรายงานทั้งหมด 9 ประเด็น

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอเนื้อในรายงานตามแต่ละประเด็น

เสรีภาพการชุมนุม ในปีที่ผ่านมามีการชุมนุม 1,545 ครั้ง ไม่ได้มีเต่เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มีทั้งการชุมนุมขอให้รัฐมีมาตรการจัดการโควิด เรื่องความเป็นอยู่ สิทธิชุมชน ในจำนวนทั้งหมดนี้มีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 270 คนในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 12 ปีที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ยังมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงข้อหาอื่นๆ อีกเช่นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

จากเหตุการณ์การชุมนุมยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยคือ วาฤทธิ์ สมน้อยที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามตั้งแต่วิฤทธิ์เสียชีวิตเมื่อ 31 ต.ค.2564 คดียังคงไม่มีความคืบหน้า

อีกประเด็นที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองคือการใช้อาวุธกระสุนยางหรือการช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ในช่วงที่มีการชุมนุมก็มีคนที่ถูกทำร้ายด้วยการถีบให้ตกจากจักรยานยนต์ ตีด้วยกระบอง และอื่นๆ จากนั้นเมื่อเยาวชนถูกจับกุมแล้วก็ถูกสายรัดข้อมือ เอาไปขังรวมกับผู้ใหญ่ บางครั้งมีการจับกุมโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว

นอกจากเยาวชนเหล่านี้จะถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วอีกเรื่องที่ไม่ได้กล่าวถึงในรายงานคือ เยาวชนเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบทางจิตใจ ร่างกาย ครอบครัวและการเรียน อีกทั้งเด็กบางคนยังถูกคุกคามอีกด้วย

สิทธิเสรีภาพในการสมาคม เดือนธันวาคม 2564รัฐบาลก็เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งมีนิยามกว้างมากรวมไปถึงสมาคมกลุ่มต่างๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือเนื้อหาอ้างไปถึงศีลธรรมอันดี ความมั่นคงของชาติมาเป็นกฎหมายที่เป็นใบอนุญาตให้เกิดการคุกคามแล้ก็เข้าถึงการจัดการองค์กรภาคประชาสังคมทั้งองค์กรเล็กๆ ในประเทศไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศทั้งที่ไทยเป็นศูนย์กลางที่มีองค์กรเหล่านี้ทำงานด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างมาก

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยังคงมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเพิ่งครบรอบ 2 ปีเมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีการใช้กฎหมายอื่นๆ อย่างมาตรา 116 หรือกฎหมายปิดปาก เช่น หมิ่นประมาท(มาตรา 326) พ.ร.บ.คอมฯ หรือการมีใช้วิธีต่างๆ เพื่อจำกัดการแสดงออก มีคนที่โดนดำเนินคดีจากการแสดงออกรวมแล้ว 1,460 คน คนที่ถูกดำเนินคดียังถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวระหว่างสู้คดีอีกด้วย อย่างกรณีของพริษฐ์ ชิวารักษ์หรือเพนกวินหากนับจำนวนโทษจำคุกแล้วก็มีเป็นหลายร้อยปี

นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรียังมีการออกประกาศใช้ข้อกำหนดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหากมีการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จมาเมื่อกรกฎาคม 2564 เป็นการสร้างความหวาดกลัวเนื่องจากเป็นการอนุญาตให้มีการเซนเซอร์สื่อและพักการปฏิบัติงานของสื่อ แต่ศาลแพ่งก็มีคำสั่งระงับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว

อีกทั้งยังมีการขู่บริษัทแพลตฟอร์มทั้งเฟซบุ๊กและบริษัทอื่นๆ ให้จำกัดเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ต่างๆ และปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ Chang.org ที่มีคนเข้าไปตั้งแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนเว็บที่มีผู้เข้าร่วมลงชื่อกว่าแสนคน

มีบุคคลอย่างน้อย 116 คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และยังมีกรณีของอัญชันที่ศาลลงโทษจำคุกมากถึง 87 ปีด้วยข้อหาหมิ่นกษัตริย์ นอกจากนั้นยังคนที่ออกมาพูดเรื่องนักกิจกรรมไทยที่ถูกบังคับสูญหายมาตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกดำเนินคดีมีโทษปรับด้วยจำนวน 5 คน

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย เดือนสิงหาคม 2564 เกิดกรณีของจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ที่ถูกทรมานโดยใช้ถุงคลุมหัวจนเสียชีวิตในสภ.เมืองนครสวรรค์ ทำให้เห็นว่าการทรมานในการสอบสวนมีอยู่จริงและเราไม่รูเลยว่ามีอีกกี่ครั้งที่ถูกบันทึกและเผยแพร่แบบนี้

การบังคับสูญหาย เมื่อเดือนกันยายน 2564 รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายที่เอาผิดทางอาญากับการกระทำในลักษณะที่เป็นการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายหลังจากที่รอกันมานานแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อผ่านชั้นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายของสภาแล้วจะออกมาสอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2564เมื่อเกิดการรัฐประหารในพม่าก็มีผู้ที่หนีภัยความรุนแรงออกมาฝั่งไทยย่างน้อย 2,000 คนมาอยู่ตามตะเข็บชายแดน แล้วก็มีหลายคนที่โดนส่งกลับไปพม่า

สิทธิด้านสุขภาพ เป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบหมดจากการระบาดของโควิด-19 แล้วเมื่อเมษายนปี 2564 ที่มีการระบาดอีกระลอกแต่ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอีกทั้งยังเป็นชนวนเหตุให้เกิดการชุมนุมตอนเดือนสิงหาคมด้วย และการระบาดของโรคภายในเรือนจำก็วิกฤติมากพบว่ามีผู้ต้องขังกว่า 80,000 คนที่ติดเชื้ออยู่ภายในเรือนจำ แต่เมื่อได้ติดตามกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็พบว่าในเดือนพฤศจิกายนมีผู้ต้องขังที่ได้รับวัคซีนมากขึ้น ทางแอมเนสตี้ก็หวังว่าจะมีพัฒนาการไปในทางที่ดี

สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ชาวกะเหรี่ยงจากบางกลอยเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 เพื่อเรียกร้องที่จะกลับไปในที่ดินทำกินของพวกเขาที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน แต่พวกเขาก็ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกแล้วก็สูญเสียพื้นที่ยังไม่ได้กลับไปอีกเลย

สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ปีที่แล้วมีการแก้กฎหมายให้สตรีที่มีครรภ์อายุไม่เกินสิบสองสัปดาห์ทำแท้งจะไม่มีโทษ แต่ว่าหากเกิน 12 สัปดาห์ก็ยังคงมีโทษทางอาญาอยู่ ซึ่งทางแอมเนสตี้ฯ ก็เห้นว่าไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ควรจะมีสิทธิทำแท้งได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี

ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของทางองค์กรต่อทั้งรัฐบาลและทุกคนที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีทั้งหมด 10 ข้อ

  1. ยกเลิกการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 3/2558 และ 13/2559 รวมไปถึงแก้ไขกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยการควบคุมตัวตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ 35 และประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่จะใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องใช้เฉพาะที่จำเป็นได้สัดส่วนและมีกลไกตรวจสอบและไม่นำมาใช้ในการจำกัดสิทธิ
  2. การปราบปรามคนเห็นต่างและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาแล้วก็ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แล้วก็ให้ทุกหน่วยงานต่างๆ ตระหนักถึงหน้าที่คุ้มครองสิทธิ สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อการใช้สิทธิ รวมถึงการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอย่างเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล รวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, 326 และ 328
  3. สิทธิเสรีภาพในการสมาคม ขอให้ประกันการจัดตั้งสมาคมสามารถทำได้โดยไม่ถูกควบคุมจำกัดโดยให้เป็นไปตามข้อที่ 22 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และรัฐบาลไทยต้องถอนร่าง พ.ร.บ.การดำเนินงานองค์กรไม่แสวงหากำไร นอกจากนั้นต้องประกันสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรในการจัดตั้งสมาคม สิทธิในการดำเนินงานและไม่ถูกแทรกซงที่ไม่เหมาะสมจากรัฐ
  4. การซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายและบังคับสูญหาย แม้ว่าการออกกฎหมายมาป้องกันจะเป็นพัฒนาการที่ดีแต่ก็หวังว่าจะมีการใช้ไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และเมื่อเกิดกรณีซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายก็ขอให้มีการสอบสวนทันทีโดยการสอบสวนจะต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม นอกจากนั้นขอให้รัฐบาลให้สัตตยาบรรณในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย
  5. สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ไทยควรจะอำนวยแก่ผู้ที่เข้ามาขอลี้ภัยให้เข้าถึงกระบวนการขอเป็นผู้ลี้ภัยของ UNHCR ได้ โดยรับรองว่าจะไม่มีการขับไล่ส่งกลับไปประเทศต้นทางไปเผชิญความโหดร้ายต่างๆ และรัฐบาลให้สัตยาบันรับรองว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 และขอให้มีการบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562
  6. สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ขอให้รัฐบาลเลิกสนับสนุนโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน แต่ให้ส่งเสริมการทำกินอย่างมั่นคงแก่ชุมชน
  7. ด้านสุขภาพดำเนินการป้องกันโควิดอย่างเป็นระบบ จัดสรรอุปกรณืให้คนเข้าถึงและเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ ที่สืบเนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ด้วย
  8. สิทธิในเรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ผู้ตั้งครรภ์ทุกคนมีสิทธิทำแท้งโดยไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและได้รับการดูแลให้ปลอดภัยด้วย
  9. โทษประหาร ขอให้รัฐบาลประกาศพักใช้โทษประหารอย่างเป็นทางการ แล้วก็แก้กฎหมายที่มีความผิดทางอาญาที่มีโทษประหารที่ตอนนี้มีอยู่เยอะมากคือ 60 กว่ามาตรา ให้มีมาตรฐานสากล แต่เท่าที่เห็นพัฒนาการก็คือมีแผนสิทธิมนุษแห่งชาติฉบับที่ 5 ก็มีบรรจุเรื่องนี้เอาไว้
  10. การขัดกันเรื่องอาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มานานมากแล้วก็อยากให้มีการสอบสวนการฆ่านอกระบบอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงทุกรกรณีโดยเฉพาะกับกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็คนที่ถูกคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความและญาติพี่น้องเข้าเยี่ยมและการรักษาพยาบาลได้ รวมถึงให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวได้

ทั้งนี้ปิยนุชได้กล่าวด้วยว่าในปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยที่รับข้อเสนอจากการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ที่มีนานาชาติเสนอไว้ถึง 218 ข้อ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ดี แล้วก็เห็นความตั้งใจในการทำงานในประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางแอมเนสตี้ฯ ก็อยากจะเห็นว่าเมื่อมีผลออกมาเป็นรูปธรรมแล้วจะเป็นอย่างไร และเห็นความพยายามในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาของภาครัฐด้วยก็เป็นเรื่องที่แอมเนสตี้ฯ ตั้งใจจะทำด้วยเช่นกัน ซึ่งมองว่าทางแอมเนสตี้ก็สมารถให้การสนับสนุนช่วยเหลือได้และก็มีหน้าที่ตรวจสอบเรียกร้องพูดคุยแล้วก็ทำงานด้วยกัน

ผอ.แอมเนสตี้กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันพวกเราน่าจะอยู่ในสังคมโลกนี้แล้วก็เห็นความเปลี่ยนเรื่องสิทธิมนุษยชนในทางที่ดีได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net