สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับอนุรักษนิยมไทย ความหวังท่ามกลางความถดถอย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปี 63-64 ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นเรื่องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดในพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มข้น เช่น ในที่ชุมนุมบนท้องถนน จนผลักดันให้สื่อต่างๆ ต้องนำเสนอข่าวและรายละเอียดของข้อเรียกร้อง (ทั้งที่ในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวในที่ชุมนุม แทบไม่ปรากฎการให้ข่าวในหน้าสื่อกระแสหลักเลย)

ในช่วงแรกมีการพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ผ่านการแสดงสัญลักษณ์ ชูป้ายตั้งคำถาม ทั้งที่อ้างถึงโดยตรงและโดยอ้อม จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ทนายอานนท์ นำพา กล่าวปราศรัยประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนเวทีที่ชุมนุม โดยเสนอให้มีการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนในแง่เสรีภาพในการแสดงความเห็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย 

ถัดมาในวันที่ 10 ของเดือนเดียวกันนั้น การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ไมค์ ภานุพงศ์ และ รุ้ง ปนัสยา ขึ้นปราศรัยในประเด็นสถาบันฯ และอ่านข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันจำนวน 10 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญหลักๆ คือ การเปิดเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันฯ และการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การยืนชูสามนิ้วขณะมีขบวนเสด็จผ่าน และการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ เป็นต้น 

เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนนับแต่เป็นหมุดหมายสำคัญในการหวนกลับมาพูดถึงสถาบันฯ ทั้งสิ้น ซึ่งเรียกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเป็น “ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด” ว่าเสียงจำนวนหนึ่งในสังคมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งในที่นี้ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ยังอยู่ในสถานะเป็นเพียงแค่ “ข้อเสนอ” เท่านั้น กล่าวคือ ยังไม่มีการหยิบยกไปพูดคุยในรัฐสภาเพื่อถกเถียงหรืออภิปรายแต่อย่างใด (ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นหลักในการชุมนุมหลายครั้ง และเป็นวาระของสังคม)

 “ข้อเสนอ” ดังกล่าวที่สะท้อนขึ้นในสังคมนั้น ส่งผลต่อกลุ่มที่เป็นฝ่ายปกป้องสถาบันฯ อย่างไรบ้าง?

มีคำสำคัญคำหนึ่งที่นิยมเรียกกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสถาบันฯ ว่าเป็นพวก “อนุรักษนิยม” ทั้งที่จริงๆ แล้วความเป็นอนุรักษนิยมนั้นก็ไม่ได้มีความเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกัน หากแต่มีความคิดแยกย่อยหลากหลายลงไปอีกมาก (เช่นเดียวกับฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปสถาบันฯ )

 ในจำนวนผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นอนุรักษนิยมนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นอีกคนหนึ่งถูกจัดอยู่ในนั้น ทั้งยังเรียกตัวเองว่าเป็น “รอยัลลิสต์” หรือพวก “นิยมเจ้า” ทว่าอาจารย์คงเป็นอนุรักษนิยมเพียงผู้เดียวกระมังที่ถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ (ม.112) อยู่หลายคราว และการแสดงออกและความคิดเห็นต่อการรักษาสถาบันกษัตริย์ของ อ.สุลักษณ์เองแตกต่างกับกลุ่มที่เป็นอนุรักษนิยมอื่นๆ อย่างยิ่ง อีกทั้ง อ.ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งฝ่ายที่เป็นอนุรักษนิยมและฝ่ายปฏิรูปสถาบันฯ ในแง่ที่กล่าวมานี้ อ.สุลักษณ์จึงเป็นชายขอบทางความคิดของทั้งสองฝ่ายอย่างยิ่ง อย่างที่เรียกกันว่า “จะก้าวหน้าก็ไม่ใช่ จะเป็นอนุรักษนิยมก็ไปไม่สุดทาง”

คำถามที่น่าสนใจและอาจใช้เป็นจุดแยกทางความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม ก็คือคำถามที่ว่า อ.สุลักษณ์มองว่า อนุรักษนิยมเป็นเช่นไร? 

ความหมายคำว่า “อนุรักษนิยม” แท้ที่จริงก็คือ “การรักษาสิ่งที่ควรจะรักษา และอุดหนุนสิ่งที่เป็นคุณงามความดี” ผมเองแม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดต่อความคิดของ อ.สุลักษณ์ในเรื่องสถาบันฯ แต่ก็ต้องยอมรับว่า อ.เป็นอนุรักษนิยม ที่มีเหตุผลน่ารับฟังและที่สำคัญคือเปิดกว้างให้ถกเถียงได้ 

ทัศนะที่ว่า “รักษาสิ่งที่ควรจะรักษา” ทำให้ อ.ไม่ได้มองประเพณี หรือธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อสถาบันฯ เป็นของที่แข็งทื่อตายตัว ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ควรแต่จะต้องรักษาให้คงเดิมมากที่สุดเท่านั้น หากแต่บางครั้งเมื่อยุคสมัยสังคมแปรเปลี่ยนไป จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องแก่ยุคสมัยของสังคม ด้วยวิธีการนี้เองที่ “สิ่งดีงาม” ดังกล่าวจะถูกรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไปได้ 

 ในทางตรงกันข้าม อนุรักษนิยมบางกลุ่ม ที่เชิดชูอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใดได้โต้แย้ง ถกเถียง ผูกตัวเองอยู่กับเรื่องเล่าความเป็นชาติไทยสมัยสงครามเย็น มองว่ามีแต่เพียงผู้จงรักภักดีเท่านั้นที่เป็น“คนไทย” ไล่คนเห็นต่างให้ออกไปอยู่ที่ประเทศอื่น หรือมองว่าเมื่อไหร่ที่สังคมมี “เสรีภาพ” อย่างที่ออกมาเรียกร้องกันจะทำสังคมล่มสลายลง เพราะทุกคนจะใช้เสรีภาพทำในสิ่งที่อยากได้ อยากมี อย่างไม่มีขอบเขต 

หากทัศนะที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่อนุรักษนิยมในสังคมไทยยึดถือปฏิบัติ ก็คงมั่นใจได้ว่า ไม่ต้องรอให้มีฝ่าย“ล้มเจ้า”เพื่อทำลายสถาบันฯ แต่อย่างใด สิ่งที่ทำร้ายสถาบันกษัตริย์ได้ดีที่สุดไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ อย่างที่อนุรักษนิยมส่วนใหญ่เข้าใจผิดๆ แต่การปกป้องสถาบันฯ ด้วยวิธีการผิดๆ ตังหาก ที่จะทำให้สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมปรารถนาจะรักษาอัปปางลงด้วยน้ำมือของตนเอง 

อาจารย์นักสันติวิธีท่านหนึ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการปกปักรักษาสิ่งซึ่งเป็นตึกรามบ้านช่อง กับสิ่งซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งๆ หากสถาบันทางสังคมเป็นเหมือนกับตึกรามบ้านช่องวิธีการรักษาก็คือการมุ่งรักษาสิ่งที่เป็น“รูปธรรม”เอาไว้ แบบเดียวกับที่เรารักษาวัดวาอาราม โบราณสถาน คือปกป้องไม่ให้มีผู้ใดเข้ามาทำลายรูปธรรมของสถานที่เหล่านั้น แต่หากสถาบันทางสังคมดำรงอยู่ได้ด้วย จิตวิญญาณ หรือสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม บางอย่าง วิธีการปกป้องรักษาสถาบันนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป 

ถ้าหากสถาบันฯ เป็นสิ่งนามธรรมอย่างที่พูดมานั้น ผมไม่แน่ใจว่าฝ่ายอนุรักษนิยมที่ออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างสุดชีวิตนั้น ได้เคยถามคำถามนี้หรือไม่ว่า จิตวิญญาณของสถาบันกษัตริย์อยู่ที่ใด? และจะรักษาสิ่งซึ่งเป็นนามธรรมเหล่านั้นไว้อย่างไร? ท่านอาจประสบความสำเร็จในการใช้กฎหมายจับผู้เห็นต่างเข้าคุกตาราง หรือบังคับให้ทุกคนยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่ไม่แน่ใจว่า การกระทำดังกล่าวนั้นจะรักษาให้สถาบันฯ ยั่งยืนต่อไปได้นานเพียงไร

วันที่ 27 มีนามคม 2565 ที่ อ.สุลักษณ์ มีอายุครบ 89 ปีบริบูรณ์นี้ ทำให้ผมฉุกคิดและทบทวนเรื่องราวหลายประการที่ อ.มีต่อสังคม ผมเองแม้ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ อ.สุลักษณ์ แต่ก็ได้เรียนรู้ ได้แง่คิด จากข้อเขียนมากมายที่ อ.สื่อสารกับสังคม ทั้งสิ่งที่ อ.ปฏิบัติต่อผู้อื่นแม้ว่าจะเป็นผู้ต่างอุดมการณ์ทางการเมือง หรือลูกศิษย์คนต่างๆ ที่ห้อมล้อม อ. ที่ทั้งต่างความคิดและต่างวัยที่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ว่า อ.สนับสนุนให้คนเป็นอย่างที่ตัวเองเป็น ไม่มีใครต้องเดินตามแนวทางของ อ.เสมอไป 

ส่วนเรื่องหลักปฏิบัติที่ อ.เน้นย้ำทั้งในเรื่องการมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่สยบยอมต่อสิ่งอยุติธรรมที่มองเห็นตรงหน้า และการมีใจกว้างเปิดรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง มองผู้อื่นและตนเองเป็นดั่งกัลยามิตรที่ชี้แนะถูกผิดแก่กัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นของที่มีคุณค่าและดูเหมือนจะมีความสำคัญก้าวข้ามบริบทของเวลาและสถานที่ อ.ทำให้ผมต้องคิดหนักหากจะเถียงกับอนุรักษนิยมเช่น อ.

นี่ไม่ใช่บทอาเศียรวาทที่เขียนขึ้นเพื่อสดุดีคุณของ อ. หากแต่เจือไปด้วยความหวังว่า อนาคตของอนุรักษนิยมไทยคงไม่ริบหรี่อย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน แน่นอนผมไม่ได้มองว่าอนุรักษนิยมเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่เพราะการครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคนรอบตัวแวดล้อมผมที่เล่าเรื่อง อ.ให้ผมฟัง หรือเคยได้รับการช่วยเหลือจาก อ. ทำให้ผมคิดถึงเรื่องความเป็นอนุรักษนิยมของ อ. ผมคิดว่า อ.เป็นตัวอย่างของนักอนุรักษนิยมที่สำคัญ ที่จะ“รักษาสิ่งที่ควรรักษา”เอาไว้ได้ 

 

 ที่มาภาพ: https://www.naewna.com/politic/497524 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท