Skip to main content
sharethis

กมธ.พิจารณาร่างแก้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง โหวตให้บัตรเลือกตั้งสองใบใช้คนละเบอร์ 32 เสียง 

30 มี.ค.2565 วอยซ์ออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 13.05 น. ที่รัฐสภา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้มีการลงมติในประเด็นจะใช้บัตรเลือกตั้งคนส.ส.เขตกับส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันคนละเบอร์ ตามมาตรา 4 ในร่าง พ.ร.ป.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ หรือใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกันทั้งส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อโดยให้แก้ไขตามร่าง พ.ร.ป.ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

ผลการลงมติมีองค์ประชุมทั้งหมด 47 คน ผลปรากฏว่า กมธ.เห็นด้วยให้คงไว้ตามร่างของ ครม. 32 คน (คนละเบอร์) ไม่เห็นด้วย 14 คน (เบอร์เดียวกัน) และงดออกเสียง 1 คน คือประธาน กมธ.

'พปชร.' เล็งโหวตบัตรเลือกตั้งคนละเบอร์

ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมและมีมติในวันนี้ ทางด้าน ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง คมนาคม ได้ออกมาให้ความเห็นถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 90 ดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ ยังคงมีคณะกรรมาธิการบางส่วนคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการใช้เบอร์เดียวกันทั้งเลือกตั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยอ้างว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 90 กรณีดังกล่าวมองว่าไม่น่าจะขัด เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ใช้ในรูปแบบเบอร์เดียวเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะมีการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรรมนูญ เชื่อว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณา

ทั้งนี้ประเสริฐยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันในขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบให้ทุกพรรค มีสิทธิเท่าเทียมกัน ทุกพรรคมีโอกาสเท่ากัน สุดท้ายประชาชนจะเป็นคนให้คำตอบว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทน ดังนั้นหากผู้สมัครทุกพรรคการเมืองทำเพื่อประชาชน ก็มีโอกาสเท่ากันไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

อดีต กกต.ใช้คนละเบอร์เปลืองงบ-ทำให้สับสน

เมื่อวานนี้(29 มี.ค.) สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมาธิการการเลือกตั้งและมีตำแหน่งใน กมธ.พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ป.นี้ด้วย โพสต์สเตตัสแสดงความเห็นต่อการที่จะให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบใช้เบอร์ส.ส.เขตกับเบอร์พรรคต่างกันเอาไว้ว่าเขาเห็นแต่ข้อเสียของการกำหนดแบบนี้โดยระบุเหตุผลเอาไว้ 5 ข้อ

1. ประชาชนจดจำยาก สับสน ข้ามเขตก็เป็นคนละเบอร์ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปตามเจตนาของการลงคะแนนเสียง

2. พรรคการเมืองก็หาเสียงยากเพราะเขตเบอร์หนึ่งพรรคเบอร์หนึ่ง การสื่อสารถึงประชาชนให้เข้าใจตรงกันก็ทำได้ยาก และสิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่า

3. กกต. ก็จัดการเลือกตั้งยากและมีโอกาสผิดพลาดมากกว่า ไหนจะต้องพิมพ์บัตรแตกต่างกันไปในแต่ละเขตถึง 400 แบบและยังมี บัตรบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งแบบรวมเป็น 401 แบบ

4. การเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งการเลือกตั้งนอกเขตและการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กกต. ต้องส่งบัตรไปนอกเขตและต่างประเทศ แห่งละ 401 แบบ แค่นี้ก็มึนงงกันไปทั่ว และสิ้นเปลืองมากขึ้น

5. โอกาสที่การเลือกตั้ง จะผิดพลาดและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน มีมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net