Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้ว่าฯ กทม.ที่จะเกิดขึ้นในวันทึ่ 22 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ได้สร้างความคึกคักให้แก่    วงการการเมืองไม่เฉพาะแก่ผู้คนในกรุงเทพเท่านั้น ยังสร้างความสนใจให้แก่ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจังหวัดของตนเองจะได้มีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯเช่นคนกรุงเทพบ้าง อย่างไรก็ตามน้อยคนนักที่เข้าใจในระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นและอำนาจหน้าที่ของผู้ที่ตนจะเลือกเข้าไปนั้นทำอะไรได้บ้าง อะไรที่เป็นการหาเสียงเกินความเป็นจริง ที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งบ้าง ผมจึงจะขอนำเสนอเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภา กทม.หรือเรียกย่อๆ ว่า ส.ก.นั้นทำอะไรได้และไม่ได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้ว่า กทม.นั้นได้เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

หลายคนเข้าใจว่าการทำหน้าที่ของ ส.ก.คงเหมือนกับการทำหน้าที่ของ ส.ส.เพียงแต่ย่อขนาดลงมาเท่านั้นเอง ซึ่งขอเรียนว่าระบบการเลือกตั้ง ส.ส.กับสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหลายไม่เหมือนกันนะครับ เพราะเราเลือก ส.ส.เพื่อไปตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารตามระบบรัฐสภา (Parliamentary System) แต่ท้องถิ่นนั้น ฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาฯ เลือกแยกเป็นอิสระจากกันตามระบบประธานาธิบดี (Presidential System) การที่ผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นไปหาเสียงว่าจะทำโน่นทำนี่ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน จึงอาจเข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียงที่เกินความจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งได้

อำนาจหน้าที่ของสภากรุงเทพมหานคร

มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯและตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเองที่กำหนดให้อำนาจไว้ รวมถึงตามที่กฎหมายอื่นบัญญัติไว้ โดยมีสาระสำคัญๆ ดังนี้

1. การตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เช่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ กทม./การดำเนินการพาณิชย์ของ กทม./การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ ฯลฯ (มาตรา 97)

2. การตราข้อบัญญัติเก็บภาษีบำรุง กทม. สำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน และก๊าซปิโตรเลียม ซึ่งสถานการค้าปลีกในเขต กทม. (มาตรา 111) เพื่อเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น (มาตรา 112) และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 112 ทวิ)

3. การเปิดอภิปรายทั่วไป โดยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าสองในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อเสนอญัตติ เพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (มาตรา 37) โดยไม่สามารถมีการลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อถอดถอนแบบสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะผู้ว่าฯกับ ส.ก.มีที่มาแยกกันดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

4. การตั้งกรรมการสามัญฯและคณะกรรมการวิสามัญฯ (ทำนองเดียวกับกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา) เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. แล้วรายงานต่อสภา กทม. (มาตรา 38)

5. การที่ดำเนินกิจการนอกเขต กทม. ได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 93)

6. การกระทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่นโดยก่อตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัท โดยสภา กทม.มีมติให้ความเห็นชอบและได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มาตรา 94)

7. การยืนยันร่างข้อบัญญัติ ในกรณีที่ผู้ว่า กทม.ไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบัญญัติและส่งให้สภา กทม.พิจารณาใหม่ หากสภา กทม.มีมติยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ (super majority) ของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด ให้ประธานสภา กทม.ส่งร่างข้อบัญญัติดังกล่าวให้ผู้ว่า กทม. ซึ่งผู้ว่า กทม.ต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา 100 หากไม่ดำเนินการตามกำหนด ให้ประธานสภา กทม.ลงนามในร่างข้อบัญญัตินั้นแทนผู้ว่า กทม.แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับ (มาตรา 101) (ข้อนี้สำคัญ และะไม่มีค่อยใครทราบกันน่ะครับ)

8. การอนุมัติหรือไม่อนุมัติข้อกำหนดกรุงเทพมหานคร (มาตรา 108) (ทำนองเดียวกับการออก พรก.ของรัฐบาล แต่ของ กทม.ต้องให้ รมว.มท.อนุมัติก่อนน่ะครับ)

9. การให้ความเห็นชอบเงินกู้จากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ หรือนิติบุคคลต่างๆ (มาตรา 108)

10. การให้ความเห็นชอบเงินกู้จากต่างประเทศ องค์การต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ (มาตรา 117 (8))

11. ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่องเงินสะสม พ.ศ.2562
    11.1 การให้ความเห็นชอบ การจ่ายทุนสำรองเงินคงคลังของ กทม. (ข้อ 6)
    11.2 การให้ความเห็นชอบ การนำทุนสำรองเงินคงคลังไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ หรือกองทุนที่รัฐตั้งขึ้น (ข้อ 7)
    11.3 การให้ความเห็นชอบการจ่ายขาดเงินสะสม (ข้อ 12)

12.ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2563
    12.1 การให้ความเห็นชอบ การโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับรายการใดในข้อบัญญัติ กทม.ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย (ข้อ 29)
    12.2 การให้ความเห็นชอบ การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากว่าหนึ่งปีขึ้นไป ยกเว้นโครงการซึ่งระบุไว้ในข้อบัญญัติ กทม.ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย (ข้อ 33 วรรคหนึ่ง)

ฯลฯ

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่ของสภา กทม.นั้นจะเป็นไปในด้านการตราข้อบัญญัติ การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร การให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ แต่อย่างใด การที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.คนใดหรือพรรคการเมืองใดหรือกลุ่มใดหาเสียงว่า ส.ก.ของตนหากได้รับเลือกแล้วจะไปทำโน่นทำนี่ในทางบริหารหรือเสนอโครงการเมกกะโปรเจกต์ทั้งหลาย จึงเป็นการหาเสียงที่เกินจริงเพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนที่จะสามารถกระทำได้ (สมาชิกสภาท้องถิ่นอื่นก็เช่นเดียวกัน)

อนึ่ง แม้แต่ผู้สมัครในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารท้องถิ่น ซึ่งได้แก่นายกฯทั้งหลายและผู้ว่า กทม.เองก็ตาม การโฆษณาหาเสียงโดยการกล่าวถึงนโยบายในการที่จะเข้าไปบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดๆ ต้องเป็นงานที่ได้รับการกำหนดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ตามกฎหมาย และการดำเนินการตามนโยบายนั้น จะต้องใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมีความเป็นไปได้จริง โดยพิจารณาถึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ การหาเสียงนอกเหนือจากนั้นอาจเข้าข่ายว่าเป็นการหาเสียงเกินจริงเช่นกันน่ะครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net