Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองเลวร้าย มีผู้นำประเทศชอบออกมาพูดจาให้คนฟังต้อง “อิหยังวะ” อยู่เรื่อย การมีการ์ตูนล้อการเมืองอย่าง “ไข่แมว” มาคอยเรียกเสียงหัวเราะ(ที่หลายทีคงเป็นการแค่นหัวเราะ) ก็นับเป็นสิ่งชุบชูใจของใครหลายคน

ถึง “ไข่แมว” จะไม่ใช่คนแรกที่ออกมาเขียนการ์ตูนล้อการเมือง แต่ก็ต้องนับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินนิรนามที่ยืนระยะมาได้นานหลายปี แม้ว่าไข่แมวจะเคยปิดเพจไปพักหนึ่งแต่พอเปิดขึ้นมาใหม่ก็ยังคงมีผลงานออกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้มีคนติดตามแฟนเพจจวนจะถึง 720,000 บัญชีแล้ว

ประชาไทสัมภาษณ์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจงานศิลปะและเป็นคนที่เคยพาไข่แมวออกจากโลกไซเบอร์ไปปรากฏตัวในนิทรรศการศิลปะ “ไข่แมว x กะลาแลนด์” เมื่อปี 2561 มาแล้ว ถึงพัฒนาการของการ์ตูนล้อการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มีศิลปินสนใจสร้างผลงานกันเพิ่มมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่เพิ่มในเชิงปริมาณแต่ยังเข้าไปจับประเด็นการเมืองที่แหลมคมมากขึ้นด้วย

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

สถานะของการ์ตูนล้อการเมืองส่งผลต่อการตระหนักรู้ประเด็นทางสังคมอย่างไร?

ประเด็นแรก การ์ตูนล้อการเมืองมีความเป็นมายาวนาน แต่เสน่ห์ของมันคือสามารถสื่อสารให้คนเข้าใจในประเด็นต่างๆ ในเวลาอันสั้นและมีอารมณ์ขัน คนที่สามารถยึดโยงหรือเชื่อมโยงกับมันได้เห็นก็เข้าใจทันทีว่าเขา(ศิลปิน) พูดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ การ์ตูนสามารถที่จะมีอารมณ์ขันและประเด็นทางการเมืองได้อันนี้เป็นส่วนแรกคือการสื่อสารที่เกิดขึ้น

สอง ก็คือการพูดในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดด้วยภาษาปกติได้อันนี้ก็เป็นศิลปะในการเล่าเรื่องศิลปะในการเขียนในการสร้างคาแรคเตอร์ของศิลปินแต่ละคน แน่นอนว่าบางคนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าศิลปินได้หรือเปล่าเพราะเขาก็ไม่ได้อยู่ในโลกของการซื้อขายงานศิลปะ ไม่ได้เขียนภาพหรืออะไรที่จะขายเป็นกิจลักษณะตามแบบศิลปินดั้งเดิม ดังนั้นการ์ตูนก็เป็นช่องทางที่จะพูดในเรื่องที่พูดไม่ค่อยได้หรือยากที่จะสื่อสารออกมา

มันจึงมีสองส่วนที่ประสมกันคือด้านที่ส่งสารทางการเมืองออกมา สองก็คือในสิ่งที่โลกปกติธรรมดาเราพูดไม่ได้เพราะว่าการ์ตูนมันเหมือนกับไม่ใช่โลกในความเป็นจริง เราก็จะถือกันแบบนี้ดังนั้นโลกของการ์ตูนมันก็จะมีอิสระ มีสิ่งที่โลกปกติทำไม่ได้พูดไม่ได้ประกอบกันไป

การ์ตูนล้อการเมืองมักจะพูดถึงที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นกับประเด็นทางสังคมการเมือง ณ ขณะนั้นเป็นหลัก เราสามารถมองว่ามันคือรูปแบบหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ได้มั้ย?

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมว่ามันสำคัญมากๆ คือบริบททางสังคมเปลี่ยน การรับรู้ของสังคมเปลี่ยนไปแล้วกลับมานั่งดูการ์ตูนล้อการเมืองก็อาจจะไม่เข้าใจแล้วก็ได้ แต่ด้านหนึ่งมันก็ถือเป็นบันทึกสังคมประวัติศาสตร์การเมืองของสังคมในช่วงเวลาหนึ่งเราก็จะเห็นกันว่าช่วงที่สังคมมีพัฒนาการน้อยการ์ตูนก็อาจจะไม่ค่อยซับซ้อน อาจจะเป็นประเด็นง่ายๆ แต่ถ้าสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นคนเขียนการ์ตูนก็จะต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการเล่าเรื่อง การสร้างคาแรคเตอร์การสร้างตัวตนในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นสมัยก่อนพี่สินธุ์สวัสดิ์ (ยอดบางเตย) ก็มีการ์ตูนเรื่องเจ้าแกละ หรือว่านายศุขเล็กของประยูร จรรยาวงษ์ หรือว่ายุคของชัย ราชวัตร จนถึงปัจจุบันการ์ตูนทางหน้าหนังสือพิมพ์ของเซียร์ การ์ตูนพวกนี้ก็เหมือนเป็นองค์ประกอบหลักของหนังสือพิมพ์ แต่ว่าเมื่อหนังสือพิมพ์มันเสื่อมสภาพลงในฐานะของสื่อแล้วก็มีสื่อแบบใหม่อย่างโซเชียลมีเดียร์มันก็ทำให้การเข้าถึงการ์ตูนมันก็เปลี่ยน พูดง่ายๆ ก็คือเทคโนโลยีเปลี่ยนความรับรู้วิธีการเสพข่าวเปลี่ยน

งานของไข่แมวที่พูดถึงกรณี ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา(ขวา) กับ นูรฮายาตี มะเสาะ(ซ้าย) หญิงพิการทางสายตาที่ต่างก็ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการแสดงออกประเด็นสถาบันกษัตริย์ทางเฟซบุ๊ก 

การ์ตูนอย่างไข่แมวก็ปรากฏตัวมาในช่วงเวลาแบบนี้ที่มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีความท้าทายอะไรที่มันพูดไม่ได้มันมีเยอะเกินไปมันก็มาพูดในการ์ตูน แล้วพอมันพูดกันไปมาการ์ตูนก็อาจจะกลายเป็นเรื่องสามัญกว่าประเด็นที่คนคุยกันเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันเป็นบันทึกทางสังคมก็แน่นอน การ์ตูนจะขำหรือไม่ขำขันมันก็เป็นเรื่องบันทึกทางสังคมทั้งนั้น

ลองนึกถึงภาพสมัยก่อนการล้อเลียนอัตลักษณ์สูงต่ำดำขาวอ้วนผอมมันเป็นประเด็นที่เอามาล้อเลียนเอามาตลกได้ แต่ยุคนี้คงไม่มีนักเขียนการ์ตูนคนไหนเอาเรื่องแบบนี้มานั่งพูดกัน หรือว่าประเด็นรื่องเพศสภาพสมัยก่อนเอามาล้อกันเอาความเป็นสามีภรรยามาล้อเลียน แต่สมัยนี้แทบจะเรียกได้ว่าต้องพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งต้องเข้าถึงบทสนทนาต้องเข้าถึงเรื่องราวที่ตัวเองอยากจะพูด เพราะถ้าเขียนมาแล้วไม่โดนใจมันก็แป้ก

ในขณะที่ไข่แมวในตอนที่ผมคิดจะจัดเป็นงานศิลปะ ผมว่าเขามีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว มีความสามารถในการเล่าเรื่องมีทักษะในเชิงลายเส้นมีองค์ประกอบของความเป็นศิลปินคนหนึ่งเหมือนกันผมก็เลยอยากจะจัดแสดงงานของเขาในตอนนั้น(พฤศจิกายน 2561) แล้วผลตอบรับตอนนั้นก็เกินคาดหมาย แล้วจนถึงทุกวันนี้ผมก็คิดว่าเขาเป็นการ์ตูนนิสต์ที่เขียนการ์ตูนการเมืองที่มีอิทธิพลคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าในยุคนี้จะไม่เหมือนในช่วงเวลาที่ไข่แมวปรากฏตัวแรกๆ คือก่อนรัฐประหาร 2557 จนถึงปี 2562 ก่อนการเลือกตั้งตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นจุดพีคของไข่แมวเลยก็ว่าได้

นิทรรศการ "ไข่แมว x กะลาแลนด์” เมื่อปี 2561

ในฐานะที่อาจารย์เคยเอาไข่แมวไปจัดแสดงในแกลอรี่มาก่อน จากตอนนั้นถึงตอนนี้มองพัฒนาการงานของไข่แมวยังไง?

คิดว่าจากที่ออกมาเป็นรวมเล่มมา 2 เล่มก็จะเห็นว่ามีพัฒนาการค่อนข้างเยอะ ตาใสก็จะมีคาแรคเตอร์เป็นเจ้าเด็กผมเกรียน เจ้าตาใสที่จากเดิมคือใสซื่อจริงๆ มาเป็นเด็กที่ดาร์กมากขึ้นเราเห็นพัฒนาการชัดเจนเราเห็นการเติบโตของเด็กรุ่นนี้ไปพร้อมๆ กับตาใส ถึงแม้ว่าตาใสจะไม่แก่ขึ้นแต่ว่าในแง่ของท่าทีหรือเรื่องที่เล่าก็จะเห็นว่าบุคลิกของตาใสค่อนข้างดาร์กมีอารมณ์แบบ Dark Humor (ตลกร้าย) เหมือนกับเป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็กมากขึ้น แล้วก็เราเห็นมิติบางอย่างที่มีการพูดถึงการเมืองที่พูดตรงไปตรงมามากขึ้นจากเดิมที่จะเป็นสัญลักษณ์ แต่ช่วงหลังๆ ที่ทำเป็นหนังสือทั้งสองเล่มก็มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนมากขึ้น ผมคิดว่าไข่แมวก็มีพัฒนาการในแง่นี้

มองพัฒนาการของการ์ตูนล้อการเมืองในไทยยังไง ตอนนี้เหมือนจะมีศิลปินสนใจทำกันมากขึ้น?

คือต้องเข้าใจด้วยว่าช่วงที่การเมืองยังพูดไม่ค่อยได้ ไข่แมวเป็นการ์ตูนนิสต์คนแรกๆ ที่ออกมาพูดถึงประเด็นทางการเมืองในเฟซบุ๊กจนถึงทุกวันนี้เนี่ยผมว่าสถานะของไข่แมวก็ยังเป็นประเด็นให้คนได้พูดได้ศึกษากัน เพราะฉะนั้นการที่ประชาไทบันทึกไว้เนี่ยก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ

แต่ว่าในปัจจุบันก็มีการ์ตูนนิสต์หลายคนที่เขียน อย่างเช่น สะอาดก็เขียนเยอะ หรือคนที่เป็นนักวาดภาพประกอบ อย่างเพจ Uninspired by Current Events เราก็จะเห็นได้ว่าการ์ตูนการเมืองมันมีพลังมากพอที่จะเปิดพื้นที่นี้แล้ว แล้วก็มีคนกระโจนเข้ามาในพื้นที่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความคับข้องใจความที่ไม่สามารถพูดได้ แล้วก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ อย่างนักวาดภาพประกอบเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็ยังเข้าไปใน NFT ไข่แมวเหมือนเป็นคนเปิดประตูคนแรกๆ แล้วก็มีช่องทางอื่นๆ ตามมา

ทุกวันนี้เราเรียกได้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ สังคมการเมืองไทย การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนมันก็ชัดเจนมากขึ้นแล้วก็อยู่ในกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิมอย่างที่เราคาดไม่ถึง ถ้าสังคมเราสามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาได้การ์ตูนพวกนี้ก็จะยังไม่มีพลังมาก พอเรามีประเด็นที่เราพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้การ์ตูนล้อเลียนเหล่านี้มันก็จะปรากฏมากขึ้น

ผลพวงของสิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างมากพอ ด้านหนึ่งก็เหมือนมันมีความสร้างสรรค์มากขึ้นแต่ว่าอีกด้านมันสะท้อนว่าเรายังไม่สามารถถกเถียงพูดคุยในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปกติได้มันถึงต้องไหลมาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

แล้วมันเหมือนกับว่าสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพมันจำกัดมากขึ้นแล้วก็มีความเป็นไปได้น้อยลงในรอบหลายปีมานี้ คนที่จริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นสื่อเลยหรืออาจจะไม่ได้คิดเขียนการ์ตูนการเมืองเลยก็ออกมาพูดมากขึ้นอย่างที่บอกว่าแม้กระทั่งคนธรรมดาจำนวนมากก็ผลิตสื่อประเภทนี้มากขึ้น อันนี้อาจจะต้องรวมไปถึงมีมการเมืองต่างๆ ด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่ากว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ผลของมันก็คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลมันอาจจะมีปริมาณมากเพราะว่าเป็นพื้นที่ที่เคลื่อนไหวเร็ว พอมีประเด็นก็มีงานออกมาเลย ในยุคที่ไข่แมวค่อนข้างแอคทีฟแล้วการเมืองยังอยู่ในจุดที่พูดอะไรไม่ค่อยได้ ไข่แมวก็ค่อนข้างรวดเร็วในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคม เรียกได้ว่ามีประเด็นปุ๊ปเขาก็สามารถเขียนออกมาได้ในเวลาอันสั้นแล้วก็โพสต์อัพโหลดขึ้น

แต่ทุกวันนี้พอมีคนทำตรงนี้มากขึ้นก็อาจจะทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น Graphic Art หรือว่าการ์ตูนลายเส้น มันก็มีทั้งคนที่ชอบกับไม่ชอบ แต่ผมคิดว่าประเด็นที่ทรงพลังมากของไข่แมวคือการพูดแทนคนอื่นๆ การพูดในสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ได้ออกมาเป็นภาพ พอทั้งเราทั้งเขาพอพูดไม่ได้แล้วมันไปอยู่ในภาพคือสิ่งที่ผมคิดว่าคนจำนวนมากให้ความสนใจตอบรับกับการ์ตูนของไข่แมวเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ

ทำไมเรายังต้องพยายามหามุมตลกท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายแบบนี้?

ในโลกของเรามันมีการเมืองหลายระดับ เรื่องหนึ่งที่เรามักพูดถึงกันก็คือ Politics of Fear การเมืองของความหวาดกลัว คนที่มีอำนาจก็ก็จะสร้างการเมืองของความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมเกิดความกลัวเกิดความผวาเกิดความรังเกียจอันนี้เป็นธรรมชาตของระบบการเมือง ยิ่งเป็นเผด็จการมากขึ้นก็จะยิ่งใช้ความกลัวเป็นกลไกการกำกับปราบปรามหรือกดขี่เสียงเหล่านั้น เสียงในทางต่อต้าน เสียงในเชิงตั้งคำถาม

ในอีกด้านมันก็จะมี Politics of Hope คนที่ต่อสู้คนที่ไร้อำนาจก็จะต้องสร้างพรมแดนหรือปริมณฑลของความหวังขึ้นให้ได้ เพราะว่าในสภาวะแบบเผด็จการทำลายมนุษย์มาตลอดคือทำให้เรารู้สึกไร้ค่าไม่มีความหวังไม่มีความสามารถที่จะจัดการตัวเองไม่สามารถที่จะมีความสุขได้

ดังนั้นการ์ตูนหรือประเด็นทางวัฒนธรรมมันจึงเข้ามาในแง่ของการต่อต้าน สุนทรียศาสตร์ของการต่อต้านก็คือการสร้างการเมืองของความหวังหรือ Politics of Hope การเมืองของความหวังก็คือการเมืองที่เราสามารถหัวเราะกับวันที่มันแย่ที่สุดในชีวิตได้ หัวเราะในระบบการปกครองที่แย่ที่สุด ห่วยที่สุด กระจอกที่สุด เลวที่สุด มีผู้นำที่โง่ไร้การศึกษาไร้มารยาท เราก็ยังหัวเราะกับมันได้

เพราะว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเผด็จการทำลายความหวังของเราได้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีหรือน้อยลง การ์ตูนหรือความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมนัก็จะเป็นพื้นที่ของการเมืองของความหวัง ในขณะที่ Politics of Fear เขาก็จะทำลายความหวังทำลายโอกาสของการเปลี่ยนแปลงหรือโอกาสในการสร้างสรรค์ด้วยการสร้างความกลัว ใช้ทั้งกฎหมายใช้กำลังทางกายภาพทำลายความหวังที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

แต่การ์ตูน เพลง บทกวี ศิลปะ สิ่งเหล่านี้การเมืองแห่งความหวังที่เราจะพูดถึงในสิ่งที่เราพูดไม่ได้ เราจะพูดถึงโอกาสของความเป็นไปได้เราจะพูดถึงความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้มันดีกว่านี้ นี่คือพื้นที่ที่ผมคิดว่า

สำคัญที่สุดแล้วก็เป็นเหตุผลว่าทำไมพื้นที่ทางวัฒนธรรมควรได้รับการปกป้องดูแลช่วยกันปกปักษ์รักษาเอาไว้หรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้มากขึ้นเรื่อยๆ คือด้านหนึ่งก็เป็นการต่อสู้กับอำนาจ อีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่ของความหวังของพวกเรา

 

หลังอ่านสัมภาษณ์แล้วหากผู้อ่านสนใจผลงานของ "ไข่แมว" ตอนนี้ทางประชาไท มีหนังสือรวมผลงานในชื่อ "ไข่แมวX" ที่เป็นเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ เหตุการณ์การเมืองและสังคมไทย ขายราคาพิเศษเฉพาะงานสัปดาห์หนังสือฯ 500 บาทเท่านั้น จากราคาปก 550 บาท

พบกัน 26 มี.ค. - 6 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 - 21.00 น. ณ สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพฯ

------

ไข่แมวX วางขายบูธไหนบ้าง?

A14 - มูลนิธิคณะก้าวหน้า

A16 - สำนักพิมพ์มติชน

A25 - Chidahp Books | ชี้ดาบ บุ๊กส์

A26 - บทจร

A36 - ไก่3

A42 - ANIMAG (สำนักพิมพ์อนิแม็ก)

B07 - ฟ้าเดียวกัน

D20 - Bookscape

D32 - SALT

D39 - SALMON.

หรือสั่งทางออนไลน์ได้ที่: shop.prachataistore.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net