Skip to main content
sharethis

เสรีนิยมประชาธิปไตย, ปฏิบัตินิยม, คนไม่เท่ากันโดยธรรมชาติ แต่ต้องทำให้โอกาสเท่ากัน, ประเทศไทยต้องมีสถาบันกษัตริย์, การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112 และอื่นๆ เหล่านี้เป็นคำสำคัญที่บ่งบอกความเป็นพรรคกล้าจากปากของอรรถวิชช์ เลขาธิการพรรค

  • พรรคกล้ายึดถือหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยและปฏิบัตินิยม เชื่อในเสียงข้างมากเป็นผู้กำหนดกติกาโดยรับฟังเสียงข้างน้อย และเชื่อในการแข่งขันเสรีโดยที่รัฐสามารถแทรกแซงได้บ้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
  • อรรถวิชช์ไม่เชื่อเรื่องคนเท่ากัน เพราะคนแตกต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ต้องทำให้ทุกคนได้มีโอกาสเท่ากัน
  • ระบบประธานาธิบดีไม่เหมาะสมกับประเทศไทย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ทำให้ทุกองคาพยพขับเคลื่อนได้อย่างราบรื่น แต่ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง
  • อรรถวิชช์ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 เพราะจะทำให้กันชนระหว่างสองฝ่ายหายไป เขาเสนอว่าควรตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112 โดยขึ้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติและมีผู้เชี่ยวชาญคอยสนับสนุนข้อมูล
  • พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่มีแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันกลับเป็นอนุรักษ์นิยม พรรคกล้าจึงไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์สาขา 2 เนื่องจากมีอุดมการณ์ต่างกัน ขณะที่พรรคก้าวไกลมีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย
  • สำหรับอรรถวิชช์ มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้มี ส.ว.แต่งตั้งและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นมาตราที่มีปัญหาที่สุดและต้องแก้ไขเป็นมาตราแรก

พรรคกล้าได้รับการรับรองเป็นพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ก่อตั้งโดยกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเริ่มทำงานการเมืองนอกสภามานับแต่นั้น

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า

พรรคกล้าถูกตั้งคำถามว่าเป็นประชาธิปัตย์สาขา 2 หรือ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ ก่อนการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่เขากล่าวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของสถานทูตสหรัฐฯ ว่าพรรคกล้ายึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย

‘ประชาไท’ ชวนอรรถวิชช์สนทนาถึงนัยทางการเมืองหลังเลือกตั้งซ่อม ไล่เรียงไปถึงหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยที่พรรคกล้ายึดถือ จุดยืนต่อสถาบันกษัตริย์ การคงมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้

การเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่

ผลการเลือกตั้งเขตหลักสี่ที่ผ่านไป ครึ่งหนึ่งของเขตจตุจักรถูกนำไปรวมกับเขตหลักสี่ คะแนนอันดับ 1 เป็นของพรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 29,416 คะแนน อันดับที่ 2 พรรคก้าวไกล 20,361 คะแนน และพรรคกล้าตามมาในอันดับที่ 3 20,047 คะแนน อรรถวิชช์ กล่าวว่า ถ้าดูในส่วนพื้นที่จตุจักรคะแนนเขายังมาเป็นอันดับ 1 แต่พ่ายแพ้ในเขตหลักสี่

อรรถวิชช์เห็นว่ามันเป็นการจำลองการเลือกตั้งสนามใหญ่ในกรุงเทพมหานคร สะท้อนความผูกพันของ ส.ส. กับพื้นที่ แม้แต่ก้าวไกลจริงๆ แล้วกรุณพล เทียนสุวรรณและทีมงานที่จะลง ส.ก. ในเขตนั้นก็มีความเข้มแข็งอยู่แต่เดิมและลงพื้นที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด ประการที่ 2 คือการถดถอยของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ถ้าเขามองว่าพรรคกล้าเป็นพรรคที่สนับสนุนลุงตู่หรือเปล่า พรรคตรงข้ามกับที่สนับสนุนลงตู่ได้คะแนนมากกว่าพรรคที่สนับสนุนลุงตู่ ผมต้องเรียนตรงไปตรงมาว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าใครชนะก็แล้วแต่ ไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลทั้งสิ้น แล้วเวลามันสั้น เข้าไปก็ปีหนึ่ง ผมคิดว่าอะไรที่ดีก็ยกมือให้ อะไรไม่ดีก็ไม่ยก ถามว่าเราอยู่ฝั่งไหน ไม่ได้ตอบแบบโลกสวย แต่เราอยู่ข้างประชาชนจริงๆ อะไรดีก็โหวตตามนั้นเพราะมันเสียงเดียวครับ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เปลี่ยนตัว แต่แน่นอนว่าคนอาจเข้าใจว่าเราอยู่ซีก พลเอกประยุทธ์ แน่นอนเขาก็เลือกพรรคที่ตรงข้ามพลเอกประยุทธ์ชัดเจนคือเพื่อไทยและก้าวไกล เขาก็ชนะไป

“ผมพูดตรงๆ นะ จริงๆ  แล้วเลือกตั้งคราวหน้าที่จะเกิดขึ้นผมคิดว่าพรรคกล้าเราสนับสนุนนายกฯ ที่เป็นพลเรือน มาจากพลเรือน เที่ยวหน้านายกฯ ต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจ นวัตกรรม เดี๋ยวจะได้เห็นการเลือกตั้งคราวหน้าที่ชัดเจนขึ้น เลือกตั้งซ่อมมันไม่ได้เปลี่ยนบรรยากาศหรอก ต่อให้บอกว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ ก็เป็นไม่ได้อยู่ดี ขนาดคุณสุรชาติชนะ นายกก็ยังชื่อประยุทธ์”

พรรคกล้ายึดแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย

“ด้วยความเป็น Pragmatic ผมก็ตอบเลยว่านายกฯ เป็นทหารแบบนี้ไม่ได้แล้ว ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจ เพราะเจเนอเรชั่นมันเปลี่ยน ผมว่าการเลือกตั้งคราวหน้าบริบทมันก็เปลี่ยนในมุมนี้อยู่แล้ว นี่คือความเป็น Pragmatic ผมไม่เคยเปลี่ยน ผมยืนแบบนี้มาตลอด”

อรรถวิชช์ยืนยันว่าตนเองอยู่ฝั่งโปรประชาธิปไตยและพรรคกล้าก็ยึดแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย มีความเชื่อในหลักปฏิบัตินิยมหรือ Pragmatism เขาบอกว่าอยากให้ลองเปิดใจกับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยของพรรคกล้า เพราะปัจจุบันสังคมไทยคุ้นชินกับประชานิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยมากกว่า เขาอธิบายว่าการเชื่อแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยคือเชื่อในเสียงข้างมากเป็นผู้กำหนดกติกา แต่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย ขณะเดียวกันต้องมีความเป็นเสรีเต็มที่ การแข่งขันอย่างเสรีต้องเกิดขึ้น ความเชื่อในเสรีประชาธิปไตยจึงต่างจากความคิดแบบอื่น

“ผมจะไล่ไปทีละคน พรรคการเมืองบางพรรคใช้ระบบที่เรียกว่าประชานิยม เป็นการสั่งการจากรัฐบาลที่เรียกว่าเป็น Super Government รัฐบาลที่โคตรเก่ง รวมคนเก่งทั้งประเทศไทยสั่งการลงมา เป็นการทำงานแบบบูรณาการ หรือเราจะเห็นสังคมนิยมประชาธิปไตย จริงๆ พรรคก้าวไกลเขาวางตัวเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราสัมภาษณ์เขาหลายครั้ง ทฤษฎีสามเหลี่ยมหัวคว่ำเป็นทฤษฎีของนักคิดชื่อว่ากรัมชี่ เขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นมาร์กซิสต์ วิธีคิดของเขา เชื่อว่ามนุษย์เท่ากัน เขาคิดว่าประชาชนเป็นใหญ่ ขณะที่ชนชั้นนำอยู่ข้างล่าง แต่ผมจะเรียนว่า วิธีคิดแบบนี้ก็รวมศูนย์อำนาจอยู่ดี สังคมนิยมประชาธิปไตยก็รวมศูนย์อำนาจอยู่ดี ไม่ต่างจากประชานิยมในความเห็นของผม

“แล้วก็อำมาตยาธิปไตยที่เป็นสามเหลี่ยมปกติ มีชนชั้นนำอยู่ข้างบน ประชาชนอยู่ข้างล่าง เวลาคนเชื่อเรื่องสามเหลี่ยมหัวค่ำ เขาก็จะพูดเรื่องแบบนี้ อำมาตยาธิปไตยก็รวมศูนย์อำนาจเช่นเดียวกัน เพียงแต่กรัมชี่คิดเรื่องกลไกการปฏิวัติปฏิรูปประชาชนตอนอยู่ในคุก ซึ่งผมคิดว่ามันก็ติดกับดักการแบ่งแยกและปกครองเช่นเดียวกัน”

สำหรับอรรถวิชช์ ทฤษฎีของกรัมชี่คือการก่นด่า เป็นทฤษฎีการปฏิวัติ ทฤษฏีการแย่งชิงอำนาจแบ่งฝักฝ่าย ต่างจากแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยที่เขาเชื่อว่าคือทางออก ซึ่งเขาเปรียบแนวคิดนี้กับรูปวงกลมและมีการแข่งขันอย่างเสรีเต็มรูปแบบ

ธรรมชาติคนไม่เท่ากัน แต่โอกาสต้องเท่ากัน

“เสรีนิยมสำหรับผม ผมพูดกับคนในพรรคกล้าหลายคนว่า ผมไม่คิดว่าคนเท่ากันโดยธรรมชาติ แต่สิ่งที่ต้องทำให้เท่ากันคือโอกาส ต้องมีความเท่าเทียม ถ้าคุณเชื่อว่าคนเท่ากันเมื่อไหร่ ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที เฮ้ย ทำไมศาลตัดสินเราได้ ศาลเป็นใคร ทำไมมาตัดสินเราเข้าคุกได้  ทหาร ตำรวจ ทำไมมันถือปืนได้ ถ้าคุณคิดว่าคนเท่ากันจริงๆ และไม่ได้ต่างกันด้วยหน้าที่  ผมเชื่อว่าคนต้องให้โอกาส ให้เกิดความเท่าเทียม เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์มีความแตกต่างกัน

“สำหรับนโยบายไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องให้คนเท่ากันไหม ไม่เท่า เช่น คุณต้องแจกเท่าเทียมกันไหม ไม่เท่า สิทธิของคุณจะได้เท่ากันหมดทุกอย่างไหม ไม่เท่า บางคนตัวสูงอยู่แล้วควรจะให้ลังเตี้ยเขา คนไหนที่ตัวเตี้ยก็ต้องให้ลังสูงหน่อย อันนี้คือวิธีคิดที่เราอยากให้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมเพราะเราเชื่อว่าคนมีความหลากหลาย ฟังให้ดี สำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยคุณจะเชื่อว่าคนมีความหลากหลาย คุณจะเชื่อว่าคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียม ผมไม่เชื่อแค่จะบอกว่าคนต้องเท่าเทียม เพราะอันนั้นมันเป็นวิธีคิดแบบแบ่งแยก”

การจะสร้างโอกาสที่เท่าเทียม อรรถวิชช์กล่าวว่าต้องทำลายการผูกขาดและระบบราชการที่ล้าหลัง แต่การยึดติดกับทฤษฎีการเมืองไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขัน

“ผมถึงบอกว่านายกฯ เที่ยวหน้าต้องรู้เศรษฐกิจ นวัตกรรม และต้องเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ประเทศถึงก้าวหน้า แต่ถ้าคุณไปพูดว่าประเทศต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย คนต้องเท่าเทียม เฮ้ย คนมันหลากหลาย ต้องให้โอกาสที่เท่าเทียมต่างหาก นั่นคือการแข่งขันที่เสรี ผมถึงแบ่งแยกชัดเจนว่าความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย กับความเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยไม่เหมือนกันและแตกต่างอย่างยิ่งยวดกับการเป็นประชานิยม”

อรรถวิชช์เชื่อในกลไกตลาด แต่ขณะเดียวกันรัฐยังต้องมีอำนาจแทรกแซงตลาดเป็นระยะเพื่อให้คนตัวเล็กมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม

เขายกตัวอย่างสวัสดิการสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแบบประชานิยม สังคมนิยม สามเหลี่ยมหัวกลับ สามเหลี่ยมธรรมดา หรือรัฐบาลทหาร ที่คิดแต่การขยายโรคให้ครอบคลุม เพิ่มเงินรายหัว หรือรวมศูนย์อำนาจ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คำตอบ การเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีต่างหากที่ใช่ เขากล่าวว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขึ้นตรงต่อสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลเรื่องงบประมาณ ทุกวันนี้ผู้ป่วยต้องไปรับยาเอง เขาถามว่าทำไมไม่เปิดให้บริษัทด้านเทคโนโลยีเข้ามาประมูลงานทำหน้าที่จ่ายยา ผู้ป่วยใกล้ที่ไหนไปรับยาที่นั่น แล้วไปเบิกกับหน่วยงานอีกทีหนึ่ง หรือการทำ Telemedicine โดยแพทย์ในโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 7 พันแห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์และการจ่ายยาที่ล่าช้า

“ไม่ว่าจะสามเหลี่ยมหัวอำมาตย์หรือหัวทิ่มมันเป็นไปไม่ได้ คุณเชื่อตลาดแข่งขันเสรีเมื่อไหร่ โคตรมัน แล้วเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เขาทำงาน หัว Creative ดีๆ มีโอกาสรวยทุกคน”

ประเทศไทยต้องมีสถาบันกษัตริย์

อรรถวิชช์ขยายความเพิ่มว่าพรรคกล้าเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ “เพราะผมรักประชาธิปไตยและรักพระเจ้าอยู่หัวด้วย” เขาเชื่อว่าทั้งระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถอยู่ร่วมกันได้

เขาตั้งคำถามว่าถ้าสังคมไทยไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะใช้ระบอบประธานาธิบดีหรือไม่ ซึ่งเขาไม่เห็นด้วย “พังแน่” เพราะการเมืองไทยจะเกิดการแก่งแย่งอำนาจ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย วนอยู่ในวงจรรัฐประหาร

“ระบบประธานาธิบดีไม่เหมาะสมเลยสำหรับบ้านเราแม้แต่นิดเดียว ผมว่าบ้านนี้เมืองนี้ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อแบบนี้”

เขากล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ช่วยให้องคาพยพต่างๆ ของประเทศเดินไปได้ เขายกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่สองฝ่ายชิงอำนาจกัน กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ลงมาเป็นคนกลางทำให้เหตุการณ์คลี่คลาย

“ในหลวงท่านมีบารมีที่จะเคลียร์ได้ ถ้าเกิดเป็นบ้านเมืองอื่นไม่มีบารมีเท่าเราก็เคลียร์ไม่ลง เราต้องถือเอาโอกาสแห่งความโชคดีที่เรามี ถามว่าทำยังไงจะถือโอกาสแห่งความโชคดีนี้ได้ คือต้องเชิดชูพระองค์ท่านให้เหนือจากการเมืองขึ้นไป ตราบใดที่ดึงพระองค์ท่านลงมาการเมือง ลงมาในความขัดแย้งเมื่อไหร่ มันไปลำบาก

“ตอนที่น้องๆ ทำม็อบไล่ลุงตู่ ตอนแรกมันไปได้ แต่พอเอาสถาบันมา ไม่มีใครไป มันปลุกไม่ขึ้น ที่พูดอย่างนี้ผมไม่ได้อยู่ พปชร. (พลังประชารัฐ) นะ ไม่ได้อิงอะไรทหาร ผมไม่ได้รับตำแหน่งอะไรที่เขาเป็นวันนี้กันอยู่ เราอยู่ของเรา”

ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112 ทำให้สถาบันอยู่เหนือการเมือง

คำถามก็คือแล้วจะทำอย่างไรให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง?

อรรถวิชช์ให้คำตอบว่าต้องสร้างกลไกที่จะทำให้มาตรา 112 ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เขาอธิบายว่าตัวบทมาตรา 112 ไม่ผิด เพียงแต่มีฐานความผิดกว้าง ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีภายใต้การกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“คณะกรรมการกลั่นกรองต้องทำหน้าที่เหมือนพยานพิเศษ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะฎีกา 112 ไม่ได้ตีพิมพ์ มันไม่ได้ถูกสอนในมหาวิทยาลัย เวลาอาจารย์เขาสอน เขาจะข้ามไป เพราะมันมีถ้อยคำบางอย่าง มันเหมือนหมิ่นซ้อนหมิ่น เมื่อเขาข้ามไปมันต้องใช้พยานพิเศษที่รวบรวมพยานเอาไว้ว่ามีอะไรบ้าง ถามคณะกรรมการกลั่นกรองว่าอันนี้มีแนวฎีกาไหม ถ้าไม่มี ไม่ผิดก็ปล่อยเลย แต่ถ้ามีแนวฎีกา แบบนี้ผิดก็ล่อเลย เข้าใจผมไหม ผมพยายามสื่อสารว่าถ้าแบบนี้มันจะชัดเจน ทำให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ภาพ อรรถวิชช์ เลขาธิการพรรคกล้า เข้าพบ รมว.ยุติธรรม เสนอรูปแบบ "คณะกรรมการกลั่นกรองคดี 112"

“ถ้ายกเลิกตอนนี้นะ เละ เพราะฝ่ายที่พูดถึงกษัตริย์แบบเสียหายมันเกิดขึ้นเยอะ แล้วฝ่ายปกป้องสถาบันก็มีเยอะ เชื่อไหมว่าคดี 112 เกินกว่าครึ่งเกิดจากการร้องทุกข์กล่าวโทษของราษฎรเอง อย่างนี้คือข้อเท็จจริงที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ลองไปหาดูเอง จะเห็นว่ามาตรานี้ ทำให้คนไม่ชนกัน ฉะนั้น 112 ต้องคงไว้ แต่มีคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วให้เป็นดุลยพินิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ความเป็นปฏิบัตินิยมก็พูดแบบนี้ คนไหนเข้าใจก็เข้าใจ คนไหนไม่เข้าใจก็ด่าเรื่อยไป”

แต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลแสดงความเห็นว่าคณะกรรมการรูปแบบนี้เคยเกิดขึ้นสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้ผล อรรถวิชช์โต้แย้งว่าคณะกรรมการดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริงแต่มายกเลิกสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองมีความมั่นคงถาวรกว่าในอดีตควรให้อยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นเหมือนพยานผู้เชี่ยวชาญคอยสนับสนุนข้อมูล

“อาจารย์สมศักดิ์เจียมเห็นไม่เหมือนผมแล้วกัน เพราะว่าอินเนอร์เราอาจจะต่างกัน อินเนอร์ของผมคือการต้องการเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แบบที่เคยอยู่ปกติปัจจุบันนี่ล่ะ และให้ท่านอยู่เหนือการเมืองให้ได้ แต่ผมจะไม่ตั้งคำถามมากมายจนต้องให้คนสงสัยว่าใช่หรือ ดีหรือ แนวของผมกับอาจารย์สมศักดิ์เจียมไม่เหมือนกัน”

พรรคกล้าไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์

“ผมคิดว่าประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย” ถ้าย้อนหลังดูประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคเมื่อ 70 กว่าปีก่อน แต่ประชาธิปัตย์ในยุคนี้พรรคประชาธิปัตย์สำหรับอรรถวิชช์กลับมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมาก เขาคิดว่าประชาธิปัตย์ควรปฏิรูปและเขาพยายามแล้ว ผลคือไม่สำเร็จ เขาจึงออกมาทำพรรคกล้าให้เป็นพรรคที่เปิดกว้าง เป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยได้เฉิดฉาย โดยไม่จำเป็นต้องมีปู่หรือพ่อเป็นนักการเมือง

“เราเปิดมา 2 ปี บางคนเข้ามาแล้วเขาก็ไป เราก็พบเหมือนกันว่าบางคนมาอยู่สักพัก เขารู้สึกว่าเขาเป็นขวา เขาก็ไป บางคนเขาออกสังคมนิยม เขาก็ไป มันแล้วแต่ว่าเขาเป็นแบบไหน เราอยู่ด้วยความเข้าใจ น้องๆ แต่ละคนมา เราพร้อมจะเป็นเวทีให้อยู่แล้ว ฉะนั้น ผมว่า ยิ่ง พ.ศ. นี้เราแตกต่างจากประชาธิปัตย์มากทั้งเรื่องวิธีคิดและการบริหารงาน”

ระหว่างพรรคกล้ากับพรรคก้าวไกล ความต่างอยู่ที่ปรัชญาความคิดระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับสังคมนิยม พรรคก้าวไกลโฟกัสเรื่องความเท่าเทียม พรรคกล้าโฟกัสเรื่องความแตกต่าง

“เราเคารพเรื่องความแตกต่างและเชื่อในโอกาสที่เท่าเทียม นั่นคือความเหมือนและต่าง ไม่ด่า ไม่ว่ากัน เราคุยกับคุณกรณ์ว่าทำพรรคอย่างนี้เพราะอนาคตของชาติคือเยาวชน แต่ถ้าเอาเยาวชนมันต้องเปิดให้เขาคิดว่าประเทศนี้มันต้องแข่งขันเสรี ต้องเชื่อในความหลากหลายของคน แต่ผมจะไม่ยอมบิ้วคนว่าเท่าเทียม ถ้าคุณเชื่อแบบนั้นอินเนอร์คุณมันจะผิดปกตินิดหน่อย

“คนมันต่างกันที่หน้าที่ สังเกตว่าพอเราอายุเท่านี้ หลุดจากจุดหนึ่ง พอเริ่มเป็นหัวหน้ากอง หัวหน้าแผนก เราเริ่มเข้าใจ อ้อ คนมันต่างกันด้วยหน้าที่นี่นา แตกต่างหลากหลายนี่หว่า ดังนั้น ถ้าเราเชื่อในความหลากหลายของมนุษย์ก็ทำงานบนสังคมได้ แต่รัฐบาลต้องเปิดให้แข่งขัน ให้ความหลากหลายเป็นเครื่องจักรสำคัญให้เกิดการแข่งขันเสรี ถ้ารัฐบาลรวมศูนย์อำนาจ ระบบสัมปทานผูกขาด จะปลูกฝังว่าเท่ากันยังไง เสรียังไง มันก็ไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง มันไม่ทะลุ”

ด้วยฐานคิดเช่นนี้ กลุ่มเป้าหมายของพรรคกล้าจึงเป็นกลุ่มคนวัยที่ทำงาน อรรถวิชช์จึงยอมรับว่าการชิงฐานเสียงจากกลุ่มเยาวชนนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยาก

“เราเข้าใจธรรมชาติของนักศึกษาว่าเขาเป็นเสรีเต็มที่ ซึ่งเราก็เสรี แต่ทฤษฎีกรัมชี่มันโดนใจมากกว่า อีลีทต้องอยู่ข้างล่าง ประชาชนต้องเป็นใหญ่ มันเกิดอารมณ์แบบนี้ได้ แต่วิธีคิดของเราเป็นการเปิดให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี คือน้องๆ เขาเก่งอยู่แล้ว แค่คนจะเริ่มรู้สึกตัวว่าติดกับดักรายได้ปานกลาง ผมว่าเขาจะรู้เมื่อเริ่มจ่ายเงินเองทุกบาททุกสตางค์ อยู่ด้วยลำพังเงินเดือนตัวเองโดยไม่พึ่งใคร คนที่เป็น First Jobber จะเข้าใจเรา”

ปัญหาใหญ่ที่สุดในรัฐธรรมนูญปี 2560 คือมาตรา 272 ส.ว.แต่งตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามา การซื้อเสียงเป็นสิ่งที่อรรถวิชช์กังวลที่สุด เขากล่าวว่าตลอดชีวิตการเมือง  17 ปีไม่เคยเห็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งใดที่มีการซื้อเสียงหนักขนาดนี้มาก่อน ส่วนประเด็นความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเขาถือเป็นเรื่องปกติและสวยงามของประชาธิปไตย

“ถ้าคุณเชื่อในสังคมนิยมประชาธิปไตย เชื่อในความเท่าเทียม คุณต้องเลือกก้าวไกล แต่ถ้าเชื่อในความหลากหลายของมนุษย์ เชื่อในการแข่งขันเสรี คุณเชื่อเสรีนิยมประชาธิปไตย คุณต้องเลือกพรรคกล้า แต่ถ้าอนุรักษ์นิยมสุดๆ หรือประชานิยมสุดๆ คุณจะเลือกพรรคเอบีซีอะไรก็ว่าไป มันคือความหลากหลาย เพราะฉะนั้นผมไม่ค่อยจะกังวล ผมกลัวเรื่องเงิน แล้วพรรคกล้าเองเราจะอยู่รอดในบริบทสังคมหรือเปล่า ก็อยู่ที่ทุนสนับสนุนด้วย เพราะเราก็ไม่เอาทุนรายใหญ่จากใคร ผมไม่ให้ใครมาเป็นเจ้าของพรรครายเดียวเด็ดขาดครับ นี่คือความยากของการทำพรรคการเมือง”

ตัวเลขที่เขาคาดหวังคือ 25 ที่นั่ง เป็นจำนวนที่เพียงพอในการเสนอกฎหมาย เมื่อเขาพูดถึงกฎหมาย เราจึงถามต่อเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อรรถวิชช์ตอบว่ามาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดในรัฐธรรมนูญปี 2560 คือมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นี่เป็นมาตราเดียวที่ต้องแก้ไข ส่วนประเด็นอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ณ เวลานี้

“รัฐธรรมนูญนี้มีมาตราที่น่ากลัวที่สุดมาตราเดียว ที่สะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุดคือ 272  ส.ว.แต่งตั้งไม่ควรมาเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วเขียนเอาไว้ไม่มีความหมายในเชิงการเป็นปฏิบัตินิยม ผมพูดอันนี้อาจจะไม่ถูกใจหลายคน แต่ต้องพูด พลเอกประยุทธ์ จันโอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเขารวมเสียงได้ 250 เสียง จากสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะรวมจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นพรรคเล็ก พรรคน้อย  250 ได้ก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายเขาเกิดจากการรวมแล้วได้ 250 เสียง ในการโหวตนายกรัฐมนตรีวันนั้นต่อให้ไม่มีกติกานี้ พลเอกประยุทธ์ก็ได้เสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎร

“แต่มาตรานี้ไม่ควรเขียนไว้แล้วในคราวหน้า เพราะผมไม่เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะได้คะแนนแบบนั้นอีกแล้ว ถ้าเกิดว่าเขาดันทุรังมีได้แค่ 230 จาก 500 รวมไม่ถึงครึ่ง แล้วเอา ส.ว. มาโหวต ไม่เกินอาทิตย์โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจโหวตจาก ส.ส. ไม่ได้ใช้ ส.ว. มาโหวตด้วย เพราะฉะนั้นต้องยกเลิก 272 ให้ได้ มันถึงเป็นประชาธิปไตย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net