'บรรยง' หนุนเข้าชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ชี้ช่วยลดปัญหาคอร์รัปชัน ประชาชนตื่นตัวติดตาม

'บรรยง พงษ์พานิช' นักเศรษฐศาสตร์ หนุน เข้าชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ปรับโฉมเศรษฐกิจประเทศไทย ชี้ ช่วยลดปัญหาคอร์รัปชัน ประชาชนตื่นตัวติดตาม แนะ การปฏิรูปย่อมมีคนเสียประโยชน์ ต้องขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจ “ธนาธร” ยกประสบการณ์ทำงานท้องถิ่น ชี้ระบบรัฐราชการเป็นอุปสรรคขวางความเจริญ ขอทุกคนร่วมลงชื่อ “ปลดล็อกท้องถิ่น”

1 เม.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลนว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ที่อาคารอนาคตใหม่ บรรยง พงษ์พานิช นักเศรษฐศาสตร์และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบรรยายหัวข้อ “การกระจายอำนาจกับการยกเครื่องทางเศรษฐกิจ” ในงานเปิดตัวแคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ความช่วงหนึ่งว่า ตนคิดว่าแคมเปญนี้มีความสำคัญมากในการพลิกฟื้นและปรับโฉมประเทศไทยโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ แม้ตนไม่ได้สังกัดกลุ่มการเมืองใด แต่ยินดีสนับสนุนในเรื่องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ โดยขอเป็นอย่างน้อยหนึ่งในห้าหมื่นชื่อที่จะสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญหมวด 14 ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเดิมมีเนื้อหาที่ทั้งไม่พอเพียง และไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่มีเงื่อนเวลา ไม่เกิดผลใดๆ

บรรยง ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน การกระจายอำนาจจะเป็นยาขนานสำคัญในการแก้ไข เช่น เป้าหมายทางเศรษฐกิจ ต้องมั่งคั่ง ทั่วถึง ยั่งยืน แต่ประเทศไทยปัจจุบันเจอปัญหาเยอะมากเรื่องความทั่วถึง เราเติบโตแบบกระจุก รวยกระจุกจนกระจาย เรื่องความยั่งยืนไม่ต้องพูดถึง ปีนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกระเตื้อง แต่อัตราการฟื้นตัวของไทยต่ำมาก เราเจอปัญหาข้าวของแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง เจอภาวะ Stagflation เงินเฟ้อสูง แต่การเติบโตไม่เกิดขึ้น  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นรัฐข้าราชการ ข้าราชการในประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลางถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภูมิภาคร้อยละ 21 ขณะที่ข้าราชการท้องถิ่นมี 200,000 คน หรือแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างจากญี่ปุ่นที่มีประชากรมากกว่าไทย แต่มีข้าราชการส่วนกลางเพียง 500,000 คน และมีข้าราชการท้องถิ่นถึง 2,500,000 คน

บรรยง กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ของการกระจายอำนาจ มีทั้งเพิ่มความหลากหลาย เพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสในการทดลองเปลี่ยนแปลง กำลังเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงทรัพยากรและพัฒนาศักยภาพพื้นที่ของเขา ปลดล็อกอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำเตี้ยของไทย และที่สำคัญคือเพิ่มการตรวจสอบ ลดปัญหาคอร์รัปชัน เพราะเมื่อคนในท้องถิ่นรู้ว่าทรัพยากรเป็นของท้องถิ่น จะเกิดแรงจูงใจในการติดตามดูแล แตกต่างจากส่วนกลางที่คนอาจไม่รู้สึกว่าสำคัญ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในการปฏิรูปทุกครั้งต้องมีผู้เสียประโยชน์ ถ้าเกิดการกระจายอำนาจ คนที่เสียแน่นอนคือคนที่กุมอำนาจที่ส่วนกลาง ดังนั้น ต้องทำเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและด้วยความเข้าใจ ทำอย่างไรให้ผู้สูญเสียยอมรับหรือไม่มีโอกาสปฏิเสธ

บรรยง กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนความกังวลว่าการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การทุจริต ในระยะต้นยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะทำให้เกิดมาตรฐานที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่สาเหตุที่เรารู้สึกว่าการทุจริตมีมาก เพราะท้องถิ่นอยู่ในที่สว่างและเรามองเห็น แต่ต้องไม่ลืมว่าการทุจริตที่เรามองไม่เห็นมีอีกเยอะ โดยเฉพาะการโกงในลักษณะเอื้อประโยชน์ กำจัดการแข่งขัน ล็อกสเปก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ส่วนกลาง ดังนั้น แม้มีบาง อปท. ที่มีปัญหา แต่ อปท. ที่ดีก็มีเยอะ ต้องยกพวกเขาขึ้นมาให้ประชาชนรู้ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบและให้ประชาชนสร้างแรงกดดัน ตนเชื่อในพลังของประชาชน ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจในวงกว้าง จะยิ่งส่งผลดีต่อการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีเรื่องกระจายอำนาจเลย ดังนั้น ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนขอให้ช่วยเอาเรื่องนี้ออกไปด้วย

เริ่มแล้วรณรงค์แก้ รธน.หมวด 14 “ธนาธร” ยกประสบการณ์ทำงานท้องถิ่น ชี้ระบบรัฐราชการเป็นอุปสรรคขวางความเจริญ ขอทุกคนร่วมลงชื่อ “ปลดล็อกท้องถิ่น”

ในงานเดียวกัน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โชว์วิสัยทัศน์ - ความสำเร็จท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้าร่วมบริหาร ยอมรับไม่อาจทำคนเดียวได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่สัญญาจะทำเต็มที่เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ขอร้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดย เขากล่าวว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่คณะก้าวหน้าได้เข้าไปให้คำแนะนำผลักดันโครงการต่างๆ ร่วมกับ 16 เทศบาล ใน 7 จังหวัด, 39 อบต. ใน 18 จังหวัด, สภาชิกสภาในนามคณะก้าวหน้าทุกระดับมากกว่า 200 คน ภายใต้งบประมาณรวมกัน 2,800 ล้านบาทต่อปี และจำนวนประชากร 4 แสนคน คณะก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น ที่เทศบาลตำบลด่านสำโรง จ.สมุทรปราการ เราผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนในหลักสูตร 3D printing และ coding ในนักเรียนชั้น ป.4 - 6 จำนวน 200 กว่าคน, น้ำประปาที่เราปรับปรุงการทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลอาจสามารถ จนได้รับการยอมรับจากกรมอนามัยว่าเป็นน้ำประปาที่ดื่มได้ ซึ่งในอีกปีข้างหน้า 6 เทศบาลที่มีโรงน้ำประปาของตัวเอง จะได้ใช้น้ำประปาที่ดื่มได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กใน อบต. และเทศบาลของคณะก้าวหน้า มอบหนังสือนิทานให้เทศบาล และกำลังจะมีการจัดอบรมครูในศูนย์เด็กเล็กในเทศบาลและ อบต. ที่ จ.อุดรธานี, การคัดแยกขยะ และเปลี่ยนขยะเป็นสวัสดิการสังคม ผ่านกองทุนฌาปนกิจ, และการนำเทคโนโลยี telemedicine มาใช้เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลศูนย์ เป็นต้น

"อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกการทำงานของเราจะเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหา เช่น ปัญหาน้ำประปาหลายที่ การแก้ปัญหาต้องลงทุนใหม่ทั้งระบบ บางแห่งต้องใช้งบลงทุน 8 ล้านบาท ภายใต้กรอบงบลงทุนที่เหลือแค่ 3 ล้านบาทต่อปี จากงบ 40 ล้านบาทต่อปี ปัญหาที่รู้อยู่แล้วว่าจะจัดการอย่างไรแต่กลับไม่มีงบประมาณ  อีกตัวอย่างหนึ่ง คือที่ อบต.ท่าสะแก จ.พิษณุโลก เราอยากพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานติดแม่น้ำแควน้อย แต่ อบต.ไม่มีอำนาจ อุทยานในพื้นที่ก็ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องส่งมาที่กรมอุทยานแห่งชาติในส่วนกลาง เพื่อรออธิบดีเซ็นหนังสืออีกหลายเดือน ทั้งที่เป็นโครงการที่สร้างงานสร้างรายได้ ไม่ทำลายป่าไม้ เป็นนโยบายของรัฐ แต่พอจะทำจริงทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในการทำ" ธนาธร กล่าว

ธนาธร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย คืองบประมาณกองอยู่ที่ศูนย์กลาง มีตัวกลางระหว่างบประมาณกับประชาชนเต็มไปหมด ทั้งราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กว่าที่ความต้องการของประชาชนจะได้รับการตอบสนอง ประชาชนต้องวิ่งเต้นใช้เส้นสาย โดยที่ตัวกลางทั้งหมดไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ขณะที่คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีงบประมาณเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณด้วยตัวเอง ถึงขนาดสามารถทำรถไฟฟ้าและรถบัสในเมืองได้ด้วยตัวเอง ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะมีการกระจายภาษีที่เป็นธรรมและมีอำนาจอย่างแท้จริง การตอบสนองชีวิตของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้น การปลดล็อกท้องถิ่น จึงไม่ใช่แค่เรื่องการตอบสนองชีวิตประชาชนเฉพาะหน้า แต่นี่คือระบบระบอบทางการเมืองที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง แต่ถ้างบกับประชาชนอยู่ใกล้กันได้ ตัวกลางเดียวที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงงบประมาณได้คือบัตรเลือกตั้ง นี่จะตัดตอนตัวกลางทางการเมืองทั้งหมดออกไปจากการเข้าถึงงบประมาณ นี่คือความสัมพันธ์ที่จะทำให้การตอบสนองความเป็นอยู่ประชาชนรวดเร็วขึ้น” ธนาธรกล่าว

ธนาธร กล่าวด้วยว่า การปลดล็อกท้องถิ่นจะอนุญาตให้ประชาชนได้ออกแบบและลงทุนเองได้ว่าเมืองของตัวเองจะเป็นอย่างไร ถ้าเปลี่ยนจากระบบที่เป็นอยู่เป็นแบบนี้ได้จะเป็นการปลดล็อกพลังการผลิตครั้งใหญ่ ทำลายโซ่ตรวจที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของสังคมไทย นี่ไม่ใช่ทางเลือกถ้าเราอยากให้ประเทศไทยพัฒนากว่านี้ วันนี้ครบรอบ 130 ปีการสถาปนารัฐราชการรวมศูนย์ ขอใช้โอกาสนี้รณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น ขอชื่อจากทุกคนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ให้การกระจายอำนาจและปฏิรูปรัฐราชการเป็นไปได้จริง ตนมี 1 คำสารภาพ คือผมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกที่ของประชาชน แต่มี 1 คำสัญญา คือจะทำทุกวิถีทางให้เกิดการปลดล็อกท้องถิ่น เอางบและอำนาจกลับไปให้ทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองให้ได้ และมี 1 คำร้องขอ คือเรื่องนี้ใหญ่เกินที่พวกเราจะทำกันเองได้ เป็นเรื่องอนาคตของประเทศ ของลูกหลานเรา ใครก็ตามที่เห็นด้วย อยากให้มาช่วยกันรณรงค์ ร่วมล่ารายชื่อ อธิบายให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจ เป็นพลังแสดงให้สมาชิกรัฐสภาเห็นว่ามีคนจำนวนมากต้องการปฏิรูประบบราชการ ให้สมาชิกรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทั้งนี้ สามารถร่วมลงชื่อที่จุดลงชื่อกับแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นได้ทั่วประเทศไทย หรือ สามารถลงชื่อทางออนไลน์ได้ที่: www.progressivemovement.in.th/campaign-decentralization

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท