Skip to main content
sharethis

กรมชลฯ เป็นประธานจัดประชุมชี้แจงโครงการผันน้ำยวม สามารถแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ผลกระทบน้อย แต่จ่ายเยอะ ด้านนักวิชาการมอง ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ ชี้การแก้ปัญหาอาจไม่ใช่ผันน้ำ แต่เป็นการจัดการน้ำที่หายไปกลับมา จี้รัฐแจง EIA ให้กระจ่าง ถามมูลค่าลงทุนหลายแสนล้าน ทำไมใช้เวลาศึกษา 150 วัน ทำไมต้องเร่งโครงการ 

 

1 เม.ย. 65 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ได้มีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผ่านระบบออนไลน์ “Zoom Meeting” โดยผู้แทนกรมชลประทานนำเสนอ อาทิ ทำไมควรผันน้ำยวมเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป้าหมายและองค์ประกอบของการพัฒนาโครงการ ผลประโยชน์ที่ได้ ความพร้อมของภาครัฐ รูปแบบการลงทุน มูลค่าการลงทุน และแผนการดำเนินงานของ 3 กรณีทางเลือก มาตรการสนับสนุนและการบริหารความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการ โดยมีการนำเสนอโดยบริษัทที่ปรึกษา 3 แห่งที่ได้รับการว่าจ้างโดยกรมชลประทาน นำโดย ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด 

องค์ประกอบโครงการ แนวส่งน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)

ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่โครงการพบว่า ที่บ้านสบเงา จ.แม่ฮ่องสอน มีประมาณ 29 ครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งเราให้ความสำคัญแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รายงานเราใช้เวลา 3 ปี จึงผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และพัฒนาการร่วมทุนเป็นรูปแบบ Public Private People Partnership หัวใจของโครงการคือร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสำหรับโครงการนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีความสำคัญ เพราะโครงการต้องสูบน้ำ ตอนนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดแล้วเสร็จกลางปี (2565) เมื่อส่งเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ถ้าผ่าน ก็จะดำเนินการก่อสร้างสายส่ง 5-6 ปี และสำหรับการประปานครหลวงเองก็มีปัญหาแหล่งน้ำ น้ำประปาไม่เพียงพอ 

“โครงการนี้มีความสำคัญระดับโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG คือต้องรอว่ารัฐบาลจะอนุมัติเมื่อไหร่ กรมชลประทาน พร้อมมาก” ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าว

สำหรับรูปแบบการลงทุนที่โครงการได้พิจารณา เอกสารประกอบการประชุมระบุว่ามี 3 รูปแบบ คือ 1 กรณีรัฐดำเนินงานทั้งหมดตามรูปแบบปกติ ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาที่ดิน ลงทุนก่อสร้าง ดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของโครงการ และผู้ใช้น้ำที่ต้องชำระค่าน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (ประเภทที่ 1 และ 3) 

รูปแบบที่ 2 กรณีเอกชนจัดหาแหล่งเงินทุนและลงทุนก่อสร้าง รัฐดำเนินงานและบำรุงรักษา ภาครัฐจัดหาที่ดินและมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาแหล่งเงินทุนและการก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเสร็จเรียบร้อยภาครัฐจะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษา 

รูปแบบที่ 3 กรณีการให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ Gross Cost PPP ภาครัฐจัดหาที่ดินและให้สิทธิเอกชนรับผิดชอบในการลงทุนก่อสร้างและดำเนินงานผันน้ำและบำรุงรักษา โดยที่ภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ทั้งหมดของโครงการรวมถึงการจัดเก็บรายได้ด้วยตนเอง ซึ่งภาคเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้ดำเนินงาน 

รูปแบบการลงทุน (ทีมา สำนักข่าวชายขอบ)

เอกสารการประชุมระบุอีกว่า มูลค่าการลงทุนทั้ง 3 รูปแบบ ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงานและบำรุงรักษา และค่าลงทุนโครงการ อยู่ที่ 172,200.34 ล้านบาท 170,802.68 ล้านบาท และ 170,620.36 ล้านบาท ตามลำดับ   

ขณะที่ผู้แทนหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ระยะอุโมงค์ผันน้ำ 60 กิโลเมตร (กม.) น้ำยวมมีเหลือเฟือ อยากให้มองสถิติปริมาณฝนที่ผ่านมา กลัวว่าอาจจะมีฝนหนักในลุ่มน้ำปิง หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตปริมาณน้ำยวมอาจไม่พอที่จะผันมา ส่วนตัวนั้นชอบโมเดล PPP เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ การอธิบายให้เข้าใจว่า หากรัฐกู้เงินมาเอง ก็จะมาจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ แต่หากเป็นการลงทุนโดยเอกชนอาจมีผลดีมากกว่า 

ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวว่ามีการศึกษาหลายทางเลือกมาแล้ว ไม่ว่าจะการสร้างอ่างเพิ่ม และการผันน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาความต้องการน้ำสูงขึ้น แต่ 4 อ่างใหญ่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ปริมาณน้ำที่เข้ามาก็แค่ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนภูมิพลสร้างมา 50 กว่าปี น้ำเคยเกือบเต็มเพียง 5 ครั้ง การใช้น้ำตอนบนก็มาก ไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่พม่าเป็นแหล่งน้ำ ปริมาณฝนตกมาก แต่เก็บน้ำไม่ได้ไม่มีอ่าง 

“การทำอ่าง เช่น แก่งเสือเต้น 1,000 ล้าน ลบ.ม. ทำไม่ได้ มีปัญหาผลกระทบ แม่วงก์ก็สร้างไม่ได้ ทุกทางเลือกกรมชลประทานได้ดำเนินการแล้ว การผันน้ำเป็นทางเลือกหนึ่ง มีผลกระทบบน้อย ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เขื่อนภูมิพล 3,500 ล้านบาท กู้เงินธนาคารโลก มองการณ์ไกลมาก การกักเก็บน้ำเป็นการกักเก็บน้ำในฤดูฝนเพื่อนำมาใช้ในฤดูแล้ง” ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าว 

ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนภูมิพลในอดีตในวันที่เราต้องการน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกข้าว และเราต้องการส่งออกข้าวเป็นที่หนึ่งของโลก แต่ในฐานะนักวิชาการมองว่าทุกอย่างมีข้อดี-ข้อเสีย  ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกให้ข้อมูลอะไร วันนี้มีคนถามว่าโครงการนี้มีข้อเสียอะไรบ้าง แต่ในที่ประชุมไม่มีการพูดถึง จึงขอให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและมีผู้ร่วมประชุมหลายท่านตั้งข้อสังเกตต่อการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่ามีความต้องการน้ำชลประทานสูงมาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่าปีละ 12,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ด้วยประสิทธิภาพของระบบชลประทาน ซึ่งมีเพียง 50-60% หมายความว่า เราสูญเสียไปถึงปีละไม่น้อยกว่า 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าสองเท่าของปริมาณน้ำที่จะผันมาด้วยซ้ำ การประปานครหลวงผลิตน้ำวันละ 5.5 ล้าน ลบ.ม. หายไป 30% เท่ากับ 1.6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปีละมากกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอสำหรับปลูกข้าวได้มากกว่า 5 แสนไร่ หากเรายังทำน้ำหายไปแบบนี้โดยไม่จัดการ แต่อยากผันน้ำปีละ 1800 ล้าน ลบ.ม. จะยังบอกว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG ได้อีกหรือ? การผันน้ำยวมอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของกรมชลประทานอย่างที่ผู้ชึ้แจงกล่าว แต่การมองน้ำต้องมองเป็นองค์รวมของน้ำทั้งระบบ ไม่ได้เป็นพันธกิจของกรมชลประทานเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ และการลดน้ำสูญเสีย คือ การเอาน้ำที่ทำหายไป น้ำที่เป็นของเราอยู่แล้ว น้ำที่มีต้นทุน … กลับคืนมา 

ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า แทนการใช้งบมากกว่า 7 หมื่นล้านบาทไปผันนน้ำ ทำไมไม่ลงทุนเพื่อเอาน้ำของเราที่ทำหายไปเหล่านี้กลับคืนมา การประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ท่านรองนายก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานในที่ประชุมได้มีคำสั่งให้กรมชลประทาน และ กปน. ไปจัดการน้ำสูญเสียอย่างเร่งด่วน 

อีกประการหนึ่ง ตนมีข้อสังเกตว่าการศึกษานี้เป็นการศึกษาต่อเนื่องที่บริษัทปัญญา เป็นผู้ทำการศึกษา EIA มาก่อน ถึงตอนนี้ รายงาน EIA ดังกล่าวยังมีหลายประเด็นที่ผู้ศึกษายังไม่ได้ให้ความกระจ่างแก่สังคม จนนำมาถึงการสั่งการของ สทนช. ให้กรมชลประทานทำการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม แต่กรมชลประทานก็ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาอีกให้ทำการศึกษา PPP นี้ ซึ่งพบว่ารวบรัดตัดตอน มีเวลาให้เตรียมเอกสารเพียง 5 วัน ใช้เวลาศึกษาเพียง 150 วัน ค่าศึกษา 28 ล้านบาท … เหตุใดจึงต้องรวบรัดขนาดนี้? 

“เราพูดถึงการเก็บค่าน้ำ ที่ไม่เก็บจากผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 คือเกษตรกร แต่ผู้ใช้น้ำประเภท 2-3 จะถูกเอกชนเก็บค่าน้ำแน่นอนเนื่องจากเป็นการลงทุนโดยเอกชนที่ต้องการกำไร การเก็บค่าใช้น้ำน้ำจะใช้กฎหมายอะไร เรามี พ.ร.บ.น้ำ แต่กฎหมายลูกว่าด้วยการเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 ยังไม่ออก ทำไมเรื่องสำคัญขนาดนี้ต้องเร่งรีบ ทำไมรอกฎหมายลูกไม่ได้ การประปานครหลวงรู้ตัวหรือไม่ว่า หากเก็บค่าน้ำจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้ประชาชนจ่ายค่าน้ำประปา ลบ.ม.ละ 10 บาท ไม่เคยขึ้นเลย 15 ปี แล้วต่อไปหากมีการเก็บค่าน้ำ กปน. จะทำอย่างไร กปน. ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องร่วมในกระบวนการรับฟังและมีส่วนร่วมใช่หรือไม่? จะอย่างไร คำถามคือ เราจำเป็นต้องทำให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ใช่หรือไม่ และในฐานะนักวิชาการด้านน้ำ ขอยืนยันว่า การผันน้ำจากยวม มาเติมภูมิพลไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดที่ทำได้ ลุ่มเจ้าพระยาไม่ได้ขาดน้ำ แต่เราขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี และการบูรณาการน้ำของประเทศยังไม่ได้ดำเนินการ” ดร.สิตางศุ์ กล่าว

ผู้แทนจาก จ.ตาก กล่าว่าอยากทราบข้อมูลเรื่องสายส่งไฟฟ้า อยากให้ระบุชัดเจน เพราะหากในอนาคตพม่าสร้างเขื่อนฮัตจี (บนแม่น้ำสาละวิน) ก็จะได้ใช้สายไฟฟ้านี้ด้วย 

ผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนน้ำยวม จะก่อสร้างห่างจากแม่น้ำเมย และสาละวิน เพียง 13 กม. เป็นน้ำที่ทิ้งลงเมยและสาละวิน การปล่อยน้ำตลอดเวลาเพื่อรักษาระบบนิเวศ จากนั้นไม่มีใครใช้แล้ว ก็มีแค่ค่ายผู้อพยพชนกลุ่มน้อย ตรงเขื่อนน้ำยวมก็จะมีโรงไฟฟ้าขนาด 9 เมกะวัตต์ ส่งให้แม่สะเรียง และบางพื้นที่ในแม่ฮ่องสอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net