ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-พม่า วอนรัฐไทย อย่าเร่งผลักดันกลับ หลังกองทัพพม่ายังคงไม่หยุดโจมตี

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ผู้หนีภัยการสู้รบวอนรัฐไทยอย่าเร่งรีบผลักดันออก เผยชีวิตสุดลำบากหลังกองทัพพม่าโจมตีหมู่บ้านต่อเนื่อง-ขาดแคลนน้ำสะอาดขั้นวิกฤต ศูนย์สั่งการชายแดนตากระบุข้ามมาฝั่งไทยด้านอุ้มผางแล้วนับพัน

1 เม.ย. 2565 สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า ซอบอบะ ผู้เชี่ยวชาญชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามสถานการณ์การสู้รบบริเวณชายแดนไทย-พม่า เปิดเผยว่า สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) และฝ่ายต่อต้านรัฐประหารในพม่า ขณะนี้มีประชาชนหนีภัยจากการสู้รบมาหลบอยู่ตามแนวชาวแดนไทยด้านอำเภออุ้มผางราว 5,000 – 6,000 คน และอีกส่วนหนึ่งหลบอยู่ตามริมแม่น้ำเมยในอำเภอแม่สอด ขณะนี้เครือข่ายชาวบ้านในแต่ละพื้นที่พยายามให้การช่วยเหลือกันเอง

เมื่อคืนของวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสถานการณ์บริเวณพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากว่า ที่ผ่านมาเกิดการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยง/กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาบริเวณอำเภอเมียวดีและอำเภอเล่ย์ใหม่ จังหวัดเมียวดี ลึกเข้าไปในฝั่งเมียนมา 20-30 กิโลเมตร ด้านตรงข้ามอำเภอพบพระและอำเภออุ้มผาง ไม่ปรากฏการรุกล้ำอธิปไตยเข้ามาในดินแดนไทย โดยปัจจุบันมีผู้หนีความไม่สงบที่มีความกังวลจากสถานการณ์ในพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาฝั่งไทยเป็นการชั่วคราวจำนวน 1,759 คน

ทั้งนี้ ชาวบ้านที่หลบหนีการสู้รบได้พักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่งประกอบด้วย

1.บ้านห้วยน้ำนัก อ.พบพระ 102 คน

2.อำเภออุ้มผาง 3 แห่ง บ้านซอทะ ต.หนองหลวง 645 คน บ้านหนองหลวง ต.หนองหลวง 260 คน และบ้านเลตองคุ ต.แม่จัน  752 คน

 

ศูนย์สั่งการชายแดนฯ ระบุว่า คณะทำงานของศูนย์สั่งการฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวอย่างทั่วถึงและพอเพียงต่อการดำรงชีพภายใต้การดำเนินการของภาครัฐ และสนับสนุนพาหนะในการเคลื่อนย้ายให้ผู้หนีภัย และยังคงดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการไม่สนับสนุนให้ใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง

“ศูนย์สั่งการชายแดนฯ ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ งดการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อปฎิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระบาด รวมถึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนในการตรวจสอบข่าวสาร ข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนเพราะข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงนั้น จะสร้างความแตกตื่นและความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่” ศูนย์สั่งการชายแดนฯ ระบุ

ด้านเฟซบุ๊กเพจ “Friends Without Borders Foundation” รายงานว่า 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า ก้าวไปสู่การใช้ความรุนแรง การเข่นฆ่า การทรมาน สังหารโหด เผาทำลาย ทิ้งระเบิด ฯลฯ กลายเป็นสิ่งที่เกิดอยู่ทุกวัน ชาวบ้านพลัดถิ่นแถบนี้ซึ่งมีจำนวนรวมกันหลายแสน คือผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ ‘ฉุกเฉิน’ และเป็นความฉุกเฉินที่ ‘ยืดเยื้อ’ อีกทั้งภายในความฉุกเฉินนั้น ก็ยังมีความ ‘ฉุกเฉินยิ่งกว่า’ หรือ ‘ฉุกเฉินในความฉุกเฉิน’ ซ้อนทับไปอีก เช่น ในภาวะที่พลัดถิ่นอยู่แล้ว ยังมีการทิ้งระเบิดลงพื้นที่พักพิงฯ หรือมีการสู้รบหนักจนผู้พลัดถิ่นฯ ที่หลบซ่อนอยู่ต้องหนีต่อข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย เป็นต้น

หลังรัฐประหารกองกำลังของกลุ่มการเมืองทั้งกะเรนนีและกะเหรี่ยง เดินหน้ายุทธการการเรียกคืนพื้นที่ ตัดเส้นทางขนส่งเสบียง บุกโจมตียึดฐานทัพพม่าเพื่อผลักดันให้ออกไป ขณะที่ยุทธการของกองทัพพม่าคือการระดมกำลังเข้าชายแดน การยิงปืนใหญ่อย่างสุ่มเข้าหมู่บ้านทุกหนแห่ง โดยเชื่อว่าเป็นการทำลายที่หลบซ่อนและผู้สนับสนุนทหารกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อใดก็ตามที่กองทัพพม่าสูญเสียหรือใกล้จะสูญเสีย ก็มักระดมยิงปืนใหญ่เข้าชุมชนเพื่อแก้แค้น และอาจนำเครื่องบินรบกับเฮลิคอปเตอร์ออกปฏิบัติการทิ้งระเบิดกับกราดยิงปืนกล

ปี 2565 แนวโน้มที่ชาวบ้านชาติพันธุ์จะกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) อย่างยืดเยื้อ และเพิ่มจำนวนขึ้น ค่ายพัก IDPs ทั้งขนาดย่อมและใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่งแล้ว รวมถึงริมขอบแดนติดไทยสำหรับผู้ที่หวังจะวิ่งหนีข้ามพรมแดนมาเมื่อจำเป็น แม้ว่าจำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยจะลดลงจากปี 2564 เพราะเป็นที่รู้ดีว่า รัฐไทย “ไม่ต้องการต้อนรับผู้ลี้ภัย”

“ปีก่อนที่ต้องไปอยู่แบบไม่มีน้ำ ไม่มีส้วม คนเอาอาหารเข้ามาช่วยก็ไม่ได้ แล้วเข้ามาปุ๊บก็จะให้กลับ มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ายังไม่ได้จะตายลงตรงนั้น ก็ไม่อยากข้ามไป” หญิงอดีตผู้ลี้ภัย 2564 กล่าว “เราแค่อยากขอให้รัฐบาลไทยรับเด็กๆ กับคนแก่ แล้วไม่ต้องรีบไล่ให้กลับ เพราะจะแบกหามข้ามสาละวินไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่สำหรับเราที่แข็งแรง ก็จะพยายามไม่ไป”

 

ด้านหญิงสาวจากค่ายพักผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเรนนีระบุว่า เธอได้กลับมาจากฝั่งไทยได้ 2 เดือนกว่าแล้ว แต่หลังจากที่เครื่องบินกองทัพพม่าทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ การสู้รบทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวินก็ไม่เคยเงียบ เสียงปืนเล็กเป็นเรื่องปกติที่คนในค่ายได้ยิน และเมื่อใดที่มีเสียงปืนใหญ่ พวกเราก็จะหนีลงไปหลบอยู่ในบังเกอร์ ดีที่คนแก่ส่วนหนึ่งได้เข้าไปนอนในฝั่งไทยแล้ว การจะวิ่งหนีไปจึงมีห่วงน้อยลง และหนีได้เร็ว

หญิงสาวระบุด้วยว่า “ฉันยังกลัวอยู่กับเสียงพวกนี้ แต่ไม่ถึงกับใจสั่นมื้อเท้าเย็นทำอะไรไม่ถูกแบบคราวก่อน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่มีใครวิ่งเข้าฝั่งไทยแล้ว เราจะส่งแต่คนแก่และเด็กเล็กเข้าไปเท่านั้น นี่คือทางปฏิบัติของเราตอนนี้”

หญิงสาวที่หนีภัยการสู้รบกล่าวว่า ค่ายพักของเราจัดการเป็นระเบียบขึ้นกว่าตอนแรก จัดแบ่งเป็น 4 เซ็คชั่น เพราะมีคนรวมกันกว่า 2,000 คน ชาวบ้านยังค่อยๆ ทยอยมาสมทบ แต่ก็มาถึงได้ทีละน้อย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะข้ามแม่น้ำสาละวินและเดินทางมาจนถึง คนจำนวนมากจึงติดอยู่ข้างใน หรือตัดสินใจอยู่กันตามค่ายพักใหญ่ ๆ ที่มีอยู่หลายแห่งในอำเภอเดมอโซและพรูโซ

“น้ำกำลังเป็นปัญหาสำคัญของทุกที่ ผู้พลัดถิ่นไม่ว่าจะอยู่กันเป็นค่ายพักใหญ่ หรือหลบอยู่ตามป่า ก็เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ยากอยู่แล้ว ตลอดปีที่ผ่านมามีคนที่เจ็บป่วยเพราะน้ำไม่สะอาดเยอะมาก ถึงตอนนี้น้ำหาได้ยาก น้ำภูเขาเริ่มแห้ง ที่ค่ายของเราก็เหมือนกันตลอดเดือนที่ผ่านมาไม่มีน้ำใกล้ๆ ที่พักแล้ว เราต้องตื่นออกเดินกันตั้งแต่ตีสาม เพื่อเดินไปบ่อน้ำในหมู่บ้านกะยาห์ที่ชายแดน และแบกน้ำจากนั่นกลับมาใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ถ้าหากเราไปสาย น้ำก็จะขุ่นจนใช้ดื่มกินไม่ได้ ถ้าเราตื่นสาย วันนั้นคือไม่มีน้ำใช้และกิน” หญิงสาวระบุ

 

อ่านข่าวต้นฉบับที่ : https://transbordernews.in.th/home/?p=31113 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท