สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2565

มอบเงินทายาทลูกจ้าง เสียชีวิตจากเหตุเรือบรรทุกน้ำมันระเบิด

1 เม.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ นางเบญจวรรณ แสงแผ้ว ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ร่วมลงพื้นที่ในตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อมอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตให้กับทายาทนายประสิทธิ์ สุภัทร์วัน ลูกจ้างที่เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้เรือบรรทุกน้ำมันระเบิด กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเทียบเรือใกล้ป้อมพระจุล สะพาน 2 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา

โดยทายาทจะได้รับ ค่าทำศพ 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,680,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 219,064.60 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,949,064.60 บาท

ที่มา: TNN, 1/4/2565

ศธ.เดินหน้านโยบายเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับทักษะแรงงานไทย

31 มี.ค. 2565 โรงแรม Pullman Bangkok King Power ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีนโยบาย “โควิด-19 : ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในหัวข้อ “เดินหน้านโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตยกระดับทักษะแรงงานไทยสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่างๆ ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ที่มีทักษะ และความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ระบบการศึกษาและการเรียนรู้จึงต้องคำนึงถึง และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

สถานการณ์ด้านกำลังแรงงานของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เกิดปัญหาทางด้านช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill gap) และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สร้างผลกระทบต่อรูปแบบของงาน การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้ได้ทั่วถึง และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการเงิน อุปกรณ์ และลักษณะงานที่ทำ ซึ่งไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีเพียงแรงงานคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ผู้จบการศึกษาสูงกว่าขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ที่ได้รับประโยชน์ในรูปของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทักษะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนที่ถูกสภาพทางสังคมบีบบังคับให้พ้นจากระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสการเข้ารับการศึกษา และการฝึกอบรม ส่งผลกระทบต่อลักษณะการจ้างงาน และสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้นการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่ รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life)

ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

“ดังนั้นการจัดทำโครงการวิจัยสำรวจทักษะกลุ่มประชากรวัยแรงงานเพื่อพัฒนานโยบายด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริม การดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการตามแนวทางสากลแล้ว

ผลของการวิจัยสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพบุคคลของประเทศ นำไปสู่การตัดสินใจระดับนโยบาย และการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนไทยอย่างมีทิศทาง และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต สอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนไทยทุกช่วงวัย ที่จะต้องได้รับความรู้ที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ได้รับการโอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต รวมถึงการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รมว.ศธ.กล่าว

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยรายงานของ World Economic Forum ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ ส่วนทักษะของบัณฑิตจบใหม่ อยู่ในอันดับ 79 และคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา อยู่ในอันดับ 74 โดยในภาพรวมคุณภาพของแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่อันดับ 64

นอกจากนี้การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา จึงเป็นภารกิจของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะและการศึกษาของแรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะ ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศ และทำให้ประเทศไทยไม่อาจก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ได้ภายในปี พ.ศ. 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่วางไว้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/3/2565

ประกันสังคม ขู่เลิกสัญญารพ. หลังพบไม่รับ โควิด เจอแจกจบ ย้ำต้องส่งต่อ

31 มี.ค.2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 สิทธิประกันสังคม เข้ารักษาแบบ เจอ แจก จบ รพ.ในเครือข่ายประกันสังคม แต่ได้รับแจ้งให้กลับมาติดต่อใหม่วันถัดไป เพราะรับบริการวันละ 30-40 คิว จนต้องเดินทางหลายรอบ ว่า ตนได้รับทราบข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มี.ค.จากข่าว จึงทำการตรวจสอบพบมีปัญหาจริง แต่เกิดใน รพ.คู่สัญญาประกันสังคมเพียง 4-5 แห่ง เนื่องจาก รพ.รับผู้ติดเชื้อโควิดจากหลายสิทธิ ทั้งประกันสังคม บัตรทอง สิทธิสวัสดิการอื่น ๆ ขณะที่ รพ.ที่รับเฉพาะสิทธิประกันสังคมไม่พบปัญหา

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ตนจึงทำหนังสือด่วนถึง ผอ.รพ.ที่เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมทุกแห่งกว่า 200 โรง โดยขอให้ ผอ.รพ.เน้นย้ำบุคลากร เจ้าหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยว่า กรณีที่ รพ.มีศักยภาพรับผู้ติดเชื้อได้ไม่ทั่วถึง ขอให้รีบส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.ในเครือข่ายประกันสังคมอื่นโดยเร็วที่สุด หากพบว่ามีการปฏิเสธการรักษาหรือไม่ส่งต่อผู้ป่วย สปส.จะพิจารณาทบทวนการต่อสัญญา

“สำหรับผู้ประกันตนที่ติดเชื้อสามารถเข้ารับบริการเจอแจกจบได้ใน รพ.คู่สัญญาประกันสังคมทุกแห่งใกล้บ้าน เพราะหาก รพ.แห่งหนึ่งรับผู้ป่วยตามสิทธิจำนวนมาก ผู้ป่วยก็สามารถไปเข้ารับบริการเจอแจกจบใน รพ.อื่นใกล้บ้านได้ และสามารถเข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI) ได้ ซึ่ง สปส.ก็มีระบบบริการส่วนนี้ด้วย” นายบุญสงค์ กล่าว

เมื่อถามว่า รพ.คู่สัญญาประกันสังคม พบปัญหาขาดแคลนยา เวชภัณฑ์หรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้แจกจ่ายให้ รพ. เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ขณะนี้ไม่เกิดปัญหา และยายังมีความเพียงพอ ตนเองมองว่าปัจจุบันโควิดอาการค่อนข้างน้อย แพทย์ก็เป็นผู้ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยอาการน้อย ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส แต่จะจ่ายยารักษาตามอาการ เพราะยาต้านไวรัสเมื่อรับประทานไปแล้วมีผลต่อร่างกาย

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนเทศกาลสงกรานต์ขอให้ระวังตัวเองมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตัวเองสูงสุด เลี่ยงการเข้าสถานที่และกิจกรรมเสี่ยง เพราะหลายคนติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ทำให้เราไม่รู้ว่าใครบ้างที่ติดเชื้อ ทุกคนต้องไม่ประมาท

ที่มา: ข่าวสด, 31/3/2565

ก.แรงงานรุกขยายตลาดเมืองดูไบ นายจ้างต้องการแรงงานเพิ่ม นอกจากเงินเดือน ยังให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ที่พัก อาหาร รถรับส่งฟรี

30 มี.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ตัวแทนไปพบปะให้กำลังใจแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบปะสถานประกอบการเพื่อขยายตลาดแรงงาน โดยมีนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เป็นหัวหน้าคณะทีมไทย พร้อมด้วยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ไปที่ทำงานในสถานประกอบการ ณ โรงแรม Centara Mirage Beach Resort ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับโรงแรมแห่งนี้มีแรงงานไทยทำงานอยู่จำนวน 59 คน ในหลายตำแหน่ง เช่น พนักงานต้อนรับส่วนหน้า (front office), พนักงานเสริฟ/พนักงานบริการ, พนักงานสปา เป็นต้น

ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ได้พบปะสถานประกอบการเพื่อขยายตลาดแรงงาน พบว่า ปัจจุบันโรงแรมดังกล่าวมีความต้องการที่จะรับสมัครแรงงานไทย จำนวน 25 คน โดยวิธีจ้างตรงในตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่

- พนักงานเสริฟ/พนักงาน 14 อัตรา เงินเดือน 1,350 ดีแรห์ม (ประมาณ 12,247 บาท)

- หัวหน้างานห้องอาหาร (restaurant supervisor) 2 อัตรา เงินเดือน 2,500 ดีแรห์ม (ประมาณ 22,679 บาท)

- บาร์เทนเดอร์ 2 อัตรา เงินเดือน 1,800-1,900 ดีแรห์ม (ประมาณ 16,329-17,236 บาท)

- ผู้ช่วยเชฟ (Commis 1/ Commis 2/ Commis 3) อย่างละ 1-2 อัตรา เงินเดือน 1,800/ 1,600/ 1,400 ดีแรห์ม (ประมาณ 16,329 บาท/ 14,514 บาท/ 12,700 บาท) ตามลำดับคุณสมบัติ

สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้อง 1-2 ปี มีใจรักงานบริการ สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ ส่ง resume และรูปถ่าย ผ่าน Email : jamornpansi@chr.co.th หรือ careercdd@outlook.com ซึ่งแรงงานจะได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ ที่พัก อาหาร รถรับส่งฟรี เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของยูเออีอีกด้วย

นางเธียรรัตน์กล่าวว่า การเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีภารกิจเข้าร่วมประชุม World Government Summit ครั้งที่ 8 กับคณะของท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย

จึงได้มอบหมายให้มาพบปะพูดคุยกับแรงงานไทยในดูไบ เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ พร้อมส่งกำลังใจจากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงผู้บริหารกระทรวงแรงงานทุกท่าน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การจ้างงานในตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นนายจ้างในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความประสงค์จ้างแรงงานไทยโดยวิธีการจ้างตรง ซึ่งโรงแรม Centara Mirage Beach Resort เป็นโรงแรมแบรนด์ของคนไทย และปัจจุบันได้มีการจ้างแรงงานไทยถึงเกือบ 60 คน และทราบว่าทางโรงแรมยังแจ้งความต้องการแรงงานไทยเพิ่มอีกเกือบ 25 คน

จึงเป็นโอกาสอันดีของแรงงานไทยที่จะมาทำงานในต่างประเทศกับโรงแรมแบรนด์ไทยในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ หลายช่องทางในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้แรงงานไทยที่มีทักษะฝีมือได้มีโอกาสมาทำงานในต่างประเทศ นำประสบการณ์ รายได้กลับประเทศไทย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/3/2565

ขยายเวลาศูนย์ TDCC ช่วยนายจ้าง-แรงงานเมียนมาต่อ 1 ปี

30 มี.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre: TDCC) ของทางการเมียนมา บริเวณตลาดทะเลไทย ต.ท่าจีน อ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2566

เพื่อจัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทาง (Passport: PP) ในเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานที่มีอำนาจจะพิจารณาออกหนังสือเดินทางต่อไป โดยแรงงานเมียนมาสามารถไปรับได้ที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย หรือศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายสุชาติกล่าวว่า ศูนย์ TDCC ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามความเห็นชอบของมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2562 และมีการขยายระยะเวลามาแล้ว 1 ครั้ง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งเมื่อศูนย์ TDCC ได้ยุติการดำเนินการ ทางการเมียนมาได้ร้องขอผ่านช่องทางการทูต จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงแรงงานขยายระยะเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง

และกระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบและสนับสนุนให้ขยายการดำเนินการของศูนย์ TDCC ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยกสถานะศูนย์ TDCC เป็นสำนักงานส่วนแยกของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การดำเนินการของศูนย์ TDCC จึงเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องการให้แรงงานต่างด้าวมีเอกสารประจำตัว เพื่อให้สามารถอยู่และทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงได้รับการคุ้มครองและสิทธิที่พึงได้รับ

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ศูนย์ TDCC จังหวัดสมุทรสาคร เป็นการดำเนินการเฉพาะกลุ่มแรงงานเมียนมา มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทาง เอกสารการพิจารณา ประกอบด้วย แบบคำขอ บัตรประจำตัวประชาชนเมียนมา และสำเนาทะเบียนบ้านเมียนมา

ทางศูนย์ TDCC จะไม่มีการจัดทำหนังสือเดินทาง ซึ่งการขยายระยะเวลาศูนย์ฯ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานเมียนมา ทำให้การบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งมิติด้านความมั่นคงและสาธารณสุข โดยได้พิจารณาการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ทาง www.doe.go.th/prd หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/3/2565

กสร. จับมือ IOM สานต่อความร่วมมือ คุ้มครองกลุ่มแรงงานเปราะบาง

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานตรวจแรงงานในการบังคับใช้กฎหมายและให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มแรงงานเปราะบาง (เด็ก ผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติ) ว่าการคุ้มครองกลุ่มแรงงานเปราะบาง โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และแรงงานข้ามชาติ เป็นนโยบายสำคัญของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการให้การคุ้มครองแรงงานบนพื้นฐานหลักการของสิทธิมนุษยชน และการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มีความอ่อนไหว ละเอียดอ่อน และซับซ้อน จึงจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมความเข้มแข็งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ให้ร่วมดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่และศักยภาพของแต่ละภาคส่วน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมมีระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 คน ประกอบด้วย พนักงานตรวจแรงงานระดับปฏิบัติการจากส่วนกลาง จำนวน 17 คน และส่วนภูมิภาคจากจังหวัด จำนวน 33 คน

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคี การอบรมในครั้งนี้จะช่วยผลักดันขีดความสามารถของพนักงานตรวจแรงงาน ที่เป็นกลไกสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบสถานการณ์การจ้างงาน การเลิกจ้าง การจ่ายค่าจ้างล่าช้าหรือค้างจ่ายค่าจ้าง และการละเมิดสิทธิแรงงานที่มีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งพนักงานตรวจความปลอดภัยที่เป็นด่านหน้าของการคุ้มครองแรงงานต้องเตรียมพร้อมรับมือกับข้อท้าทายใหม่ ๆ เพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน และคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยต่อไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 28/3/2565

แรงงานลาวถูกกฎหมายกลับเข้าไทยวันแรกคึกคัก 236 ราย กักตัว 7 วันก่อนทำงานกับนายจ้าง

28 มี.ค. 2565 ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย นายอารักษ์ ส่องแสง จัดหางานจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยคณะทำงานเพื่อประสานการทำงานนำเข้าแรงงานจังหวัดหนองคาย ได้ตรวจติดตามการเดินทางเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวชาวลาว หลังจากที่ ศบค. เห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายอารักษ์ ส่องแสง จัดหางานจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ในครั้งนี้เป็นวันแรกที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กลุ่มแรก จำนวน 236 คน ได้เดินทางจาก สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย เข้ามายัง จ.หนองคาย โดยทุกคนได้เข้าสู่มาตรการที่ ศบค.กำหนด จะมีการกักตัวและตรวจหาเชื้อโควิด 19 ก่อนออกไปทำงานกับนายจ้าง จำนวน 3 บริษัท

ประกอบด้วย บริษัทก้องเกียรติ เท็กซ์ไทล์ จำกัด จ.สระบุรี จำนวน 78 คน, บริษัทเอ็นเอสแอล ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) จ.นนทบุรี จำนวน 20 คน และบริษัทไอเอฟเอฟเอส ฟาซิลิตี้ เซอร์วิสเซส จำกัด กรุงเทพฯ จำนวน 138 คน

โดยแรงงานทุกคนที่เข้ามาได้ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบโดสแล้ว เป็นเอกสารประกอบสำคัญในการยื่นขอกลับเข้าทำงานในประเทศไทย หลังจากนี้จะมีการนำเข้ากักตัวยังสถานที่ใช้ในการกักตัวที่หนองคาย มีโรงแรม 12 แห่ง เป็นเวลา 7 วัน และแรงงานทุกคนจะต้องเข้ารับการอบรมก่อนทำงานด้วย ทั้งนี้แรงงานทั้งหมดนี้สามารถทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้ 2 ปี จำนวน 2 ครั้ง หรือ 4 ปี เมื่อครบกำหนดต้องเดินทางกลับประเทศภายใน 30 วัน จึงสามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้เมื่อครบกำหนด หรือเมื่อพร้อมกลับเข้าทำงานเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายมานะ สุขจันทรา ที่ปรึกษาอาวุโสกรรมการผู้จัดการบริษัทก้องเกียรติ เท็กซ์ไทล์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทของตนเป็นบริษัทสิ่งทอ เย็บผ้า แรงงานต่างด้าวชาวลาวที่บริษัทรับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเก่าที่ทำงานด้วยกันแล้วเดินทางกลับประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน จากสถานการณ์โรคโควิด 19 เมื่อระยะเวลาที่ไม่ได้ทำงานนานหลายปี ทำให้ขาดรายได้ ประกอบกับรัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวได้อีกครั้ง ทางบริษัทจึงได้ยื่นเรื่องขอนำแรงงานต่างด้าวชาวลาวกลับมาทำงาน

โดยยึดแรงงานต่างด้าวชุดเดิมเป็นหลัก แต่ได้มาไม่ครบ จากเดิมที่มีแรงงานชาวลาวทำงานด้วยประมาณ 500 คน ตอนนี้ได้กลับมาไม่เพียง 78 คน เนื่องจากหลายคนไปทำงานอย่างอื่น บางคนมีครอบครัว เป็นต้น ส่วนค่าจ้างแรงงานที่ จ.สระบุรี ตามที่กฎหมายกำหนด 325 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานถูกกฎหมายทางบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

ซึ่งในช่วงที่ไม่มีแรงงานต่างด้าว บริษัทประสบปัญหาเป็นอย่างมาก ขาดแคลนแรงงาน มีการรับสมัครแรงงานชาวไทย มีมาสมัครแต่ทำงานได้ไม่นานก็ออก ทางบริษัทจ้างแรงงานชาวลาวมานานกว่า 10 ปี ให้การดูแลดี มีสวัสดิการที่พักให้ ที่สำคัญสามารถสื่อสารกันได้ง่าย ก่อนหน้านี้เคยจ้างแรงงานชาวเมียนมาร์ แต่สื่อสารไม่ได้จึงได้เลิกจ้างไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/3/2565

ลูกจ้างเอกชน 80% ออมไม่พอเกษียณ-ก.ล.ต.แก้กฎ PVD รับลูกออมภาคบังคับ

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการสายตัวกลางและตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) มีอยู่ประมาณ 2.88 ล้านราย ครอบคลุมลูกจ้างภาคเอกชนในระบบอยู่แค่ 18.5% เท่านั้น อาจยังไม่ได้เกษียณสุข เพราะประมาณกว่า 80% ของคน มีเงินไม่พอรองรับการมีชีวิตที่ดีภายหลังการเกษียณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เพราะออมช้า ออมไม่เพียงพอ และลงทุนไม่เป็น

โดยปัจจุบันรัฐบาลเองก็อยู่ระหว่างการเสนอกฏหมายการออมภาคบังคับ(กบช.) ซึ่งหากบังคับใช้ออกไปแล้ว สิ่งที่ ก.ล.ต.จำเป็นจะต้องทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถ Qualified PVD ภายใต้กฎหมาย กบช.นั้นด้วย โดย ก.ล.ต.ต้องมีการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้รองรับ ซึ่งมีประเด็นปรับปรุงสำคัญ เช่น การเข้าเป็นสมาชิก(auto enrollment) การนำส่งเงิน (Qualified PVD อัตรานำส่งเงินตาม กบช.กำหนด) นโยบายการลงทุน (Default Portfolio-Life/Target Date) และการออกจากกองทุน (จัดการเงินคงค้าง)

นอกจากนี้ในปี 2565 ก.ล.ต.กำลังอยู่ระหว่างทบทวนกฎเกณฑ์ที่สำคัญในหลายๆ เรื่อง เช่น การดำเนินงาน ระบบงานในการประกอบธุรกิจ การควบรวมกองทุน การประกอบธุรกิจอื่น และการโฆษณาส่งเสริมการขาย

โดยจะมีการสอบถามไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อแสดงความเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และตอบสนองในการปรับโมเดลธุรกิจตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/3/2565

รมว.แรงงาน ปลื้มผลสำเร็จ Factory Sandbox พยุงจ้างงาน ดันส่งออกโต

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจภาคส่งออกที่มีภาคแรงงานกว่า 2 ล้านคน ใน 4 สาขา กลับเติบโต ได้แก่ อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินการโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ของกระทรวงแรงงานตามนโยบายรัฐบาลที่ให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์คู่กับสาธารณสุข ทำให้ธุรกิจส่งออกเติบโต โดยตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2564 ขยายตัวถึง 17.14% ซึ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นการจ้างงานช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ ที่ช่วยพยุงการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 30% จากผู้ประกันตน 11 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้’

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ได้ทราบผลประกอบการในช่วงปีที่ผ่านมาสถานประกอบกิจการและสหภาพแรงงานในกลุ่มยานยนต์ได้เริ่มพูดคุยพิจารณาเรื่องของโบนัสและสวัสดิการต่างๆ ตามข้อเรียกร้อง ซึ่งหลายแห่งได้พิจารณาเสร็จสิ้นและทำข้อตกลงโดยใช้การเจรจาด้วยระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานที่ดี อาทิ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานอีซูซุ ประเทศไทย เพิ่มสวัสดิการให้ลูกจ้างในปี 2565 โดยอัตราการขึ้นเงินเดือน 5.3% เพิ่มโบนัส 8 เดือน บวกเงินพิเศษ 27,000 บาท ซึ่งสูงกว่าในปี 2564 ที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือน 4.43% โบนัส 7 เดือน บวกเงินเพิ่มพิเศษ 19,000 บาท บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ปรับค่าจ้าง 4.2% บวก 350 บาท จ่ายโบนัส 7.5 เดือน บวกเงินเพิ่มพิเศษ 50,000 บาท และบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ แมนูแฟคเจอรี่ ประเทศไทย จำกัด ปรับค่าจ้าง 4.2% บวก 350 บาท จ่ายโบนัส 7.5 เดือน บวกเงินเพิ่มพิเศษ 50,000 บาท เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานตามโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งทำให้ธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ลูกจ้างกลุ่มยานยนต์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศให้พ้นวิกฤตช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/3/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท