Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“กะเบอะดิน แมแฮแบ”คือ กะเบอะดิน ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน 

คำขวัญคัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหินจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ บ้านกะเบอะดิน หมู่ที่ 12 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสิ่งที่ไม่ปกติสำหรับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ที่มีวิถีชีวิตที่รักสันโดษ ชอบอยู่กับธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความเชื่อและประเพณีที่เคารพต่อจิตวิญญาณของผืนป่า สายน้ำ มีการเคารพบูชานับถือผีบรรพบุรุษ มีพื้นที่ป่าจิตวิญญาและป่าพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ 

ท่ามกลางความเป็นเมืองที่แผ่ไปทุกอนูของสังคมไทย ชุมชนกะเบอะดินตามวิถีชีวิตเกษตรกร ที่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบไร่หมุนเวียน (Rotation farming) การปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได พืชสวนและพืชไร่ เช่น มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี พริก และพืชพันธุ์อีกหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์ที่เลี้ยงปากท้องนี้ดำรงอยู่ได้เพราะมีแหล่งต้นน้ำที่ไหลตลอดทั้งปี


ภาพโดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

แต่วิถีชีวิตของพวกเขากำลังเปลี่ยนไป เพราะการเข้ามาของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง พื้นที่ 284 ไร่ 0 งาน 30 ตารางวา ภายในหมู่บ้านกะเบอะดิน ความหวั่นวิตกของชุมชนยังเพิ่มขึ้นเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ (คชก.) และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงาน EIA ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2554 และทางเจ้าของโครงการฯ ได้ดำเนินการขอประทานบัตรที่ 1/2543 ต่อกรมอุตสาหกรรม เมื่อ พ.ศ. 25562

ลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตของชุมชน

หมุดหมายการต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดิน ชุมชนโดยรอบที่จะได้รับผลกระทบ และชาวอมก๋อย จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่ถ่านหินต่อศูนย์ดำรงธรรมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จากตัวแทนเครือข่ายยุติเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย และชาวบ้านรวม 28 ราย ต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภออมก๋อย การปักหมุดการต่อสู้ครั้งนี้นำยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยการยื่นหนังสือคัดค้าน ร้องเรียน โครงการเหมืองแร่ต่อหน่วยงานของรัฐและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ และทบทวน EIA ฉบับนี้

เพื่อให้เกิดการทบทวนรายงาน EIA ฉบับนี้ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตัวแทนชุมชนกลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย จึงได้ยื่นหนังสือต่อ สผ. และ คชก. เพื่อขอให้ทบทวนมติเห็นชอบ EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เนื่องจากในรายงานฯ มีข้อบกพร่องของข้อมูลซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก แต่ผลจากการพิจารณาทบทวนรายงาน EIA ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 36/2563 ของ คชก.และ สผ. กลับยืนตามมติให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EIA ฉบับดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2554 และกำกับให้ สผ. ในฐานะเลขานุการแจ้งต่อกรมอุตสาหกรรมฯ เพื่อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในขั้นตอนการขอประทานบัตร และแจ้งเรื่องคุณภาพของบริษัทที่ปรึกษาที่จัดทำรายงาน EIA

“หากพิจารณาถึงจุดประสงค์ของการจัดทำรายงาน EIA ก็เพื่อเป็นการประกันว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการ” [1]

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ของหน่วยงานรัฐผู้มีอำนาจรัฐทั้งสองนั้น กลับมิได้พิจารณาสาระสำคัญความไม่ถูกต้องของข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน EIA โครงการดังกล่าว และตรวจสอบต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนอย่างแท้จริง มูลเหตุนี้จึงนำมาสู่การยื่นฟ้องคดีปกครองเพื่อขอเพิกถอนรายงาน EIA ฉบับนี้

คดีปกครองที่อบอวลด้วยเจตจำนงของชุมชน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กฎหมายที่เป็นร่มใหญ่ที่รับรองสิทธิที่จะกำหนดวิถีชีวิตของชุมชน และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชน มาตรา 70 บัญญัติว่า

 “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย”

รวมถึง มาตรา 58 บัญญัติรับรองสิทธิที่จะมี มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดที่รัฐอนุญาตให้ดำเนินการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียส่วนใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญ จะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ หรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

โดยโครงการที่จะดำเนินโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน กฎหมายกำหนดให้จัดทำกระบวนการ EIA และต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นใจความสำคัญของหลักการ EIA ด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นและผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ ครั้งที่ 2 เป็นการรับฟังความเห็นต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการประเมินผลกระทบไปปรับปรุงรายงาน ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสามารถทำออกมาในรูปแบบหลายวิธีการ เช่น สัมภาษณ์รายบุคคล การตอบแบบสัมภาษณ์ หรือการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียจะสามารถมีส่วนร่วมนั้น ไม่เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่กฎหมายกำหนด แต่ยังต้องคำนึงถึง “การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง” ที่จะต้องรวมไปถึงการสื่อสารด้วยข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นธรรม เที่ยงตรง ด้วยภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจระหว่างผู้จัดทำรายงาน EIA และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อมูลที่เป็นจริง และเกิดการแลกเปลี่ยนที่ตรงไปตรงมา พร้อมหาทางรับมือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน เพื่อทำให้ข้อมูลที่ได้จากการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ถูกนำไปพิจารณาประกอบการของอนุมัติรายงาน EIA จากหน่วยงานรัฐผู้มีอำนาจด้วยข้อมูลที่ตรงกับความจริงในพื้นที่[2]

อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยกลับมีข้อพิรุธ ความผิดพลาดหลายประการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนกลับเป็นกระบวนการตามพิธีของกฎหมายไม่ได้คำนึงถึงใจความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง การต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดินและชาวอมก๋อยในทางปกครองจึงเริ่มขึ้น โดยคดีนี้ มีผู้ฟ้องคดีจำนวน 50 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ชุมชนกะเบอะดิน 2. ชุมชนตามเส้นทางขนส่งแร่ และ 3. ประชาชนที่อยู่อาศัยในอำเภออมก๋อย และผู้สนับสนุนการฟ้องคดีรวม 615 คน  ยื่นฟ้องต่อ คณะกรรมการผู้ชำนาญการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)เพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เรื่องรายงานความเห็นชอบการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 สั่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย โดยให้มีการศึกษา ข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นมูลฐานสำคัญแห่งการฟ้องประกอบไปด้วย  

1. การขาดหายของข้อมูลในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยและการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

2. การปิดทับเส้นทางน้ำสาธารณะและการขออนุญาตก่อสร้างโครงการเหมืองแร่ในแหล่งน้ำซับซึม

3. อายุของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ใช้ข้อมูลเก่า 10 ปี

4. การปลอมแปลงรายมือชื่อในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม   


ภาพโดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

คำฟ้องคดีปกครองฉบับนี้ จึงเป็นการโต้แย้งทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ข้อมูลพิรุธที่ปรากฎในรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยและข้อกฎหมายที่ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาด บกพร่อง เพิกเฉยของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ ซึ่งผู้ฟ้องคดีใช้หลักฐานที่เต็มไปด้วยด้วยวิถีชีวิตของชุมชนเพื่อโต้แย้งกับรายงาน EIA คดีนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลโดยชุมชนซึ่งพัฒนามาจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) อันเป็นผลจากการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนในการค้นหา รวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ผลข้อมูล โดยให้ความสำคัญและเคารพต่อองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นที่ความยึดโยงกับสภาพแวดล้อมของชุมชนตนเองที่เป็นจริงในพื้นที่ และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่ทำเหมืองแร่ถ่านหิน ขนาด 284 ไร่ 0 งาน 30 ตารางวา ที่กระทบต่อพื้นที่ทำกินและเพาะปลูกของชาวบ้าน พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ และผลกระทบของ “การทำเหมืองแบบเปิดหน้าดิน” ย่อมส่งผลให้เกิดการสูญเสีย “พื้นที่น้ำซับซึม” เพราะที่ตั้งของโครงการเหมืองแร่นั้นมีลำห้วย 3 สาย ที่ไหลผ่าน และเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ (ตาน้ำ) น้อยใหญ่กว่า 34 จุด รวมถึงต้นไม้นานาชนิดที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรของชุมชน รวมไปถึงพื้นที่การเกษตรที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและชุมชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยลำน้ำเหล่านี้ ทั้งยังรวมถึงผลกระทบมลพิษทางอากาศฝุ่น เสียง ที่จะกระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้ ประเด็นการปลอมแปลงลายมือชื่อที่ปรากฎในรายงาน EIA ฉบับนี้ ยังเป็นหลักฐานที่สำคัญที่ ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีผลการพิจารณาประเด็นนี้พบว่ามีปลอมแปลงลายมือชื่อของชาวบ้านในรายงาน EIA ฉบับนี้จริง และเป็นประเด็นที่ คชก. และ สผ. ได้มีการพิจารณาตรวจสอบจากบริษัทที่จัดทำรายงานการ EIA แล้ว แต่สำหรับมาตรการลงโทษนั้นต่อบริษัทที่จัดทำรายงาน EIA โครงการเหมืองอมก๋อยนี้มีเพียงการแจ้งเรื่องคุณภาพของบริษัทผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตัวบริษัทเอง แต่กลับไม่มีผลต่อการยกเลิกหรือทบทวนรายงาน EIA ฉบับนี้ มาตรฐานเช่นนี้จึงไม่อาจยอมรับได้ และหากเพิกเฉยอาจเป็นการยอมรับให้เกิดการจัดทำรายงาน EIA ที่มีสามารถปลอมแปลงลายมือชื่อ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสะเทือนต่อหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

การฟ้องคดีเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ จึงเป็นการยืนยันถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย และเป็นการโต้แย้งถึงข้อพิรุธ ความผิดปกติในรายงาน EIA รวมถึงการโต้แย้งและเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจพิจารณาและเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องตระหนักถึงการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเป็นที่ตั้ง และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลในประกอบการพิจารณาอย่างครอบถ้วน รอบด้านและรัดกุม  

การยื่นฟ้องคดีนี้จึงเปรียบเหมือนตัวแทนการแสดงเจตจำนงของชุมชนที่ต้องการจะกำหนดวิถีชีวิตความเป็นของตน และยืนยันถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในโครงการใด ๆ ที่จะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพของชุมชนที่ต้องการนำไปสู่การยกเลิกวิธีการแบบผลิต EIA และปั๊มตรายาง โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง หมุดหมายการต่อสู้ด้วยคดีปกครองครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยเจตนารมย์ของคนกะเบอะดิน ดังคำประกาศก้อง ของชุมชนที่ประกาศเจตนารมย์ต่อสาธารณะชน ว่า

“...พวกเราทำทุกวิถีทางเพื่อคัดค้าน เพื่อให้ยุติ เพื่อให้ยกเลิกโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินในชุมชนของพวกเรา เราค้นพบข้อพิรุธหลายอย่างในกระบวนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีไอเอ (EIA.) ที่ไร้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไร้การเคารพซึ่งสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

พวกเราที่มีชีวิตอยู่จะตอบลูกหลานได้อย่างไร พวกเราตายไปจะตอบบรรพชนที่วายชีวาได้อย่างไรหากสูญสิ้นป่าไม้ ที่ดิน วิถีชีวิตและชุมชน เหมืองแร่มาจะทำลายวิถีชีวิตเราวอดวายสูญสิ้น ที่ดินและป่าไม้ที่บรรพบุรุษดูแลอนุรักษ์มาถูกทำลาย อนาคตลูกหลานไร้ผืนดิน ไร้ทรัพยากร ไร้สายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตเราจึงขอประกาศเจตนารมณ์ต่อขุนเขา ผืนดิน และสายน้ำตรงนี้ว่า

 เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชุมชนของพวกเรา ... เพราะ

“จุดยืนเดียวของพวกเราคือไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน !!!”[3]

 

ภาพปกโดย: ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี

 

เอกสารอ้างอิง: 

จุดแสงสว่างกลางหุบเขา กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

ชาญวิทย์, การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, https://bit.ly/3tT2h58.

เปิดหน้าสู้ชุมชนยืนยันไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย. https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000023277

กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่. https://bit.ly/3iU1ivr.

 

 

[1] ชาญวิทย์, การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, https://bit.ly/3tT2h58.

[2] กองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่. https://bit.ly/3iU1ivr.

[3] https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000023277

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net