Skip to main content
sharethis

รู้จัก Free Speech หรือ ‘เสรีภาพทางการพูด’ ในมุมมองอเมริกันชน ผู้ยึดมั่นในหลักการและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ผ่านเหตุการณ์ระหว่าง ‘วิล สมิธ’ และ ‘คริส ร็อก’ ในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2022 เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

  • บ.ก.ข่าวมากประสบการณ์จากสื่อดังในรัฐเท็กซัส ชี้ คำพูดของ ‘คริส ร็อก’ เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ แม้ว่าจะเป็นมุกที่ฟังแล้วไม่เข้าท่า
  • บ.ก.อาวุโสด้านบทความจากองค์กรด้านเสรีภาพในสหรัฐฯ ระบุ ‘คำพูดไม่ควรจัดว่าเป็นความรุนแรง’ เพราะในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์ เคยมีคนตายจริงเพียงเพราะพูดไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ
  • รู้จัก ‘เสรีภาพในการพูด’ (Free Speech) ที่ชาวอเมริกันได้สิทธิมาตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 เมื่อ 231 ปีก่อน เพราะ ส.ส. ในสภาเห็นพ้องต้องกันว่าประชาชนไม่ควรติดคุกหรือถูกประหาร เพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล ก่อนจะขยายขอบเขตคุ้มครองคำพูดต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
  • คดีตัวอย่างที่สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ช่วยขยายขอบเขตเสรีภาพในการพูด เปิด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้กับทุกคน ทุกแนวคิด ตั้งแต่ซ้ายจัดยันขวาสุดโต่ง ปกป้องประชาชนและสื่อจากการถูกรังฟ้องปิดปาก
  • ผลสำรวจพบคนอเมริกันส่วนใหญ่ยังต้องการ ‘เสรีภาพในการพูด’ แต่คนอเมริกันรุ่นใหม่มีแนวโน้มต้องการให้รัฐ ‘จำกัด’ เสรีภาพนั้นมากขึ้น
  • ดูความเห็นสองฟากจากคนในสื่อทั่วอเมริกันและโลกตะวันตก มีทั้งที่มองว่า ‘วิล สมิธ’ ทำเกินกว่าเหตุ และมีทั้งที่ชื่นชมว่าเขาคือฮีโร่
  • คอลัมนิสต์จากเดอะวอชิงตันโพสต์ ชี้ การกระทำของ 'วิล สมิธ' สะท้อนแนวคิดปิตาธิปไตยเป็นพิษ และทำลายโอกาสที่ 'เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ' ภรรยาของเขาจะออกมา ‘call out’ เรื่องโรค Alopecia

4 เม.ย. 2565 ผ่านมาแล้วครบ 1 สัปดาห์เต็มกับเหตุการณ์อื้อฉาวระดับโลกกลางงานประกาศรางวัลดิอะคาเดมีอะวอร์ดส์ (The Academy Awards) ครั้งที่ 94 หรือออสการ์ 2022 ที่ ‘วิล สมิธ’ ผู้คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมแห่งปีจากภาพยนตร์เรื่อง King Richard พุ่งเข้าไปตบปาก ‘คริส ร็อก’ นักแสดงตลกซึ่งทำหน้าที่ผู้ประกาศรางวัลรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ร็อกเล่นมุกตลกล้อเลียนทรงผมของ ‘เจดา พิงเค็ตต์ สมิธ’ ภรรยาของสมิธที่นั่งอยู่ในงาน ซึ่งเธอป่วยด้วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) ทำให้ต้องโกนหัว และสร้างความไม่พอใจให้กับสมิธจนเขาเดินขึ้นไปตบปากร็อกกลางเวที สร้างความตกตะลึงให้กับทุกคนในงาน รวมถึงสายตาชาวโลกนับล้านที่กำลังชมการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลในครั้งนี้

ภาพขณะถ่ายทอดสด เหตุการณ์วิล สมิธ ตบปากคริส ร็อก กลางเวทีประกาศรางวัลออสการ์ 2022
(ที่มา The Guardian)
 

แม้ว่าสมิธได้กล่าวขณะรับรางวัลว่าเขาเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวที และมีแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการต่อร็อกและเวทีออสการ์ในภายหลัง แต่การถกเถียงในประเด็นระหว่างทั้ง 2 คนนี้บนสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงไม่จบสิ้น โดยเฉพาะความเห็นของชาวอเมริกันซึ่งเป็นประเทศแม่ของรางวัลออสการ์และเป็นประเทศแม่ของทั้งสมิธและร็อก ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ รวมถึงนักข่าว นักเขียน นักการเมือง รวมถึงดาราเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวู้ดหลายคน เช่น ‘จิม แคร์รี’ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองที่ว่าสมิธทำผิดเพราะใช้ความรุนแรง (ทางกายภาพ) อย่างชัดเจนและเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ กระทั่งผู้จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ก็ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุกรูปแบบ” และถึงแม้ออสการ์จะไม่ได้ระบุในทวีตว่า ‘ความรุนแรง’ ที่ว่านั้นหมายถึงการกระทำของสมิธ แต่ก็เข้าใจได้ชัดเจนในภายหลัง เพราะต่อมา ออสการ์ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะสอบสวนการกระทำของสมิธ “ตามกฎระเบียบและมาตรฐานของผู้จัดงาน รวมถึงตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐแคลิฟอร์เนีย” ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ

แถลงการณ์ของออสการ์สร้างความประหลาดใจให้ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียของไทยจำนวนไม่น้อย รวมถึงผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกที่อาจจะไม่ใช่ชาวอเมริกัน เพราะหลายคนมองว่าคำพูดของร็อกเป็นการเล่นมุกที่โจมตีอัตลักษณ์หรือลักษณะของบุคคลอื่น ซึ่งฟังดูไม่สร้างสรรค์และไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก โดยเฉพาะกรณีของเจดา สมิธ ที่ถูกล้อเลียนเพราะอาการป่วย ซึ่งตัวเธอเองเคยออกมายอมรับเรื่องโรคนี้ และบอกว่าที่เธอโกนหัวเพราะต้องการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงโรค Alopecia ซึ่งทำให้หลายคนต้องเป็นทุกข์กับอาการเจ็บไข้

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 เม.ย. สมิธได้ออกแถลงการณ์ลาออกจากการเป็นสมาชิกของสถาบันแห่งศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences: AMPAS) ซึ่งเป็นสถาบันผู้มอบรางวัลออสการ์ โดยการลาออกของสมิธจะทำให้เขาไม่มีสิทธิลงคะแนนโหวตให้ภาพยนตร์และนักแสดงทุกสาขาที่มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่สมิธยังมีสิทธิได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์หรือผลงานต่างๆ ที่เขาร่วมแสดง อย่างไรก็ตาม บอร์ดของออสการ์แจ้งว่าจะยังคงนำเรื่องของสมิธที่เกิดขึ้นในคืนประกาศรางวัลปีล่าสุดเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. นี้

เข้าใจมุมมองแบบอเมริกันต่อกรณี 'วิล สมิธ' และ 'คริส ร็อก'

ไรอัน เจ. รูซัค (Ryan J. Rusak) บรรณาธิการบทความประจำสำนักข่าวฟอร์ตเวิร์ตสตาร์เทเลแกรม (Fort Worth Star-Telegram) และอดีตบรรณาธิการข่าวการเมืองประจำดัลลัสมอร์นิงนิวส์ (Dallas Morning News) หนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่นในรัฐเท็กซัสที่ก่อตั้งมานานร่วม 136 ปี เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นนี้ลงในสำนักข่าวปัจจุบันที่เขาทำงานอยู่ โดยเขาบอกว่า “เหตุการณ์ตบปากที่ฉายสู่สายตาชาวโลกเมื่อคืนวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น คือบทเรียนสำคัญของ ‘ฟรีสปีช (Free Speech)’ หรือเสรีภาพในการพูด”

คริส ร็อก (ที่มา เฟซบุ๊กเพจ Chris Rock)
 

บทความที่เขียนโดยรูซัค ระบุว่า การกระทำของสมิธที่พุ่งปรี่ไปตบปากร็อกกลางเวทีออสการ์นั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าทำไมเราต้องยืนยันแนวคิดที่ว่า “คำพูดไม่ใช่ความรุนแรง” สำหรับคนที่คิดต้องการให้ตำรวจรีบเข้าไปจัดการความรุนแรงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากคำพูด (Microaggression) รูซัคบอกว่าขอให้หยุดความคิดนี้เสีย และอย่าไปขอร้องให้บริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ หรือรัฐบาลช่วยปิดกั้นคำพูดเหล่านี้ด้วยการยกเหตุผลที่ว่าคำบางคำมันอาจสร้างบาดแผลได้มากเท่ากับความรุนแรง (ทางกายภาพ) เพราะในบางกรณี หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ มักชี้ว่าความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวด

ทั้งนี้ The MATTER เคยอธิบายนิยามภาษาไทยของคำว่า ‘ความรุนแรงเล็กๆ’ (Microaggression) ไว้ว่า “เป็นการพูดคุยหรือการแสดงออกทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ที่อาจส่งสารทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสื่อมเสีย... และมักจะไม่ใช่การเหยียดโดยตั้งใจ แต่มักจะเกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายที่เหยียดก็ไม่ได้รู้ตัว”

รูซัคบอกว่าเจดา สมิธ เคยออกมาพูดแล้วว่าเธอต้องเผชิญความยากลำบากจากโรค Alopecia ซึ่งทำให้เธอผมร่วงเกือบหมดหัว จนสุดท้ายต้องตัดสินใจโกนผมทิ้งไป หากร็อกทราบเรื่องนั้นมาก่อนและยังเล่นมุกนี้ เขาก็คือคนบัดซบคนหนึ่งที่เอาประเด็นอ่อนไหวของผู้อื่นมาล้อเลียนเป็นเรื่องตลกออกอากาศไปทั่วโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเสมอระหว่างการทำร้ายร่างกายและการใช้คำพูดที่สร้างความเจ็บปวด มิเช่นนั้นแล้ว หน้าที่ของรัฐที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงจะต้องขยายขอบเขตออกไปถึงเรื่องการใช้ภาษา ซึ่งนั่นหมายถึงจุดจบของ ‘สิทธิแห่งเสรีภาพในการพูด’ และอาจจะเป็นตอนอวสานแบบชั่วกัปชั่วกัลป์

วิล สมิธ (ภาพโดย Gage Skidmore)
 

รูซัคระบุในบทความว่ากลุ่มหัวก้าวหน้าบางคน ซึ่งรวมถึงคนอเมริกันรุ่นใหม่จำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาบอกว่ายอมรับและยินดีเรื่องเสรีภาพในการพูด ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ทันคิดไกลเกินกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า อาจจะไม่ทันนึกถึงช่วงเวลาที่มุมมองของพวกเขายังไม่ถูกครอบงำทางวัฒนธรรม หรืออาจจะไม่ทันจินตนาการถึงนักการเมืองที่พวกเขาไม่ชอบ (เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือคนอื่นๆ) ที่ใช้คำสั่งขยายอำนาจออกไปกว้างขึ้น ในขณะที่บางคนรีบปรี่ออกมาปกป้องการกระทำของสมิธว่าให้เป็นการปกป้องเกียรติของสตรี (แต่อาจจะลืมไปว่าเขาเองก็หัวเราะไปกับมุกของร็อกในตอนต้น จนกระทั่งเห็นสายตาของภรรยาตัวเอง)

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่นั่งรอฟังผลรางวัลอยู่ในหอประชุมนั้นไม่มีสคริปต์อยู่ในมือ เมื่อถึงคราวที่สมิธต้องขึ้นไปกล่าวบนเวทีหลังรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เขาได้กล่าวโดยใช้คำพูดที่สื่อเป็นนัยถึงการปกป้องเกียรติสตรี โดยเขากล่าวว่า “ความรักทำให้คุณทำสิ่งบ้าๆ” ในวินาทีนั้น เราได้เห็นถึงการแสดงออกตามคุณค่าแนวคิดปิตาธิปไตยที่มนุษย์เพศชายจะต้องปกป้องผู้หญิงต่อหน้าคนหมู่มาก เพื่อแสดงความ ‘มาดแมน’ ให้หญิงคนรักได้เห็น อย่างไรก็ตาม การกระทำโต้กลับของสมิธนั้นไม่อาจให้อภัย และมันต้องไม่ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับได้เพื่อโต้ตอบคำพูดของร็อก ขณะเดียวกัน ร็อกก็แสดงออกว่าสามารถจัดการสถานการณ์ซึ่งหน้าได้อย่างมืออาชีพ เขาไม่ได้สวนหมัดกลับ แม้ว่าเขาอาจจะอยากทำอย่างนั้นก็ตาม สิ่งที่ร็อกทำคือรันเวทีต่อ กล่าวแนะนำผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ทำให้งานส่วนที่เหลือดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

รูซัคระบุทิ้งท้ายในบทความของเขาว่า “เราไม่สามารถแกล้งทำเป็นพูดว่าร็อกต้องการจะชี้ให้เห็นถึงเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างคำพูดและความรุนแรงจริงๆ จากการไม่โต้กลับของเขา แต่เราบอกได้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่ง”

ทำไม ‘คำพูด’ จึงไม่ควรถูกนับว่าเป็น ‘ความรุนแรง’

ร็อบบี้ โซฟ (Robby Soave) บรรณาธิการอาวุโสแห่งนิตยสาร Reason ของมูลนิธิ Reason ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการวิจัยและการศึกษาที่เน้นส่งเสริมเสรีภาพพลเมือง ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1968 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เขียนบทความอธิบายว่าทำไมเราถึงไม่ควรจัด ‘คำพูด’ ที่ฟังดูรุนแรงหรือฟังแล้วไม่น่าพอใจให้เป็น ‘ความรุนแรง’ ที่เทียบเท่ากับความรุนแรงที่ชัดเจนทางกายภาพ

ก่อนจะมาเป็นบรรณาธิการอาวุโสที่ Reason โซฟเคยเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น The New York Times และ U.S. News & World Report รวมถึงมีชื่ออันดับ “30 บุคคลอายุน้อยกว่า 30 ด้านกฎหมายและนโยบาย” ในปี 2016 ของนิตยสาร Forbes

โซฟระบุในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ในนิตยสาร Reason ว่ามุกตลกของร็อกที่ล้อเลียนทรงผมของเจดา สมิธ ในงานประกาศรางวัลออสการ์นั้นเป็นมุกที่ ‘งี่เง่า’ แต่ในขณะเดียวกัน เราต่างไม่คาดคิดว่าในปี 2022 จะเห็นบุคคลสาธารณะขาดสติจนใช้ความรุนแรงโต้กลับกับคำพูดแบบนั้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โซฟบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เราต้องมองซ้ำให้เข้าใจมากกว่าสิ่งที่เห็น

เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ ภรรยาของวิล สมิธ (ที่มา อินสตาแกรม @jadapinkettsmith)
 

โซฟระบุว่าเขาต้องการเน้นย้ำให้เห็นว่าการกระทำของสมิธเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ทุกคนเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำไมการบ่อนทำลายความแตกต่างเชิงวิพากษ์ในช่วงหลังยุคภูมิปัญญาระหว่างคำพูดและการกระทำถึงเป็นเรื่องอันตราย ความแตกต่างที่ว่านี้คือนวัตกรรมทางสังคมที่ทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นและปกติน้อยลง แต่ฝ่ายเสรีนิยมผู้ตื่นรู้ที่พยายามตอกย้ำว่าคำพูดและความรุนแรงนั้น ‘เท่ากัน’ อาจจะกำลังพาเราย้อนเวลากลับไปสู่ยุคป่าเถื่อนอีกครั้งแบบไม่ตั้งใจ

ตามประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของมนุษย์ คนเราใช้ชีวิตอยู่กับความจริงของตัวเอง กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง คำพูดถือเป็นความรุนแรงและใครก็ตามที่ใช้คำพูดชวนขุ่นข้องหมองใจอาจถูกแก้แค้นด้วยกำลัง คนที่พูดจาถากถางเพื่อนบ้านอาจต้องพบเจอความแค้นฝังหุ่นที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น คนที่ใช้คำพูดหมิ่นผู้มีอำนาจทางศาสนาอาจจะถูกเผาทั้งเป็น คำพูดจึงไม่ควรถูกมองและจัดอยู่หมวดหมู่พฤติกรรมที่พิเศษและแปลกแยก การใช้คำพูดเพื่อทำลายชื่อเสียงของบุคคลอื่นจึงควรถูกจัดให้อยู่ในกฎหมายการกระทำอันเป็นเหตุแห่งการยั่วยุ เช่นเดียวกับที่สมิธลงไม้ลงมือแบบถึงเนื้อถึงตัวกับร็อก

โซฟบอกว่าการปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งฆ่าคนอื่นทุกครั้งที่รู้สึกไม่พอใจอะไรบางอย่างนั้นไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนสังคม แต่ถือว่ายังโชคดีที่ตลอด 300 ปีให้หลังในประวัติศาสตร์โลก อารยธรรมต่างๆ ที่ก้าวหน้าได้พัฒนาบรรทัดฐานแห่งวัฒนธรรมที่ช่วยอธิบายเส้นแบ่งระหว่างคำพูดและการกระทำให้ชัดขึ้น แน่นอนว่าเส้นแบ่งนี้ไม่ใช่กฎแห่งจักรวาล ผู้คนยังปะทุและปะทะหลังจากทะเลาะวิวาท แต่ถ้าพวกเขา ‘ปะทะ’ ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจถูกจับเข้าซังเตได้ ข้อเท็จจริงนี้ยังเป็นเครื่องเตือนให้การกระทำเช่นนั้นมีแนวโน้มทุเลาลง เมื่อกาลเวลาผ่านไป วิวัฒนาการทางสังคมได้ทำให้การใช้กำลังโต้ตอบ[กับคำพูด]ค่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติน้อยลง ยกเว้นบางกรณีซึ่งเป็นส่วนน้อย เช่น ในคุก (ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนต่อต้านสังคมจำนวนมาก) ในโรงเรียน (ซึ่งเด็กยังคงอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้เพื่อเข้าสังคม) และบางครั้งในร้านเหล้า (ซึ่งฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้คนสติหลุด)

หากสมิธไม่ลุกขึ้นไปตบปากร็อกบนเวทีคืนนั้น เช้าวันต่อมา คนอาจจะพุ่งความสนใจไปที่การเล่นมุกที่ไร้รสนิยมของร็อกก็เป็นได้ เราอาจจะถกกันเรื่องการเล่นมุกล้อเลียนเสียดสีลักษณะภายนอกของคนอื่นนั้นเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ โดยเฉพาะลักษณะภายนอกที่เกิดจากความเจ็บป่วยหรือภาวะอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แล้วร็อกควรจะปรับปรุงการเล่นมุกของตัวเองอย่างไร - โมนิกา เฮสส์, เดอะวอชิงตันโพสต์

โซฟยกตัวอย่างความคิดเห็นของบริดเจ็ต เฟตาซี นักเขียนและนักแสดงตลกที่บอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สรุปได้ว่า “คำพูดคือความรุนแรง” กับความเห็นของเอลิซาเบธ บรูนิก นักเขียนหัวเอียงซ้ายประจำ The Atlantic ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสมิธ มาเปรียบเทียบกันพร้อมบอกว่าความเห็นของทั้งคู่นั้นถูกหากจะมองว่าถูกก็ถูกสำหรับทั้งสองฝ่าย แต่โซฟได้กล่าวย้ำท้ายบทความว่าการที่คนลุกขึ้นมาทำร้ายร่างกายกันนั้นเป็นผลมาจากบรรทัดฐานที่ว่า “คำพูดคือความรุนแรง” และเรารู้เรื่องนี้เพราะมันเป็นบรรทัดฐานที่ปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แม้ว่าความรุนแรงที่เกิดจากคำพูดจะมีให้เห็นน้อยลงในทุกวันนี้แล้วก็ตาม แต่มันอาจจะกลับมาให้เห็นได้อีกครั้ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการใช้คำพูดที่หมิ่นเหม่ในระดับที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เห็นได้จากกรณีของสมิธที่งานออสการ์ ฉะนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า “อย่าเที่ยวไปตบตีคนอื่น แม้ว่าคุณจะไม่ชอบคำพูดของคนๆ นั้นก็ตาม”

Free Speech: หัวใจแห่งรัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่มาจากการ 'แก้ไข' ไม่ใช่ 'ฉีก'

หลังจากประกาศอิสรภาพจากอังกฤษและก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมาได้เพียง 14 ปี สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรวม 10 ฉบับและประกาศใช้พร้อมกันในวันที่ 15 ธ.ค. 1791 โดยเรียกรวมกันว่าบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 1 หรือ The First Amendment ถือเป็นหัวใจสำคัญว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองทั้งปวง เพราะเป็นการแก้ไขที่ว่าด้วย “สิทธิในการมีเสรีภาพ” ที่สอดคล้องกับคำปรารภ (Preamble) ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และจะส่งผลสืบเนื่องไปยังการแก้ไขครั้งที่ 2-10 และครั้งต่อๆ มา รวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง

คำปรารภ (Preamble) ด้วยคำเพียง 52 คำ คือ “เราประชาชนแห่งสหรัฐ เพื่อให้การรวมกันเป็นชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความยุติธรรม เพื่อความสงบภายในประเทศ เพื่อการป้องกันประเทศร่วมกัน เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพโดยทั่วไป และเพื่อธำรงรักษาเสรีภาพไว้ให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันต่อไป จึงได้บัญญัติและสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้นมา” - แปลโดยชำนาญ จันทร์เรือง, มองรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาแล้วมองไทย, เผยแพร่ในประชาไท เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 เป็นการคุ้มครองเสรีภาพ 5 ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เสรีภาพในการนับถือศาสนา (Freedom of Religion) เสรีภาพสื่อ (Freedom of Press) เสรีภาพในการรวมกลุ่ม (Freedom of Assembly) และเสรีภาพในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาล (Freedom of Petition) อีกทั้งยังเป็นการจำกัดอำนาจในการออกกฎหมายของสภาคองเกรส ไม่ให้กระทบต่อเสรีภาพทั้ง 5 โดยข้อความในกฎหมายระบุว่า “คองเกรสไม่สามารถตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสถาปนาสถาบันศาสนา หรือการห้ามปฏิบัติศาสนาอย่างเสรี หรือการลิดรอนเสรีภาพในการพูด หรือเสรีภาพสื่อ หรือการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่มอย่างสันติ และสิทธิในการร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อปัดเป่าความเดือดร้อน”

แม้หลักการทางกฎหมายจะเขียนไว้เป็นภาพรวมอย่างกว้างๆ และจุดประสงค์เริ่มแรกของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อ 230 กว่าปีก่อนอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ด้วยรูปแบบกฎหมายด้านสิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เป็นแบบจารีตประเพณี (Common Law) จึงมีการเปิดช่องให้ตีความกฎหมายได้เสมอ และยึดถือคำพิพากษาของศาลสูงสุดเป็นบรรทัดฐานในการตีความกฎหมายในยุคถัดๆ ไป ทำให้กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะเสรีภาพในการพูดถูกตีความและมีรูปแบบการบังคับใช้ที่แตกต่างกันไปโดยพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ตามยุคสมัย เช่น คำพูดที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือการกล่าวหาเท็จหรือคำพูดที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่มุ่งหวังประทุษร้ายต่อร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่นโดยตรงจะไม่ถือว่าได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ หรือการใช้คำพูดโฆษณาเชิงพาณิชย์จะมีกฎหมายบางประการคอยจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ยังจำกัดสิทธิของรัฐบาลไม่ให้ใช้อำนาจเพื่อจำกัดสิทธิในการแสดงออกของประชาชน เช่น ห้ามรัฐบาลออกแถลงการณ์ยับยั้งการชุมนุมของประชาชนเพียงเพราะแสดงจุดยืนทางความคิดของผู้ชุมนุมไม่ตรงกับรัฐบาล อีกทั้งขอบเขตของกฎหมายที่ระบุชัดไว้ตั้งแต่การประกาศใช้เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วคือการอนุญาตให้ใช้คำหยาบเพื่อสื่อสารทางการเมืองได้ นอกจากนี้ กฎหมายเสรีภาพในการพูดยังคุ้มครองการเผาธงชาติ หรือการกระทำอื่นๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงการไม่แสดงความเคารพธงชาติก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในสหรัฐฯ

คดีตัวอย่างที่พลิกโฉมแนวคิดด้านกฎหมายเกี่ยวกับ Free Speech

เมื่อ ค.ศ.1925 ในคดีระหว่างเบนจามิน กิตโลว์ (Benjamin Gitlow) นักการเมืองสายสังคมนิยมและรัฐนิวยอร์ก ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ พิพากษาให้กิตโลว์ นักการเมืองสายสังคมนิยม และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอเมริกา (CPUSA) มีความผิดทางอาญาฐานเผยแพร่เอกสารคำแถลงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ลงในหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย ผู้พิพากษาศาลสูงสุด 7 ต่อ 2 คนเห็นว่าการกระทำนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อโค่นล้มการปกครองและรัฐบาลกลาง โดยอ้างอิงจากคำตัดสินและแนวทางการพิจารณาคดีของชาร์ลส์ เชงค์ เมื่อปี 1919 ที่แจกใบปลิวต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ซึ่งศาลมองว่าคำพูดและการกระทำเชิญชวนต่อต้านการเกณฑ์ทหารเข้าหลักวิธีพิจารณาคดีที่เป็น "อันตรายอย่างประจักษ์ชัดเจน" (clear and present danger test) อย่างไรก็ตาม ในคดีของกิตโลว์ ผู้พิพากษาเสียงส่วนน้อย ได้แก่ โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ และหลุยส์ แบรนดีส์ ให้ความเห็นว่าการกระทำของกิตโลว์ไม่เข้าข่ายหลักวิธีพิจารณาคดีดังกล่าว เพราะเป็นการเผยแพร่ความคิดที่เป็นนามธรรม ไม่ได้จงใจกระทำการโค่นล้มรัฐบาลแบบประจักษ์ซึ่งหน้า ผู้พิพากษาทั้ง 2 คนนี้จึงลงความเห็นว่าคำพูดและการเผยแพร่สื่อของกิตโลว์สมควรได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการพูดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เบนจามิน กิตโลว์ (ภาพจากทวิตเตอร์สำนักประวัติศาสตร์ ศูนย์ยุติธรรมกลางแห่งชาติสหรัฐฯ, FJC)
 

สุดท้าย แม้กิตโลว์จะต้องโทษจำคุก แต่ความคิดเห็นเสียงส่วนน้อยของโฮล์มส์และแบรนดีส์ รวมถึงความเห็นเสียงส่วนใหญ่ของศาลในคดีนี้กลายเป็น 'ใบเบิกทาง' ให้การเปลี่ยนแปลงแนวทางการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) ในยุคหลัง (แม้ว่าศาลจะยกเหตุผลดังกล่าวมาใช้คัดค้านคำร้องฎีกาของกิตโลว์เนื่องจากต้องการลงโทษเขาตามคำตัดสินของศาลมลรัฐนิวยอร์ก) โดยความคิดเห็นของผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ในคดีกิตโลว์ที่ระบุว่า "[เสรีภาพและข้อจำกัดที่บัญญัติไว้ใน]การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 บังคับใช้กับศาลในระดับมลรัฐและศาลสูงสุด" เกือบจะหักล้างบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนทั้งหมด เพราะความเห็นนี้ของศาลสูงสุดตรงกันข้ามกับคำพิพากษาเดิม (ในคดีอื่น) ที่ระบุว่าสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) บังคับใช้เฉพาะศาลสูงสุดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศาลมลรัฐ

อีกคดีตัวอย่างด้านเสรีภาพในการพูดที่น่าสนใจ คือคดีในปี 1965 ระหว่างศาสตราจารย์คอร์ลิส ลามอนต์ ประธานสภาความสัมพันธ์อเมริกัน-โซเวียต (National Council of American–Soviet Friendship: NCASF) และผู้อำนวยการไปรษณีย์ของสหรัฐฯ ลามอนต์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดว่าการสั่งซื้อนิตยสาร “Peiking Review” จากจีนไม่ใช่การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ผู้อำนวยการไปรษณีย์ในขณะนั้นกล่าวอ้าง โดยผู้อำนวยการไปรษณีย์ไม่ยอมส่งนิตยสารดังกล่าวให้ลามอนต์ เพราะระบุว่านิตยสารดังกล่าวเป็น ‘เอกสารโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มคอมมิวนิสต์’ และสั่งให้ลามอนต์ต้องชี้แจงต่อทางการก่อนว่าเหตุใดจึงมีต้องมีสิ่งพิมพ์เหล่านี้ไว้ในครอบครอง ทั้งนี้ ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินให้ลามอนต์ชนะคดีโดยระบุว่า “สิทธิในการครอบครองสื่อสิ่งพิมพ์ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1” และระบุเพิ่มเติมว่าการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศนั้นถือเป็นการกระทำตามหลักการตลาดเสรี ทำให้ผู้อำนวยการไปรษณีย์ต้องส่งมอบนิตยสารดังกล่าวให้กับลามอนต์ ด้านสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (ALA) ระบุว่าคำพิพากษานี้สามารถตีความครอบคลุมในวงกว้าง เพื่อปกป้องปัจเจกและสังคมจากความพยายามของรัฐบาลในการปิดกั้นแนวคิดและข้อมูล ทั้งยังห้ามไม่ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่ออื่นๆ อย่างงานศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต

ต่อมาในปี 1969 ศาลสูงสุดตัดสินให้รัฐบาลไม่มีสิทธิลงโทษคลาเรนซ์ แบรนเดนเบิร์ก ผู้นำกลุ่ม KKK ในรัฐโอไฮโอ ที่ใช้คำพูดผ่านสื่อที่ส่อว่าเขาอาจจะ “แก้แค้น” ต่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันและชาวอเมริกันเชื้อสายยิว พร้อมอ้างว่าประธานาธิบดี (ในขณะนั้นคือลินคอน บี จอห์นสัน) สภาคองเกรส และศาลสูงสุด “กำลังกดขี่แนวความคิดความเป็นเลิศของคนผิวขาว (White Supremacy)” นอกจากนี้ผู้นำกลุ่ม KKK ยังประกาศแผนเดินทางไปประท้วงในวันประกาศอิสรภาพที่สภาคองเกรส ทั้งยังบอกอีกว่าพวกเขาจะผลักดันให้ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันกลับไปยังทวีปแอฟริกาและจะผลักดันชาวอเมริกันเชื้อสายยิวให้กลับไปอยู่ที่ประเทศอิสราเอล แม้คำพูดที่แบรนเดินเบิร์กใช้จะมีความสุดโต่งและเหยียดเชื้อชาติสีผิว แต่ศาลสูงสุดระบุเหตุผลในภาพรวมว่า “รัฐบาลไม่มีสิทธิลงโทษการใช้คำพูดที่เป็นชนวนเหตุแห่งความโกรธแค้น เว้นแต่ว่าคำพูดนั้นจงใจกล่าวขึ้นเพื่อยั่วยุหรือก่อให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยและขัดต่อกฎหมาย (imminent lawless action)”

สำหรับคดีนี้ ศาลสูงสุดลงความเห็นแบบย่อ (per curiam) ผู้พิพากษาศาลเสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าคำพูดของแบรนเดนเบิร์กเป็น ‘คำพูดเชิงสัญลักษณ์’ และไม่มีการกระทำที่เข้าข่ายยั่วยุหรือเป็นภัย ดังนั้นจึงสมควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และจากคำตัดสินนี้ ทำให้คดีของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหรัฐฯ ‘ยูจีน เดนนิส’ (นามแฝง) ที่ศาลมีคำตัดสินตรงกันข้ามในปี 1951 ถูกลบล้างมลทิน และถือว่าเดนนิสเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้ เดนนิสถูกจับในข้อหาเผยแพร่คำพูดที่สื่อถึงการล้มล้างการปกครอง เพราะเขาพูดถึงแผนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เตรียมจะโค่นล้มรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

คำตัดสินในคดีของหัวกลุ่ม KKK ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการตีความและปกป้องเสรีภาพในการพูดโดยยกหลักการ “การกระทำที่เป็นภัยและขัดต่อกฎหมาย (imminent lawless action)” ซึ่งการกระทำที่ว่านั้นหมายถึงการกระทำทางที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความเสียหายทางกายภาพที่ชัดเจน ไม่ใช่การเผยแพร่หรือแสดงออกทางความคิดผ่านการใช้คำพูดและภาษา หมายความว่าแม้ว่าคำพูดหรือภาษาที่ใช้จะฟังดูสุดโต่งหรือไม่ถูกต้องทางการเมือง (non-political correctness) แต่ถ้าไม่มีเจตนาทางกายภาพที่มุ่งร้ายต่อร่างกายและชีวิตของบุคคลหรือความมั่นคงของรัฐ คำพูดเหล่านั้นถือว่าอยู่ในขอบเขตของ Free Speech ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากคำพิพากษาของศาลสูงสุด และศาลมลรัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีอื่นๆ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การอ้างสิทธิในเสรีภาพทางการพูดในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น การต่อต้านการบังคับเกณฑ์ทหารในยุคสงครามโลก ต่อเนื่องมาถึงยุคสงครามเวียดนาม ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงสุดในยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

สำหรับคดีอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อ คือ คดีในปี 1964 ที่แอลบี ซัลลิวาน คณะกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยประจำเมืองในรัฐอะลาบามาฟ้องหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ (Thw New York Times) ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยลายลักษณ์อักษร ซัลลิวานกล่าวหาว่าโฆษณาของเดอะนิวยอร์กไทม์เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เป็นข้อมูลเท็จและทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียง อย่างไรก็ตาม ข้อความในเดอะนิวยอร์กไทม์ไม่ได้ระบุชื่อหรือพาดพิงซัลลิวาน และศาลเห็นว่าซัลลิวานในฐานะโจทก์ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่ชี้แจงได้ว่าข้อความที่เผยแพร่ในเดอะนิวยอร์กไทม์นั้นเป็นเท็จหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างไร จึงตัดสินให้เดอะนิวยอร์กไทม์เป็นผู้ชนะคดี ทั้งนี้ ตามหลักการฟ้องคดีหมิ่นประมาทด้วยลายลักษณ์อักษรซึ่งเป็นหนึ่งในข้อจำกัดด้านเสรีภาพทางการพูดตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ โจทก์จะต้องแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าข้อความที่เผยแพร่โดยจำเลยนั้นส่งผลต่อชื่อเสียงของโจทก์อย่างไร ซึ่งส่วนมากแล้ว มักเป็นการให้ข้อมูลเท็จ บิดเบือน หรือพาดพิงจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อตัวโจทก์

คดีของซัลลิวานเป็นหนึ่งในคดีสำคัญที่สร้างบรรทัดฐานการพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ฟ้องสื่อโดยใช้กฎหมายเสรีภาพทางการพูด เพราะต่อมาในปี 1971 ศาลสูงสุดตัดสินให้หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ชนะคดีที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นฟ้องว่าหนังสือพิมพ์กระทำความผิดฐานละเมิดกฎหมายความมั่นคงเพราะเปิดเผย 'เอกสารลับ' ของทางราชการ เอกสารลับดังกล่าวคือ 'เพนทากอน เปเปอร์ส' (Pentagon Papers) หรือรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนที่เดอะนิวยอร์กไทม์นำเสนอเรื่องราวความเลวร้ายของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนามช่วง ค.ศ.1945-1967 ข้อมูลในรายงานข่าวดังกล่าวอ้างอิงจากเอกสารลับทางราชการของกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่มีแหล่งข่าวส่งมอบต่อให้กับหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ ศาลสูงสุดให้ความเห็นในภาพรวมว่า "รัฐบาลไม่ควรใช้คำกำกวมอย่าง 'ความมั่นคง' มายกเลิกกฎหมายที่บัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1" และ "การเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์นี้ไม่ได้ส่งผลโดยตรง ทันที และหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความปลอดภัยของกองทัพอเมริกัน การยับยั้งล่วงหน้า[ของรัฐบาล]จึงถือว่าไม่เป็นธรรม"

รายงานข่าวสืบสวนสอบสวน 'เพนทากอน เปเปอร์ส' บนหน้าเว็บไซต์ของ The New York Times
 

คนอเมริกันและคนทั่วโลกยังคงต้องการ 'เสรีภาพในการพูด'

หลังเกิดเหตุการณ์ที่งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุด YouGov America ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทวิจัยตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตระดับนานาชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษ เผยผลสำรวจความเห็นมหาชนพบว่า 61% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) มองว่าการกระทำของวิล สมิธ เป็นเรื่องผิด ขณะที่ 21% มองว่าเป็นเรื่องถูก ส่วนอีก 19% บอกว่าไม่แน่ใจ และเมื่อพิจารณาสัดส่วนประชากรตามอายุแล้วจะพบว่าคนอายุ 18-34 ปีมองว่าการกระทำของสมิธ ‘ถูกต้อง’ ถึง 28% ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าประชากรในช่วงวัยอื่นๆ ในขณะที่คนอายุมากกว่า 65 ปีมีเพียง 15% เท่านั้นที่มองว่าการกระทำของสมิธเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว

ผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันต่อกรณีของวิล สมิธ และคริส ร็อก บนเวทีออสการ์ครั้งที่ 94 (ที่มา YouGov)
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าสมิธควรถูกถอนชื่อจากรางวัลออสการ์ที่เขาได้รับหรือไม่ 70% ของชาวอเมริกันที่ตอบแบบสำรวจบอกว่า “ไม่” และลงความเห็นว่าเขาสมควรเก็บรางวัลนี้ไว้ ในขณะที่ 16% บอกว่าสมิธควรถูกริบรางวัล ส่วน 14% บอกว่าไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ ข้อค้นพบเพิ่มเติมจากผลสำรวจของ YouGov ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (59%) คิดว่าการตอบโต้คำพูดของคนอื่นด้วยการใช้กำลัง (ทางกายภาพ) เป็นสิ่งที่ไม่สมควร นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของ One Poll Survey ที่ระบุว่าชาวอเมริกัน 66% จาก 1,003 คนที่ตอบแบบสำรวจ คิดว่าสมิธสมควรถูกจับ แต่พอเป็นคำถามที่สองเรื่องความเหมาะสมกลับพบว่า 62% จากโพลล์เดียวกันมองว่าเหตุผลที่สมิธตบปากร็อกนั้นเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ส่วนอีกคำถามหนึ่งเรื่องเล่นมุกล้อเลียนทรงผมของเจดา สมิธ นั้นเหมาะสมหรือไม่ 76.5% มองว่าไม่เหมาะสม และ 48% ของผู้ตอบคำถามข้อสุดท้ายเป็นเพศชาย

ไม่ว่าคุณจะรู้สึกไม่พอใจหรือไม่ชอบใจการเล่นมุกโดยใช้คำพูดเชิงเสียดสีล้อเลียนมากแค่ไหน คุณก็ไม่มีสิทธิลุกขึ้นไปทำร้ายร่างกายเจ้าของคำพูดนั้น - ซันนี่ ฮอสติน, พิธีกรรายการโทรทัศน์ช่อง ABC

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 ผลสำรวจของ Future Free Speech ระบุว่า 94% ของประชาชนจาก 33 ประเทศในแบบสำรวจเห็นความสำคัญและต้องการเสรีภาพในการพูด ขณะที่ 93% ของสื่อใน 33 ประเทศเหล่านั้นมองว่าสื่อควรมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและต้องการให้ประชาชนให้ประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้การเซ็นเซอร์เนื้อหาจากรัฐ โดยนอร์เวย์และเดนมาร์กได้คะแนนเสรีภาพในการพูดสูงสุด 2 อันดับแรก ส่วนสหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับ 3 สำหรับประเทศในอาเซียนที่อยู่ในผลสำรวจนี้มีเพียงฟิลิปปินส์ ซึ่งได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และอีก 2 ประเทศ คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ได้คะแนนในเกณฑ์ต่ำ ส่วนไทยไม่ได้อยู่ในแบบสำรวจนี้

ดัชนีเสรีภาพในการพูดของ 33 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2021 สีแดงคือมีเสรีภาพต่ำ สีเหลืองคือมีเสรีภาพปานกลาง สีเขียวคือมีเสรีภาพสูง ส่วนสีดำคือไม่มีการสำรวจ (ที่มา Future of Free Speech)
 

ข้อมูลจากแบบสำรวจดังกล่าว กรณีของชาวอเมริกัน สอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อปี 2018 ที่เผยแพร่ใน Foreign Policy โดยผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็น “ประเทศที่มีการปกป้องเสรีภาพในการพูดมากที่สุดของโลกตลอดประวัติศาสตร์” แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือชาวอเมริกันที่สนับสนุน “แนวคิดข้อยกเว้นเรื่องเสรีภาพในการพูด” นั้นมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียสะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขนั้นลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจของ PEW ในปี 2015 ที่ชาวอเมริกันบอกว่าเห็นด้วยอย่างมากกับแนวคิดยกเว้นเสรีภาพในการพูด เพราะการหาเสียงในช่วงเลือกประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ สืบเนื่องยาวมาจนถึงเหตุการณ์จลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเว็บไซต์ Foreign Policy ชี้ให้เห็นว่าการเปรียบเทียบผลสำรวจดังกล่าวสื่อเป็นนัยว่าผู้ลงคะแนนเสียงให้โจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะปกป้องเสรีภาพในการพูดน้อยกว่าผู้ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์

Foreign Policy ระบุเพิ่มเติมว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่ (อายุ 18-34 ปี) มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเสรีภาพในการพูดน้อยลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า เว้นเสียแต่ว่าเสรีภาพในการพูดนั้นจะใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาว่าร้ายให้ดารา สิ่งนี้รวมถึงการมีภูมิต้านทานต่ำต่อคำพูดต่อคนกลุ่มน้อยที่ฟังแล้วรู้สึกไม่น่าพอใจนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่มีมุมมองต่อเสรีภาพในการพูดและความเท่าเทียมเป็นคุณค่าที่ในบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง และห่างจากแนวคิดของเฟรเดอริก ดักลาส นักเคลื่อนไหวเพื่อการเลิกทาสผู้ยิ่งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่บอกว่า “สิทธิในการพูดเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ โดยเฉพาะกับคนที่ถูกกดขี่”

ฝ่ามือสมิธ: ปูติน ทรัมป์ และภาวะปิตาธิปไตยเป็นพิษ

เหตุการณ์ระหว่างสมิธและร็อกในงานประกาศรางวัลออสการ์สร้างการถกเถียงขึ้นมาในสังคมอเมริกันจำนวนมาก แม้เสียงส่วนใหญ่ในสังคมอเมริกันจะยืนยันหลักการว่า “คำพูดไม่ใช่ความรุนแรง” และลุกขึ้นประณามสมิธ ตัวอย่างที่เว็บไซต์ Rolling Stone รวบรวมมานำเสนอ เช่น เคย์ลีห์ แมคเคมานี (Kayleigh McEnany) อดีตโฆษกทำเนียบขาวในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับ FOX ว่าการที่เจดา สมิธ ถูกตลกอย่างร็อกเล่นมุกล้อเลียนนั้นเหมือนกับที่ในปี 2018 มิเชลล์ วูล์ฟ นักแสดงตลกชาวอเมริกันเคยเล่นมุกล้อเลียนซาราห์ แซนเดอร์ส อดีตโฆษกทำเนียบขาวจากพรรครีพับรีกัน พร้อมกล่าวว่า “ถ้าคุณเป็นผู้หญิงจากพรรครีพับลิกัน คุณต้องยอมรับมัน[การเล่นมุกเสียดสี] แต่ถ้าคุณเป็นคนดังในวงการบันเทิง และเจอเหตุการณ์แบบนี้ คุณจะมีคนมาคอยปกป้องคุณ”

หรือแม้แต่โฮเวิร์ด สเติร์น นักจัดรายการวิทยุชื่อดังชาวอเมริกันที่มีจุดยืนต่อต้านทรัมป์มาตลอดก็ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่าการกระทำของวิล สมิธ นั้นไม่ต่างอะไรกับการกระทำของทรัมป์ที่ต้องการแก้ปัญหาทุกอย่างด้วย ‘มือ’ ของตัวเองแบบไม่สนกฎหมายรอบข้าง เช่นเดียวกับอาช่า รันกัปปะ อดีตสายลับ FBI และนักวิเคราะห์ประจำสำนักข่าว CNN ก็ออกมาทวีตเช่นเดียวกันว่า ‘การกระทำแบบทรัมป์’ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ แมทธิว ดีแอนโคนา (Matthew d’Ancona) อดีตบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ (The Telegraph) ของอังกฤษ ได้เขียนบทวิเคราะห์ลงเว็บไซต์พอดแคสต์ข่าว Tortoise เปรียบเทียบการกระทำของสมิธว่าใกล้เคียงกับการกระทำของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียที่มีคำสั่งใช้กำลังทหารเข้าโจมตียูเครน ดีแอนโคนาระบุในบทความโดยระบุว่าข้อแก้ตัวของสมิธนั้นไม่ต่างอะไรกับที่ปูตินพูดว่า “ตัดสินใจใช้กำลังบุกยูเครนเพราะความตั้งใจที่ดีและทำไปเพื่อปกป้องคนที่เปราะบางเท่านั้น”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

อย่างไรก็ตาม มีคนดังจำนวนไม่น้อยจากหลายแวดวงที่ส่งเสียงค้าน ทั้งในแง่การเรียกร้องให้เลิกเล่นมุกตลกเสียดสีที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่ดี หรือแม้กระทั่งการกล่าวชื่นชมการกระทำของสมิธว่าเหมาะสมแล้ว เช่น อายานนา เพรสลีย์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ออกมาทวีตข้อความเรียกร้องให้คนที่ป่วยเป็นโรค Alopecia ลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อตัวเอง และขอบคุณวิล สมิธ ที่ทำหน้าที่สามีที่ดี ปกป้องภรรยาที่ป่วยเป็นโรคนี้ซึ่งถูกเพิกเฉยและถูกล้อเลียนกลางเวทีประกาศรางวัลระดับโลก พร้อมเขียนประโยคสุดท้ายในทวีตดังกล่าวว่า “ผู้หญิงหัวโล้นอยู่เพื่อชายจริงเท่านั้น เด็กผู้ชายไม่เกี่ยว” (Women with baldies are for real men only only. Boys need not apply) เช่นเดียวกับมาร์จอรีย์ เทย์เลอร์ กรีน ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐจอร์เจีย ที่ออกมาชื่นชมสมิธว่าทำหน้าที่ “สามีที่ปกป้องภรรยา” ได้อย่างเหมาะสม

ซันนี่ ฮอสติน พิธีกรรายการ The View ของสถานีโทรทัศน์ ABC เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลออสการ์ ออกมาพูดว่าการกระทำของสมิธนั้นเข้าข่าย ‘ปิตาธิปไตยเป็นพิษ’ หรือ Toxic Masculinity ที่แสดงออกว่าต้องการปกป้องคนรักด้วยการแสดงกำลังที่แข็งแกร่ง พร้อมยกตัวอย่างการเล่นมุกของเรจินา ฮอลล์ นักแสดงตลกหญิงซึ่งทำหน้าที่ผู้ประกาศรางวัลในคืนเดียวกันที่เล่นมุกสองแง่สองง่ามเกี่ยวกับเพศ และถูกวิจารณ์ว่าการเล่นมุกนั้น ‘สร้างความอึดอัด’ ให้กับคนในงานและคนดูทางบ้าน แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกไม่พอใจหรือไม่ชอบใจการเล่นมุกโดยใช้คำพูดเชิงเสียดสีล้อเลียนมากแค่ไหน คุณก็ไม่มีสิทธิลุกขึ้นไปทำร้ายร่างกายเจ้าของคำพูดนั้น อีกทั้งฮอสตินยังบอกอีกว่าการกระทำของสมิธเหมือนเด็กไม่รู้จักโต ทั้งๆ ที่พ่อแม่และโรงเรียนสอนเด็กเสมอว่าถ้าใช้กำลังโต้กลับกับคำพูด คนที่ใช้กำลังอาจถูกลงโทษถึงขั้นพักการเรียน เธอบอกว่าทางออกคือการใช้คำพูดเพื่อสู้กลับ และยิ่งถ้าคุณเป็นบุคคลสาธารณะ คุณจะต้องเปิดกว้างเพื่อรับความคิดเห็นหรือการเล่นมุกล้อเลียนได้

โมนิกา เฮสส์ คอลัมนิสต์ของเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) เขียนบทความสะท้อนมุมมองเรื่องภาวะปิตาธิปไตยเป็นพิษจากกรณีของสมิธและร็อกในงานออสการ์ 2022 โดยเธอบอกว่าการเล่นมุกของร็อกนั้น ‘ไม่ได้เรื่อง’ และจงใจโจมตีเจดา สมิธ ที่เคยประกาศต่อสาธารณชนแล้วว่าเธอต้องทุกข์ทรมานจากอาการป่วย แต่เป็นไปได้ว่าร็อกอาจจะลืมนึกถึงเรื่องนี้ และเจดา สมิธ แสดงออกชัดเจนผ่านทางสีหน้าว่าไม่ได้สนุกกับมุกนั้น แต่ไม่ว่าเจดา สมิธ ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกโจมตีโดยตรงจะรู้ไม่พอใจอย่างไรกับมุกของร็อก เธอกลับนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ลุกปรี่เข้าไปตบปากร็อกแบบที่สามีของเธอทำ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:

เฮสส์บอกว่าการกระทำเช่นนั้นของวิล สมิธ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของภาวะปิตาธิปไตยเป็นพิษ สมิธผู้เป็นสามีอาจจะเชื่อว่าการแสดงออกแบบนี้คือการปกป้องภรรยาอันเป็นที่รัก ในตอนที่เขาเดินกลับมานั่งประจำที่หลังจากตบปากร็อกแล้ว สมิธไม่ได้เอ่ยชื่อของเจดา สมิธ ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดว่าเธอรู้สึกไม่พอใจ แต่เขาใช้คำว่า “ชื่อของภรรยาผม” แทน ไม่ว่าสมิธจะตั้งใจหรือไม่ แต่การใช้ภาษาของเขาสื่อนัยยะว่าความผิดพลาดของร็อกเหยียดหยามใครก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของบ้านสมิธ การตบปากร็อกจึงสะท้อนว่าคำพูดนั้นหมิ่นเกียรติของเขา ไม่ใช่เธอ แม้กระทั่งสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลที่เขากล่าวขอโทษต่อการกระทำนั้น เขาก็ใช้คำที่บ่งบอกถึงคอนเซ็ปต์ของการ “ปกป้อง” ซึ่งทำให้การกระทำของเขานั้นฟังดูชอบธรรม ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจใช้คำลักษณะนั้นก็ตาม

เฮสส์วิเคราะห์ว่าหากสมิธไม่ลุกขึ้นไปตบปากร็อกบนเวทีคืนนั้น เช้าวันต่อมา คนอาจจะพุ่งความสนใจไปที่การเล่นมุกที่ไร้รสนิยมของร็อกก็เป็นได้ เราอาจจะถกกันเรื่องการเล่นมุกล้อเลียนเสียดสีลักษณะภายนอกของคนอื่นนั้นเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ โดยเฉพาะลักษณะภายนอกที่เกิดจากความเจ็บป่วยหรือภาวะอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แล้วร็อกควรจะปรับปรุงการเล่นมุกของตัวเองอย่างไร

ไม่เช่นนั้นแล้ว แสงอาจจะไปตกอยู่ที่เจดา สมิธ ซึ่งเธอสามารถใช้โอกาสนี้ออกมาพูดเรื่องโรค Alopecia สร้างความตระหนักให้กับคนในวงกว้าง หรือใช้โอกาสนี้พูดว่าเธอ ‘ให้อภัย’ มุกเสียดสีที่มุ่งโจมตีลักษณะภายนอกของเธอ เธออาจจะได้ออกมาพูดความรู้สึกยากลำบากที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ในขณะที่คนอื่นนั่งหัวเราะแบบไม่ได้คิดอะไร ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเธอกังวลเรื่องการถูกมองว่าเป็นตัวขัดบรรยากาศเพราะแตะต้องไม่ได้ด้วยการเล่นมุก หรือกลัวจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงผิวดำอารมณ์ร้ายซึ่งเป็นภาพแห่งอคติในสังคมอเมริกัน แต่เจดา สมิธ เลือกที่จะนั่งอยู่กับที่ ไม่ใช้กำลังหรือคำพูดใดๆ โต้ตอบมุกตลกร้ายของร็อก และการกระทำของวิล สมิธ ที่แสดงออกถึงภาวะปิตาธิปไตยเป็นพิษ ทำให้เสียงของเจดา สมิธ ภรรยาอันเป็นที่รักของเขาถูกกลืนหายไป และสร้างภาพจำที่ไม่น่าพิสมัยให้กับเวทีประกาศรางวัลอันทรงเกียรตินี้

โพสต์เฟซบุ๊กของเจดา พิงเก็ตต์ สมิธ ในวันที่ 28 มี.ค. 65 ก่อนร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์ 2022
(บันทึกภาพหน้าจอเมื่อ 4 เม.ย. 2565)
 

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net