Skip to main content
sharethis

#ปกป้องสถาบันปรีดี 'ทะลุฟ้า' ยันปักหลักรอคำตอบจากมูลนิธิฯ จะชะลอรื้อถอนอาคารสถาบันปรีดีก่อนเปิดเวทีสาธารณะหรือไม่ ระบุชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊กยังไม่สามารถสร้างความกระจ่าง ความโปร่งใสและความเข้าใจร่วมที่ชัดเจนให้กับสังคม

4 เม.ย.2565 จากกรณีกลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมชุมนุมปกป้องสถาบันปรีดี พนมยงค์ บริเวณซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านการรื้อถอนอาคารสถาบันฯ ค้างคืนตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. นั้น ต่อมา 'มูลนิธิปรีดี พนมยงค์' ออกคำชี้แจงในวันเดียวกัน (2 เม.ย.) ต่อกรณีปรับปรุงรื้อถอนอาคาร โดยระบุเหตุผลเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่ซึ่งใช้งานมากว่า 20 ปี การสร้างอาคารใหม่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ในขณะที่งบประมาณของมูลนิธิฯ มีไม่เพียงพอต่อการปรับปรุง จึงเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอพัฒนาพื้นที่ สำหรับจัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอย่างยั่งยืน ย้ำยังคงดำเนินงานตามเจตนารมณ์เดิมของ 'ปรีดี พนมยงค์' อย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

3 เม.ย.65 เวลา 19.05 น. เพจ ทะลุฟ้า - thalufah โพสต์แจ้งว่า วันนี้มีตัวแทนมูลนิธิและสถาบันปรีดีฯ มารับจดหมายเปิดผนึกของผู้ร่วมชุมนุมแล้ว การพูดคุยมีบรรยากาศที่ดีและมีแนวโน้มในทางบวก ซึ่งเราต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิและสถาบันปรีดีฯ ที่ใช้ความพยายามที่จะพูดคุยและเจรจา

"แต่ในวันนี้ทางกรรมการมูลนิธิยังไม่สามารถตอบรับการชะลอการรื้อถอน และจัดเวทีสาธารณะได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาปรึกษาหารือในรายละเอียดกันก่อน ดังนั้น เราจะยังคงปักหลักเพื่อรอคำตอบจากมูลนิธิต่อไป โดยหวังว่าจะมีความชัดเจนในเร็ววัน" ทะลุฟ้า ระบุ

โดยในวันเดียวกัน ทะลุฟ้า ออกจดหมายเปิดผนึก ความเห็นและคำถามต่อคำชี้แจงจากสถาบันปรีดีฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึก ความเห็นและคำถามต่อคำชี้แจงจากสถาบันปรีดี พนมยงค์

วันที่ 3 เมษายน 2565

ผ่านมาแล้ว 1 วันจากกรณีที่ได้มีการตั้งคำถามและมีข้อเรียกร้องต่อการรื้อถอนอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เรายังยืนยันข้อเรียกร้องเดิม คือ

1. ให้สถาบันปรีดีออกมารับจดหมายเปิดผนึกที่ประกอบด้วยคำถามและข้อกังวลต่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน

2. ให้ชะลอการรื้อถอนจนกว่าจะมีการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงและตอบข้อสงสัยดังกล่าว

ซึ่งทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 14.50 น. เรารับทราบและเห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างความกระจ่าง ความโปร่งใสและความเข้าใจร่วมที่ชัดเจนให้กับสังคมได้ เราจึงมีข้อสงสัยที่ต้องการให้ท่านชี้แจงเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1. ในคำชี้แจงข้อที่ 1) ท่านชี้แจงถึงวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ที่เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไรที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการเผยแพร่อุดมการณ์ การส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ แก่สาธารณะ จัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมสนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนรรม รวมถึงส่งเสริมด้านการศึกษา จริยธรรม และสาธารณประโยชน์อื่น ทั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์อีกหลายข้อที่ไม่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง เช่นเรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ การให้พื้นที่ทำงานเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทางด้านศิลปะ และวัฒนธรรม

วัตถุประสงค์เหล่านี้ย่อมต้องเป็นกรอบในการบริหารงานของคณะกรรมการในการทำกิจการใดๆ แม้กระทั่งการตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่ โดยเฉพาะการส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูณ์ ซึ่งจำเป็นต้องส่งเสริมหลักการการบริหารงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และมีกระบวนการที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ท่านจึงจำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่าการดำเนินงานปัจจุบันของท่านสอดรับกับวัตถุประสงค์ทั้งหมดอย่างไร

2. ในคำชี้แจงข้อที่ 2) ท่านชี้แจงว่า “การบริหารงานของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการบริหาร ที่ได้รับการแต่งตั้งและมีข้อบังคับในการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์มูลนิธิฯ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอื่นใด ดังนั้น นโยบายและการดำเนินงานใด ๆ จึงเป็นเรื่องภายในของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์”

เราเห็นการทำงานอย่างหนักของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์เพื่อประชาธิปไตยและประโยชน์สาธารณะตลอดระยะเวลา 30 ปี แต่เจตนารมย์ “เพื่อชาติและราษฎร” เป็นเจตนาร่วม ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องภายใน ประชาชนมีสิทธิในการตั้งคำถามและได้รับคำชี้แจง คณะกรรมการมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันปรีดีให้ประชาชนรับรู้ จึงจำเป็นที่จะต้องชี้แจงกระบวนการดำเนินการของสถาบันปรีดี พนมยงค์

3. ในคำชี้แจงข้อที่ 3) ท่านชี้แจงว่า “ครูองุ่น มาลิก เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยได้มอบที่ดินแก่มูลนิธิปรีดีฯ เพื่อก่อสร้างอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตามหนังสือมอบที่ดิน ลงวันที่ 5 กันยายน 2526 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการสืบสานเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ ของมูลนิธิปรีดีฯ ซึ่งในคราวทำตราสารจัดตั้งมูลนิธิปรีดีฯ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ครูองุ่น มาลิก ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้รับทราบเนื้อหาในตราสารนั้นด้วย ดังนั้น การทำงานของมูลนิธิฯ จึงยึดตามข้อบังคับในตราสารดังกล่าวเป็นหลักเสมอมา และไม่อาจกระทำการใดนอกจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้”

จากแถลงการณ์ของสถาบันปรีดีในการสร้างอาคารใหม่ว่า “จะสร้างอาคาร 7 ชั้น โดย บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ซึ่งจะเป็นพื้นที่โชว์รูมและสำนักงานให้เช่า มีพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ จะอยู่บริเวณชั้น 6 และ 7 ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 600 ตรม.” ซึ่งพื้นที่ 600 ตรม. คิดเป็นเพียง 5.8% จากพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณกว่า 10,000 ตรม. จึงเกิดข้อสงสัยว่าสัดส่วนพื้นที่จำนวนเพียงเท่านี้จัดสรรตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิจริงหรือไม่

4. ในคำชี้แจงข้อที่ 4) กรณีที่ท่านได้อ้างถึงความเสื่อมโทรมของอาคารสถาบันและการคาดแคลนเงินทุนในการปรับปรุงโครงสร้างตัวอาคารจนตัดสินใจเปิดรับ TOR จากบริษัทเอกชนเพื่อเข้ามาดำเนินการรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่ เราต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติมข้อแรก ข้อที่ท่านกล่าวว่าอาคารสถานที่ใช้งานกว่า 20 ปี มีสภาพเสื่อมโทรมซึ่งทางคณะทำงานมูลนิธิพิจารณาว่าอาจจะเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยเราจึงอยากทราบข้อมูลการประเมินทางวิศวกรรมที่ท่านใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องทุบโครงสร้างอาคารเดิม รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการตามที่ท่านได้ชี้แจงว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณที่ต้องใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร ได้มีการประเมินแนวทางการจัดการทางอื่นอย่างไรบ้าง และมีเหตุผลอ้างอิงเช่นใด จึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเลือกที่จะทำ TOR เท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้มีการเปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ต่อทิศทางการบริหารการจัดการต่อพื้นที่ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามที่ท่านได้อ้างมาในคำชี้แจง

5. ในคำชี้แจงข้อที่ 5) ว่าด้วยการใช้สอยพื้นที่ที่จะเป็นสถาบันปรีดี และพื้นที่สาธารณะ 600 ตรม. “ประกอบด้วยโถงทางเข้า ซึ่งจะเป็นการใช้สอยพื้นที่แบบ Mixed Use ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ที่มีฟังก์ชั่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย พื้นที่แสดงผลงานนิทรรศการ ห้องสมุด และ Co-working space พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Auditorium ขนาด 100 ที่นั่ง ในรูปแบบ Black Box Theater” ท่านจะจัดสรรให้การใช้งานดังกล่าวให้อยู่ในพื้นที่ 600 ตรม. ได้อย่างไร จำอย่างยิ่งที่ท่านต้องเปิดเผยแผนผังอาคารทั้งหมด เพื่อความโปร่งใสและเพื่อยืนยันว่าการปรับปรุงอาคารในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามที่ท่านได้ชี้แจงไว้จริง

เรารับทราบและขอบคุณในคำชี้แจง และด้วยเหตุผลตามที่ท่านได้ชี้แจงดังกล่าว

เป็นข้อยืนยันว่าข้อเรียกร้องในการเปิดเวทีสาธารณะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่องค์กรที่ยืนยันว่าทำตามเจตนานี้พึงกระทำเพื่อตอบข้อสงสัยต่อสังคมอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส และเปิดพื้นที่การถกเถียงแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

สุดท้ายนี้เรามิได้มีเจตนาดูหมิ่นคุณูปการอันมีมายาวนานของครอบครัวพนมยงค์ และสถาบันปรีดีฯ ซึ่งได้ใช้แรงกาย แรงใจและทรัพยากรทางการเงินดำเนินกิจการเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยาวนานมากว่าสามสิบปี และไม่ได้ทำไปเพราะได้รับการยุยงปลุกปั่นใดๆ

ด้วยความเคารพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net