Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมขอใช้คำว่าหวัดโควิด เพราะโควิดในยุคนี้จะมีอาการเหมือนหวัดเป็นส่วนใหญ่ 

เราต้องรอถึงวันที่ 1 กรกฏาคมปีนี้ไหม ถึงจะประกาศว่าโควิดกลายเป็นหวัดโควิดแล้ว ผมค่อนข้างแน่ใจว่าว่าไม่ต้องรอแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปเร็วมาก จะรออีกสามเดือนไปทำไมกัน

เมื่อไตรมาสสองของปี 2020 ช่วงที่โควิดระบาดหนักยกแรกที่กรุงเทพ ฯ คนเป็นหวัดที่มาตรวจคัดกรอง พบเชื้อโควิด 2% 

ตอนไตรมาสที่สองของปี 2022 คนที่เป็นหวัดมาตรวจคัดกรองพบเชื้อโควิดมากกว่า 50% 

ในเมื่อโควิดกลายเป็นหวัดชนิดหนึ่ง เราก็จัดการกับโควิดเหมือนจัดการกับหวัด แต่จะต้องมีอะไรเพิ่มพิเศษหน่อย

เวลาเป็นหวัด เราไม่ต้องตรวจหาเชื้อยืนยันว่าเราเป็นหวัด ถ้าเราเป็นหวัดโควิด เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อยืนยันว่าเราติดเชื้อโควิด ยิ่งไม่มีอาการยิ่งไม่ต้องตรวจใหญ่

ส่วนแตกต่าง คือ หวัดโควิดติดต่อง่ายกว่าหวัดธรรมดาหลายเท่า เข่น ผู้ติดเชื้อจะแพร่ให้คนทั้งครัวเรือนแทบจะไม่มีเหลือ ไม่ว่าจะเป็นหวัดจากเชื้ออะไรก็ตาม ถ้าแพร่ได้ง่ายอย่างนี้ก็ต้องพยายามป้องกันเหมือนกันหมด
นอกจากนี้ ถ้ามีคนในกลุ่มติดหวัดแล้วอาการรุนแรงขึ้น ไข้สูง เหนื่อยหอบ ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออะไร เราก็ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ต้องสั่งให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแยกผู้ป่วยจากคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้คุณเชื้อแพร่กระจาย

นั่นคือ ยุคต้นๆ ของโควิด ซึ่งถูกระบุว่าเป็น “โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง”

ยุคโควิดอู่ฮั่น บุคลากรการแพทย์ไทยติดเชื้อไปร้อยกว่าคนดูเหมือนจะตายไปหนึ่งคน ยุคเดลตามากกว่านั้นหน่อย เท่าที่ผมจำได้ก็ดูเหมือนจะตายไปอีกหนึ่งคน แต่ยุคโอมิครอนคุณหมอติดโควิดกันระนาวน่าจะหลายพันคนแล้ว ผมยังไม่ค่อยได้ข่าวว่ามีใครป่วยหนักหรือเสียชีวิตเลย 

ยาต้านโควิดที่เราใช้แพร่หลายสำหรับคนไทยในปัจจุบันทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ยังไม่มียาใดเจ๋งจริงๆ ในระดับที่มีหลักฐานมั่นคงทางวิทยาศาสตร์ แต่เราก็คงใช้ของที่มีอยู่เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ตอนนี้เราใช้ยาต้านโควิดโดยไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนไปวันละราว 40 ล้านบาท ปีหนึ่งจะใช้ไปกี่พันล้านบาทก็ลองคิดกันดูนะครับ 

เมื่อเร็วๆ นี้วารสารต่างประเทศรายงานว่า การใช้ยาต้านโควิดขนานใหม่ชื่อ monulpiravir ในกลุ่มที่เสี่ยงสูงเพราะอายุมากและมีโรคเรื้อรัง จะลดอัตราป่วยตายจาก 1.3% เหลือ 0.3% แต่ราคายายังแพงมาก ถ้าซื้อมาใช้ในไทยจะต้องหมดเงิน 10 ล้านบาท เพื่อที่จะช่วยคนไทยที่เสี่ยงสูงรอดตายได้ 14 คน แพงแบบนี้ช่วยกันฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ครบจะไม่ดีกว่าไหมครับ การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเป็นกตัญญุตาที่สำคัญที่สุดสำหรับเทศกาลสงกรานต์ สำหรับท่านผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีโรคเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อก็ไม่ได้แปลว่าต้องตายทุกคน อย่างที่สถิติเขาบอกคือตายในราว 1-2% เมื่อเราช่วยเหลือท่านอย่างเต็มที่แล้วยังทำอะไรไม่ได้ ก็เหลืออย่างเดียวคือ ทำใจ 

การทำใจ คือ การเข้าถึงธรรมชาติ ขอพูดเรื่องธรรมชาติของวัยและการติดต่อของโรคระบาด ไวรัสเอดส์ ติดต่อหลักทางสารคัดหลั่งแถวอวัยวะสืบพันธุ์และขับถ่าย จึงแพร่หลายไปในประชากรวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่มีกิจกรรมทางเพศ ไวรัสเข้าไปผ่านเยื่อเมือกแล้วแพร่กระจายไปในเลือดทำลายภูมิคุ้มกัน ทำให้หนุ่มสาวของเราเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปจำนวนมาก เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว การตายในวัยหนุ่มสาวทำให้อายุขัย (life expectancy) ของประชากรไทยลดลง นอกจากนี้ การเจ็บป่วยเรื้อรังและการตราบาปทางสังคม (social stigma) กระทบกับคนในวัยแรงงาน ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก 

ทีนี้มาถึงไวรัสโควิด มันติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ จึงแพร่ไประหว่างคนที่อยู่ในระยะใกล้ชิด เช่น โรงพยาบาล โรงงาน ครัวเรือน ที่จริงแล้วการแพร่ก็เริ่มต้นจากวัยแรงงานหรือวัยเจริญพันธุ์เหมือนกัน แต่วัยแพร่เชื้อกับวัยที่ได้รับผลกระทบเป็นคนละวัย

เชื้อโควิดรุ่นที่รุนแรงทะลวงผ่านทางเดินหายใจลงไปถึงปอด ซึ่งเป็นแหล่งประสานงานที่สำคัญของระบบ cytokines คำว่า cyto แปลว่าเชล ส่วน kine แปลว่าการเคลื่อนไว ระบบ cytokine เป็นการสื่อสารระหว่างเซลต่างๆ เซลอย่างหนึ่งจะส่งสัญญาณไปหาเซลอีกอย่างหนึ่งเพื่อการทำงานประสานกันเพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างปรกติ รวมทั้งการระดมพลต่อสู้สิ่งแปลกปลอมและระดมเซลทหารช่างมาสร้างพังผืดปิดล้อมศัตรู 

สำหรับผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง เชื้อโควิดลงไปถึงปอดก็จัดการทำให้ระบบ cytokine สับสน สร้างสมรภูมิรบหรือพายุ cytokine storm ในปอดจนทำให้การขนส่งก๊าซพลังงาน ซึ่งก็คือ ออกซิเจน เข้าไม่ถึงโลหิต จึงทำให้เสียชีวิต 

การสูญเสียในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก ไม่ช้าก็เร็วถ้าไม่ตายจากโควิดก็จากอย่างอื่น เมื่อเทียบกับเอดส์ โควิดจึงมีผลต่ออายุขัยและเศรษฐกิจสังคมน้อยกว่า ยิ่งในปัจจุบันโอมิครอนระบาดไปทุกหัวระแหง การตราบาป (stigmatization) หรือความรังเกียจเดียดฉัน แทบจะหมดไปแล้วก็ว่าได้ เราใช้เวลาสามสี่สิบปีกว่าที่จะลดความรุนแรงของเอดส์ได้ ตอนนี้เราเพิ่งผ่านปี่ที่สองของโควิด ภูมิคุ้มกันของมนุษยชาติเริ่มจะสู้กับโควิดได้แล้วระดับหนึ่งไม่ว่าจะเกิดจากการฉีดวัคซีน หรือ การติดเชื้อตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ในไทยขณะนี้ก็เป็นอันตรายน้อยลงด้วย 

เมื่อโควิดรระบาดกว้างขวางกว่าเดิม แต่ความรุนแรงน้อยลงมาก ระบบบริการก็ต้องปรับตัว 

เดิมเราต้องการให้ผู้ป่วยลงทะเบียนเพื่อทางสาธารณสุขจะได้หาที่ให้แยกตัวอยู่พร้อมทั้งสร้างโรงพยาบาลเพื่อดูแลเผื่อป่วยหนัก โรงพยาบาลทรุดเพราะผู้ป่วยเข้ามามาก ตอนนี้มีมีผู้ติดเชื้ออาการไม่มากเพิ่มขึ้นหลายเท่า ไม่มีแรงงานมากพอที่จะติดตามผู้ติดเชื้อและไม่มีที่จะให้แยกตัว ต้องดูแลกันเองกักตัวที่บ้าน ผู้ป่วยอาการหนักมีไม่มาก แต่โรงพยาบาลเริ่มจะให้บริการไม่ไหว เพราะบุคลากรติดเชื้อจำนวนมาก

ระบบบริการที่เคยช่วยคนอื่น ตอนนี้ถูกโควิดโจมตีอย่างหนักจนซวนเซ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ทั่วไป พยาบาล ลงไปถึง อสม. ทยอยติดเชื้อทั่วทั้งประเทศ โรงพยาบาลบางแห่งเริ่มประกาศว่าขอลดการบริการในภาพรวมลง เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นยังคงเข้าถึงบริการต่อไป โรงพยาบาลเริ่มลดวันกักตัวและลาป่วยของพนักงานที่ติดเชื้อ เพื่อให้มีกำลังคนกลับมาทำงานบริการได้เร็วขึ้น
 
ดังนั้น ช่วงนี้อย่าหวังพึ่งหมอหรือสถานพยาบาลโดยไม่จำเป็น และอย่าหวังว่าจะได้รับบริการคุณภาพสมบูรณ์แบบเหมือนแต่ก่อน เห็นใจคุณหมอบ้างนะครับ

คนที่ไม่มีอาการเลย น่าจะไม่ต้องตรวจว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่ ตรวจไปไม่พบเชื้อวันนี้ ไม่ช้าท่านก็อาจจะไม่รอดเพราะเค้าเป็นกันทั้งเมือง ถ้าตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการอะไร คุณหมอก็จะไม่ทำอะไรให้อยู่แล้ว 

บางคนอาจจะบอกว่าถ้าพบเชื้อแล้วจะได้แยกตัวเองไม่ให้ติดคนอื่นในบ้าน ตามสถิติบอกว่าไม่ทันครับ คนในบ้านอย่างน้อย 80% จะติดเชื้อจากท่านไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้ยังตรวจไม่พบเชื้อก็จะเป็นเพียงระยะฟักตัว อีกไม่กี่วันต่อไปก็จะพบ 

ด้วยเหตุที่มีผู้ติดเชื้อมาก และอาการทั่วไปไม่มาก ระบบการเงินและบริการการสนับสนุนการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ก็กำลังถูกยกเลิก 

ถามจริงๆ ว่าหมอให้กักตัวอยู่บ้านไม่ให้ออกไปไหน และให้หาคนมาส่งข้าวส่งน้ำ 7-10 วัน ครัวเรือนที่ทำอย่างนั้นได้จริงๆ มีกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่มีคนช่วยได้เขาก็ต้องมีคนออกไปหาข้าวหาปลาทำธุระเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สมาชิกในครัวเรือนอยู่ได้ คนที่อาการไม่มากออกไปทำธุระข้างนอกโดยมีเชื้ออยู่ด้วย ทั้งที่ตรวจพบและไม่ได้ตรวจเต็มไปหมด ตั้งแต่หัวถนนถึงท้ายถนน นี่แหละครับ โควิดเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ไม่ต้องรอวันที่ 1 กรกฎาคม หรอกครับ 

ผู้คนติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ ทั้งที่ตรวจและไม่ได้ตรวจอยู่ทุกหัวระแหง เราไม่ได้อยู่ภาวะมีโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) แต่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นระดับสูงยิ่งยวด (hyper-endemic) ของเราด้วยซ้ำไป เมื่อคนจำนวนมากในชุมชนมีเชื้อเพ่นพล่านโดยไม่ได้ตรวจ และไม่ได้รายงาน เราท่านทั้งหลายที่อาจจะมีเชื้ออยู่ก็ไม่ผิดศีลธรรมหรอกครับที่ไม่ตรวจเพราะไม่มีอาการ 

ขอพูดทีเล่นที่จริงว่า “ไม่ตรวจ ไม่ติด” เมื่อมีอาการแล้วค่อยมาว่ากัน ยุทธศาสตร์นี้จะพอรับได้ไหมครับ

ตอนท้ายนี้ ขออนุญาตให้มุมมองดีๆ สักนิด คือ การระบาดของโควิดมาถึงจุดนี้ ช่วยให้เราได้พักผ่อนสักหน่อย ตอนนี้ มนุษย์เงินเดือนทั้งหมอและคนธรรมดาที่ติดเชื้อจะได้หยุดงานอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งก็ไม่นานมากถึง 14 วันแบบแต่ก่อนซึ่งน่าเบื่อ ต่อไปโควิดอาการน้อยลง เขาอาจจะไม่ให้หยุดงานก็เป็นได้นะครับ

ในชุมชน คนที่แพร่เชื้อโควิดโดยไม่มีอาการเป็นเวลานานๆ มีน้อยมาก ไม่เหมือนเอดส์หรือวัณโรค ซึ่งแพร่เชื้อได้หลายปี โควิดระบาดหนักๆ คนติดเชื้อกันไปหมด อีกไม่นาน (เผลอๆ อาจจะก่อนสงกรานต์ด้วยซ้ำไป) โควิดเองก็จะต้องได้พักผ่อน เพราะติดคนไปจนเกือบหมดแล้ว อาจจะไม่รู้จะไปติดใครดี หลังสงกรานต์ไปแล้วเราจะมีคนที่ฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิดจำนวนมากอยู่ในชุมชนของเราพร้อมที่จะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อดทนกันหน่อยนะครับ ทั้งผู้ป่วย คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอดจน อสม. โอมิครอนกำลังขมักเขม้นเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ให้เราอยู่ อีกไม่นานกองกำลังโควิดชุดที่ยึดพื้นที่อยู่นี้สู้ภูมิคุ้มกันหมู่ของเราไม่ไหว ถึงเวลานั้นโควิดรุ่นนี้ก็จะต้องถอนออกไปจากพื้นที่ของเราไปเองครับ

 

ที่มา: Facebook Viroj NaRanong

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net