Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อ่านบทสัมภาษณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตยแบบพรรคกล้า” (ดู https://prachatai.com/journal/2022/03/97957) ของอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้าแล้วมี “ประเด็นสำคัญ” บางอย่างที่น่าวิจารณ์ เช่นที่อรรถวิชช์ยืนยันว่า

“เสรีนิยมสำหรับผม ผมพูดกับคนในพรรคกล้าหลายคนว่า ผมไม่คิดว่าคนเท่ากันโดยธรรมชาติ แต่สิ่งที่ต้องทำให้เท่ากันคือโอกาส ต้องมีความเท่าเทียม ถ้าคุณเชื่อว่าคนเท่ากันเมื่อไหร่ ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที เฮ้ย ทำไมศาลตัดสินเราได้ ศาลเป็นใคร ทำไมมาตัดสินเราเข้าคุกได้ ทหาร ตำรวจ ทำไมมันถือปืนได้ ถ้าคุณคิดว่าคนเท่ากันจริงๆ และไม่ได้ต่างกันด้วยหน้าที่ ผมเชื่อว่าคนต้องให้โอกาส ให้เกิดความเท่าเทียม เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์มีความแตกต่างกัน”

ผมคิดว่าอรรถวิชช์น่าจะเข้าใจความหมายของ “ความเป็นคนเท่ากัน” ตามแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ผิดหรือไม่ ข้อโต้แย้งข้างบนของเขาแสดงถึงความสับสนระหว่างข้ออ้างกับข้อสรุป เพราะเขาใช้ข้ออ้างเรื่อง “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับสถานะ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งเป็น “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม” มาสนับสนุนข้อสรุปว่า โดย “ธรรมชาติ” มนุษย์มีความแตกต่างกัน

ความสับสนดังกล่าว เกิดจากความเข้าใจผิดว่า “ความเป็นคนเท่ากัน” หมายถึง คนเราต้องเหมือนกันทุกอย่างในเชิงข้อเท็จจริงทางกายภาพ อย่างที่ชอบพูดกันว่า “นิ้วทั้งห้ายังไม่เท่ากันเลย คนจะเท่ากันได้อย่างไร” แสดงว่าอรรถวิชช์ (และคนที่คิดแบบเดียวกัน) คงเข้าใจว่าความเป็นคนเท่ากันหมายถึง “ทุกคนต้องเหมือนกันหมด” ทั้งหน้าตา เพศ สีผิว และ ฯลฯ 

แต่แนวคิด “ความเป็นคนเท่ากัน” แบบเสรีนิยมไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องเหมือนกันทางกายภาพ ความคิด ตำแหน่ง สถานภาพทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ เสรีนิยมยอมรับว่า “ความแตกต่าง” เหล่านั้นบรรดามีคือ “ข้อเท็จจริง” ตามธรมชาติ (เช่น หน้าตา สีผิว ฯลฯ) และตามการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม แต่มนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้น มี “ความเป็นคนเท่ากัน” ซึ่งความเป็นคนเท่ากันนี้คือ “คุณค่านามธรรม” ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน

พูดอีกอย่างคือ เสรีนิยมเชื่อในความเป็น “สากลนิยม” (universalism) ของ “คุณค่าเชิงนามธรรม”โดยถือว่า ความแตกต่างและหลากหลายของมนุษย์มาจากธรรมชาติสากลหนึ่งเดียวกัน เช่น จอห์น ล็อก (John Locke) เรียกธรรมชาติสากลนี้ว่า “สิทธิตามธรรมชาติ” (natural rights) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกันพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ มันจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่อำนาจใดๆ จะพรากไปไม่ได้ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เรียกว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (human dignity) ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน หรือจอห์น รอลส์ (John Rawls) เรียกว่า “ความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่เสรีและเสมอภาค” (free and equal rational being) ซึ่งความเป็นมนุษย์อันเป็น “คุณค่านามธรรม” ดังกล่าวนี้ ทุกคนไม่ว่าจะแตกต่างกันทางเพศ ชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา และวัฒนธรรมใดๆ ก็ตาม ต่างมีความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้เท่าเทียมกัน ความเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีร่วมกันอย่างสากลนี่เอง คือรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ดังนั้น แนวคิด “ความเป็นคนเท่ากัน” จึงไม่ใช่แนวคิดที่อ้างข้อเท็จจริงทางกายภาพมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน แต่เป็นแนวคิดที่พูดถึงคุณค่านามธรรมของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน การโต้แย้งที่อ้างข้อเท็จจริงทางกายภาพ เช่นว่า “นิ้วทั้งห้ายังไม่เท่ากัน คนจะเท่ากันได้อย่างไร” จึงเป็นการโต้แย้งผิดประเด็น อันเกิดจากความเข้าใจผิดๆ (fallacy) หรือ “ตรรกะวิบัติ” ที่พบบ่อยมากในบ้านเรา

นักปรัชญาเสรีนิยมต่างยืนยันในความแตกต่างของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยัน “ความเป็นคนเท่ากัน” ของทุกคนด้วยเสมอ เช่น จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ยืนยันว่าถ้ามีคนเพียง 1 คน คิดต่างจากคนทั้งหมด เขาต้องมีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นนั้นเท่าเทียมกับทุกคนที่เหลือ เพราะอะไร ก็เพราะทุกคนคือปัจเจกบุคคลผู้เป็น “องค์อธิปัตย์” (sovereignty) ที่เป็นอิสระและมีสิทธิเหนือชีวิตจิตใจและร่างกายของตนเอง ดังนั้น ความเป็นองค์อธิปัตย์ในความหมายนี้ ก็คือความเป็นคนเท่ากันของเราทุกคน แม้ว่าเราจะมีลักษณะทางกายภาพ ความคิด จิตใจ และอื่นๆ ต่างกันมากเพียงใดก็ตาม 

พูดให้ชัดคือ แนวคิด “ความเป็นคนเท่ากัน” คือแนวคิดเกี่ยวกับ “ความเสมอภาค” (equality) ในความเป็นคน เช่น ความเป็นคนที่มีสิทธิตามธรรมชาติเท่าเทียมกัน, ความเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน, ความเป็นคนในฐานะเป็นสัตผู้มีเหตุผลที่เสรีและเสมอภาค, ความเป็นคนในฐานะที่ทุกคนเป็นองค์อธิปัตย์ผู้เป็นอิสระและมีสิทธิเหนือชีวิตจิตใจและร่างกายของตนเองเท่าเทียมกัน เป็นต้น ความคิดพื้นฐานที่ยืนยัน “ความเป็นคนเท่ากัน” ดังกล่าวนี้ คือรากฐานของการออกแบบระบบการปกครองและการบัญญัติกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโอกาสด้านต่างๆ เท่าเทียมกัน 

ข้อโต้แย้งผิดๆ อีกประการของอรรถวิชช์ คือ 

“สำหรับนโยบายไม่ว่าจะเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องให้คนเท่ากันไหม ไม่เท่า เช่น คุณต้องแจกเท่าเทียมกันไหม ไม่เท่า สิทธิของคุณจะได้เท่ากันหมดทุกอย่างไหม ไม่เท่า บางคนตัวสูงอยู่แล้วควรจะให้ลังเตี้ยเขา คนไหนที่ตัวเตี้ยก็ต้องให้ลังสูงหน่อย อันนี้คือวิธีคิดที่เราอยากให้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมเพราะเราเชื่อว่าคนมีความหลากหลาย ฟังให้ดี สำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยคุณจะเชื่อว่าคนมีความหลากหลาย คุณจะเชื่อว่าคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียม ผมไม่เชื่อแค่จะบอกว่าคนต้องเท่าเทียม เพราะอันนั้นมันเป็นวิธีคิดแบบแบ่งแยก”

เข้าใจว่าอรรถวิชช์คงจะหมายถึงภาพข้างล่างนี้


https://pantip.com/topic/33504989

ภาพนี้ถูกนำมาอธิบายว่า ความเสมอภาคไม่เกี่ยวกับความยุติธรรม (ภาพซ้าย) ส่วนความยุติธรรมคือการปฏิบัติบนความแตกต่าง (ภาพขวา) อรรถวิชช์คงเชื่อคำอธิบายตามภาพนี้ เขาจึงกล่าวว่า “บางคนตัวสูงอยู่แล้วควรจะให้ลังเตี้ยเขา คนไหนที่ตัวเตี้ยก็ต้องให้ลังสูงหน่อย” แต่ที่จริงเป็นความเข้าใจผิดเรื่องความเสมอภาคครับ

ถ้าจะอธิบายให้ถูกหลักความเสมอภาคตามแนวคิด “คนเท่ากัน” แบบเสรีนิยม ต้องใช้ “ภาพขวา” มาอธิบายว่า “ทั้งสามคนแม้เขาจะแตกต่างกันทางกายภาพ แต่เขามีความเป็นคนเท่ากัน ดังนั้น เขาจึงควรได้รับสิทธิในโอกาสการดูกีฬาเท่าเทียมกัน” (สมมติว่าภาพนี้ไม่ใช่การโกง) นี่คือเหตุผลว่า ทำไมตามหลักความเสมอภาคในเรื่องสิทธิและโอกาสต่างๆ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย จึงมี “วิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันแก่ปัจเจกบุคคลที่มีสารัตถะต่างกัน” ให้ได้รับ “สิทธิในโอกาสด้านต่างๆ เท่าเทียมกัน” เช่น ต้องให้อุปกรณ์แก่คนตัวสูง เตี้ยต่างกันเพื่อให้ได้สิทธิในการดูกีฬาเท่าเทียมกัน หรือต้องจัดแยกห้องน้ำชาย-หญิง, คนพิการต่างกันเพื่อให้ได้รับสิทธิในการใช้ห้องน้ำเท่าเทียมกัน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะ แม้คนเหล่านั้นจะแตกต่างกันในด้านต่างๆ แต่ทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน จึงต้องมีการจัดเตรียมสิทธิและโอกาสด้านต่างๆ เท่าเทียมกันแก่ทุกคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะไม่เชื่อในความเป็นคนเท่ากัน อรรถวิชช์จึงเห็นว่า “ไม่ควรยกเลิก 112” โดยเขาให้คำตอบว่า ต้องสร้างกลไกที่จะทำให้มาตรา 112 ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เขาอธิบายว่าตัวบทมาตรา 112 ไม่ผิด เพียงแต่มีฐานความผิดกว้าง ดังนั้น จึงต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีภายใต้กำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ที่จริงแล้ว ตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 และการบังคับใช้กฎหมายนี้ ขัดกับแนวคิด “เสรีภาพในการพูด” และการแสดงออกของเสรีนิยมโดยสิ้นเชิง เพราะสำหรับเสรีนิยมการใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกในเรื่องใดๆ จะ “ผิดกฎหมาย” ก็ต่อเมื่อก่อให้เกิด “อันตราย” ต่อคนอื่น ที่ตรวจสอบได้อย่างเป็นภาววิสัยเท่านั้น เช่น ทำให้เสียทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือหมิ่นประมาทที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อชื่อเสียง รายได้ลดลง หรือถูกใช้วาจาสร้างความเกลียดชังจนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ เป็นต้น ซึ่งโดยมากแล้ว “ผู้ถูกกระทำ” มักจะเป็นผู้ที่อ่อนแอกว่า หรืออยู่ในสถานะคนธรรมดาสามัญ แต่ผู้มีอำนาจรัฐหรือชนชั้นปกครองที่มีบทบาทหน้าที่ซึ่งส่งผลกระทบด้านบวกและลบต่อส่วนรวม ย่อมไม่อาจถูกทำอันตรายได้จริงจากคำวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสี หรือด่าทอของประชาชน เพราะโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนกระทำเช่นนั้น ก็เพื่อตรวจสอบบทบาทหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจรัฐและภาษีประชาชนเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก 

ดังนั้น มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูง ตั้งแต่ 3-15 ปี จึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนฐานคิด “ความเป็นคนไม่เท่ากัน” ทำให้ทั้งลักษณะความผิด, บทลงโทษ และการบังคับใช้กฎหมายนี้ขัดหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก สิทธิตามธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชนสากล พูดชัดๆ คือขัดหลักความเป็นคนเท่ากัน และหลักการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อตามแนวคิดเสรีนิยมชัดเจน 

ข้อเสนอของอรรถวิชช์เรื่องการมีคณะกรรมการกลั่นกรองคดี เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  

“ถ้ายกเลิกตอนนี้นะ เละ เพราะฝ่ายที่พูดถึงกษัตริย์แบบเสียหายมันเกิดขึ้นเยอะ แล้วฝ่ายปกป้องสถาบันก็มีเยอะ เชื่อไหมว่าคดี 112 เกินกว่าครึ่งเกิดจากการร้องทุกข์กล่าวโทษของราษฎรเอง อย่างนี้คือข้อเท็จจริงที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ลองไปหาดูเอง จะเห็นว่ามาตรานี้ ทำให้คนไม่ชนกัน ฉะนั้น 112 ต้องคงไว้ แต่มีคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วให้เป็นดุลยพินิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นเจ้าพนักงานสอบสวน ความเป็นปฏิบัตินิยมก็พูดแบบนี้ คนไหนเข้าใจก็เข้าใจ คนไหนไม่เข้าใจก็ด่าเรื่อยไป”

ที่ว่า “จะเห็นว่ามาตรานี้ ทำให้คนไม่ชนกัน” ที่จริงแล้ว เพราะมีมาตรา 112 ต่างหากที่เป็นเงื่อนไขให้ “คนไทยชนกันเอง” เหมือนที่มิลล์บอกว่า “ระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์คือเงื่อนไขให้ประชาชนตีกันเอง” เพราะถ้าไม่มี 112 ก็ไม่มีเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทุกคนทุกฝ่ายที่เห็นต่างย่อมมี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) ในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีใครหรือฝ่ายใดใช้กฎหมายที่ขัดหลักเสรีภาพเล่นงานคนที่คิดต่าง 

ข้อเสนอของอรรถวิชช์จึง “ย้อนแย้ง” เพราะขณะที่ยืนยันว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยแบบพรรคกล้า” ยอมรับความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดเห็น กลับยืนยันว่าต้องคงกฎหมายที่ขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างและหลายหลายเอาไว้ มันเหมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆ ไปเลยผิดหมด

จะว่าไป แนวคิดเสรีนิยมไม่ได้ถือกำเนิดร่วมกับประชาธิปไตยแต่แรก แต่ปัจจุบันยอมรับกันว่าสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์สนับสนุนกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แนวคิดเสรีนิยมแบบรอลส์ เริ่มจากติดกระดุมเม็ดแรกว่า “ทุกคนเป็นคนเท่ากัน” ในฐานะที่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่เสรีและเสมอภาค ดังนั้น รัฐจะเลือกปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุแห่ง “ความแตกต่าง” ทางเพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดความเชื่อ และ ฯลฯ ไม่ได้ 

และจากการที่เราทุกคนมีความเป็นคนเท่ากัน ในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่เสรีและเสมอภาค เราจึงเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) ที่ต้องมีเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองเท่าเทียมกัน และต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมในความก้าวหน้าด้านต่างๆ และได้รับการประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกัน

ดังนั้น เสรีนิยมแบบพรรคกล้า จึงห่างไกลลิบลับกับเสรีนิยมประชาธิปไตยตามแนวคิดของนักปรัชญาเสรีนิยม และตามที่เป็นอยู่จริงในโลกตะวันตก   

 
 

ที่มาภาพ: https://www.khaosod.co.th/politics/news_6805787

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net