Skip to main content
sharethis

Rocket Media Lab เปิดข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่การเริ่มปลูกต้นไม้ของ กทม. สำรวจประเภทโครงการที่เกี่ยวข้อง ข้อค้นพบกรุงเทพฯในฐานะ ‘มหานครสีเขียวของต้นชาฮกเกี้ยน’ และข้อเสนอต้นไม้ที่ควรปลูก  

  • การปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้นลงดินในกรุงเทพฯ ส่วนมากมาจากโครงการยุทธศาสตร์ของผู้ว่าฯ แต่ละยุค และจากการใช้งบฯ รายเขตทั้ง 50 เขตใน กทม.
  • งบฯ ส่วนใหญ่จากแผนพัฒนาสภาวะสิ่งแวดล้อม สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ใช้ไปกับเพื่อการดูแลบำรุงรักษาและการรักษาความปลอดภัยในสวนสาธารณะ โดยเป็นการจ้างเอกชนทำงาน 
  • แต่หากดูการใช้งบฯ แผนพัฒนาสภาวะสิ่งแวดล้อมในส่วนที่ใช้นอกพื้นที่สวนสาธารณะ จะพบว่า ส่วนมากใช้ไปกับการทำให้กรุงเทพฯ ดูสวยด้วยการ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอกไม้ประดับไม้ล้มลุก 
  • ขณะที่โครงการปลูกต้นไม้ถาวรมักใช้ตัวเลขรวมๆ โฆษณาให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้เยอะ แต่ที่จริงแล้วส่วนมากไม่ใช่ไม้ใหญ่ยืนต้น
  • ต้นไม้ที่ปลูกมาก ทั้งในโครงการยุทธศาสตร์และโครงการในระดับเขต คือ ‘ชาฮกเกี้ยน’ ซึ่งเป็นไม้ประดับทรงพุ่มตัดแต่งที่เรามักเห็นเป็นแนวรั้วตามเกาะกลางถนนหรือฟุตบาท

เคยสงสัยไหมว่า ต้นไม้ที่เราเห็นอยู่ริมทางในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นตะแบก ตาเบบูญ่าสีชมพู (ชมพูพันธุ์ทิพย์) ตาเบบูญ่าสีเหลือง (เหลืองปรีดียาธร) ตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) มะฮอกกานี ฯลฯ มีตั้งแต่เมื่อไร แล้วกรุงเทพฯ ปลูกต้นอะไรบ้าง ต้นไหนปลูกเยอะ ทำไมปลูกต้นนั้น ไม่ปลูกต้นนี้ ทำไมตัดต้นไม้บนทางเท้าจนเหี้ยน ทำไมไม่ปลูกเพิ่มให้เขียวร่มรื่น แล้วถ้าจะปลูกเพิ่ม ควรปลูกต้นอะไรดี Rocket Media Lab ชวนทุกคนไปสำรวจต้นไม้ในกรุงเทพฯ ในหลากหลายแง่มุม

เมื่อกรุงเทพฯ เริ่มปลูกต้นไม้

ในอดีต บริเวณที่จะกลายมาเป็นกรุงเทพมหานคร อุดมและร่มรื่นไปด้วยต้นไม้หลากชนิด แต่เมื่อมีการตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ก็เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้เกิดการตัดต้นไม้เพื่อใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ใช้สร้างที่อยู่อาศัยไปจนถึงเพื่อเปิดทางตัดถนน ทำให้ปริมาณต้นไม้ลดลงไปอย่างมาก

ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลกรุงเทพฯ เองก็พยายามจะแก้ปัญหาการลดลงของต้นไม้นี้ เช่นในแผนมหาดไทยปี 2517-2519 มีแนวนโยบายให้กรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้ปีละ 8,000 ต้น แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเกิดน้ำท่วม และนายศิริ สันตะบุตร ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น มีเวลาทำงานในฐานะผู้ว่าฯ เพียง 9 เดือน

การปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ (นอกพื้นที่สวนสาธารณะ) เพิ่งจะมีความจริงจังในช่วงหลังมีแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 โดยเฉพาะในช่วงที่ เชาวน์วัศ สุดลาภา เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ในปี 2522 ได้มีนโยบายปลูกต้นไม้ตามถนน ตรอก ซอกซอย และพื้นที่ว่าง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็น “นครสีเขียว” รับวันฉลอง 200 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2525 โดยได้ต้นแบบมาจากการดูงานที่ประเทศจีน ทั้งการปลูกซ่อมแซมต้นที่ชํารุด ปลูกแทนต้นที่แคระแกร็น และปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่มเติมบนเกาะกลางถนน

นอกจากนั้น เชาวน์วัศยังได้นำเงินงบประมาณของ กทม. จํานวน 900,000 บาท ซื้อต้นตาเบบูญ่า 100,000 ต้น จากประเทศสิงคโปร์ มาเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมพูพันธุ์ทิพย์” ปลูกตามริมถนนในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการปลูกไม้ยืนต้นพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย และยังให้ปลูกไม้เลื้อยที่ทนต่อมลพิษของกรุงเทพฯ ได้ เช่น การเวก สายหยุด เล็บมือนาง บานบุรี เฟื่องฟ้า พุทธชาด หรือพวงคราม เพื่อให้เกิดความสวยงามร่มรื่นในบริเวณที่พักผู้โดยสารรถเมล์ในบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง

ไม่เพียงแค่เชาวน์วัศเท่านั้น ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ตามริมฟุตบาทหรือเกาะกลางถนน ที่เราเห็นในปัจจุบัน ยังมาจากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนต่อๆ มา อย่างในยุคของพลเรือเอก เทียม มกรานนท์ ก็มีการปลูกต้นไม้เพื่อลดมลพิษทางอากาศและทางเสียง โดยเป็นไม้ยืนต้น 7,768 ต้น ไม้ดอก 20,780 ต้น และไม้ประดับ 64,733 ต้น หรือในยุคของพิจิตต รัตตกุล ก็มีโครงการปลูก ‘ต้นไม้ใหญ่’ 400,000 ต้น บนฟุตบาท เกาะกลางถนน และที่ว่างริมถนน ซึ่งรวมถึงต้นปาล์ม 1,600 ต้น ริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม ระยะทาง 18.6 กม.

ในยุคของอภิรักษ์ โกษะโยธิน มีทั้ง “โครงการ 60 ถนนสีเขียว เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” โดยปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกันบนถนนสายเดียวกันตลอดทั้งสาย เช่น ต้นนนทรีที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ต้นเสลาที่ถนนพระราม 3 ต้นพญาสัตบรรณที่ถนนเกษตร-นวมินทร์ ต้นตะแบกที่ถนนรัชดาภิเษก รวมถึงการแจกกล้าไม้ 1 ล้านต้น ให้ประชาชนช่วยกันปลูกเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียวตามโครงการ Bangkok Green City ภายใต้โครงการ 10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด และยังมีการประดับตกแต่งเมือง สถานที่ ถนนสายสำคัญ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ด้วยต้นไม้จำนวน 2,700,000 ต้น เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาราชินี ในปี 2548 อีกด้วย แต่ในกิจกรรมส่วนหลังนี้โดยมากเป็นไม้ดอกไม้ประดับเสียมากกว่า ในยุคของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ ก็มีโครงการ “ปลูกต้นไม้...เพื่อแม่ของแผ่นดิน” จำนวน 2,550 ต้น บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตบางแค—ทวีวัฒนา โดยเป็นไม้ยืนต้น คือ ต้นหูกระจง 880 ต้น และต้นมะฮอกกานี 1,670 ต้น และโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์ 1,888 ต้น ถวายในโอกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวามหาราช ณ บริเวณถนนราษฎร์อุทิศ-เลียบวารี เขตมีนบุรี-หนองจอก เป็นระยะทาง 14.2 กิโลเมตร

การปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ มาจากโครงการประเภทไหนบ้าง

ปัจจุบันเรายังได้เห็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตาเบบูญ่า การเวก หรือสายหยุด จากยุคเชาวน์วัศ สุดลาภา ไปจนถึงพญาสัตบรรณหรือตะแบกจากยุคอภิรักษ์ โกษะโยธิน แต่ใช่ว่าการปลูกต้นไม้ (โดยเฉพาะนอกเขตพื้นที่สวนสาธารณะ) จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น โดยเฉพาะเมื่อกรุงเทพฯ มีแนวนโยบายการพัฒนาไปสู่การเป็น ‘มหานครอาเซียน’ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี อันเริ่มมาจากยุคของผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

หนึ่งในแนวทางนั้นคือการเป็น ‘มหานครสีเขียว’ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อสัดส่วนประชากรให้ได้ 9 ตร.ม./คน (ณ ช่วงเวลานั้นสัดส่วนอยู่ที่ 6.9 ตร.ม./คน) และประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะ 400-800 เมตรให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% (ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ที่ 13%) โดยนอกจากการสร้างสวนสาธารณะเพิ่ม ยังรวมถึงการปลูกต้นไม้ในเกาะกลางถนน ฟุตบาท และพื้นที่ว่างต่างๆ

หากพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ของกรุงเทพฯ จะพบว่าแยกได้เป็น 3 รูปแบบคือ 

1) โครงการยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการซื้อต้นตาเบบูญ่า 100,000 ต้น จากสิงคโปร์มาปลูกในสมัยเชาวน์วัศ สุดลาภา หรือ ‘โครงการถนนต้นไม้สายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้ 9 สายหลัก’ ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน

2) โครงการตามงบประมาณของสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี มีทุกปี 

3) โครงการตามงบประมาณรายปีของสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต

เมื่อพิจารณาเฉพาะโครงการประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปีที่มีทุกปี สามารถแบ่งตามการใช้งบฯ ได้อีก 3 รูปแบบย่อยคือ 

2.1) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวนสาธารณะโดยตรง 

2.2) ส่วนนอกสวนสาธารณะ 

2.3) ส่วนเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวนสาธารณะโดยตรง ซึ่งแบ่งย่อยอีกเป็น หนึ่ง การดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ในสวนสาธารณะ (ในส่วนที่สำนักสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ) สอง การรักษาความปลอดภัยในสวนสาธารณะ และสาม การซ่อมบำรุงสาธารณูปโภคในสวนสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ไฟ สะพาน ฯลฯ เกือบทั้งหมดนี้เป็นการจ้างเหมาบริษัทเอกชน และเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของสำนักสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งซึ่งอยู่ภายนอกสวนสาธารณะนั้นพบว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้งบฯ ซื้อไม้ดอกล้มลุก ไม้ประดับ ไม้กระถาง เพื่อตกแต่งเมือง (ปรับภูมิทัศน์) ในโอกาสพิเศษประจำปี เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระบรมราชินี วันฉัตรมงคล หรือในงบฯ ปี 2562 และ 2563 ก็มีงบฯ ตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอกไม้ประดับในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากนั้นก็จะเป็นการใช้งบฯ ซื้อต้นไม้ ไม้ดอกล้มลุก ไม้ประดับ ไม้กระถาง ตกแต่งในสถานที่เฉพาะเจาะจง เช่น คลองผดุงกรุงเกษม, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, เรือนประทับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี, พื้นที่เขตพระราชฐานในพระองค์ 904 (วิภาวดี), และพระตำหนักไม้วังศุโขทัย

และที่เหลือคือส่วนเบ็ดเตล็ด อันได้แก่การจัดซื้ออุปกรณ์ เช่น เครื่องตัดหญ้า รถบรรทุก และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น จัดพิมพ์หนังสือต้นไม้ในกรุงเทพฯ ตัดเย็บชุดแต่งกายของเจ้าหน้าที่สวนสาธารณะ ฯลฯ

ในส่วนโครงการตามงบประมาณรายปีของสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขตนั้น ก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยมีทั้งการปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้น หรือไม้ประดับ ไ้ม้ล้มลุกต่างๆ ในขณะที่พื้นที่ในการปลูกหรือประดับตกแต่งนั้นก็มีทั้งในสวนสาธารระและนอกสวนสาธารณะแตกต่างกันไปในแต่ละปีขึ้นอยู่กับเขตเป็นผู้กำหนด 

ทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นได้ว่างบประมาณส่วนที่สำคัญที่ทำให้เห็นถึงการปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้นลงดินในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนอกพื้นที่สวนสาธารณะนั้นมักอยู่ที่โครงการประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม คือโครงการยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ และโครงการตามงบประมาณประจำปีของสำนักงานเขตแต่ละเขตมากกว่า

กรุงเทพฯ ‘มหานครสีเขียวของต้นชาฮกเกี้ยน’

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายใต้การทำงานของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง จะพบว่ามีโครงการขนาดใหญ่เพื่อปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ กว่า 1 ล้านต้น ภายใต้ชื่อโครงการ ‘โครงการถนนต้นไม้สายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้ 9 สายหลัก’ ในช่วงปี 2560-2562 โดยจะมีการปลูกต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ ตามถนนสายหลักในกรุงเทพฯ 9 สายด้วยกันคือ สุขุมวิท, ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า, วิภาวดีรังสิต, เลียบคลองมดตะนอย, ศรีอยุธยา, รัชดาภิเษก, บรมราชชนนี, มิตรไมตรี และหทัยราษฎร์ ซึ่งใช้งบฯ ใน 5 เส้นทาง 24,904,120 บาท ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า งบฯ 2,297,290 บาท ถนนหทัยราษฎร์ 5,118,185 บาท ในส่วนถนนสุขุมวิทและวิภาวดีรังสิต ไม่ปรากฏงบฯ

โดยกรุงเทพฯ ได้สรุปตัวเลขต้นไม้ที่ปลูกเมื่อจบโครงการแล้วไว้ที่จำนวน 1,025,943 ต้น แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการจะพบว่า ‘ต้นไม้’ ที่ปลูกมากที่สุดกว่า 3 แสนต้น ในโครงการนี้ก็คือ ‘ต้นชาฮกเกี้ยน’ โดยปลูกที่ถนนศรีอยุธยา 3,000 ต้น ถนนรัชดาภิเษก 250,350 ต้น ถนนหทัยราษฎร์ 100,500 ต้น และต้นชาฮกเกี้ยนที่ถนนวิภาวดีรังสิตที่ไม่ปรากฏจำนวนที่แน่ชัด (จำนวนรวมกับไทรอังกฤษและเพื่องฟ้าคือ 163,199 ต้น) รวมไปถึงชาฮกเกี้ยนพุ่มกลมอีกจำนวนเล็กน้อยที่ถนนมิตรไมตรี (จำนวนรวมกับกัลปพฤกษ์ ไทรเกาหลี และนีออนพุ่มกลม รวม 160 ต้น) รองลงมาคือไม้ประดับตระกูลไทร ไม่ว่าจะเป็นไทรอังกฤษ ไทรเกาหลี ไทรยอดทอง กว่า 200,000 ต้น และเฟื่องฟ้ากว่า 50,000 ต้น

ชาฮกเกี้ยน หรือชาดัด ชาดัดใบมัน หรือต้นข่อยจีน เป็นไม้ทรงพุ่มที่แตกยอดและโตเร็ว มักปลูกเพื่อตัดแต่งเป็นแนวรั้วหรือทางเดิน พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ทั้งที่ปลูกและตัดแต่งเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมล้อมต้นไม้ใหญ่ริมฟุตบาท ปลูกเป็นแนวรั้วบนเกาะกลางถนนหรือบนฟุตบาท เป็นที่นิยมเนื่องด้วยทนแล้งและดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญราคาถูก (ราคาต่อหน่วย ถุง 3 นิ้ว สูงไม่ต่ำกว่า 30 ซม. อยู่ที่ต้นละ 6 บาท ตามราคากลางของกรุงเทพฯ)

ในขณะที่ในงบฯ ปี 2564 ก็มีโครงการขนาดใหญ่อย่าง “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เกาะกลางถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนเพชรเกษมตามแนวไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย)” ซึ่งใช้งบฯ สูงถึง 33,650,016 บาท 

ไม่เพียงแค่โครงการขนาดใหญ่อย่าง ‘โครงการถนนต้นไม้สายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้ 9 สายหลัก’ ที่ ‘ต้นไม้’ ส่วนใหญ่คือต้นชาฮกเกี้ยน ในโครงการการปลูกต้นไม้ (นอกพื้นที่สวนสาธารณะ) ระดับเขตนั้น ก็พบว่าต้นชาฮกเกี้ยนเป็นต้นไม้ยอดนิยมอันดับหนึ่งที่หลายเขตเลือกปลูกเช่นเดียวกัน โครงการการปลูกต้นไม้ระดับเขตนั้นจะใช้ชื่อว่า "โครงการบำรุงรักษาปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียว" และอยู่ภายใต้ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของแต่ละเขต โดยแต่ละเขตจะได้รับงบฯ ในแต่ละปีไม่เท่ากัน และในแต่ละปีจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่แตกต่างกันไป ทั้งในและนอกสวนสาธารณะ

เช่น ในปี 2564 เขตคลองเตย ซึ่งได้รับงบฯ 1,700,000 บาท ซื้อต้นชาฮกเกี้ยนมาปลูกมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 12,000 ต้น รองลงมาคือเข็มพิษณุโลก 10,000 ต้น และไทรเกาหลี 3,000 ต้น แต่ถึงอย่างนั้น ในจำนวนนี้ก็ยังมีไม้ยืนต้นอย่างพิกุล 50 ต้น มะฮอกกานี 35 ต้น หรือเขตวังทองหลางที่ระบุพื้นที่คือริมคลองเจ้าคุณสิงห์ ถ.ศรีวรา และสวนริมทางเท้าซอยรามคำแหง 39 ได้รับงบฯ 500,000 บาท ก็ปลูกต้นชาฮกเกี้ยนมากที่สุด 10,620 ต้น รองลงมาคือเฟื่องฟ้า 700 ต้น และมีไม้ยืนต้นอย่างประดู่กิ่งอ่อนและราชพฤกษ์อย่างละ 50 ต้น

หรือหากย้อนไปดูในปี 2562 จะพบข้อมูลอย่างเขตประเวศ ซึ่งได้รับงบฯ 2,100,000 บาท จัดซื้อต้นชาฮกเกี้ยนมากที่สุด 72,000 ต้น ปลูกบริเวณวงเวียนถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 30 หรือในปี 2560 เขตสายไหมได้รับงบฯ 506,300 บาท จัดซื้อต้นชาฮกเกี้ยนมากที่สุดเช่นเดียวกัน จำนวน 34,000 ต้น แม้แต่ในยุคของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็มีการปลูกชาฮกเกี้ยนเป็นไม้ประดับ อย่างในโครงการ  “ปลูกต้นไม้...เพื่อแม่ของแผ่นดิน” ก็มีการปลูกต้นชาฮกเกี้ยน ต้นไทรยอดทอง ต้นคริสตินา จำนวน 134,100 ต้น จะเห็นได้ว่าต้นชาฮกเกี้ยน ต้นไทรพันธุ์ต่างๆ และเฟื่องฟ้า นั้นเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกในกรุงเทพฯ มาเกือบทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมีทั้งแบบที่ปลูกลงดินถาวร อย่างเช่นที่เห็นเป็นไม้ทรงพุ่มบนฟุตบาท หรือแบบการประดับตกแต่งเมือง ซึ่งจะซื้อเป็นต้นเล็กๆ ขนาด 3 นิ้ว ในถุงดำเพื่อนำไปประดับตกแต่งในสถานที่ต่างๆ 

นอกจากนี้ตั้งแต่การขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กรุงเทพฯ ก็มีการปลูก ‘ต้นรวงผึ้ง’ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 มากขึ้น เช่นในเขตราชเทวีมีโครงการ ‘กิจกรรมปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติ’ หรือเขตสาทร ที่มีการปลูกบนเกาะกลางถนนเจริญราษฎร์ หรือเขตหนองแขมที่ปลูกทั้งในสวนสาธารณะและบริเวณไหล่ทางถนน ซึ่งจะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้เห็นต้นรวงผึ้งมากขึ้น แต่อย่างนั้นก็ยังมีการปลูกน้อยอยู่ เนื่องด้วยราคากลางของต้นรวงผึ้งมีราคาสูง โดยต้นรวงผึ้งความสูงไม่ต่ำกว่า 2 เมตร มีราคากลางอยู่ที่ต้นละ 2,800 บาท

แล้วกรุงเทพฯ ควรปลูก ‘ต้นไม้’ อะไรดี 

จากข้อมูลทั้งหมด หากตัดงบประมาณที่ใช้เฉพาะในพื้นที่สวนสาธารณะออก จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ ใช้งบประมาณไปกับการ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอกล้มลุก ไม้ประดับ ไม้กระถาง จำนวนมาก นอกจากไม้ประดับที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ในกรณีของไม้ดอก จะพบว่ามีทั้งการซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกและซื้อต้นที่ออกดอกแล้ว โดยไม้ดอกที่ใช้ในการตกแต่งเมืองมากที่สุดคือดอกบานชื่น (จำนวน 9 สายพันธุ์) มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ 360,000 เมล็ด รองลงมาคือดาวเรือง 320,000 เมล็ด และหัวปทุมมา (ดอกกระเจียว) 162,000 หัว 

หรือหากดูเฉพาะการประดับตกแต่งไม้ดอกเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวรมหาภูมิพล อดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรก็จะพบว่าใช้ดอกบานชื่นมากที่สุด 58,000 ต้น รองลงมาคือกล้วยไม้คละสี 28,000 ต้น และดอกดาวเรือง 25,000 ต้น ซึ่งก็จะคล้ายกันในวันสำคัญอื่นๆ เช่น วันสงกรานต์ ที่มีทั้งบานชื่น ดาวเรือง สร้อยไก่ แพงพวย ฯลฯ

ในทางหนึ่ง เราพอเข้าใจได้ว่า การใช้ไม้ประดับและไม้ดอกจำนวนมากนั้น ก็เพื่อสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็นำมาซึ่งคำถามว่าหากกรุงเทพฯ จะปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ยืนต้นนั้น ด้วยลักษณะของพื้นที่ทางเท้าและเกาะกลางถนนที่เรามี สภาพอากาศ มลพิษ ฝุ่นควัน ฯลฯ กรุงเทพฯ สามารถปลูกต้นไม้อะไรได้บ้าง ที่จะเหมาะสมกับงบประมาณที่มี พร้อมทั้งมีความยั่งยืน 

รายงาน ‘มาตรการในการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอยางยั่งยืน’ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลการพิจารณาพรรณไม้เพื่อปลูกริมถนนและที่ว่างระหว่างอาคาร เพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน เอาไว้ว่า

“ควรเลือกพรรณไม้ที่ทนต่อมลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง ทนต่อความร้อน ทนต่อความแล้ง ไม่ผลัดใบ ไม่สูงเกินไป ทรงพุ่ม สวยงามไม่แผ่กว้างมาก กิ่งก้านเหนียวไม่เปราะหักง่าย ใบเล็กฝอยไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป ไม่มีผลขนาดใหญ่ซึ่งจะหล่นก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัญจร และมีระบบรากลึกไม่ทำลายพื้นผิวจราจร หากมีพื้นที่แคบควรเลือกพรรณไม้ที่มีขนาดเล็ก แต่หากมีพื้นที่กว้างควรเลือกพรรณไม้ที่มีเรือนยอดกว้างเพื่อให้เกิดร่มเงา ได้แก่ กระทิง ขี้เหล็ก ขี้เหล็กอเมริกา แคแสด ตะแบก นนทรี ประดู่ ปีบ พะยอม พิกุล มะขาม มะฮอกกานี เสลา สะเดา สารภี อินทนิลน้ำ และอินทนิลบก”

ซึ่งจะเห็นว่าในกรุงเทพฯ เองก็มีอยู่ด้วยกันหลายพันธุ์ ทั้งตะแบก นนทรี ปีบ พิกุล มะขาม มะฮอกกานี เสลา ฯลฯ

นอกจากนั้น Rocket Media Lab ยังได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องต้นไม้ในกรุงเทพฯ กับ ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า

“อย่างแรก เราต้องมองอย่างยุติธรรมว่ากรุงเทพฯ เองปลูกทั้งต้นไม้ใหญ่และไม้ประดับ รวมไปถึงการประดับด้วยไม้ดอก ซึ่งแต่ละอย่างก็มีพื้นที่ ฟังก์ชั่นและวาระโอกาสของมัน เราไม่ได้ทำสวนไม้ประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว ผมเองทำเรื่องต้นไม้ใหญ่ ไม่ได้ทำเรื่องไม้ประดับ แต่ในส่วนต้นชาฮกเกี้ยนผมมองว่า ชาฮกเกี้ยน มันเป็นต้นไม้เล็กๆ เอง คุณจะไปเทียบกับต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ ปลูกชาพันต้นอาจจะยังไม่ได้ฟังก์ชั่นเท่าต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นเลย ฉะนั้นเวลาเอาตัวเลขหนึ่งล้านมา พูดง่ายๆ มันเป็นการพีอาร์ เพราะถ้าเราปลูกไม้ใหญ่เป็นล้านๆ ต้นจริง กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่มากมายขนาดนั้นหรอก แต่มันก็เหมือนใจร้ายไปหน่อยที่มาหลอกคนกรุงเทพฯ ว่า ปลูกต้นไม้ได้เยอะขนาดนั้น

“ที่ผ่านมาเรามีคนที่ออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งในมุมมองของเขานี่ เขาจะมองในเรื่องของความสวยงาม ความรื่นรมย์ สีสัน รูปทรงธรรมชาติต่างๆ ปัญหาจริงๆ ของเรื่องงานออกแบบพื้นที่สีเขียวหรือการปลูกต้นไม้ มันขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้ออกแบบกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับต้นไม้ การเอาต้นไม้ไปปลูก นักออกแบบอยากได้ต้นแบบนี้ไปปลูกตรงนี้ แต่ไปปลูกจริงต้นไม้ไม่รอด เพราะมันไม่ใช่ต้นไม้ที่จะขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ เราไม่มีความเชื่อมโยงตรงนี้ คนปลูกปลูก คนออกแบบออกแบบ

“แต่ปัญหาเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ในมุมมองของผม ผมไม่ได้มองว่าจะต้องปลูกต้นอะไร ไม้ใหญ่หรือไม้ประดับ ผมมองว่าเราควรเอาเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ให้มันดีก่อน เพราะปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้คือต้นไม้ใหญ่มีปัญหาทุกต้น ต้นไม้ในกรุงเทพฯ เป็นต้นไม้ที่ไม่มีความสุขในการอยู่ในเมืองเลย รดน้ำวันละครั้ง ซึ่งมันไม่พอหรอกครับ แค่นี้มันไม่เรียกว่าดูแล เราไม่เคยดูแลต้นไม้ในกรุงเทพฯ กันจริงๆ

“หรือปัญหาการตัดแต่งต้นไม้ที่เราเห็นเป็นข่าวกันเป็นประจำที่ตัดจนเหี้ยนเตียน ก็จะเป็นการดูแลแบบถ้าดูแลแบบนี้อย่างมาดูแลเลย ยิ่งดูแลยิ่งแย่ เพราะมันเป็นการมองปัญหาคนละแบบ ผอ. เขตก็จะมองว่าปีๆ หนึ่งเขตโดนฟ้องไม่รู้กี่สิบคดี จากเรื่องกิ่งไม้หักมาโดนคนหรือทรัพย์สินของคน วิธีการแก้ปัญหาที่เขาคิดก็คือตัดมันออกสิมันก็จบ แต่มันคือทางเลือกสุดท้ายที่คุณจะทำ มันมีวิธีการอื่นอีกตั้งเยอะแยะ และไม่ใช่ว่าไม่มีองค์ความรู้นะครับ ผมไปสอนหลายรอบแล้ว

“ผมเคยถามพี่ชุดเขียวที่เขามาตัดต้นไม้ริมถนนว่า พี่ทำไมตัดต้นไม้แบบนี้ เรียนกับผมตั้งหลายรอบแล้ว เขาบอกอาจารย์รู้ไหม หัวหน้าเขาบอกทั้งเส้นนี่ให้ตัดแค่ครึ่งวันนะ ตัดต้นไม้ทั้งเส้นตัดครึ่งวัน มันจะสวย มันจะถูกตามหลักการได้ยังไงถูกไหมครับ เขาก็ต้องรีบฟันๆ ให้เสร็จ เพราะครึ่งวันหลังเขาต้องไปลอกท่อต่อ ไปตัดหญ้าต่อ ไปทำงานอย่างอื่นต่อ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ระดับพื้นที่ที่เขาทำงานหน้างานจริงๆ กับระดับบนคือไม่มีความเชื่อมโยงอะไรกัน เวลาผมไปเจอระดับบนๆ ทุกคนก็พูดว่าดีๆ พูดอะไรก็เข้าใจหมด แต่พอแยกจากกันก็ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นทุกอย่างเหมือนเดิม ปัญหาเขาจะวนลูปอย่างนี้”

ในประเด็นการแก้ปัญหาและการมองไปข้างหน้านั้น พรเทพมองว่า

“เรื่องพรรณไม้ ผมมองว่าการปลูกพิกุลเป็นไอเดียหนึ่งที่ไม่ได้เลวร้าย แล้วเป็นไอเดียที่ค่อนข้างดีด้วยซ้ำ เพราะพิกุลเป็นต้นไม้ที่มีขนาดพอเหมาะกับการจะอยู่กลางถนน หรือการปลูกพวกตะแบก อินทนิล ในแง่ดีก็คือมันเป็นต้นไม้ที่ทนมากกับทุกสภาวะ มันอยู่ได้ ไม่ต้องไปดูแล กิ่งก็ไม่หักง่ายนะครับ ต้นเมื่อโตเต็มที่ไม่ใหญ่จนเกินไปที่จะสร้างปัญหาให้เมือง อย่างเส้นบรมราชชนนีเราจะเห็นต้นพิกุลตลอดสายไปจนเกือบถึงนครปฐมเลย

“หากดูในแง่การปลูกต้นไม้กับโครงสร้างเมือง ผมคิดว่าสิงคโปร์มีสภาพอากาศที่คล้ายไทย ต้นไม้ที่มีก็มันเหมือนกันมาก ความเป็นเมืองก็มีความคล้ายคลึง สิงคโปร์ดีกว่าข้อเดียวตรงที่ไม่มีสายไฟฟ้าเท่านั้นเอง แต่ผมว่าสายไฟฟ้ากับต้นไม้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าคุณคิดจะจัดการมัน ทำได้อยู่แล้ว คำแนะนำของผมคือคุณทำตาม (สิงคโปร์) เขาเถอะ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ลอกเลย เขาทำอย่างไรคุณก็ทำอย่างนั้นแหละ”
 

ข้อมูลอ้างอิง :

  • สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
  • ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ รายเขต กรุงเทพมหานคร 
  • ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม อันเป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab
  • รายงาน ‘มาตรการในการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอยางยั่งยืน’ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หมายเหตุ : 

  • ดูข้อมูลพื้นฐานการใช้งบฯ ที่เกี่ยวกับต้นไม้ของสำนักสิ่งแวดล้อม ปี 2563-2564 ได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-bkk-tree/ 

สำหรับ Rocket Media Lab นั้น เป็นแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว อ่านผลงานที่ผ่านมาได้ที่ https://prachatai.com/category/rocket-media-lab

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net