ส.ส.-ส.ว.สหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเรียกร้อง 'ไบเดน-คิชิดะ' ให้คำมั่นเพื่อเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์

ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงผู้นำสองประเทศ โจ ไบเดน  และฟุมิโอะ คิชิดะ นิยามให้ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย "ไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน" ในช่วงที่มีความกังวลว่าการที่รัสเซียรุกรานยูเครนในตอนนี้อาจจะเสี่ยงทำให้เกิดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภาพเมื่อกุมภาพันธ์ 2565 (ที่มา: Facebook/President Joe Biden)

กลุ่ม ส.ส.-ส.ว. สายก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นหลายสิบรายส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ เรียกร้องให้ผู้นำของทั้งสองประเทศให้ความกระจ่างในเรื่องที่ว่าพวกเขาจะไม่สนับสนุนให้มีการเริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ไม่ว่าจะในช่วงเวลาใดหรือในสถานการณ์ใดก็ตาม

จากที่ประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น มีนโยบายชื่อว่า "ไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน" (no-first-use policy) อยู่ก่อนแล้ว แต่กลุ่มฝ่ายก้าวหน้าของทั้งสองประเทศกังวลในเรื่องที่ทางการไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า ภายใต้สถานการณ์ใดถือว่า "จำเป็น" หรือ "น่าพอใจ" ถ้าหากสหรัฐฯ เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์

กลุ่ม ส.ส. ฝ่ายก้าวหน้าที่ลงนามในจดหมายดังกล่าวคือ ปรามิลา จายาพัล ส.ส. พรรคเดโมแครตประจำวอชิงตัน, เบอร์นี แซนเดอร์ส ส.ว. อิสระจากเวอร์มอนต์, มาซาฮารุ นาคางาวะ ส.ส. ญี่ปุ่น และประธานกลุ่มส.ส.ฝ่ายก้าวหน้าในญี่ปุ่น

จดหมายเรียกร้องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีความกังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จากกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศขู่ในช่วงเดือนีนาคมที่ผ่านมาว่ารัสเซียมีโอกาสจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถ้าหากสงครามยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ยังมีความกังวลจากเรื่องที่ไบเดนได้ลงนามในยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (NPR) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าสหรัฐฯ จะเปิดโอกาสความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อโต้ตอบสงครามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้กลุ่มต่อต้านการสะสมอาวุธนิวเคลียร์พากันแสดงความผิดหวังเพราะในการหาเสียงของไบเดนเมื่อปี 2563 เขาเคยสัญญาในเรื่องนโยบาย "ไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน"

 

โจ ไบเดน พบกับฟุมิโอะ คิชิดะ ระหว่างการประชุมสหประชาชาติเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่กลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2564 (ที่มา: Wikipedia/รัฐบาลญี่ปุ่น)

กลุ่มนักการเมืองสายก้าวหน้าเน้นย้ำในจดหมายว่า "มันไม่สายเกินไปที่จะตั้งมั่นกับนโยบายไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน"

จดหมายเปิดผนึกยังระบุถึงนโยบายความมั่นคงระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่สหรัฐฯ ในฐานะผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จะปกป้องญี่ปุ่นในฐานะผู้ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Umbrella) ว่า "นโยบายไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนจะไม่ทำให้ความสามารถในการคุ้มครองญี่ปุ่นและคุ้มครองสหรัฐฯ เองจากอาวุธนิวเคลียร์ลดลง

การคุ้มครองดังกล่าวนี้เกิดจากการที่สหรัฐฯ ให้สัญญาว่าจะโต้ตอบด้วยนิวเคลียร์ ไม่ได้มาจากความสามารถในการเริ่มต้นใช้อาวุธก่อน ในความเป็นจริงแล้ว นโยบายไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนจะช่วยเพิ่มการป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ โดยการลดความกังขา, ลดการคำนวณพลาด, และลดความเป็นไปได้ที่จะมีการยิงอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ได้ตั้งใจ"

นอกจากนี้จดหมายยังระบุอีกว่า "คำประกาศของสหรัฐฯ ที่ว่าพวกเขาจะไม่เป็นผู้เริ่มสงครามนิวเคลียร์ซึ่งเป็นคำประกาศที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น จะช่วยทำให้เกิดความหวังใหม่ในความพยายามของนานาชาติที่จะทำการลดไปจนถึงทำการขจัดภัยจากสงครามนิวเคลียร์ไปได้หมดในที่สุด เรื่องนี้สำคัญมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศที่มีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้น"

สื่อรายงานว่าการที่รัสเซียขู่เรื่องเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความตึงเครียดและกังวลว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ จนทำให้การที่สหรัฐฯ และผู้นำโลกร่วมกันหารือว่าจะโต้ตอบการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์แบบจำกัดวงอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ "ไม่ใช่เรื่องสมมุติในเชิงทฤษฎีอีกต่อไป" อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่ารัสเซียอาจจะไม่ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ระดับที่สหรัฐฯ เคยใช้กับฮิโรชิมา และนางาซากิ แต่ใช้ในระดับการโจมตีทางยุทธศาสตร์เล็กๆ

ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนจะแสดงความกังวลหรือประณามเรื่องที่ปูตินขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าสงครามนิวเคลียร์ยังคงเป็นไปได้ยาก เพราะในช่วงที่มีการรุกรานยูเครนนั้นทั้งยูเครนและนาโตต่างก็ไม่ได้มีการขู่ว่าจะโจมตีรัสเซียแต่อย่างใด ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้นำทหารและผู้นำรัฐบาลรัสเซียมองว่าการมีอยู่ของประเทศรัสเซียต้องยึดติดอยู่กับการปกครองของปูตินเท่านั้น

คิมเบอร์ลี มาร์เทน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงรัสเซียจากวิทยาลัยบาร์นาร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่บางส่วนในรัสเซียที่ยังเป็นคนมีเหตุผลและไม่อยากเผชิญกับสงครามนิวเคลียร์ พวกเขาทำหน้าที่เป็นตัวกรองระหว่างสนามรบจริงกับปฏิกิริยาโต้ตอบทางอารมณ์ใดๆ ก็ตามที่มาจากปูติน มาร์เทนบอกอีกว่าถ้าจะมีโอกาสเกิดการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ก็เป็นเรื่องน่ากังวลว่าอาจจะมาจากการคำนวณพลาด หรือความผิดพลาดที่มาจากการเผชิญหน้า หรือการยกระดับความขัดแย้งโดยไม่ได้ตั้งใจระหว่างรัสเซียและนาโตมากกว่า

เรียบเรียงจาก

Progressive Lawmakers in US and Japan Call on Biden to Clarify 'No-First-Use Nuclear Policy', Common Dreams, 02-04-2022

West, Russia mull nuclear steps in a ‘more dangerous’ world, AP, 03-04-2022
Is Russia About To Use Nuclear Weapons In Ukraine? Probably Not.,
Radio Free Europe, 02-04-2022

จดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 1 เม.ย. 2565 (เนื้อความในจดหมาย)

Why—and how—the world should condemn Putin for waving the nuclear saber, The Bulletin, 29-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท