Skip to main content
sharethis
  • ช่วงต้นการระบาดของ COVID-19 พบหลายที่ในโลกผู้คนนับล้านต้องสูญเสียงานอย่างฉับพลัน 
  • พบรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป งานแบบ 'ฟรีแลนซ์-กิ๊กเวิร์กเกอร์' เป็นที่นิยมมากขึ้น บางประเทศมีการจ้าง 'พนักงานชั่วคราว' มากขึ้นกว่า 'พนักงานประจำ' เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด บางประเทศนายจ้างใช้ 'กลยุทธ์เลิกจ้างแล้วจ้างใหม่' มีเงื่อนไขและสภาพการจ้างที่แย่ลง คนทำงานที่เคยเป็นพนักงานประจำก่อนเกิด COVID-19 เมื่อกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งพบว่าความมั่นคงในการทำงานลดลง
  • ‘การลาออกครั้งใหญ่’ เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศร่ำรวยช่วง COVID-19 โดยมีหลายปัจจัยที่ผลักดันปรากฎการณ์นี้ เช่น ความกลัวต่อ COVID-19, ความไม่พอใจต่อการบังคับฉีดวัคซีน และต้องการเปลี่ยนงานใหม่ เป็นต้น
  • ปัจจุบัน (ต้นปี 2565) ตลาดแรงงานก็ค่อยๆ ฟื้นตัวแล้วโดยเฉพาะในประเทศร่ำรวย แต่ในภาพรวมของโลกนั้น จากการคาดการณ์ล่าสุดของ ILO คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิด COVID-19 จนกว่าจะถึงปี 2566 เนื่องจากความไม่แน่นอนว่า COVID-19 ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดรวมทั้งการกลายพันธ์ใหม่ๆ ส่วน 'ผู้หญิง' และ 'คนหนุ่มสาว' จะยังได้รับผลกระทบต่อไปอีกหลายปี โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

การเลิกจ้างครั้งใหญ่ทั่วโลก

แรกเริ่มในการระบาดใหญ่ของ COVID-19 พบช่วงไตรมาส 1/2563 มีคนตกงานทั่วโลกถึง 30 ล้านคน เทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปี 2550-2552 | ที่มาภาพประกอบ: ILO/F. Latief (CC BY-NC-ND 2.0)

ช่วงแรกเริ่มของการระบาด องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 ทั่วโลกมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานไปถึง ร้อยละ 6.7 เทียบเท่ากับการสูญเสียงานเต็มเวลาไปถึง 195 ล้านตำแหน่ง ILO ประเมินว่าแค่ช่วงไตรมาส 1/2563 มีผู้คนสูญเสียงานทั่วโลกถึง 30 ล้านคน เทียบกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปี 2550-2552 ก็มีคนตกงานรวมเพียง 25 ล้านคนเท่านั้น

ส่วนข้อมูลจากกลุ่มประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าพบว่าผลกระทบเบื้องต้นของวิกฤต COVID-19 ต่อตลาดแรงงานของ OECD นั้นรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกครั้งล่าสุดถึง 10 เท่า เมื่อพิจารณาจากการจ้างงานที่ลดลงและชั่วโมงทำงานที่ลดลง โดยจำนวนชั่วโมงทำงานทั้งหมดลดลง ร้อยละ 12.2 ในช่วงไตรมาส 1/2563 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.2 ในปี 2551

โดยสถานการณ์ในตลาดแรงงานของประเทศต่างๆ ก็มีตัวอย่างเช่น

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั้น ILO ได้ประมาณการว่าทั้งปี 2563 จะมีคนตกงานกว่า 81 ล้านคน สืบเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่จีน ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 ในระหว่างการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ได้ส่งผลให้คนจีน 5 ล้านคนตกงาน แรงงานต่างถิ่นจากชนบทเกือบ 300 ล้านคน ต้องติดค้างอยู่ในนมณฑลหูเป่ยจากมาตรการล็อกดาวน์, ที่อินเดีย ในเดือน มี.ค. 2563 การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ส่งผลให้แรงงานนอกระบบหลายสิบล้านคนในอินเดียไม่มีงานทำในทันที

ญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563-ม.ค. 2564 คนทำงานในญี่ปุ่นต้องตกงานกว่า 80,100 คน บริษัทกว่า 1,500 แห่ง ต้องประสบกับภาวะล้มละลายหรือปิดตัวลงเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563-เม.ย. 2564 โดยอัตราว่างงานในญี่ปุ่นเดือน เม.ย. 2564 แตะที่ระดับร้อยละ 2.8 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินรอบ 3 เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จากการประเมินของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่าการระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของ COVID-19 ทำให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 4.7 ล้านคน ต้องตกลงสู่ภาวะยากจนรุนแรงในปี 2564 ที่ผ่านมา ตำแหน่งงานหายไปจากตลาดแรงงานถึงประมาณ 9.3 ล้านตำแหน่ง

ยุโรป การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ได้ทำให้งานในยุโรปหายไปกว่า 6.3 ล้านตำแหน่ง โดยแรงงานสัญญาจ้างระยะสั้น คนวัยหนุ่มสาว และผู้หญิงได้รับผลกระทบมากที่สุด สถานการณ์การเลิกจ้างนี้ถือว่าหนักกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี  2550-2552 โดยแรงงานที่มีสภาพการจ้างงานไม่มั่นคงมีความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสูญเสียงานเนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 พบว่าจำนวนสัญญาจ้างงานชั่วคราวใน 27 ประเทศของสหภาพยุโรป หดตัวลงร้อยละ 17 ระหว่างฤดูใบไม้ผลิปี 2562 และฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 ของการจ้างงานที่ลดลงโดยรวมของสหภาพยุโรป

เยอรมนี ช่วงเดือน มี.ค. 2563 นายจ้างกว่า 500,000 ราย ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการอุดหนุนค่าจ้างจ่ายให้แก่พนักงาน ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2563 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านคน ซึ่งมากกว่าเดือน ธ.ค. 2562 ถึง 480,000 คน นอกจากนี้ ในเยอรมนียังมีแรงงานจำนวนมากที่ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง ผู้คนเกือบ 2 ล้านคน มีชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในเดือน ต.ค. 2563 รวมทั้งแรงงานหลายแสนคนที่ทำงานในภาคที่มีค่าแรงต่ำ เช่น คนทำอาชีพอิสระเป็นครั้งคราวและแรงงานชั่วคราว มีการประมาณการว่าตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 เป็นต้นมา มีคนทำอาชีพอิสระเป็นครั้งคราว 850,000 คน ตกงานโดยไม่มีสิทธิได้รับการชดเชยหรือรับสวัสดิการว่างงาน

สเปน ในเดือน มี.ค. 2563 การล็อกดาวน์ในสเปน ทำให้แรงงานประมาณ 900,000 คนตกงานทันที, ช่วงเวลาเดียวกันที่ฝรั่งเศส แรงงานกว่า 4 ล้านคนต้องขอสวัสดิการการว่างงานชั่วคราว, แรงงานในอังกฤษ 1 ล้านคน ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ

สหรัฐอเมริกา ในเดือน มี.ค. 2563 มีชาวอเมริกันมากกว่า 10 ล้านคน ต้องตกงานและขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล งานนอกภาคเกษตรโดยรวมลดลงจากระดับ 152.5 ล้านตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. 2563 ลดลงเหลือเพียง 130.2 ล้านตำแหน่ง ในเดือน เม.ย. 2563 ในภาพรวมตลอดทั้งปี 2563 มีงานศึกษาระบุว่าแรงงานในสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 คน ต้องเปลี่ยนนายจ้างหรือตกงานตั้งแต่เริ่มวิกฤตการระบาด โดยในบรรดาของผู้มีงานทำเมื่อเดือน ก.พ. 2563 เกือบร้อยละ 37 ไม่ได้ทำงานกับนายจ้างเก่า และคนทำงานหลายล้านคนที่ตกงานเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 2563 ที่พึ่งกลับเข้ามาทำงานเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ได้งานใหม่แทนที่จะกลับไปหานายจ้างเก่า, ที่แคนาดา ในเดือน มี.ค. 2563 มีผลสำรวจพบว่าครัวเรือนกว่าร้อยละ 44 ในแคนาดาประสบกับปัญหาสูญเสียงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 2564 แกลลอป (Gallop) บริษัทผู้จัดทำโพลระดับโลก ได้เปิดเผยผลสำรวจประชาชน 300,000 คน ใน 117 ประเทศ/เขตดินแดนทั่วโลกเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ต่อเรื่องอาชีพและรายได้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดยในช่วงนั้นโลกส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับคลื่นลูกแรกของการแพร่ระบาดทั่วโลก พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53 ระบุว่าพวกเขาต้องหยุดการทำงานชั่วคราว ร้อยละ 32 (หรือ 1 ใน 3 คน) ต้องสูญเสียงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่

โดยในประชาชนใน 57 ประเทศรวมทั้ง อินเดีย ซิมบับเว ฟิลิปปินส์ เคนยา บังกลาเทศ เอลซัลวาดอร์ มีประชาชนกว่าร้อยละ 65 ตอบว่าต้องถูกพักงานชั่วคราว ในขณะที่ผลการสำรวจพบว่าประเทศในยุโรป อย่างออสเตรีย (ร้อยละ 7) สวิตเซอร์แลนด์ (ร้อยละ 7) และเยอรมนี (ร้อยละ 6) มีประชาชนน้อยกว่า 2-3 คนจากจำนวน 10 คน ตอบว่าต้องถูกพักงานจากการระบาดของ COVID-19 ในขณะที่สหรัฐอเมริกา มีประชาชนที่ตอบว่าถูกพักงานอยู่ที่ร้อยละ 39

แกลลอปยังระบุว่าสัดส่วนของประชาชนที่ตอบแบบสอบถามว่ามีรายได้ลดลงจาก COVID-19 ระบาด ในประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนานั้น มีช่วงห่างที่ค่อนข้างกว้าง โดยประเทศไทยมีผู้ตอบว่ามีรายได้ลดลงจาก COVID-19 ระบาดสูงถึงร้อยละ 76 ขณะที่ประชาชนในสวิสเซอร์แลนด์ มีประชาชนที่ตอบว่ามีรายได้ลดลงเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น

เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน-รูปแบบการจ้างงาน

รูปแบบการทำงานทางไกล (Remote Work) ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศเพิ่มมากขึ้นและอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ นอกจากนี้นายจ้างและภาคธุรกิจได้ใช้โอกาสจากวิกฤต COVID-19 หันมาจ้าง ‘แรงงานอิสระ’ และใช้รูปแบบการ ‘จ้างงานที่ไม่มั่นคง’ เพื่อประหยัดต้นทุนจากการจ้างพนักงานประจำ | ที่มาภาพประกอบ: ILO

ภาคธุรกิจและนายจ้างก็ได้ใช้โอกาสในวิกฤต COVID-19 นี้ในการ ‘เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน-รูปแบบการจ้างงาน’ ซึ่งพบว่าหลายประเทศเปลี่ยนรูปแบบเป็นทำงานระยะไกล (Remote Work) มากขึ้น โดยมีการจ้างงาน ‘แรงงานอิสระ’ (Freelance / Self-employed / Gig Workers) เพิ่มมากขึ้น เช่นในสหรัฐฯ จำนวนแรงงานอิสระเติบโตขึ้นกว่า ร้อยละ 40 ในปี 2563 มาอยู่ที่จำนวน 57.3 ล้านคน (จากกำลังแรงงานทั้งหมด 164.6 ล้านคน) และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการจ้างงานลูกจ้างแบบเต็มเวลาที่ปรับลดลงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2559-2563 ที่ลูกจ้างเต็มเวลาในสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า ร้อยละ 3.9 สะท้อนถึงความต้องการของนายจ้างเนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นสูงและช่วยลดต้นทุนการจ้างงานพนักงานประจำ รวมทั้งการระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ได้กระตุ้นให้ธุรกิจ ‘แพลตฟอร์ม’ ต่างๆ เช่น การสั่งสินค้าหรืออาหารทางออนไลน์เติบโตขึ้น การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มก็เป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบความพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานให้ยืดหยุ่นได้ประโยชน์กับฝั่งนายจ้างมากขึ้น อย่างที่อังกฤษ ช่วงต้นปี 2564 สหภาพแรงงาน TUC ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ทำให้เห็นว่านายจ้างในสหราชอาณาจักร ได้ใช้ 'กลยุทธ์เลิกจ้างแล้วจ้างใหม่' (fire and rehire) อย่างแพร่หลายในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 โดยผลสำรวจพบว่าคนทำงานเกือบ 1 ใน 10 คน ได้รับแจ้งจากนายจ้างให้สมัครงานใหม่ แต่มีเงื่อนไขและสภาพการจ้างที่แย่ลง และเกือบ 1 ใน 4 ของคนทำงาน (ร้อยละ 24) ระบุว่าเงื่อนไขการทำงานของพวกเขา เช่น ค่าจ้าง หรือชั่วโมงการทำงาน ถูกลดระดับลงนับตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2563 นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 34) คนทำงานที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี กล่าวว่าสภาพการทำงานของพวกเขาแย่ลงนับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรกและเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 30) ของคนทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 ปอนด์ (ประมาณ 610,000 บาท) ก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน

ส่วนผลสำรวจของ Resolution Foundation ที่สำรวจคนทำวัยทำงานในสหราชอาณาจักร 6,100 คน ณ ช่วงเดือน ต.ค. 2564 พบว่าคนทำงานหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่ตกงานในช่วงวิกฤตการระบาดของ COVID-19 กลับมาทำงานอีกครั้ง สัดส่วนถึงร้อยละ 76 แต่กว่าร้อยละ 33 ของคนทำงานหนุ่มสาวที่กลับมาทำงาน อยู่ภายใต้การจ้างงานที่ไม่มั่นคง ต้องทำงานชั่วคราวโดยไม่มีการรับประกันชั่วโมง โดยเฉพาะการทำงานภายใต้ระบบ Gig Economy (เช่นทำงานผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ)

ที่เกาหลีใต้ ข้อมูลจากการสำรวจของ Leaders Index ระบุว่าบริษัท 313 แห่งจากบริษัทเกาหลีใต้ขนาดใหญ่ 500 อันดับแรก มีการจ้างพนักงานอยู่ที่ 1.24 ล้านคน ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 ลดลง ร้อยละ 1.02 หรือประมาณ 12,800 คน จากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปี 2562) ก่อนการระบาดของ COVID-19 โดยบริษัทเหล่านี้เลิกจ้างพนักงานประจำออก 18,200 คน แต่เพิ่มการจ้างพนักงานชั่วคราวมากขึ้นประมาณ 5,400 คน

ในประเทศร่ำรวยพบ 'การลาออกครั้งใหญ่'

ช่วงปี 2564 ตลาดแรงงานในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นก็คือคนไม่ยอมกลับมาทำงาน และอีกปรากฎการณ์ก็คือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ (Great Resignation) โดยเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย

ในโลกตะวันตกที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา หลังการปฏิรูปตลาดแรงงานให้เอื้อต่อระบบทุนนิยมเสรี ก็พบว่าคนลาออกจากงานประจำน้อยลง และไม่ค่อยลาออกบ่อยครั้งมากนักเมื่อเทียบกับในทศวรรษ 1960-1970 ที่แนวคิดรัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกมีความเข้มแข็ง เหตุผลหนึ่งก็คือ คนทำงานต่างเกรงกลัวว่า สวัสดิการในขณะที่ว่างงานและมองหางานใหม่ จะไม่เพียงพอต่อการยังชีพอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ COVID-19 มาพร้อมกับโครงการอุดหนุนประชาชน ทั้งที่ว่างงานหรือพยายามให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนลาออกจากงานและชะลอการหางานใหม่เพื่อดูว่าวิกฤต COVID-19 จะคลี่คลายไปในทางใดทางหนึ่ง

ข้อมูลจาก OECD พบว่าจากประเทศสมาชิกทั้ง 38 ประเทศ มีคนทำงานประจำลดลงประมาณ 20 ล้านคน เมื่อเทียบกับก่อน COVID-19 ระบาด ในจำนวนนี้เป็นการลาออกจากงานถึงประมาณ 14 ล้านคน

ที่ยุโรป ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ จากรายงาน Counting the Cost: How Businesses Risk a Post Pandemic Talent Drain ที่สำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 2,002 คน เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2564 ระบุว่าคนทำงานกว่าร้อยละ 38 วางแผนที่จะลาออกจากงานเดิมในอีก 6-12 เดือน ส่วนในอิสราเอล ข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานพบว่าในช่วง COVID-19 ระบาด การลาออกจากงานในอิสราเอลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นร้อยละ 22.6 ของจำนวนผู้ที่กำลังหางานทั้งหมด

สถานการณ์การลาออกครั้งใหญ่ที่เด่นชัดที่สุดคือ 'สหรัฐฯ' พบว่าในเดือน ส.ค. 2564 คนอเมริกันลาออกจากงานจำนวนสูงถึง 4.3 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2543 เป็นต้นมา ตัวเลขการลาออกจากงานที่เกิดขึ้นนี้ สอดคล้องกับการสำรวจของ Bankrate ที่สำรวจคนทำงาน 2,452 คน ในสหรัฐอเมริกาในช่วง 28-30 ก.ค. 2564 พบว่าร้อยละ 55 ระบุว่าพวกเขามีแผนออกจากงานและหางานใหม่

มีการประเมินว่า ความกลัวต่อ COVID-19 และการบังคับฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนลาออกจำนวนมากในช่วงนี้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2564 พนักงานในอุตสาหกรรมบริการอย่าง โรงแรม ร้านอาหาร และบาร์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องเจอกับผู้คนนั้นลาออกจากงานเกือบ 900,000 คน เลยทีเดียว

เช่นเดียวกับการตัดสินใจเกษียณงาน พบว่าในปี 2563 ช่วง 6 เดือนแรกที่ COVID-19 เริ่มระบาด มีผู้ตัดสินใจเกษียณอายุการทำงานประมาณ 3 ล้านคนในสหรัฐฯ ถือเป็นจำนวนการเกษียณอายุสูงสุดในรอบศตวรรษ พยาบาลในสหรัฐฯ เลือกที่จะเกษียณอายุมากขึ้นช่วงเกิด COVID-19 ถึง ร้อยละ 140 นอกจากนี้ยังพบว่าแบบแผนการตัดสินใจเกษียณอายุนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอาชีพด่านหน้าต่างๆ เช่น พนักงานขายปลีก ช่างทำผม คนขับรถโรงเรียน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ พนักงานต้อนรับ หรือแม้แต่คนทำงานในโรงงาน 

ตลาดแรงงานโลก โดยรวมยังไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน

สำหรับประเทศร่ำรวยตลาดแรงงานเริ่มฟื้นตัวมาแล้วตั้งแต่ปี 2564 ข้อมูลจาก OECD พบว่าอัตราการว่างงานของประเทศกลุ่ม OECD อยู่ที่ ร้อยละ 6.6 ในเดือน พ.ค. 2564 ลดลงจาก ร้อยละ 8.8% ในเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการระบาดใหญ่ ประเทศที่อัตราว่างงานลดลงมากที่สุดคือสหรัฐฯ ที่เคยมีอัตราว่างงานสูงเกือบร้อยละ 15 ในช่วงแรกของการระบาดใหญ่ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.9 ในเดือน มิ.ย. 2564

ส่วนข้อมูลจากการประเมินล่าสุดของ ILO (ประเมินเมื่อเดือน พ.ย. 2564 เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค. 2565) ได้ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 ที่คาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 52 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2562 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากการคาดการณ์เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2564 ที่คาดว่าการจ้างงานเต็มเวลาจะลดลง 26 ล้านตำแหน่ง

ILO ประเมินว่าการว่างงานทั่วโลกจะยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 อย่างน้อยจนถึงปี 2566 โดยคาดว่าในปี 2565 ทั่วโลกจะมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 207 ล้านคน เทียบกับ 186 ล้านคน เมื่อปี 2562 โดยเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนจะพบว่า ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2562 ตัวเลขคาดการณ์สัดส่วนการจ้างงานต่อประชากรทั่วโลกอยู่ที่ ร้อยละ 57.3 ในปี 2563 ที่เผชิญกับวิกฤต COVID-19 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 54.8 ปี 2564 ร้อยละ 55.4 ปี 2565 ร้อยละ 55.8 และในปี 2566 จะอยู่ที่ ร้อยละ 56 ซึ่งก็ยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาด

เมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาค ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือมีสัญญาณการฟื้นตัวเชิงบวกมากที่สุด ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และแคริบเบียนมีแนวโน้มเชิงลบมากที่สุด นอกจากนี้ผลกระทบต่อการจ้างงานของผู้หญิงจะคงอยู่อีกหลายปี ในขณะที่การปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ก็จะมีผลกระทบระยะยาวต่อคนหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

การปรับการคาดการณ์ของ ILO นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน ที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน รวมถึงความไม่แน่นอนว่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคตอีกหรือไม่

ILO ยังเตือนถึงผลกระทบที่แตกต่างกันทั้งต่อกลุ่มคนทำงาน รวมทั้งประเทศต่างๆ โดยความแตกต่างเหล่านี้จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมของเกือบทุกประเทศอ่อนแอลง ซึ่งความเสียหายนี้น่าจะต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัว

 

ที่มาข้อมูล
https://en.wikipedia.org/wiki/Economic_impact_of_the_COVID-19_pandemic
OECD Employment Outlook 2020 : Worker Security and the COVID-19 Crisis
Massive rise in unemployment in Germany during the pandemic (Elisabeth Zimmermann, World Socialist Web Site, 18 January 2021)
‘Fire and rehire’ tactics widespread during pandemic, warns TUC (Elliot Chappell, LabourList, 25 January 2021)
COVID-19: Implications for employment and working life (Eurofound, 9 March 2021)
COVID-19 Put More Than 1 Billion Out of Work (Gallup, 3 May 2021)
One in three U.S. workers changed or lost jobs in last year (Los Angeles Times, 14 May 2021)
Pandemic-related bankruptcies hit 1,500 (NHK, 27 May 2021)
Japan sees 1st jobless rate rise in 6 months (Japan Today, 29 May 2021)
OECD Employment Outlook 2021 : Navigating the COVID-19 Crisis and Recovery (OECD, 7 July 2021)
Large S. Korean firms cut jobs amid coronavirus pandemic (The Korea Herald, 23 November 2021)
Employment and Social Outlook – Trends 2022 (ILO, 17 January 2022)
UK youth return to insecure jobs after pandemic: Study (New Straits Times, 1 February 2022)
Retirements Cut Ranks of Scarce Frontline Workers (Tim Henderson, Stateline, 4 February 2022)
COVID-19 Pushed 4.7 Million More People in Southeast Asia Into Extreme Poverty in 2021, But Countries are Well Positioned to Bounce Back — ADB (ADB, 16 March 2022)
ไม่ใช่แค่ 'เลิกจ้าง' แต่ยังมีการ 'ลาออกครั้งใหญ่' สถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญในช่วงโควิด-19 (วิทย์ บุญ, ไทยรัฐพลัส, 31 ตุลาคม 2564)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net