Skip to main content
sharethis
  • ครบรอบ 5 ปี การหายไปของ 'หมุดคณะราษฎร' ส่องปรากฏการณ์เกิดใหม่อีกครั้งในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ นาฬิกา พวงกุญแจและคุกกี้ รวมทั้ง หมุดคณะราษฎร 63
  • 'ยิ่งขุดทิ้งมันยิ่งชัด' ทนายอานนท์ ชี้ 'หมุดคณะราษฎร 63' เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น ยันมีการปักหมุดประชาธิปไตยอีกแน่นอน
  • ย้อนทบทวนความพยามตามหาหมุดฯ หาย แต่กลับได้คดีและการคุกคาม รวมทั้งที่มาของหมุดฯ และการกลับมามีชีวิตหลังรัฐประหาร 49

ภาพหมุดคณะราษฎร

"วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

ข้อความที่ปรากฏให้เห็นบนแผ่นทองเหลืองซึ่งถูกฝังอยู่บนลานพระบรมรูปทรงม้า ที่ชื่อว่า “หมุดคณะราษฎร” เพื่อรำลึกจุดที่พลเอกพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศชัยชนะของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เป็นเวลา 5 ปี กับการหายไปของสัญลักษณ์เชิงวัตถุอย่างหมุดคณะราษฎร นับตั้งแต่วันที่ 1-8 เม.ย. 2560 ซึ่งมีรายงานว่าหมุดราษฎรนั้นได้ถูกรื้อถอนออกไปจากตำแหน่งที่ตั้งอยู่และถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ที่มีชื่อสลักว่า ประชาชนสุขสันต์หน้าใส หรือ ‘หมุดหน้าใส’ โดยก่อนหน้าที่หมุดคณะราษฎรจะหายไปนั้น เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นเวลา 85 ปีแล้ว เราได้นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีที่โกงกินบ้านเมืองมามากมาย สมควรที่จะถอนหมุดอันนี้ออกหรือไม่ บ้างบอกว่าหมุดนี้คือความอัปยศของระบอบประชาธิปไตย ให้รีบรื้อถอนออกไป ให้เวลาถึง 30 ธ.ค. 2559 หรือหลังจากหมุดคณะราษฎรหายไม่นาน วันที่ 25 เม.ย. 2560 วิชาญ ภูวิหาร รองประธานสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ อ้างว่าเป็นคนถอนหมุดออกไปแต่นำไปคืนที่เดิมแล้ว และไม่รู้ว่าใครเป็นคนเอาไป และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน

ภาพ ‘หมุดหน้าใส’ ที่ปรากฏในตำแหน่งเดียวกับหมุดคณะราษฎรที่หายไป

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ทราบว่าหมุดฯ ดังกล่าวไปอยู่ไหน ท่ามกลางสิ่งปลูกสร้างรำลึกเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ทะยอยถูกทุบหรือทำให้หายไป ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ หรือชื่อค่ายทหารที่ลพบุรีอย่างค่ายพหลโยธินและค่ายพิบูลสงคราม ในทางกลับกันก็มีแรงปฏิกิริยาจากกลุ่มที่ออกมาตั้งคำถามถึงการหายไป รวมทั้งพยายามสร้างความทรงจำใหม่ต่อคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ด้วย

เกิดใหม่อีกครั้งหลังหายไป

ภาพคุกกี้หมุดคณะราษฎร ที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์ขายต้นเดือน พ.ค.63

แม้จะยังไม่สามารถทราบได้ว่า หมุดราษฎร นั้นหายไปไหน แต่ทว่าท่ามกลางความตื่นตัวทั้งจากภายหลังที่หมุดราษฎรหายแล้วมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมทั้งการตื่นตัวทางการเมืองที่มีคนหันมาสนใจเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 มากขึ้น หมุดราษฎรถูกเปลี่ยนจากวัตถุที่อยู่บนพื้นถนนมาเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถพบเห็นได้อย่างง่ายดาย ดั่งที่มีการบอกว่า "แม้หมุดจะถูกรื้อถอนออกไป แต่ที่แท้จริงนั้นหมุดได้อยู่ในใจของทุกคนไปแล้ว" โลกออนไลน์เลยชวนกัน สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ Fan Art ผ่านแฮชแท็ก #หมุดคณะราษฎร2563 โดยมาปรับเป็นศิลปะรูปแบบของตนเอง ทั้งการทำเป็นสีแบบพาสเทลร่วมสมัย ยังมีการทำฟิลเตอร์ในสตอรี่อินสตาแกรม ซึ่งหมุดจะปรากฏขึ้น เมื่อนำกล้องไปส่อง ได้รับความนิยมจำนวนมากนอกจากนี้ยังมีการทำเป็นสินค้าต่างๆ ขาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ เข็มกลัด พวงกุญแจ สติ๊กเกอร์ ขนม รวมไปถึง griptok หรือที่ติดโทรศัพท์และอื่นๆ

เดือน พ.ค. 63 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมภาพคุกกี้สัญลักษณ์หมุดคณะราษฎรโดยระบุว่า "คุกกี้ประชาธิปไตย และหมุดคณะราษฎร (กินได้) ผมและเพื่อนๆทำกัน ชิ้นละ 24.75 บาท ประชาธิปไตยกินได้ 14 ชิ้น หมุดคณะราษฎรกินได้ 14 ชิ้น สนใจ inbox มาได้นะครับ" โดยไม่นานหลังจากนั้น เนติวิทย์ แจ้งว่าคุกกี้ดังกล่าวหมดแล้ว

ภาพตัวอย่างหมุดคณะราษฎร 63 ที่ถูกนำมาวางขายทางออนไลน์

หรือกรณีเหตุการณ์เช้าวันที่ 20 ก.ย.63 ที่สนามหลวง ระหว่างการชุมนุม#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมฝังหมุดคณะราษฎร 63 อย่างไรก็ตามไม่นานหลังจากฝังหมุดและยุติการชุมนุม หมุดดังกล่าวถูกนำออก ส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝังหมุด 4 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันแก้ไข ต่อเติม โบราณสถานฯ ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน มาตรา 10, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหาติดตั้ง ตากวาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39

ทั้งนี้สำหรับหมุดคณะราษฎร นอกจากมีการปักที่สนามหลวง กทม. แล้ว ยังมีการทำกิจกรรมปักหมุดเชิงสัญลักษณ์อีกหลายพื้นที่ เช่น หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ หรือ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นต้น

ภาพนักกิจกรรมฝังหมุดคณะราษฎร 63 ในเช้าวันที่ 20 ก.ย.63 ที่สนามหลวง ระหว่างการชุมนุม#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

ภาพการปักหมุดคณะราษฎร หน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ วันที่ 25 ก.ย.63

ภาพหมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่ที่กลุ่มทะลุฟ้านำมาประกอบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "24 มิถุนา ตื่นเช้ามาสานต่อภารกิจคณะราษฎร" เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ภาพคุกกี้รูปหมุดคณะราษฎร ที่คณะจุฬาและกลุ่มเสรีเทยพลัสนำมาขาย ในกิจกรรม #ม็อบ24มิถุนา วันที่ 24 มิ.ย. 64

ภาพ สมบัติ บุญงามอนงค์ ทวิตขาย 'นาฬิกา 2475' 

'ยิ่งขุดทิ้งมันยิ่งชัด' ทนายอานนท์ ชี้เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น ยันมีการปักหมุดประชาธิปไตยอีกแน่นอน

อานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในผู้ร่วมฝังหมุดคณะราษฎร 63 ระหว่างการชุมนุม#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กล่าวว่า การปักหมุดคณะราษฎรเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เอาไปปักที่สนามหลวงแบบจริงจัง เราทำพิธีกรรมก็ทำในแบบเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้เห็นว่า หมุดคณะราษฎรที่พวกคุณเอาไป เราก็สามารถปักหมุดใหม่บนแผ่นดินนี้ได้ พอเราทำพิธีปักหมุดใหม่ ชนชั้นนำไทยกลับมองเป็นเรื่องจริงจัง เป็นฮวงจุ้ย ดวงเมืองอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเราทำเป็นเชิงสัญลักษณ์เฉยๆ ปรากฏว่าหลังจากฝังหมุด ตำรวจที่ สน.ชนะสงครามก็มาขุดไป และตอนนี้ถูกเก็บเป็นของกลางไว้อยู่ที่ สน.ชนะสงคราม

ภาพ 'อานนท์ นำภา' กิจกรรมรำลึก #ลบยังไงก็ไม่ลืม88ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อ มิ.ย.63 (แฟ้มภาพ)

"ต่อให้คุณขโมยไป มันก็ไม่ได้หายไปจากความทรงจำของทุกคน ในขณะเดียวกันมันกลับย้อนมาหลอกหลอนคนชนชั้นนำไทยด้วยช้ำ คือตอนนี้คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น ก็เพราะคุณไปขโมยหมุดคณะราษฎร คุณไปขโมยอนุสาวรีย์จอมพล ป. อนุสาวรีย์พระยาพหล มันเลยทำคนเหล่านั้นกลับขึ้นมาหลอกหลอนคนชนชั้นนำไทยอีกครั้ง คือยิ่งขุดทิ้งมันยิ่งชัด มันทำให้คนสนใจมาเออทำไมต้องทำอย่างนี้ มันทำให้คนสนใจว่าหมุดนี้มันมีความหมายอย่างไร" อานนท์ กล่าว

อานนท์ กล่าวต่อว่า ในประวัติศาสตร์ไทยไม่จารึกเพราะเขาต้องการปิดบัง เขาไม่ต้องการให้เรื่อง 2475 อยู่ในหนังสือไทย เขาอยากให้มีแต่เรื่องอยู่เย็นเป็นสุข คือเรื่องที่เกี่ยวกับคณะราษฎรน้อยมาก เราเพิ่งมารู้ว่าถนนพหลโยธินคือชื่อใคร เราเพิ่งมารู้ทีหลังว่ามีความเป็นมายังไง เรื่องคณะราษฎรมันมีเรื่องราวจำนวนมาก คือยิ่งลบคนยิ่งสนใจ ยิ่งลบคนยิ่งถามหา

ต่อคำถามที่ว่าจะมีการฝังหมุดอีกหรือไม่นั้น อานนท์ ยืนยันในอนาคตจะมีการปักหมุดอีกแน่นอน หมุดประชาธิปไตย มีแน่นอน ในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงของกิจกรรม เพราะในตอนที่หมุดคณะราษฎรหายไป มันก็มีการทำหมุดจำลองใหม่ขึ้นมา และมีการจำหน่ายของที่เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรมากมาย มีทั้งคนเก็บสะสม เช่นพวงกุญแจและของอื่นๆ มีหนังสือที่เกี่ยวกับคณะราษฎรเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น หนังสือฟ้าเดียวกัน ศิลปะคณะราษฎร สิ่งที่ไม่มีในหนังสือเรียน

ตามหมุดฯ หาย แต่กลับได้คดีและการคุกคาม

ไม่เพียงแค่ทำลายมรดกของคณะราษฎรทั้งหมด ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่หมุดราษฎรนั้นหายไปใหม่ๆ ผู้ใดที่พยายามตามหาก็ถูกคุกคามและถูกดำเนินคดีอย่างกรณีของบุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ ได้ถูกเชิญตัวไปปรับทัศนคติที่ มทบ.11 พร้อมกับสันติพงษ์ วินุราช หลังเข้าแจ้งความการตามหาหมุดราษฎร เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกตำรวจกุมตัวในวันที่ 24 มิ.ย. 2560 อีกทั้งยังถูกคุกคามโดยชายชุดดำและเหลืองปิดล้อมหน้าบ้าน หลังพยายามนำหมุดจำลองไปติดตั้งกลับคืนจุดเดิม 

สื่ออย่างสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้รับหนังสือจากตำรวจสถานีนครบาลลุมพินีให้งดจัดการเสวนาในหัวข้อ “ความทรงจำแห่งอภิวัฒน์ 2475-ปริศนาหมุดคณะราษฎรหาย” ซึ่งลงความเห็นว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ผู้ไม่หวังดีอาจจะสร้างสถานการณ์ต่างๆ ก่อความวุ่นวายได้ และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มีการวิเคราะห์การหายไปของหมุดราษฎรผ่านสเตตัส จากนั้นมีการจับกุมบุคคลที่กดแชร์รวม 6 คน หนึ่งในนั้นมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกจับและควบคุมตัวในค่ายทหาร พร้อมแจ้งข้อหาผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการฝากขัง 84 วัน แต่ได้รับการปล่อยตัว และอัยการไม่สั่งฟ้องคดี

ภาพ เอกชัย หงส์กังวาน พร้อมด้วยหมุดคณะราษฎร 63 เข้าแจ้งความหลังถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ล้อมบ้าน ขวางกิจกรรมวางหมุดคณะราษฎรใหม่ วันที่ 28 ก.ย. 63 

เอกชัย กล่าวว่า การตามหาหมุดนั้นตามหาแค่ช่วงแรกๆ ที่หายไป คือช่วงปี 2560 เคยยื่นหนังสือไป จากนั้นก็คาดเดาได้ว่าหายไปอยู่กับใคร ตำรวจเองก็พูดในลักษณะที่ว่า ”ไม่ต้องตามหาหรอก ให้เราเลิกหวังซะ” คนส่วนใหญ่ก็พุ่งเป้าไปที่หมุดอันเก่า ไม่มีใครสนใจเลยว่าหมุดอันใหม่มันมาได้ยังไง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ก็อ้างว่าไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ตนก็สงสัยว่าไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร จึงเสนอว่าขุดออกดีไหม แต่เมื่อจะขุดออกเท่านั้นก็ขนตำรวจมาเต็ม ล้อมรั้วไว้สารพัด ทำให้ตนก็คาดเดาได้ว่าหมุดหน้าใสมันเป็นของใคร

"คนที่สั่งทำตั้งแต่ขุดออกและนำของใหม่มาใส่คือคนเดียวกัน แล้วคนๆ นั้นก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เพราะพี่คิดว่าคนที่เปลี่ยนน่าจะมีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์  เอาของเก่าออกแล้วเอาของใหม่ใส่แล้วทำพิธี คือในเรื่องของความเชื่อ ซึ่งจะหวังอะไรเราไม่รู้" เอกชัย กล่าวพร้อมระบุว่า มีหมุดใหม่มาแทนมันก็ไร้ประโยชน์เพราะว่าโดนกระถางต้นไม้ทับ มองไม่เห็น ไม่มีใครพูดถึง ขณะที่หมุดคณะราษฎรเมื่อหายไปคนก็มาสนใจกัน จากแต่ก่อนไม่เคยสนใจ ทั้งที่มีการจัดงานทุกปี

"เขาคงมองว่ามันเป็นของที่อยู่บนถนน ไม่มีใครมาเอาหรอก และมันก็ไม่มีใครมาเอาจริงๆ จนกระทั่งอยู่ๆ ก็มีคนมาเอาไป ถ้าจะผิด มันก็ผิดที่เราชะล่าใจ ไม่คิดว่าจะมีคนเอาไป ถ้ารัฐบาลก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยุคหลังคณะราษฎรมา ถ้ามีการจดทะเบียนไว้ตั้งแต่แรกก็คงจะไม่เป็นแบบนี้" เอกชัย กล่าว

ที่มาของหมุดและการกลับมามีชีวิตหลังรัฐประหาร 49

หมุดคณะราษฎรนั้นมีความสำคัญซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์เชิงวัตถุที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย โดยถูกเปลี่ยนจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร พร้อมกับประกาศหลัก 6 หลักที่จะทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ทั้งนี้หมุดคณะราษฎร เป็นทองเหลืองที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสือป่า โดย 10 ธ.ค. 2479 กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น มีพิธีฝังหมุดโดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝัง และต่อมาในปี 2481 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 18 ก.ค. 2481 ให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันชาติ" นับแต่นั้นมา ก่อนที่วันชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ในสมัยการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ทั้งนี้ก่อนที่จะหายไปหมุดคณะราษฎรได้ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 

ประชาชน นักกิจกรรมจัดรำลึก 78 ปีคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่หมุดคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.53 (แฟ้มภาพประชาไท)

ภาพนักกิจกรรมและนักศึกษาจัดรำลึกเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.54 (แฟ้มภาพประชาไท)

ภาพกิจกรรมอ่านถ้อยคำรำลึก 81 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง (แฟ้มภาพประชาไท)

ฝ่ายสนับสนุนคณะราษฎร ใช้เป็นสถานที่จัดงานรำลึกถึงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในทุกวันที่ 24 มิ.ย. ทั้งยังเป็นสถานที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รำลึก เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงประชาชน ด้วยประเทศไทยเคยประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันชาติ เพื่อรำลึกถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังรัฐประหาร 2549 มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มใช้วันและหมุดนี้เป็นที่ทำกิจกรรมรำลึก โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย มักจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ เล่าว่า กลุ่มเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และมีประเด็นเรียกร้องทวงคืนวันชาติ 24 มิถุนายน ในช่วงที่มีรายงานว่าหมุดคณะราษฎรหายไปนั้น ทางกลุ่มก็มีความพยายามเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากว่าสมาชิกของกลุ่มส่วนหนึ่งต้องลี้ภัยหรือถูกจำคุกจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้มากในสถานการณ์ขณะนั้น แต่ก็ได้มีการทำหมุดจำลองและทำเสื้อออกจำหน่าย นอกจากนี้ทางกลุ่มยังเคยจัดงานสัมมนาเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อปี 2561 โดยกลุ่มได้ประกาศว่าจะใช้แนวนโยบาย 6 ประการของคณะราษฎรเป็นแนวทางในการตั้งข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น การปฏิรูปกองทัพ เบี้ยคนชรา ฯลฯ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎร เขายังเชื่อว่า การตั้งชื่อกลุ่มเช่นนี้และเคลื่อนไหวผูกโยงกับคณะราษฎรเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์คณะราษฎรมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงกันมากขึ้นในเรื่องระบอบอำมาตย์ หรือกระทั่งบทบาทของสถาบันกษัตริย์

ภาพวันที่ 23 มิ.ย.56 เปิดตัว "คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" และการกล่าวรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดย พ.ต.พุทธินารถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของพระยาพหลพลหยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร (แฟ้มภาพประชาไท)

ภาพวันที่ 23 มิ.ย.56 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเสื้อแดงจัดกิจกรรมฉลองวันชาติกับนักโทษการเมือง ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (แฟ้มภาพประชาไท)

นอกจากการจัดกิจกรรมรำลึกอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 49 แล้ว ในปี 56 หรือ 1 ปี ก่อนรัฐประหารรอบล่าสุดนั้น คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดงาน "24 มิถุนาฯ เฉลิมฉลองวันชาติประชาชน" ที่หมุดคณะราษฎร แบบโต้รุ่งด้วย 

ภาพเจ้าหน้าที่นำสายกั้นมาล้อมบริเวณหมุดและมีการตรวจเช็คชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในวันที่ 24 มิ.ย.57 (แฟ้มภาพประชาไท)

หลังรัฐประหารปี 57 กิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือวันชาติทำได้ยากขึ้น มีการตรวจเช็คชื่อผู้ร่วมกิจกรรมรวมทั้งกั้นบริเวณหมุดคณะราษฎร ก่อนที่หมุดจะหายไป

ภาพ พรรคมันสูญ จัดกิจกรรมอ่านกวี รำลึก 83 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิ.ย.58 (แฟ้มภาพประชาไท)

ส่วนฝ่ายต่อต้านนั้นมองว่าหมุดคณะราษฎรนั้นมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับมรดกทางวัฒนธรรมแบบชั้นสูง ที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หมุดคณะราษฎรถูกคัดทิ้งไปตามกฎบัตรอนุรักษ์ฉบับวัฒนธรรมไทย ที่เน้นอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมชั้นสูงภายในระบอบราชาชาตินิยม การคุกคามมรดกของคณะราษฎรทั้งหมด ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งยังลามมาถึงปัจจุบันอีกด้วย ที่มีการขีดข่วนทำลาย และการหายไปของหมุดราษฎร

ภาพเมื่อต้นปี 2558 ในเฟซบุ๊กของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด มีการเปิดโปงว่า ได้มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าไปทำพิธีกับหมุดคณะราษฎรที่ฝังไว้บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยนายสมบัติระบุว่าเป็นการทำพิธีถอนหมุดออก โดยเป็นการทำพิธีตามความเชื่อของคนกลุ่มดังกล่าว 

ไม่เพียงหมุดคณะราษฎรที่ถูกทำให้หายไปเท่านั้น สิ่งรำลึกที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและคณะราษฎรก็ทยอยถูกทำให้หายไปท่ามกลางสิ่งที่ตรงกันข้ามคือคนมาศึกษาสนใจประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากขึ้นอย่างที่ ทนายอานนท์ ว่า "ยิ่งขุดทิ้งมันยิ่งชัด มันทำให้คนสนใจมาเออทำไมต้องทำอย่างนี้" นั่นเอง

 

เอกสารอ้างอิง : 

  • หมุดคณะราษฎรที่ 2 หาย ตร.ยึดเป็นของกลาง โซเชียลฯ ผุดฝังหมดตามถนนที่เป็นหลุมไม่ถึงวันเรียบกริบ https://prachatai.com/journal/2020/09/89623 
  • นักกิจกรรมเวียน สน.รับทราบข้อหาคดีชุมนุมวันเดียว 4 คดี - 2 ดาวดินไม่มาม็อบก็โดนหมายเรียก https://prachatai.com/journal/2020/11/90284
  • หมุดคณะราษฏรถูกรื้อถอน พบหมุดใหม่ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” มาฝังแทนที่ https://prachatai.com/journal/2017/04/71034
  • ฮาบ่เอาคิงปักหมุดคณะราษฎรที่เชียงใหม่-นักเรียนชุมนุมหน้า ร.ร.บดินทรเดชา แม้ ร.ร. ปิด https://prachatai.com/journal/2020/09/89675
  • ปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 ลานย่าโม ปะทะคารมคนไม่เห็นด้วย เหตุเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ https://prachatai.com/journal/2020/10/89888
  • การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร?, ธนาพล อิ๋วสกุล  4 Jul 2017 https://www.the101.world/the-rebirth-of-2475-spirit/
  • เทพมนตรีประกาศหาเจ้าของ 'หมุดคณะราษฎร' ขีดเส้นตายสิ้นปีนี้ ถ้าไม่มีจะขุดออก  https://prachatai.com/journal/2016/11/68621
  • ธนาวิ โชติประดิษฐ์: 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ | เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า #1 https://prachatai.com/journal/2017/05/71711
  • 1 ปี ‘หมุดคณะราษฎร’ หาย : ย้อนดูชะตากรรมคนตามหาความจริงในรัฐที่ขยันเป็นเรื่องๆ https://prachatai.com/journal/2018/04/76258

สำหรับ ศิริลักษณ์ คำทา และวีรภัทรา เสียงเย็น ผู้เขียนรายงานนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net