Skip to main content
sharethis

สำนักเขตบางซื่อ ปัดระบุศาสนาบนบัตร ปชช.ว่า ‘กูkult’ ให้ ‘นรินทร์’ จำเลยคดี ม.112 แม้ไม่ขัด รธน. จนท.เสนอยื่นเรื่องไว้ที่เขต และจะส่งต่อให้ ‘มหาดไทย’ พิจารณา ด้านนรินทร์มั่นใจ ศาสนา ‘กูkult’ มีทุกองค์ประกอบของการเป็นศาสนา พร้อมยกกรณีศึกษา ‘ลัทธิเบคอน’ ‘ริรัคคุมะ’ เมื่อปี’58


7 เม.ย. 65 สุรเมธ น้อยอุบล สื่ออิสระ ‘Friends Talk’ ถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘Friends Talk’ เมื่อเวลา 10.21 น. ที่สำนักงานเขตบางซื่อ ติดตาม ‘นรินทร์’ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดี ม. 112 เดินทางมาขอระบุศาสนาบนบัตรประชาชนเป็นศาสนา ‘กูkult’ 

การขอระบุ ศาสนา กูkult บนบัตรประชาชน สืบเนื่องจากวานนี้ (6 เม.ย.) เฟซบุ๊กหลายช่องทาง เผยแพร่คลิปวิดีโอคณะรักษาความคิดสกปรกของคนในชาติ หรือ NCTD นำโดย ‘นรินทร์’ อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ X ยกกำลัง 0 ปี 2565 เรื่อง การให้ กูkult เป็นศาสนาหนึ่งในเอกภพ ตั้งแต่ 6 เม.ย. 2565 เวลา 18.00 เป็นต้นไป พร้อมเชิญชวนประชาชนไปเปลี่ยนศาสนาบนบัตรประชาชน ให้เป็นศาสนา ‘กูkult’ ในวันที่ 7 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานเขตบางซื่อ

อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ เสียงลอย หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตบางซื่อ เข้ามาชี้แจงกับนรินทร์ว่า การเปลี่ยนศาสนาต้องเป็นศาสนาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ 5 ศาสนาเท่านั้น คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกซ์ หากนอกเหนือจากนี้จะไม่มีการระบุไว้บนบัตรประชาชนเลย โดยปล่อยเป็น ‘ช่องว่าง’ 

ขณะที่สุรเมธ แย้งว่า ก่อนหน้านี้เว็บไซต์โมเมนตัม เคยรายงานว่า มีคนไทยสามารถระบุศาสนาบนบัตรประชาชนว่า ‘ศาสนาเบคอน’ ได้เลย ทำไมกรณีนี้ถึงทำไม่ได้ ตรงนี้มีหลักการพิจารณาอย่างไรบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ โดยระบุว่าเป็นครั้งแรกที่มีการขอลักษณะนี้ จึงเสนอให้นรินทร์ ยื่นคำร้องไว้ก่อน และจะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อีกครั้ง    

นรินทร์ ให้สัมภาษณ์กับสุรเมธ หลังคุยกับฝ่ายทะเบียนของสำนักงานเขตบางซื่อว่า ตนอยากมาเปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนา ‘กูkult’ ตามที่ได้อ่านแถลงการณ์เมื่อ 6 เม.ย. 65 และอยากทราบว่า จะสามารถเปลี่ยนศาสนาได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เขตแจ้งว่าสามารถเปลี่ยนเป็นศาสนาตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเท่านั้น ตนเลยสงสัยว่า‘เขาใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจว่าสิ่งไหนคือศาสนาและไม่ศาสนา’ 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวอิสระ Friends Talk ยกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 31 หมวด 3 ซึ่งระบุว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หากพิจารณาตามนี้ น่าจะเปลี่ยนศาสนา ‘กูkult’ ได้ จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ

“โดยปกติในประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆ มันไม่มีประเทศไหนที่ระบุศาสนาไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนในประเทศนั้นๆ มันไม่มี ประเด็นอันนี้เป็นประเด็นที่ว่า ประเทศนี้มีช่องศาสนาให้เข้าไปใส่ ซึ่งพอใส่และระบุ เราอยากใส่ศาสนาที่เราต้องการ มันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และชื่อก็ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับลัทธิเบคอน หรือลัทธิหมวกฟาง” สุรเมธ ตั้งคำถาม 

กระทั่งเวลาประมาณ 10.38 น. หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตบางซื่อ ออกมาคุยกับ นรินทร์ อีกครั้ง พร้อมมอบสำเนาเอกสารจากกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.2/11952 ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างของคนที่ต้องการเปลี่ยนศาสนาเป็น "ลัทธิเบคอน" ในจังหวัดจันทบุรี ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 โดยสรุปได้ว่าเขาไม่สามารถลงรายการ "ลัทธิเบคอน" ในบัตรได้ เพราะ "ลัทธิเบคอน" มีองค์ประกอบไม่เป็นไปตามองค์ประกอบของความเป็นศาสนาทั้ง 5 ประการ ตามที่กรมการศาสนาระบุ ได้แก่ (1) ศาสดาหรือผู้ก่อตั้ง (2) ศาสนธรรมหรือหลักคำสอน (3) ศาสนบุคคล (4) ศาสนสถาน และ (5) ศาสนพิธี แต่ในเอกสารไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนในแต่ละข้อว่า "ลัทธิเบคอน" ไม่มีลักษณะของการเป็นศาสนาอย่างไร

นิวัฒน์ เสียงลอย หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตบางซื่อ กำลังคุยกับ นรินทร์ (ภาพโดยแมวส้ม)

สุดท้าย นรินทร์ตัดสินใจว่าจะกลับไปรวบรวมหลักฐานอีกครั้ง และจะกลับมายื่นเรื่องส่งที่เขต และส่งต่อไปที่กระทรวงมหาดไทย พิจารณาตรวจสอบใหม่อีกครั้ง โดยนรินทร์ตั้งใจว่าจะติดต่อกับบุคคลที่เคยเปลี่ยนศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาที่ได้รับการรับรอง และได้ระบุบนบัตรประชาชน เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบคำร้องเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังคุยกับนายนิวัตน์เสร็จสิ้น นรินทร์ให้ข้อมูลเป็น URL ข่าวของสำนักข่าวไทยรัฐ เป็นกรณีที่มีบุคคลสามารถเปลี่ยนศาสนาบนบัตรประชาชนเป็นศาสนา "ลัทธิเบคอน" หรือ "ริลัคคุมะ" ได้ ซึ่งการให้ระบุในช่องศาสนาบนบัตรประชาชนเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ต้องส่งเรื่องต่อถึงผู้ใหญ่ สำหรับข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเมื่อธันวาคม 2558 ไว้ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางซื่อไปศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ ระหว่างคุยกับเจ้าหน้าที่เขตฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาทำการบันทึกภาพเก็บข้อมูลอยู่หลายนาย และมีการไปคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางซื่อ อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่เทศกิจมาบันทึกภาพเก็บข้อมูลร่วมด้วย

เจ้าหน้าที่กำลังบันทึกภาพนรินทร์ (ภาพโดย แมวส้ม)

นรินทร์ กำลังติดสติกเกอร์ 'กูkult' (ภาพโดย แมวส้ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net