Skip to main content
sharethis

 

ในขณะที่รัสเซียถูกกล่าวหาเรื่องก่ออาชญากรรมสงคราม สื่อรัสเซียก็นำเสนอในเชิงให้ความชอบธรรมในการทำสงครามกับยูเครนโดยเรียกร้องให้มีการ "ลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นยูเครนทิ้ง" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมืองอธิบายว่าเป็นการใช้คำในแบบที่น่าตระหนกมากเป็นพิเศษหลังจากที่มีการพบศพพลเรือนหลายสิบรายในย่านชานเมืองของกรุงเคียฟ

7 เม.ย. 2565 สื่อรัสเซีย เรีย นอวอสตี เผยแพร่บทบรรณาธิการที่เขียนโดย ทิโมเฟ เซอร์กีเยฟ ใช้โวหารในแบบที่สื่อตะวันตกมองว่า "เต็มไปด้วยการกระตุ้นเร้าความอารมณ์รุนแรง" แม้จะวัดด้วยมาตรฐานสื่อรัสเซียเอง บทบรรณาธิการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "รัสเซียควรจะทำอะไรกับยูเครน"

บท บก. ของเซอร์กีเยฟอ้างว่าคำว่า "ยูเครน" นั้นมีความหมายเดียวกับ "ลัทธินาซี" และไม่ควรจะทำให้มีอยู่ นอกจากนี้ยังเขียนในทำนองที่ว่าควรจะมีการ "ขจัดความเป็นยูเครน" ทิ้งโดยอ้างว่าวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวยูเครนเป็น "ของปลอม"

ยูจีน ฟิงเกล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยขั้นสูงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า โวหารของบท บก. สื่อรัสเซียแค่เพียงได้อ่านมันก็ทำให้เขารู้สึกคลื่นเหียน แต่เขาก็เชื่อว่าทางการรัสเซียใช้บท บก. เช่นนี้ในการให้ความชอบธรรมต่อการที่รัสเซียจะก่อเรื่องโหดร้ายในยูเครน  

ฟิงเกล ระบุว่า "มันแสดงให้เห็นถึงโครงร่างแผนการที่ชัดเจนว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป" ฟิงเกลกล่าวอีกว่าบท บก.ใน เรีย นอวอสตี ได้ "ข้ามเส้นแบ่งระหว่างการพูดถึงและคิดที่จะรุกรานจนนำมาซึ่งอาชญากรรมสงครามรูปแบบต่างๆ ไปสู่สิ่งที่มีการประสานงานกันมากกว่านั้น"

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าบท บก. นี้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ในวันเดียวกับที่มีการพบศพพลเรือนหลายสิบรายในย่านชานเมืองบูชาของกรุงเคียฟหลังจากที่ผู้คนเหล่านี้หนีจากกองทัพรัสเซีย ร่างของผู้คนเหล่านี้จำนวนมากแสดงให้เห็นถึงการถูกทารุณกรรม มือของพวกเขาถูกมัดไว้ในช่วงที่ถูกสังหาร มีผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าพลเรือนเหล่านี้ถูกสังหารโดยทหารรัสเซียในช่วงที่กองทัพรัสเซียยึดครองพื้นที่อยู่เป็นเวลา 1 เดือน

ภาพจากทวิตเตอร์ Dmytro Kuleba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน



เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้นำประเทศจำนวนมากและองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา เมลานี โจลี เป็นหนึ่งในคนที่กล่าวหารัสเซียในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาโดยบอกว่าภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในบูชาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้น อีกทั้งโจลียังเรียกร้องให้มีการไต่สวนประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในฐานะอาชญากรสงครามด้วย

ขณะที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ระบุในรายงานถึงกรณีที่ทหารรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การกวาดต้อนสังหารพลเรือน ไปจนถึงการปล้นสะดมอาหารและเครื่องใช้จำเป็นของพลเรือนที่กำลังหลบภัยสงครามในยูเครน

สำหรับกรณี บท บก. จากสื่อรัสเซียที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงล่าสุดนี้มีการตั้งคำถามจากสื่อตะวันตกว่า มันนับเป็นบท บก. ที่สะท้อนนโยบายของรัฐบาลรัสเซียต่อยูเครนอยู่แล้วหรือไม่ หรือผู้เขียนบก บก. ต้องการพยายามผลักดันให้ผู้นำรัสเซียดำเนินการไปในทิศทางนั้น

ในเรื่องนี้ฟิงเกลวิเคราะห์ว่า ในขณะที่แหล่งข่าวสื่อรัฐบาลรัสเซียมักจะอื้อฉาวในเรื่องการอ้างอะไรเกินจริงอยู่แล้ว สื่อ เรีย นอวอสตี ก็ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซียอย่างมากและเป็นสื่อที่มักจะพยายามสะท้อนความคิดของทางการรัสเซียอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัสเซียอยู่ในสภาพที่สื่อรัฐบาลไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ถ้าหากไม่ได้รับการอนุญาตจากเบื้องบน

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าการพยายามอ้างว่าชาวยูเครน "เป็นนาซี" นั้นยังเป็นไปในแนวทางเดียวกับการโฆษณาชวนเชื่อของวลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงที่เริ่มต้นสั่งการให้มีการรุกรานยูเครนวันที่ 24 ก.พ. โดยในตอนนั้นปูตินแถลงอ้างว่าเขาต้องใช้กองกำลังรัสเซียเข้าไป "ปลดอาวุธ" และ "กวาดล้างนาซี" ในยูเครนซึ่งสื่อตะวันตกมองว่าข้อกล่าวหาต่อยูเครนเรื่องเป็นนาซีนั้นเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีมูลความจริงใดๆ

อดีตทูตแคนาดาในยูเครนที่ยังคงทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลยูเครนคือ โรมัน วาสชัก กล่าวว่าการใช้คำในสื่อรัสเซียทำให้เขากังวลว่ามันอาจจะกลายเป็น "ใบอนุญาตสั่งฆ่า" และเป็นหลักฐานที่เพียงพอจะบ่งบอกว่ารัสเซียมีเจตนาจะขจัดผู้นำที่มีชื่อเสียงในยูเครนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

"มันบ่งบอกว่าถ้าหากมีใครมองคุณว่าเป็นชาวยูเครนที่ไม่ดี คุณจะสามารถ 'แค่กำจัดพวกเขาทิ้ง' เพื่อความดีงามทางอุดมการณ์ได้" วาสชักกล่าว

วาสชักเปิดเผยอีกว่าเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาหน่วยงานข่าวกรองของชาติตะวันตกเคยพูดถึงที่รัสเซียมีบัญชีรายชื่อบุคคลที่พวกเขาต้องการจับกุมและต้องการสังหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พวกเขามองว่าจะมาขัดขวางแผนการของพวกเขาในยูเครน

ภาพจากทวิตเตอร์ Dmytro Kuleba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน


มีผู้จับตามองสื่อรัสเซียอีกคนหนึ่งมองว่าเป็นไปได้ที่บทบรรณาธิการในเชิงลดทอนความเป็นมนุษย์ของชาวยูเครนใน เรีย นอวอสติ จะได้รับการอนุญาตจากกลุ่มผู้นำรัสเซียให้ตีพิมพ์ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นจริงๆ คือการที่สื่อรัสเซียฉบับนี้กำลังพยายามหาความชอบธรรมให้กับสงครามยูเครน

ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือ คิริล มาร์ตินอฟ รองบรรณาธิการของสื่อ โนวายา กาเซตา สื่ออิสระในรัสเซียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด เมื่อหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนรัฐบาล รัสเซียก็ทำการปราบปรามสื่ออิสระจนทำให้มาร์ตินอฟต้องออกจากประเทศรัสเซียและปัจจุบันทำงานอยู่ในกรุงริกา ประเทศลัตเวีย มาร์ตินอฟบอกว่าบท บก. ดังกล่าวสะท้อนความเป็นลักษณะเฉพาะกิจของการรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซีย

"พวกเขา (รัฐบาลรัสเซีย) เริ่มสงครามโดยไม่มีเหตุผลอะไรและต่อมาพวกเขาก็ปั้นแต่งคำอธิบายอันแสนมหัศจรรย์ขึ้นมาเองว่าทำไมมันถึงจำเป็น ... ยิ่งสงครามดำเนินต่อไปยาวนานมากขึ้นเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งสรรหาคำอธิบายแบบหลุดโลกมาใช้มากขึ้นเท่านั้น" มาร์ตินอฟกล่าว

เซอร์กิเยฟ ผู้ที่เขียนบท บก. ที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งนี้ยังเคยเขียนข้อเขียนแบบสุดโต่งเกี่ยวกับยูเครนมาก่อนในสื่อแห่งเดียวกัน และมักจะปรากฏตัวเป็นนักวิเคราะห์ให้กับโทรทัศน์รัฐบาลรัสเซีย แต่เขาก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นคนที่มีชื่อเสียงในรัสเซีย

มาร์ตินอฟบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าบท บก. เช่นนี้ส่งผลกระทบทางความคิดต่อชาวรัสเซียมากน้อยแค่ไหน ดูจากที่สื่อรัฐบาลรัสเซียทำการสร้างภาพให้ยูเครนดูชั่วร้ายอยู่ตลอดเวลาและข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เกี่ยวกับสงครามในยูเครนก็ถูกแบน

จากผลสำรวจโพลของสถาบันเลวาดา ซึ่งเป็นสถาบันโพลรัสเซียที่มีข้อโต้แย้งอย่างมาก ระบุว่าปูตินได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 หนึ่งสัปดาห์หลังจากสงคราม แต่มาร์ตินนอฟก็เตือนให้ระวังเรื่องผลโพลของประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพราะผู้คนอาจจะตอบโพลด้วยความกลัวในเรื่องที่ว่าตัวเองจะไม่ปลอดภัยในที่ทำงานหรือครอบครัวของตัวเองจะไม่ปลอดภัย

นับตั้งแต่ที่รัสเซียทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ทำลายบ้านเมืองในมาริอูโปลและเชอร์นิฮีฟ ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ก็กล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียก่อการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และหลังจากกรณีการพบศพพลเรือนที่ถูกทารุณกรรมและถูกสังหารในวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาเขาก็พูดย้ำในเรื่องนี้และบอกว่ารัสเซียพยายามจะ "ทำลายประเทศ (ยูเครน) ทั้งประเทศ"

อย่างไรก็ตามฟิงเกลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์บอกว่า เขายังลังเลที่จะระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะนิยามของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือ "การกระทำที่มีเจตนาต้องการทำลายชาติพันธุ์, เชื้อชาติ หรือกลุ่มชนชาติ" และบอกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์เจตนาในเรื่องนี้

แต่ทว่าเมื่อพิจารณาจาก บท บก. จากสื่อฝ่ายรัฐบาลรัสเซีย รวมถึงถ้อยแถลงปฏิเสธอัตลักษณ์ชาวยูเครนทั้งจากปูตินและจากอดีตประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเยเดฟ ก็ทำให้ฟิงเกลมองว่ามันแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของพฤติกรรมและเป็นไปได้ที่จะแสดงให้เห็นถึงเจตนาในเชิงเอนเอียงไปในทางฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นโวหารจากฝ่ายรัฐบาลหรือการกระทำบนภาคพื้นดินของทหารรัสเซีย ฟิงเกลมองว่า "นี่ไม่ใช่แค่เรื่องกองกำลังบางหน่วยประพฤติผิดทางวินัย ... มันเป็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้น"

ในขณะที่การวิเคราะห์เจตนาของรัสเซียอาจจะไม่ได้ส่งผลโดยทันทีต่อสงครามที่กำลังเกิดขึ้น แต่วาสชักก็บอกว่ามันจะแสดงให้เห็นว่าการเจรจาหารือกับรัสเซียมีความยากลำบากมากขึ้น มันทำให้ข้อเสนอสันติภาพชั่วคราวในบางส่วนประสบผลได้ยากมากขึ้น กรณีการสังหารในบูชากลายเป็น "กำแพงทางอารมณ์ความรู้สึก" และทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นที่ประเทศตะวันตกจะผลักดันให้มีการยุติสงครามในยูเครน

 

 


เรียบเรียงจาก

A Kremlin paper justifies erasing the Ukrainian identity, as Russia is accused of war crimes, CBC, 05-04-2022
https://www.cbc.ca/news/world/kremlin-editorial-ukraine-identity-1.6407921

Killings in Ukrainian city of Bucha are 'clearly war crimes,' says Joly, CBC, 04-04-2022
https://www.cbc.ca/news/politics/joly-bucha-war-crimes-1.6407744
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net