Skip to main content
sharethis
  • กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประสาน กปร. กราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ รับ 15 โครงการไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
  • เม.ย.64 : ทรงรับโครงการไว้เป็น 'โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ' 
  • ส.ค.64 : ครม.อนุมัติงบ 9 โครงการ 490 ล้านบาท  
  • ธ.ค.64 : ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ลงพื้นที่ติดตามงานปรับภูมิทัศน์โครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จ
  • ย้อนดูโครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ต.หนองฝ้าย จ.กาญจนบุรี

จากเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ 'หน่วยราชการในพระองค์' รายงานว่า วันดังกล่าว (3 เม.ย.) เวลา 16.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพื่อประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

เม.ย.64 : ทรงรับโครงการไว้เป็น 'โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ'

รายงานของเว็บไซต์ 'หน่วยราชการในพระองค์' ดังกล่าว ซึ่งตรงกับที่เว็บไซต์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงาน โดยระบุรายละเอียดโครงการไว้ด้วยว่า 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พิจารณาพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จึงมีความจำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พร้อมกับก่อสร้างระบบประปาบาดาลในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยจัดทำโครงการต้นแบบจำนวน 2 พื้นที่ คือ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น และโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพื้นที่อำเภอเลาขวัญเป็น 1 ใน 5 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาเป็นเวลาหลายปี เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ไม่มีแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร จึงเหมาะสมที่จะเป็นโครงการต้นแบบในโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการต้นแบบที่มีการก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ ทำการเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล มีถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดัน ขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง มีอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำบาดาลและจุดบริการน้ำดื่มสะอาด พร้อมสร้างแนวท่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในตำบลหนองฝ้าย เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 58,000 คน 11,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ได้ประมาณ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ยังส่งน้ำไปยังตำบลอื่นๆ ในอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้มีน้ำต้นทุนสำหรับทำระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนสืบไป

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลประสาน กปร. กราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ รับ 15 โครงการไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อ ปลายเดือน ส.ค. 64 มติชนออนไลน์ และเดลินิวส์ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการที่ตรงกันว่า ต้นปี 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ประสานงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี พร้อมนำเสนอแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง และอยู่นอกเขตชลประทานโดยใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก 

ต่อมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลให้ดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง จำนวน 6 โครงการ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และอยู่ระหว่างการนำเสนอแผนงานโครงการอีกจำนวน 9 โครงการ เพื่อรอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งในระหว่างนี้ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กปร. ว่า ได้มีหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ 15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว

15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง 

ธ.ค.64 : ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ลงพื้นที่ติดตามงานปรับภูมิทัศน์โครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จ

เมื่อ 27 ธ.ค.64 เว็บไซต์กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รายงานว่า 26 ธ.ค.64 จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามงานปรับภูมิทัศน์โครงการสำรวจศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร ที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลแก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคและน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อเตรียมความพร้อมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดโครงการฯ ในปี 2565 โดยมี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สุรินทร์ วรกิจธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล เกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล ทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรี และคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ และรายงานการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่และความก้าวหน้าการดำเนินงานปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่ถนนรอบโครงการ และการจัดทำแปลงเกษตรสาธิต

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีปริมาณน้ำบาดาลจากบ่อผลิต จำนวน 8 บ่อ ที่ความลึกเฉลี่ย 200 ม. ให้ปริมาณน้ำเฉลี่ยรวม 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี คุณภาพน้ำได้มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้ มีประชากรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 9 หมู่บ้าน รวม 5,786 คน หรือ 1,856 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 3,000 ไร่

ส.ค.64 : ครม.อนุมัติงบ 9 โครงการ 490 ล้านบาท  

รายงานของทั้ง 2 เว็บไซต์ข้างต้นระบุด้วยว่า ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 ได้อนุมัติโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 9 โครงการ วงเงินงบประมาณ 490 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565

โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ต.หนองฝ้าย

ข้อมูล ประกวดราคาจ้างก่อสร้างก่อสร้างระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่ โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี (ระยะที่ 2) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานที่ประกาศ จากเว็บไซต์ actai.co ซึ่งมีวงเงินสัญญา 116,500,000 บาท 

TOR ของการจ้างก่อสร้างระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่ฯ

ซึ่งประกวดราคาดังกล่าว ในเอกสารขอบเขตงานหรือ TOR ของการจ้างก่อสร้างระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่ โครงการดังกล่าว ระบุความเป็นมาเพียงว่า "ตามที่สำนักพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรีได้พิจารณาจัดทำโครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม  ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี (ระยะที่ 2) โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพด้านน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ได้และสามารถส่งไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและมีศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลต่ำโดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ อันจะส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใประโยชน์ได้สูงสุดในเชิงปฏิบัติในระดับพื้นที่ต่อไป

ภาพตัวแบบถังเก็บน้ำในเอกสารโครงการศึกษาสำราจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึกในสภาพพื้นที่หินแปร เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี (ระยะที่ 2)

ทั้งนี้จากการค้นคำว่า "โครงการศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก ในสภาพพื้นที่หินแปรเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งสนับสนุนการอุปโภคบริโภค ตำบลหนองฝ้าย" ใน เว็บไซต์ actai.co พบการประกาศจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว 90 รายงาน ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล งบประมาณรวม 126,427,219.00 บาท ช่วงระหว่าง 4 ธ.ค.2563 - 13 ม.ค. 2565 ซึ่งมีรายการตั้งแต่ จ้างก่อสร้างก่อสร้างระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกลขนาดใหญ่ จ้างบุคคลภายนอกมาปฏิบัติงานด้านต่างๆ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซื้อวัสดุก่อสร้างบ่อบาดาล ซื้อหัวเจาะบ่อบาดาล ซื้ออะไหล่เครื่องจักรเจาะบ่อบาดาล ซื้อวัสดุสำนักงาน จ้างซ่อมอุปกรณ์ประกอบการเจาะบ่อน้ำบาดาล จ้างซ่อมเครื่องอัดอากาศ จ้างจัดทำรั้วรอบบ่อสังเกตการณ์ จ้างซ่อมรถยนต์  จ้างเหมาบริการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรม จนถึงจ้างทำเสื้อโปโลพิมพ์ลาย (สี) จำนวน 350 ตัว จ้างจัดทำกระเป๋าผ้าอเนกประสงค์ จำนวน 2,000 ใบ 

สำหรับความหมายของ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” นั้น เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) อธิบายไว้ใน "ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" http://www.rdpb.go.th/th/Projects/ลักษณะของโครงการ-c53 ว่าหมายถึง "เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงการตามพระราชดำรินี้ในปัจจุบันเรียกว่า“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น และระยะเวลายาวที่มากกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น"

ขณะที่ หนังสือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ของ ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ ที่เผยแพร่ 2550 โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ระบุแหล่งที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีแหล่งที่มาที่สำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่ 1. การพระราชทานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2. การถวายฎีกาของราษฎร และ 3 การเสนอขอพระราชทานเป็นโครงการในพระราชดำริของหน่วยงานราชการ โดยที่หน่วยงานราชการก็เป็นผู้เสนอขอโครงการพระราชดำริมายังสำนักงาน กปร. เนื่องจากข้อจำกัดการสนับสนุนด้านงบประมาณหรือหากต้องการผลักดันให้โครงการดำเนินได้อย่างรวดเร็ว หรือในกรณีที่เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและไม่สามารถดำเนินการภายใต้โครงสร้างของหน่วยงานได้ หรือการร้องขอข้ามหน่วยงานทำให้โครงการมีความล่าช้ก็จะดำเนินการเสนอโครงการผ่านสำนักงาน กปร. เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติเป็นโครงการพระราชดำริก็จะทำโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ มีความสะดวกรวดเร็ว

หมายเหตุ วันที่ 8 เม.ย.2565 เวลา 0.52 น. ประชาไทดำเนินการเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนท้ายรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net