Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวเอพี รายงานเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวพม่าบริเวณริมน้ำเมยชายแดนไทย ชีวิตริมน้ำที่น่าสะพรึงกลัวของผู้ลี้ภัย ระหว่างสองประเทศที่ประเทศหนึ่งไม่ต้องการพวกเขา และอีกประเทศที่ทหารสามารถฆ่าพวกเขาได้

ที่พักอาศัยชั่วคราว บริเวณริมน้ำเมยของผู้ลี้ภัย

8 เม.ย. 2565 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพี รายงานเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวพม่าบริเวณชายแดนไทย – พม่า เฮย์ หญิงสาวจากพม่าและครอบครัวหนีภัยความไม่สงบจากประเทศบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ริมน้ำเมยบริเวณชายแดนไทย ระหว่างประเทศที่ไม่ต้องการพวกเขากับประเทศที่ทหารสามารถฆ่าพวกเขาได้

เช่นเดียวกับคนอื่นอีกหลายพันคนที่รู้สึกได้ถึงความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นหลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ในปีที่ผ่านมา เฮย์ระบุว่า เธอออกจากหมู่บ้านและเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อค้นหาสถานที่หลบภัยที่ไม่มีอยู่จริง การกลับไปพม่าอาจจะทำให้เธอและครอบครัวเสี่ยงตายได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองก็เป็นห่วงความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพพม่า และส่งคนมาบอกให้ผู้ลี้ภัยบริเวณนี้กลับไปอาทิตย์ละครั้ง

“เมื่อพวกเขาบอกให้พวกเรากลับไป เราร้องไห้และพยายามอธิบายให้เขาฟังว่า ทำไมเราถึงกลับบ้านไม่ได้” เฮย์กล่าวขณะอยู่ในเต็นท์ริมน้ำเมยที่กั้นระหว่างสองประเทศ บางครั้งเธอตอบโต้เจ้าหน้าที่ด้วยการข้ามกลับไปฝั่งพม่า แต่เธอไม่เคยกลับไปหมู่บ้านเลยจนถึงตอนนี้

 

แม้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจะห้ามไม่ให้ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ แต่ประเทศไทยยังส่งผู้คนที่หนีภัยความรุนแรงจากพม่ากลับไปยังประเทศต้นทาง เฮย์และผู้ลี้ภัยคนอื่นต้องข้ามแม่น้ำไปมาระหว่างสองประเทศในขณะที่ความรุนแรงในพม่ายังไม่จบลง

แซลลี ทอมป์สัน จาก The Border Consortium ซึ่งทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวพม่าในไทยกล่าวว่า “นี่คือเกมปิงปอง คุณไม่สามารถข้ามชายแดนไปได้ แต่คุณต้องพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งพม่าไม่ปลอดภัยแน่นอนในเวลานี้”

นับตั้งแต่มีการรัฐประหารกองทัพพม่าเข่นฆ่าประชาชนไปกว่า 1,700 คน ถูกจับกุมอีก 13,000 คน รวมไปถึงยังมีการทรมานอย่างเป็นระบบที่กระทำต่อเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย

ด้าน สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากซึ่งดูแลพื้นที่ริมน้ำเมยชายแดนไทย - พม่า กล่าวว่า หลายคนเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แม้ไม่มีการสู้รบ “เราต้องส่งพวกเขากลับไปตามที่กฎหมายกำหนด” สมชัยยังกล่าวต่ออีกว่า “เมื่อพวกเขาเผชิญกับภัยความรุนแรงและข้ามมาที่นี่ เราไม่เคยปฎิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ”

ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ลี้ภัยชาวพม่าประมาณ 17,000 คน ที่ต้องเข้ามาหาพื้นที่ปลอดภัยในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร ขณะที่ศูนย์บัญชาการชายแดนไทย – พม่า ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยเพียง 2,000 คนเท่านั้นที่อยู่ในประเทศไทย

แม้จะที่มีการหยุดสู้รบบ้างเป็นพักๆ แต่ผู้ลี้ภัยระบุว่า การสู้รบในพม่าเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และชีวิตที่บริเวณริมน้ำก็น่าสะพรึงกลัวเช่นกัน

“ที่นี่อยู่ไม่ไกลเขตสงคราม” กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงกล่าว ผู้สูงอายุและเด็กมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนักในเต็นท์ชั่วคราว การเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากสภาพอย่างเดียว แต่ยังมาจากโควิด-19 ด้วย

ที่ฝั่งไทยเต็นท์ของเฮย์แทบกันแดดกันฝนไม่ได้ อาหารและของใช้อื่นๆ เป็นของหายาก เนื่องจากทางการไทยไม่อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าถึงผู้ลี้ภัย

ทางการไม่ต้องการรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ลี้ภัยชาวพม่าในไทย เพราะนั้นอาจจะทำให้กองทัพพม่าไม่พอใจ แพทริค พงศ์สาธร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กร Fortify Rights กล่าวว่า “กองทัพไทยต้องการควบคุมสถานการณ์ พวกเขาสนิทกับผู้นำทางทหารของพม่ามาก”

วิน นักศึกษาเคมี อายุ 23 ปี ที่อาศัยอยู่ริมน้ำเมยฝั่งพม่าเล่าว่า เขามักจะเดินข้ามน้ำมาเอาอาหารจากฝั่งไทยกลับไปที่แคมป์ฝั่งพม่าที่เขาอาศัยอยู่กับผู้ลี้ภัยคนอื่นอีก 300 คน พวกเขามีชีวิตรอดแบบตามมีตามเกิด

“ฉันต้องการกลับบ้าน” วินกล่าว “ฉันไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว”

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Despite risk of death, Thailand sends Myanmar refugees back

https://apnews.com/article/only-on-ap-united-nations-indonesia-thailand-myanmar-8bbcfce8619ac87f4054de1bd69e072c

 

ยอดผู้หนีภัยจาก ศูนย์สั่งการชายแดนไทย - เมียนมา จ.ตาก ตามประกาศฉบับที่ 52 ประจําวันที่ 7 เม.ย. 2565

ปัจจุบัน ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา เดินทางเข้ามายังฝั่งไทย จำนวน 1,982 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จำนวน 5 แห่ง คือ

-บ้านห้วยน้ำนัก ต.พบพระ อ.พบพระ ยอดคงเหลือ 67 คน

-บ้านเซอทะ ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง ยอดคงเหลือ 708 คน

-บ้านหนองหลวง ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง ยอดคงเหลือ 260 คน

-บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ยอดคงเหลือ 817 คน

-บ้านไม้ระยองคี ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ยอดคงเหลือ 128 คน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net