Skip to main content
sharethis

ศอ.บต.หารือกระทรวงแรงงาน เตรียมส่งแรงงานชายแดนใต้ทำงานที่ซาอุฯ

8 เม.ย. 2565 ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุมแนวทางการสนับสนุนความร่วมมือด้านแรงงานไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด ประกันสังคม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศิษย์เก่าที่จบจากต่างประเทศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม

สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 2 ฉบับ ทั้งการจัดหาแรงงานทั่วไปและแรงงานในบ้าน ระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และทางซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานในภาคบริการสุขภาพ งานดูแลผู้ป่วยและงานดูแลผู้สูงอายุ ภาคอุตสาหกรรม งานช่าง วิศวกร ภาคท่องเที่ยว โรงแรม นวดสปา และเชฟแรงงานในด้านฝีมือ รวมทั้งผู้ที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ โดยจะเน้นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงในด้านศาสนา และวัฒนธรรม ศอ.บต. จึงได้จัดการประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ ในส่วนของ ศอ.บต. ได้สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มแรงงานไทยที่เคยอาศัยหรือทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบียและเดินทางกลับภูมิลำเนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มนักศึกษาที่จบการศึกษาจากประเทศซาอุดีอาระเบียและในประเทศแถบตะวันออกกลาง กลุ่มนักศึกษาที่จบการศึกษาในประเทศไทย หลักสูตรภาษาอาหรับ หรือหลักสูตรที่สามารถสื่อสารภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษได้ กลุ่มแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มนักศึกษาที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพจากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์ไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จำนวนแรงงานที่ทางประเทศซาอุดีอาระเบียต้องการมีค่อนข้างมาก ในส่วนของจำนวนตัวเลขประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องที่กลับจากประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงโควิดที่ผ่านมา ตัวเลขไม่น้อยกว่า 4,000 คน รวมทั้งศิษย์เก่าที่จบจากต่างประเทศ น้องๆ ที่จบภาษาอาหรับและอีกหลายกลุ่ม จำนวนตัวเลขต่างๆ ขณะนี้กำลังเร่งทำรายละเอียดเพื่อให้ได้จำนวนที่แน่นอน หลังจากนี้ไปอีก 1 สัปดาห์จะได้ตัวเลขที่ชัดเจน โดยจะมีความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการแรงงาน ประเภท ระดับ และผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงาน ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่จะส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ มีงานทำ เป็นความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่ต้องการจะส่งเสริมให้คนไทยได้มีงานที่ใช้ทักษะและมีค่าตอบแทนสูง

นอกจากนี้ ศอ.บต. จะทำหน้าที่รับประสานและสื่อสารในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสารผ่านบัณฑิตอาสา และบัณฑิตแรงงานของกระทรวงแรงงานเพื่อลงพื้นที่สำรวจประชาชนทุกพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงานในทุกช่วงวัยและจะดำเนินการสำรวจถึงความเหมาะสมในด้านทักษะวิชาชีพและความรู้ความสามารถ โดยผู้ที่สนใจแต่ยังขาดทักษะ จะส่งแรงงานเหล่านี้ไปฝึกวิชาชีพก่อนจะส่งไปทำงานยังประเทศซาอุดีอาระเบียต่อไป

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ตามที่ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามความตกลงความร่วมมือด้านแรงงานกับนายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบียจำนวน 2 ฉบับ ทั้งการจัดหาแรงงานทั่วไปและแรงงานในบ้าน ระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมานั้น

และทางซาอุฯ มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือในสาขาช่างฝีมือในอุตสาหกรรมก่อสร้าง พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ซึ่งในวันนี้กระทรวงแรงงานได้รับการประสานจาก ศอ.บต. เพื่อมาประชุมหารือในการเตรียมความพร้อมของแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะจัดส่งไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องลงทะเบียนกับศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยคนหางานต้องแจ้งข้อมูลที่สำคัญ เช่น ประเทศที่ต้องการจะเดินทางไปทำงาน ตำแหน่งงานที่ต้องการทำ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (e-Service) ทางเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th หรือโทร.สอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การหารือกับ ศอ.บต.และผู้นำแรงงานในวันนี้เพื่อรับทราบข้อมูลแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานส่วนใหญ่มีทักษะฝีมือความถนัดด้านใดบ้าง สอดคล้องกับความต้องการของซาอุฯ หรือไม่ หากทักษะฝีมือไม่ตรงกับความต้องการก็จะมีการ Up - Skill/Re - Skill ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การฝึกอบรม โดยเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือภาษาอาหรับ นวดแผนไทย นวดสปา การประกอบอาหาร ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า และช่างเชื่อม

ทั้งนี้ การฝึกอบรมจะเน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ตลอดจนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานก่อนไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่มีมาตรฐานและเป็นธรรม เน้นบูรณาการข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานกับกรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการฝึกได้ตรงกับความต้องการของนายจ้างในต่างประเทศ โดยผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการสมัครเพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดีอาระเบียสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://toea.doe.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 8/4/2565

เผย บ.ทรินา โซลาร์ ให้ พนง.ประจำหยุดงาน 6 เดือน รับเงิน 75% - ส่งคืนซับคอนแทรคให้บริษัทรับเหมา

สืบเนื่องจากกรณีที่มีคลิปการปลดพนักงานแห่งหนึ่งว่อนทั่วโซเชียล กับเหตุการณ์ บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย)ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ยะยอง ออกมามาปลดพนักงานซับคอนแทรคกลางอากาศจำนวนมาก ซึ่งผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า "ตกงานโดยไม่ได้ตั้งตัว นี่หรอโรงงานในฝัน #สาวหนองบัวลำภู #สาวอมตะซิตี้ระยอง"

กระทั่งต่อมา ได้มีการเปิดเผยถึง สาเหตุของการปลดพนักงานซับคอนแทรคนับ 400 กว่าชีวิตว่า ทางบริษัทมีการเพิ่มเครื่องจักรฝ่ายผลิตจาก 540 วัตต์ เป็น 600 วัตต์ และมีการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักรจึงเป็นเหตุให้ต้องสั่งหยุดการผลิตและจะกลับมาเริ่มผลิตใหม่หลังปี 65 หากใครเป็นพนักงานประจำทางบริษัทยังคงจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์

ส่วน 400 กว่าชีวิตที่ต้องตกงานเป็นพนังงานซับไม่ได้ขึ้นตรงกับบริษัท เมื่อรู้ข่าวจึงคอตกตามๆ กันเนื่องจากตกงานโดยไม่รู้ตัว ขณะที่พนักงานของ บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง โดยก่อนหน้านี้ บริษัทได้ยกเลิกพนักงานสัญญาจ้างหลายราย

ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานว่า กระทรวงแรงงานได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าตรวจสอบหลังจากที่ บริษัท ทรินา โซลาร์ ปลดพนักงานก่อนช่วงสงกรานต์ ซึ่งพบว่า บริษัทมีลูกจ้างทั้งหมด 886 คน เป็นลูกจ้างโดยตรง 567 คน ลูกจ้างบริษัทรับเหมาอีก 319 คน

โดยที่บริษัทได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% เนื่องจากบริษัทไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหลักในการผลิตแผ่นโซลาร์และแผงโซลาร์ได้ อันเนื่องจากการอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษี

ในส่วนของการเลิกจ้างนั้น บริษัทไม่ได้เลิกจ้างลูกจ้างของบริษัท ส่วนลูกจ้างจากบริษัทรับเหมา 319 คน บริษัทได้ส่งคืนให้บริษัทรับเหมา 3 แห่งคือ บริษัท เจ.เค.จี ซับคอนแทรด เซอร์วิส จำกัด, บริษัท เอชอาร์ ไดเจสท์ จำกัด, บริษัทซีคเกอร์ เซอร์วิส อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และบริษัทรับเหมายังไม่ได้เลิกจ้างลูกจ้างแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า จะมีการส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าไปพูดคุยกับทางบริษัท ทรินา โซลาร์ และบริษัทรับเหมาอีก 3 แห่ง เพื่อให้มีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง ซึ่งจะมีการนัดชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมวันที่ 8 เม.ย. 2565

ที่มา: TNews, 7/4/2565

สมุทรสาครยกเลิกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ สงกรานต์นี้ไปไหนก็ได้ถ้าทำตามระเบียบ

7 เม.ย. 2565 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ผู้กำกับการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ประกาศคำสั่ง จ.สมุทรสาคร ที่ 918/2565 ฉบับที่ 106 เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยคำสั่งดังกล่าวมีใจความระบุว่า ความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 จึงมีคำสั่งดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่ง จ.สมุทรสาคร เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ จำนวน 3 ฉบับ

2.ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ เว้นแต่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างชาติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และได้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ดังนี้

2.1 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อมีการทำกิจกรรม หรือใกล้ชิดบุคคลอื่น หรือเดินทางออกนอกเคหสถาน

2.2 เว้นระยะห่าง (Social distancing) จากบุคคลอื่น ไม่น้อยกว่า 2 เมตร

2.3 สถานประกอบการมีจุดคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานประกอบการ อาคาร สถานที่ทำงาน หรือสถานที่จัดกิจกรรม

2.4 สถานประกอบการต้องจัดให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) เป็นห้วงเวลาอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 15 วัน หรือทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน

2.5 สถานประกอบการต้องจัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในทุกพื้นที่ของสถานประกอบการ แรงงานข้ามชาติและสถานประกอบการที่ได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สมุทรสาคร ในการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ

3.บรรดาคำสั่ง ประกาศหรือหนังสือใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งฉบับนี้แทน

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ที่มา: Ch7HD, 7/4/2565

กรมการจัดหางานยันไทยมีความพร้อมแก้แรงงานต่างด้าวขาดแคลน ส่งดีมานด์นำเข้าตาม MOU แล้วเกือบ 1.5 แสนคน และผ่อนผันให้แรงงานเดิมอยู่ต่อ

วันที่ 6 เม.ย. 2565 จากกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการตั้งขอสังเกตถึงกระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติว่ามีความพร้อมและความรวดเร็วเพียงพอหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีการบริหารจัดการอย่างป็นระบบ และคำนึงถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง สถานประกอบการ และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กระทรวงแรงงานโดยการนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น มุ่งแก้ปัญหาพร้อมกัน 2 มิติ คือ

1. การเปิดให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU

ล่าสุดมีการยื่นดีมานด์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวคนตามระบบ MOU แล้ว 167,961 คน โดยแบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 117,029 คน กัมพูชา 38,933 คน และลาว 11,999 คน มีการอนุญาตตามคำร้องและส่งให้ประเทศต้นทางรวม 144,709 คน ซึ่งแรงงานสัญชาติกัมพูชาและลาวมีการทยอยเข้ามามาทำงานตาม MOU แล้วอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 6 พันคน

อย่างไรก็ดีแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาซึ่งเป็นที่ต้องการของนายจ้างมากที่สุด ยังคงติดอุปสรรคด้านความพร้อมในการจัดส่งแรงงานจากผลกระทบความไม่สงบภายในประเทศเมียนมา ซึ่งการนำเข้าแรงงานข้ามชาติถือเป็นความร่วมมือ 2 ฝ่าย ทั้งประเทศไทย และประเทศต้นทางของแรงงาน ดังนั้น ฝ่ายไทยไม่สามารถแก้ไขให้ได้

2. การผ่อนผันอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 2,132,469 คน สามารถขออนุญาตทำงานและขออยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ

เป็นทั้งการรักษาจำนวนแรงงานที่มีอยู่ในประเทศ และเพิ่มจำนวนแรงงานไปพร้อมกัน ส่วนการตั้ง One Stop Service ณ ประเทศต้นทาง เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะเกี่ยวข้องถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ)

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า ขอความร่วมมือนายจ้างหรือสถานประกอบการที่คิดจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ให้คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่จ้างแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย

“กรมการจัดหางานมีกระบวนการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมาตรการใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก โดยมีการวางแผนให้ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวในระบบการทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566

ซึ่งคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องหลบซ่อน มีสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานไม่ต่างจากคนไทย” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/4/2565

รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้างเหมาค่าแรง จ.ระยอง สั่ง กสร. ตรวจสอบหากพบมีการเลิกจ้างให้ช่วยเหลือทันที

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงกรณีตามที่มีข่าวในสื่อออนไลน์ว่าโรงงานดังย่านอมตะซิตี้ปลดพนักงานซับคอนแทรค ส่งผลทำให้ลูกจ้างตกงานนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที พบว่า บริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 7/496 หมู่ 6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดงจ.ระยอง มีลูกจ้างรวม 886 คน เป็นลูกจ้างของบริษัท โดยตรง 567 คน ลูกจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรง 319 คน บริษัทได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับเนื่องจากบริษัทไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหลักในการผลิตแผ่นโซลา และแผงโซลาร์จากประเทศคู่ค้าที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบภาษีได้ และ ยังไม่มีการเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัทแต่อย่างใด สำหรับลูกจ้างรับเหมาค่าแรง จำนวน 319 คน ได้มีการส่งคืนให้กับบริษัทรับเหมาค่าแรง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจ.เค.จี ซับคอนแทรด เซอร์วิส จำกัด บริษัท เอชอาร์ ไดเจสท์ จำกัด และบริษัทซีคเกอร์ เซอร์วิส อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งขณะนี้บริษัทรับเหมาค่าแรงดังกล่าวยังไม่ได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัท ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบมีการเลิกจ้างก็จะดำเนินการช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายทันที

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ส่งพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง เข้าตรวจสอบพร้อมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายด้านแรงงานกับบริษัท ทรินา โซลาร์ ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทรับเหมาค่าแรงทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้บริษัทมีความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ได้มีการนัดพบบริษัทเพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2565

ที่มา: New18, 6/4/2565

รัฐบาลเอาจริง พักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ระหว่างการสอบสวนความผิดร้ายแรง ล่วงละเมิดทางเพศ ทุจริต ยาเสพติด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน เรื่อง การกระทำความผิดของข้าราชการ กรณีชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศ และการใช้สื่อออนไลน์ในการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ หากพบกระทำการผิดและมีหลักฐานเพียงพอ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมของข้าราชการ นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก กำชับให้ดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด หากพบข้าราชการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมร้ายแรง โดยมีหลักฐานชั้นต้นเพียงพอ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการสอบสวน

คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพคุรุสภา (กมว.) ได้มีมติดำเนินการกับครู อาจารย์ที่กระทำความผิดในลักษณะล่วงละเมิดทางเพศตามเงื่อนไข เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพครูหรือผู้บริหารแล้ว มติ กมว.ให้พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ในระหว่างที่ผลการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จได้ ในกรณีที่เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณร้ายแรงที่เป็นที่ประจักษ์ หรือมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยแรงร้ายแล้ว เห็นได้ว่ามีเหตุให้สามารถพักใช้ใบอนุญาตฯ ไว้ก่อนได้

การพักใบอนุญาตฯ ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องการละเมิด หรืออนาจารทางเทศเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงความผิดเรื่องยาเสพติดและความผิดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ซึ่งถือว่าล้วนแล้วแต่เป็นความผิดร้ายแรง สามารถดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ต่อไป หรืออาจจะพักใช้ใบอนุญาตฯ แล้วแต่ผลการสอบสวนตามความรุนแรงของการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ

นางสาวรัชดาฯ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำต้องทำโรงเรียนให้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก บุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ หากพบว่าประพฤติตัวไปในทางที่เสื่อมเสีย สร้างความเสียหายให้กับแบบพิมพ์ที่ดีของชาติ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องรีบจัดการ หวังให้บุคลากรทางการศึกษาเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นบุคลากรที่มีคุณค่า เป็นที่เคารพและศรัทธาของลูกศิษย์ตลอดไป

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 6/4/2565

สงกรานต์ 2565 เครือข่ายแรงงาน จี้ตรวจ ATK เข้ม ก่อนกลับบ้าน-เข้าทำงาน วอน ก.แรงงาน ดูแลสิทธิลาป่วย ติดโควิด-19 เป็นธรรม

5 เม.ย. 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” พร้อมแสดงละครสั้น “สงกรานต์ ลดเสี่ยงโควิด-19” โดยทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “สงกรานต์ลดเสี่ยงโควิด-19 ชีวิตต้องไปต่อ” ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิทธิทางสุขภาพแรงงาน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สงกรานต์ ปี 2565 คาดการณ์ว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา และอาจมีกิจกรรมตั้งวงดื่มเหล้า หลังเริ่มมีการผ่อนผันมาตรการ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 สสส. และภาคีเครือข่าย จึงรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่กับรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนถนน เดินหน้าส่งเสริมความเข้าใจเรื่องวัคซีนกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ระบบบริการสุขภาพมีปัญหาขั้นวิกฤต เพราะวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค และภาวะ “ลองโควิด” ที่อาจทำให้สมรรถนะร่างการเปลี่ยนไปได้

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเตรียมประกาศ และปรับมาตรการโควิด-19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นสถานะ "โรคประจำถิ่น" (Endemic) หรือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คาดการณ์ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 โดยจะต้องดูตามสถานการณ์ ซึ่ง สสส. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ เมื่อโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ครั้งนี้ด้วย

“สงกรานต์ปีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการรับมือกับโควิด-19 ที่เตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น สสส. ยืนยันว่า จะเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องการดูแลและป้องกันตนเอง สู่วิถีชีวิต New Normal บนความปกติใหม่ และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และจะเน้นย้ำเรื่องการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มไม่ขับ และฝากถึงทุกคนไม่ให้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ชุมชน สังคมจะได้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้และมีสุขภาวะดีไปด้วยกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน น.ส.ศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่คนทำงานในโรงงานไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเต็มจำนวน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือเข้าถึงการรักษาลำบาก โดยเฉพาะมาตรการ Factory sandbox ที่นายจ้างออกข้อกำหนดว่า คนติดเชื้อมาจากข้างนอก จะถูกตีเป็นการลาป่วยทั่วไป ไม่ใช่การลาป่วยพิเศษจากโควิด-19 มีผลต่อการปรับขึ้นโบนัส เบี้ยขยัน ที่น้อยลงหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานกังวล จึงคาดการณ์ว่าก่อนและหลังสงกรานต์จะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนองค์กรชุมชน ตั้งจุดตรวจ ATK ก่อนเข้าบ้าน และหลังกลับมาทำงาน พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง โดยขอให้กระทรวงแรงงานเข้ามาดูแล ออกประกาศไม่ให้มีการเอาการติดเชื้อโควิดมาเป็นเงื่อนไขในการหักสิทธิสวัสดิการต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ในระยะอันใกล้ ที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะมีความรุนแรงน้อย คนทำงานสามารถพักรักษาตัวได้ในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และกลับมาทำงานได้ในเวลาอันสั้น

ขณะที่ น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ต้องแยก 2 ส่วน คือ 1.ชุมชนที่ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้ค่อนข้างมีความเข้าใจ และ 2.ประชาชนในชุมชนที่มีความรู้ แต่เป็นความรู้ปนความกลัว เพราะรับสารจากสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะการบอกว่า โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พบว่าหลายคนยังเข้าใจไม่มากพอ กลัวเสียเงิน หรือต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น จึงเสนอให้ภาครัฐสื่อสารและเตรียมความพร้อมให้ประชาชน เช่น การป้องกันตัวผ่านสื่อที่น่าเชื่อถือ อธิบายการรักษาได้อาการสีเขียวอยู่บ้าน อาการสีเหลืองสีแดงสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง รวมถึงให้ความรู้ภาวะลองโควิด และอยากให้ออกระเบียบบังคับตรวจ ATK ในสถานการณ์ที่จำเป็น เพื่อลดภาคีแรงงานและประชาชนในการซื้ออุปกรณ์มาตรวจ

นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ชุมชนวัดอัมพวาเป็นชุมชนใหญ่ มีประชากร 7-8 พันคน คนในชุมชนมีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า เล่นการพนัน ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชนจำนวนมาก โดยที่ชุมชนต้องดูแลกันเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่มีเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาดรุนแรงทำให้คนกลัวและหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอน คนเริ่มไม่กลัว มีพฤติกรรมตั้งวงดื่มเหล้า พนัน บางคนพยายามทำตัวเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อได้เงินประกัน หลายครั้งที่เข้าไปตักเตือนจนเกิดการทะเลาะวิวาท อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการระบาดของเชื้อมากขึ้นนั้น ปีนี้ทางชุมชนจึงงดจัดกิจกรรมบันเทิง แต่มีการทำบุญถึงคนเสียชีวิต เพื่อเยียวยาจิตใจให้กับผู้สูญเสียในชุมชน

สุดท้าย น.ส.วงจันทร์ จันทร์ยิ้ม อาสาสมัครเคหะชุมชนคลองเก้า กล่าวว่า สูญเสียคนในครอบครัวจากโรคโควิด -19 ตั้งแต่ระลอกเชื้อเดลตาระบาด ซึ่งขณะนั้นการให้การดูแลช่วยเหลือโดยหน่วยงานรัฐ และอสส.ในพื้นที่ถือว่ามีปัญหา ไม่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเอง และได้ภาคีเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือข้าว น้ำ รวมถึงยาจำเป็น กระทั่งปัจจุบันที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ปัญหาก็ยังวนอยู่แบบเดิม คือไม่มีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือ เช่น โทรไปสำนักงานเขต ก็เพียงแต่รับข้อมูลและทำบันทึกสถิติเท่านั้นไม่ได้ช่วยเหลือให้เข้าสู่กระบวนการรักษา การเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นไปได้ยาก บางคนติดจนหายยังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หรือเข้ามาในลักษณะควบคุม คือไม่ได้ช่วยเหลืออะไร

ที่มา: ThaiCH8, 5/4/2565

ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงแรงงาน ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33 ม.39 เดือน พ.ค. 2565

5 เม.ย. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ลดอัตราเงินสมทบ 3 เดือน ดังนี้

กรณี ม 33 นายจ้างและลูกจ้าง จ่ายเงินสมทบกองทุน ฯ เหลือ ฝ่ายละร้อยละ 1 จากเดิมร้อยละ 5

กรณี ม 39 จากเดิมร้อยละ 9 ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท (เดือนละ 432 บาท) ให้เหลือร้อยละ 1.9 หรือ เดือนละ 91 บาท

มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.- 31 ก.ค. 2565

ทั้งนี้ การลดอัตราเงินสมทบ 3 งวดนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 34,023 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลงเป็นเงิน 18,085 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายเงินลดลงเป็น 15,938 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกันตน ทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย เสริมสภาพคล่องได้ประมาณ 1,000 – 1,800 บาทต่อคน ขณะเดียวกันนายจ้างก็มีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้ง รัฐบาลได้ใช้กลไกของกองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ประกันตนและต้นทุนการผลิตให้แก่นายจ้าง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป เท่านั้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2565

สนค. เผยเงินเฟ้อมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี

5 เม.ย. 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค. 2565 เท่ากับ 104.79 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.73% สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2551

และเพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 65) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% พร้อมกันนี้ สนค. ยังได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2565 ใหม่เป็นอยู่ที่ 4-5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.7-2.4%

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้น มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% รวมถึงสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ผักสด เพิ่ม 9.96% เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) เพิ่ม 5.74% ไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 6.08% เครื่อง

ประกอบอาหาร เพิ่ม 8.16% อาหารบริโภคในบ้าน เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 6.28% และอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เพิ่ม 6.15% โดยปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น

ส่วนสินค้าที่ปรับราคาลดลง เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 4.15% ผลไม้สดบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยหอม ลด 3.27% การบันเทิง การอ่านและการศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ลด 0.89% และเครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดสตรีและบุรุษ ลด 0.18%

นอกจากนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. 2565 มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น เพราะผลกระทบจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น และยังมีสงครามคู่ขนาน ที่หลายประเทศคว่ำบาตร รวมทั้งการปรับเพิ่มขึ้นของก๊าซหุงต้ม ที่ต้องจับตาดูว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และยังมีความผันผวนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และต้นทุนสินค้าหลายรายการที่สูงขึ้น

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มที่เงินเฟ้อสูงขึ้น สนค.ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ใหม่ จากเดิมอยู่ในกรอบ 0.7-2.4% ค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ที่ยังไม่มีภาวะสงคราม แต่จากปัจจัยดังกล่าว จึงปรับประมาณการใหม่อยู่ในกรอบ 4-5% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5%

โดยมีสมมติฐานจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.4-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

แต่ถ้าในระยะต่อไป สถานการณ์เปลี่ยนไปและดีขึ้น ก็จะมีการปรับคาดการณ์อีกครั้ง รวมไปถึง มาตรการของภาครัฐ การกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิด-19

ส่วนความกังวลที่จะเกิดสถานการณ์ เศรษฐกิจถดถอย (Stagflation) และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบด้วย เพราะหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี จากการเปิดประเทศ การมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกยังเติบโต รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น กำลังซื้อยังเป็นปกติ ถือว่าไม่น่าห่วง แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อไม่มี เป็นอีกเรื่องที่จะต้องติดตาม

สำหรับการติดตามราคาสินค้า เดือน มี.ค. 2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 280 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป เนื้อสุกร ไข่ไก่ อาหารเช้า น้ำมันพืช น้ำประปา เป็นต้น ราคาลดลง 91 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน ขิง

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ถั่วฝักยาว ค่าเช่าบ้าน กล้วยหอม และผลิตภัณฑ์ซักผ้า (น้ำยาซักแห้ง) และสินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ เช่น ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าเบี้ยประกันทรัพย์สิน ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/4/2565

ผู้นำเครือข่ายแรงงานคัดค้านการควบรวม กองทุนประกันสังคมกับกองทุนอื่น

จากกรณีที่มีกระแสข่าว อยากให้มีการควบรวมกองทุนประกันสังคม เข้าร่วมกับกองทุนที่มาจากหน่วยงานอื่น เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการ ดูแลสุขภาพให้ประชาชน และผู้ประกันตน ล่าสุด ทางเครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าเงินในกองทุนอาจถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปบริหารจัดการร่วมกับกองทุนที่มาจากหน่วยงานอื่น เพื่อนำมาดูแล จัดสรรสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับผู้ประกันตน และประชาชน เนื่องจากเงินกองทุนประกันสังคมมาจากการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน และนายจ้างที่เป็นสมาชิก เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ ตั้งแต่เจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายแรงงานมีความกังวลว่าหากมีการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปควบรวมกับเงินกองทุนที่มาจากหน่วยงานอื่น อาจเกิดการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จนผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อน

ที่มา: Thailandplus, 2/4/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net