Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีต่อประธานาธิบดีรัสเซีย 'วลาดิเมียร์ ปูติน' และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย 'เซอร์กี ลาฟรอฟ' ในฐานะอาชญากรสงคราม ช่วงเดียวกับที่สหประชาชาติขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน จากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน


ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์กี ลาฟรอฟ | แฟ้มภาพ: Wikimedia Commons

9 เม.ย. 2565 ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีของเยอรมนีให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีต่อ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์กี ลาฟรอฟ ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม โดยระบุว่า "ใครก็ตามที่มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้ควรจะต้องอธิบายตัวเอง"

ชไตน์ไมเออร์บอกว่ากลุ่มคนที่ต้องรับการไต่สวนดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมสงครามเหล่านี้ มีทั้ง ทหารที่ก่อเหตุรวมถึงผู้บัญชาการของพวกเขา รวมถึง "ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง"

ยูเครนเคยกล่าวหาว่ารัสเซียทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงครามมาก่อน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียกล่าวเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมาอ้างว่าภาพศพของพลเรือนที่เสียชีวิตและถูกทารุณกรรมในเมืองบูชานั้น เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตก "ปั้นแต่งขึ้นมาอย่างเลวร้าย" เพื่อหวังดิสเครดิตกองทัพรัสเซียและให้ความชอบธรรมต่อการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย

อย่างไรก็ตามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มอื่นๆ ได้นำเสนอหลักฐานที่ชี้ไปในทางตรงกันข้ามกับข้ออ้างของทางการรัสเซีย เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามในหลายกรณี เช่น รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ระบุถึงกรณีที่กองกำลังจากรัสเซีย กวาดต้อนสังหาร ข่มขืน และปล้นสะดม พลเรือนชาวยูเครน อีกทั้งหน่วยงานข่าวกรองเยอรมนียังสามารถดักฟังการสนทนาระหว่างทหารรัสเซียที่พูดถึงแผนการก่อเหตุสังหารพลเรือนราวกับเป็นบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

อีกทั้งสหประชาชาติยังเพิ่งจะประกาศให้มีการถอนรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเนื่องมาจากข้อกล่าวหาเรื่องทหารรัสเซียสังหารพลเรือนยูเครน หลังจากมีการโหวตลงมติจากประเทศสมาชิกซึ่ง 93 เสียงสนับสนุนให้มีการถอนรัสเซีย มี 24 เสียงโหวตคัดค้าน และมี 58 เสียงที่งดออกเสียง

มติของยูเอ็นระบุว่า พวกเขาเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการรายงานเรื่องที่รัสเซียละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ รวมถึงละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมนานาชาติด้วย

ทางด้านรัสเซียอ้างว่าพวกเขาขอลาออกจากคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากที่มีผลการลงมติออกมาไม่นาน เกนาดี คุซมิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็นแถลงบอกว่ามติถอนรัสเซียเช่นนี้ "ไร้ความชอบธรรมและเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง"

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ดิมิโทร คูเลบา ระบุทางทวิตเตอร์ว่า "อาชญากรสงครามไม่ควรจะมีที่ยืนในหน่วยงานของยูเอ็นที่มีเป้าหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พวกเรารู้สึกขอบคุณที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศสนับสนุนมติของสมัชชาสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และเลือกอยู่ข้างที่ถูกต้องในประวัติศาสตร์"


เรียบเรียงจาก
German President Calls for War Crimes Tribunal Against Putin, Lavrov - Spiegel, US News, 08-04-2022
Russia quit the UN Human Rights Council moments after being suspended for atrocities in Ukraine, Business Insider, 08-04-2022
UN suspends Russia from human rights body over Ukraine abuses, Aljazeera, 07-04-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net