Skip to main content
sharethis

ซูเปอร์โพลสำรวจคน กทม. 1,081 คน 48.7% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม. 20.3% เลือก 'ชัชชาติ' ตามมาด้วย 9.8% เลือก 'สุชัชวีร์' - KBU POLL เผย 32% ไม่เชื่อมั่นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา 

9 เม.ย.2565 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม. กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,081 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6 - 8 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ระบุ เห็นด้วยว่า ผู้ชนะในโพล อาจพ่ายแพ้ในวันเลือกตั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 18.0 ไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถาม ผู้ว่าฯ ในความฝันของคน กทม. พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.6 อยากได้ผู้ว่า กทม. เป็นนักบริหารแก้ปัญหาเก่ง วัยหนุ่มมีประสบการณ์ กล้าสู้ กล้าชน รองลงมาคือ ร้อยละ 25.4 อยากได้ผู้ว่า กทม. เป็น นักบริหาร สูงวัย เคยมีตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี ร้อยละ 21.7 อยากได้ ผู้ว่า กทม. เป็น นักเคลื่อนไหวทางสังคม ต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน ร้อยละ 16.3 อยากได้ ผู้ว่า กทม. เป็น อดีตมีตำแหน่งบริหาร กทม. ร้อยละ 16.3 อยากได้ ผู้ว่า กทม. เป็น อดีตนักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร้อยละ 14.9 อยากได้ผู้ว่า กทม. เป็น อดีต ส.ส. และ ร้อยละ 16.4 ระบุอื่น ๆ

ที่น่าพิจารณา คือ ความฝันของคน กทม. ต่อ ความเป็นเมือง ที่อยากได้ พบว่า ร้อยละ 52.3 ระบุ เมืองแห่งความปลอดภัย ร้อยละ 49.3 ระบุเมืองแห่งสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา บ้านพักคนชรา ร้อยละ 45.3 ระบุ เมืองแห่งสุขภาวะ และการแพทย์ ร้อยละ 42.5 ระบุ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ร้อยละ 41.4 ระบุ เมืองแห่งการศึกษา นานาชาติ ร้อยละ 35.8 ระบุ เมืองแห่งการลงทุน นานาชาติ ร้อยละ 35.6 ระบุ เมืองแห่งความ เท่าเทียมทางเพศ สมรสเท่าเทียม ร้อยละ 28.5 ระบุ เป็น มหานครแห่งความบันเทิง สถานบันเทิงเปิดได้ 24 ชั่วโมง และร้อยละ 13.6 เปิดบ่อนเสรี ใน กทม. ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48.7 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม. ในขณะที่ ร้อยละ 20.3 ระบุ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 9.8 ระบุ นาย สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 7.1 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 5.7 ระบุ นาย สกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 2.5 ระบุ นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และร้อยละ 5.9 ระบุอื่น ๆ นางสาวรสนา โตสิตระกูล น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความฝันของคน กทม. อยากได้ผู้ว่า กทม. เป็นนักบริหาร โดดเด่นมากกว่า คุณสมบัติอื่น ๆ และลักษณะเมืองกรุงเทพมหานครที่คน กทม. ต้องการเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของประชาชน เช่น เมืองแห่งความปลอดภัย เมืองแห่ง สวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา บ้านพักคนชรา เมืองแห่งสุขภาวะ และการแพทย์ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา ในขณะที่ การลงทุนนานาชาติและอื่น ๆ น่าจะเป็นเรื่องที่ออกไกลตัวของประชาชนส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่สำรวจพบในครั้งนี้

"ความตั้งใจจะเลือกของ คน กทม. ต่อ ผู้สมัคร ในวันนี้จะพบว่า เกือบครึ่ง ยังไม่ตัดสินใจ และส่วนใหญ่ยังเห็นว่า คนที่ชนะในผลโพลอาจจะแพ้ในวันเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคน กทม. ที่ตัดสินใจแล้ว พบว่า กลุ่มผู้สมัคร 3 คนที่มีคะแนนเกาะติดกันเป็นกลุ่ม ได้แก่ นาย สุชัชวีร์ พล.ต.อ.อัศวิน และ นายสกลธี ในขณะที่ นายชัชชาติ มีคะแนนนำโดดเด่นออกไป แต่จะพบว่า ถ้ารวมคะแนนของ ผู้สมัคร 3 คนเหล่านั้นเข้าด้วยกันจะมีคะแนนที่มากกว่าคะแนนของ นายชัชชาติ ดังนั้นใครต้องการชนะ จะต้องเสนอภาพ แสดงฝีมือ นักบริหารให้คน กทม. เห็น และน่าจะได้คะแนนจากกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเข้ามาเพิ่มเติมได้" ผศ.ดร.นพดล กล่าว

KBU POLL เผย 32% ไม่เชื่อมั่นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษา

มติชนออนไลน์ รายงานว่า ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการที่ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมอง และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ KBU POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง ผู้ว่าฯ กทม.กับมิติการพัฒนาการศึกษา” ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,349 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 798 คน คิดเป็นร้อยละ 59.16 เพศหญิง 551 คน คิดเป็นร้อยละ 40.84 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า

ความสนใจที่จะติดตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 76.11 สนใจ รองลงมา ร้อยละ 14.46 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 9.43 ไม่สนใจ

บุคคลในใจที่เห็นว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ41.05 มีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 39.07 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 19.88 ยังไม่มี

ผู้สมัครที่จะพิจารณาเลือก ร้อยละ 36.68 ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 33.93 ผู้สมัครอิสระ และร้อยละ 29.39 ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง

ความเชื่อมั่นที่มีต่อการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ร้อยละ 32.05 ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 28.20 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 24.53 เชื่อมั่น และร้อยละ 15.22 ไม่เชื่อมั่น

นโยบายการศึกษาที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ดำเนินการ ร้อยละ 24.08 พัฒนา และยกระดับสถานศึกษาในสังกัด กทม.ให้ทันสมัยสู่มาตรฐานสากล รองลงมา ร้อยละ 23.77 ปฏิรูปสถานศึกษา และจัดการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง ร้อยละ 20.01 สนับสนุน และจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และเพียงพอ ร้อยละ 17.89 กำหนดให้การศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายสำหรับการบริหารจัดการ ร้อยละ 10.06 ส่งเสริม และสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนทุกช่วงวัย และอื่นๆ ร้อยละ 4.19

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในมิติที่ประชาชนต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสนับสนุน หรือนำไปเป็นยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ ที่เด็ก และเยาวชนยังประสบกับปัญหา และมีความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาอยู่พอสมควร ดังนั้น หากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยใช้มิติทางการศึกษาเป็นสื่อสำหรับขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ก็จะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนตลอดจนชาวกรุงเทพฯ ได้ในระดับหนึ่ง และน่าสนใจยิ่ง

'ศิธา' ชู 'ตลาดน้อย' โมเดลท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม Bangkok Creative City

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าน.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคไทยสร้างไทย พร้อมด้วยนายศรันยู คงสวัสดิ์เกียรติ ผู้สมัคร ส.ก. เขตสัมพันธวงศ์ พรรคไทยสร้างไทย, นายพรภวิษย์ ศุภวรางกูร ผู้สมัคร ส.ก. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และดร.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 1 ป้อมปราบ สัมพันธวงศ์ พระนคร พรรคไทยสร้างไทย ได้พบปะฟังเสียงชาวบ้านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ โดยได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากชาวตลาดน้อยทุกคน พร้อมทั้งได้ไปท่าเรือภาณุรังษี และบ้านโบราณ "โซเฮงไถ่"

พรรคไทยสร้างไทย ต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมของ กทม. ทุก 50 เขต เพื่อสร้างพลัง Empower ให้กับคนตัวเล็ก เพื่อให้คน กทม. ทุกคน สามารถทำมาหากินได้อย่างแข็งแรงที่สุดอย่างยั่งยืน

พร้อมร่วมพูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการในตลาดน้อย 3 ราย ที่สะท้อนปัญหาและความต้องการ เกี่ยวกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งผู้ประกอบการต่างเห็นถึงศักยภาพของชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีตึกเก่าอายุเป็นร้อยปี แต่การปรับปรุงซ่อมแซมหรือพัฒนาอาคารเก่า มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ติดขัดระเบียบจากกรมศิลปากร รวมถึงการจัดพื้นที่และลานจอดรถรองรับนักท่องเที่ยว

น.ต.ศิธา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ไม่ต้องเอาเรื่องของการลงสมัครผู้ว่าฯ เป็นตัวตั้ง แต่เอาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ เพราะแม้ว่า ไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ แต่ทีมงานในพื้นที่ยังมีอยู่ และเห็นถึงศักยภาพของทุกพื้นที่ ขณะที่ภาครัฐมีงบประมาณ มีกฎหมายมีกำลังคน แต่เวลาทำงานทำเหมือนที่ตนเคยบอกว่า "ทำแบบเหมือนเหมือนกรรไกรข้างเดียว" จากด้านบนลงมาข้างล่าง และไม่เคยลับคมกรรไกรด้านล่าง ไม่ให้อำนาจชุมชน ที่ผ่านมาผู้มีอํานาจพยายามพัฒนาพื้นที่หรือช่วยเหลือเรื่องปากท้องซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะประชาชนไม่ได้กำหนด ซึ่งตนขอย้ำว่า คนในพื้นที่คือผู้ที่รู้ปัญหาดีที่สุด และพรรคไทยสร้างไทยมีทีมงานทั้ง 50 เขต รู้ว่าทุกเขต รู้ว่าแต่ละเขตมีจุดแข็งอะไร ถ้า กทม.ดำเนินการแนวทางพรรคไทยสร้างไทย ก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้าไม่ดำเนินการ ตนและพรรคไทยสร้างไทยยังสามารถผลักดันในระดับชาติได้

ในช่วงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน น.ต.ศิธา กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยทุกคน เล็งเห็นศักยภาพของทุนทางวัฒนธรรมของ กทม. อย่าง "โมเดลตลาดน้อย" ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ ด้วยบ้านเรือนตึกแถว ที่มีการขายอะไหล่อยู่รายล้อม สอดแทรกด้วย Street Art ตามแนวกำแพงภายในชุมชน และที่สำคัญ บ้านโบราณ "โซเฮงไถ่" ที่อายุมากกว่า 200 ปี ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบฮกเกี้ยน ที่ผ่านมา กทม. แทบไม่มีการสำรวจประวัติศาสตร์ของชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ จึงน่าเสียดายที่ในชุมชนอื่นของ กทม. บ้านโบราณทั้งหลายก็ถูกลืมถูกทำลายลง

อีกทั้ง น.ต.ศิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า "จะใช้ทักษะการบริหารที่เคยบริหาร ทอท. ในการปรับปรุงสิ่งที่คนอื่นมองไม่มีค่า ทำให้เป็นสิ่งที่มีค่าได้ ดังเช่นการนำพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาทำเป็นสนามจักรยาน ที่ทำให้คนไทยมาปั่นจักรยานกันเกินกว่าล้านครั้งต่อปี คิดเป็นระยะทางมากกว่า 30 ล้านกิโลเมตร โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ไม่ต้องเบียดบังงบประมาณขององค์กรแต่อย่างใด ผมจะนำพื้นที่ว่างเปล่าทั่วกรุงเทพมหานคร มาดำเนินการให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นที่ซึ่งประชาชนสามารถที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ โดยการประสานงานของทีมผู้สมัคร ส.ก. พรรคไทยสร้างไทยทุกคนครับ"

น.ต.ศิธา ย้ำว่า หากได้รับโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตนจะทำให้เกิดขึ้นและจะกล้าทำให้สิ่งที่ผู้ว่า กทม.ไม่เคยทำ

'สุชัชวีร์' นำผู้สมัคร ส.ก. เขตพระนคร-ป้อมปราบ ทัวร์แก้มลิงใต้ดิน วัดเล่งเน่ยยี่ แก้ปัญหาน้ำท่วมได้เบ็ดเสร็จ

มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย นายธีรกร ไหวดี ผู้สมัคร ส.ก. เขตพระนคร หมายเลข 1 ลงพื้นที่แนะนำตัวกับพี่น้องประชาชน ตั้งแต่บริเวณสวนรมณีนาถ ตลาดบางลำภู ตลาดท่าเตียน สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดชนะสงคราม โดยได้นำเสนอนโยบาย ค้าขายได้ทุกวัน ไม่เว้นวันจันทร์ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ค้า อีกทั้งได้รับเสียงสะท้อนจากพ่อค้าแม่ค้าย่านดังกล่าวว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา กทม. ใส่ใจคนในตลาดน้อยลง ไม่มีการลอกท่อ ฝนตกลงมา ทำให้น้ำขัง น้ำท่วม ถนนชำรุดขาดการซ่อมแซม สถานที่ทิ้งขยะน้อย ประกอบกับมีคนเดินจับจ่ายก็ลดลง รายได้น้อยลงมา ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะลงมือทำเมื่อได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็คือการต่อสู้กับโควิดอย่างดุดัน เพราะ แก้เรื่องเดียว ฟื้นได้ 4 อย่าง คือ 1.เศรษฐกิจ 2.ท่องเที่ยว 3.กำลังพลหมอพยาบาล และ 4.งบประมาณในการดูแลด้านอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจกรุงเทพฯดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยว เสริมกำลังให้หมอพยาบาลได้มีโอกาสไปดูแลโรคอื่นๆ

จากนั้นช่วงบ่าย นายสุชัชวีร์ พร้อมด้วย น.ส.นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ผู้สมัคร ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หมายเลข 5 ได้เดินพบปะพี่น้องประชาชนที่ตลาดคลองถม ไปจนถึงพาชมแก้มลิงใต้ดินแห่งแรกที่วัดมังกรกมลา วาส (เล่งเน่ยยี่) ซึ่งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พร้อมกับพาสื่อมวลชนไปทัวร์ดูสถานที่จริง

โดยนายสุชัชวีร์กล่าวว่า ตนพูดถึงเรื่องแก้มลิงใต้ดินตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2558 ในที่สุดก็เกิดขึ้นจริง ซึ่งการเป็นแก้มลิงใต้ดินนั้นหมายถึงจะต้องคืนพื้นที่บนดินให้ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งที่วัดเล่งเน่ยยี่ ในยามที่ไม่มีฝนตกสามารถใช้เป็นที่จอดรถ แต่ในยามฝนตกที่จอดรถแห่งนี้จะกลายเป็นที่เก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งสามารถเก็บน้ำได้เป็นหมื่นลูกบาศก์เมตร จากในอดีตวัดต้องปั๊มน้ำออกส่งผลกระทบพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันวัดสามารถเก็บน้ำท่วมรอระบายไว้ใต้ดินก่อน เมื่อฝนหยุดจึงค่อยปั๊มน้ำออกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า แก้มลิงใต้ดินทำได้จริง ไม่ได้เสียงบประมาณอะไรมาก และเป็นประโยชน์ด้วย เพราะได้ใช้พื้นที่ข้างบนเพื่อทำประโยชน์ได้ด้วย

ในเวลาปกติคนมาวัดไม่มีที่จอดรถ สามารถใช้เป็นที่จอดรถได้ แต่เวลาฝนตกจะเปลี่ยนเป็นที่เก็บน้ำทั้งหมด เพราะน้ำไหลจากบนลงล่าง ไม่ต้องพึ่งพาปั๊ม เก็บได้ถึง 1 หมื่น ลบ.เมตร ทำให้บริเวณวัดเล่งเน่ยยี่แห้งสนิทได้เลย พอทำเสร็จก็คืนพื้นที่บนดินทำเป็นโรงเจ 3 ชั้น ทำเป็นโรงเรียนอีก 5 ชั้น นี่แหละหลักการของแก้มลิงใต้ดินที่มาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองได้เบ็ดเสร็จ นโยบายของผมตั้งใจจะทำที่บริเวณจตุจักร สุขุมวิท และรามคำแหง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดในกรุงเทพฯ” นายสุชัชวีร์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการลงพื้นที่วันนี้มี นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีต ส.ส.กทม. เขต 1 พระนคร-ป้อมปราบศัตรูพ่าย พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิมร่วมเดินหาเสียงตลอดทั้งวัน ซึ่งนางเจิมมาศ เป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยในพื้นที่เป็นอย่างมาก มีพี่น้องประชาชนทักทายอย่างสนิทสนมตลอดทาง และยืนยันให้การสนับสนุนต่อไป เนื่องจากเป็นคนทำงานใกล้ชิดติดพื้นที่ ลงพื้นที่เป็นประจำสม่ำเสมอ

‘วิโรจน์’ ปลุกพลังคนชั้นกลาง-รากหญ้าเปลี่ยนกรุงเทพฯ

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าที่ตลาดริมโขง เขตดอนเมือง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายไกรศักดิ์ สังเวียง ผู้สมัคร ส.ก.เบอร์ 5 พรรคก้าวไกล เดินตลาดเช้า เพื่อพบปะพูดคุยกับ พ่อค้า แม่ค้า พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มาจับจ่ายใช้สอยในวันหยุดสุดสัปดาห์ จากนั้นนายวิโรจน์ พร้อมคณะได้ขึ้นรถปราศรัยเพื่อแนะนำนโยบาย และขอคะแนนจากพี่น้องประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาในพื้นที่

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีการจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อให้อำนาจในการตัดสินใจและการใช้งบประมาณอยู่ที่ประชาชนแทน พร้อมยกตัวอย่างนโยบาย “หยุดระบบอุปถัมภ์ด้วยงบที่คน กทม.เลือกเองได้” ซึ่งจะมีการกระจายงบประมาณ “งบชุมชน” 500,000-1,000,000 บาทต่อปี ตามขนาดของชุมชน เพื่อให้ประชาชนและคนในพื้นที่นำเงินไปออกแบบแก้ไขปัญหา เพราะเชื่อว่าคนที่เข้าใจปัญหาดีสุดคือประชาชน และ “งบเขต” เฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อปี เพื่อทำโครงการที่เลือกโดยประชาชน และ “งบกรุงเทพฯ” จัดสรรเงิน 200 ล้านบาทต่อไปสำหรับทำโครงการเพื่อคน กทม.

'ชัชชาติ' จับมือ 'ปวีณา' หาเสียงแบบรักเมือง ย้ำ กทม.ต้องเร่งกำจัดมลพิษทางอากาศ

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 และ น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ “เพื่อนชัชชาติ“ จับมือนางปวีณา หงสกุล ขึ้นขบวนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ก่อ PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจก ลุยหาเสียงแบบรักเมือง พื้นที่เขตดอนเมือง-บางเขน-สายไหม

นายชัชชาติ กล่าวว่า อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน กทม.ต้องเร่งกำจัดมลภาวะทางอากาศที่ต้นตอ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน

วันนี้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ขบวนรถยนต์ไฟฟ้า ตามแนวคิด “หาเสียงแบบรักเมือง” ประกอบด้วยกระบะไฟฟ้า รถเก๋งไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นวิธีหาเสียงที่เป็นมิตรกับเมือง ไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจก เสนอ กทม. เร่งแก้ปัญหาและกำหนดมาตรการกำจัดมลพิษที่สาเหตุ เพื่อคืนสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ของประชาชนทุกคน

“ปัญหา PM 2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่ ผู้ว่าฯกทม. ต้องดูแล เราต้องประกาศเลยว่าอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน กทม.ต้องจริงจังกับการกำจัดต้นตอของฝุ่น PM 2.5 เช่น ไซต์ก่อสร้าง แพลนต์ปูน ร่วมมือกับกรมขนส่งทางบก ตรวจจับรถยนต์ หรือร่วมกับรัฐบาลสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวย้ำนโยบาย สิ่งแวดล้อมดี และสุขภาพดี แก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM 2.5 หลายนโยบาย อาทิ ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด พร้อมแสดงผลแบบเรียลไทม์เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันและเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งได้ทันที ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ก่อมลพิษทางอากาศ การตรวจจับรถควันดำ การตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายจัดทีม นักสืบฝุ่น เพื่อศึกษาที่มาและต้นกำเนิดของฝุ่นในกรุงเทพฯ เพื่อการจัดการอย่างตรงจุด และดำเนินโครงการ ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่น PM 2.5 ทั่วกรุงเทพฯ อีกด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net