Skip to main content
sharethis

#ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม ครบรอบ 12 ปีของการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงกลางกรุง เปิดมุมมองผ่านแกนนำนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มคบเพลิงอีสาน จาก ม.อุบลฯ ชี้ความเข้าใจที่มีต่อคนเสื้อแดงของคนรุ่นใหม่ถูกสะสางแล้ว แต่ความยุติธรรมทางกฎหมายยังไม่ได้รับการสะสาง ย้ำคนผิดยังลอยนวล และไม่มีอะไรมารองรับจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

"มีบางเหตุการณ์ไม่ข้ามวันก็เลิกจำ แต่บางเหตุการณ์ตราบนานเท่านานตลอดการมิอาจลืม รำลึกความสูญเสียของประชาชน เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากความโหดร้ายของเผด็จการ “10 เมษา 53 ในความทรงจำ”


เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ณัฐวุติ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจใจความว่า ‘มีบางเหตุการณ์ไม่ข้ามวันก็เลิกจำ แต่บางเหตุการณ์ตราบนานเท่านานตลอดการมิอาจลืม รำลึกความสูญเสียของประชาชน เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากความโหดร้ายของเผด็จการ “10 เมษา 53 ในความทรงจำ” เล่าประสบการณ์ ความรู้สึก ทัศนคติต่อเหตุการณ์ 10 เมษา 2553 บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของท่าน พร้อมติดแฮชแท็ค #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม ประวัติศาสตร์จะทรงพลัง เมื่อถูกบันทึกโดยประชาชน’ พร้อมแนบคลิปบอกเล่าเหตุการณ์และทวงถามความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และเนื่องในการครบรอบ 12 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เม.ย. นี้ เวลา 13.00 น. จะมีการจัดกิจกรรมร่วมรำลึกเหตุการณ์ ยืนยันความเป็นมนุษย์ พิสูจน์ศักดิ์ศรีประชาชน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ราชดำเนิน 

ในโอกาสนี้จึงสัมภาษณ์แกนนำคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มคบเพลิง นักกิจกรรมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีกิจกรรมทั้งในมหาวิทยาลัยและการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสะท้อนมุมมองต่อภาพจำในเหตุการณ์ดังกล่าวกับคนหนุ่มสาวที่กำลังเคลื่อนไหว

ความเข้าใจที่มีต่อคนเสื้อแดงของคนรุ่นใหม่ถูกสะสางแล้ว แต่ความยุติธรรมทางกฎหมายยังไม่ได้รับการสะสาง 

ต้า พงศธร กันทวงค์ อายุ 19 ปี กลุ่มคบเพลิงและนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ต้า เล่าว่า ตอนนั้นเพิ่ 7-8 ขวบ ไม่ได้สนใจอะไรหรือรับรู้อะไรมาก เท่าที่เห็นคือกลุ่มคนที่ออกไปชุมนุมประท้วง แถวๆ บ้านเขาจะมีรถมารับที่เขาชวนกันไป แต่ว่าหลังจากนั้นเหตุการณ์มันก็สงบลงแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงประถมปลาย ได้อ่านเรียนรู้และพูดคุยแล้วกับคนที่ชอบการเมือง ทำให้ตนมองเห็นภาพอะไรหลายๆ อย่าง มองว่าการต่อสู้คือการต่อสู้ของชาวบ้านคนธรรมดา ไม่ได้ใส่สูทมาพูดหล่อๆ มีความคิดที่เรียบง่ายเข้าใจได้ อุดมการณ์ไม่ซับซ้อน การต่อสู้เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ได้ สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้ มันก็สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยทั่วๆไปที่เราเลือกนักการเมืองเข้ามาเพื่อทำประโยชน์และพวกเขาแค่มองว่าทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายที่ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ 

"ตั้งแต่ 8 ขวบผมไม่เคยมองว่าคนเสื้อแดงที่ออกมาชุมนุมเป็นคนที่ไม่ดีเลย ผมกลับชอบการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และตอนนั้นไอ้คำพูดที่ว่า "Unfortunately Some People Died.” ที่อดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ไปพูด.. เป็นคำพูดที่ไร้ยางอายที่สุด คุณมีอำนาจที่จะสั่งหยุดได้ แต่ตอนนั้นทำไมคุณไม่หยุด พูดสลายการชุมนุมว่ากระชับพื้นที่ แล้วสาดสีใส่คนอื่น" ต้า กล่าว

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ วัย 19 ปี ยังกล่าวดว้ยว่า คำอธิบาย ความเชื่อ ความเข้าใจต่างๆ ที่ผ่านมาของคนเสื้อแดงควรจะถูกชำระ ปัจจุบันคนในสังคมมีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดงมากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจาการฝังหัวว่าคนกลุ่มนี้ก่อความรุนแรงได้ถูกสะสางแล้ว ความยุติธรรมที่จะมอบให้กับคนเสื้อแดงได้อีกอย่างคือความยุติธรรมด้านกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ตนมองว่ายังไม่ได้รับการสะสาง เสื้อแดงบางคนยังอยู่ในคุก บางคนเพิ่งได้ออกมา อย่างกรณีเผาศาลากลางที่อุบลฯ เพิ่งปล่อยมาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง การเอาคนผิดมาลงโทษ ใครเป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ใครเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ใครเป็นคนสั่งการ ตอนนี้ยังกินอิ่มนอนหลับมีอำนาจ ในขณะที่ครอบครัวคนเสื้อแดงต้องตาย ต้องติดคุกไม่ได้เจอหน้าคนในครอบครัวตัวเอง

ต้า กล่าวเสริมต่ออีกว่า พวกเราแกนนำคนรุ่นใหม่ มองว่าการลาออกของรัฐบาลคือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศนี้ได้ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญของประชาชน ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง การใช้ระบบสภาเดียวก็น่าสนใจ เพราะบางหน้าที่มันซับซ้อนกัน ถ้าใช้สภาเดียว อาจเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพ การปฏิรูปองค์กรอิสระต่างๆ แล้วก็ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนการปฏิวัติ 2475 สามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้ส่งผลดีกับแค่ประชาชนที่จะรู้นะว่าเงินภาษีถูกใช้อย่างไรบ้าง แต่มันส่งผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วย จะได้ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลมากขึ้น แฟร์ๆ กัน

ทราย จุฬาลักษ์ วาทะสิทธิ์ อายุ 19 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ทราย เล่าว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่จะเห็นข่าวจากโทรทัศน์และฟังวิทยุตอนกลางคืนที่ฟังกับย่า สื่อช่องหลักตอนนั้นทำให้ตนมองว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่ดี ไม่หวังดีต่อประเทศ มีแต่ความรุนแรง ตอนนั้นก็มีข่าวเผาศาลาด้วย ไม่มีผู้ใหญ่มาเล่าให้ฟัง ทุกอย่างตนเห็นได้จากในโทรทัศน์ทำให้ตอนนั้นก็เชื่ออย่างนั้น ว่าเป็นการชุมนุมดูรุนแรงและอยากที่จะออกห่าง  แต่ปัจจุบันแทบไม่มีความคิดความเชื่อแบบนั้นเลย เพราะฟังจากเพื่อนและที่เรียนรวมทั้งเลือกที่จะดูสื่อที่เสนอความจริง ทำให้ตนกลับคิดว่าทำไมกลุ่มคนเสื้อแดงเขาถึงกล้าขนาดนั้น กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประเทศ

คนผิดยังลอยนวล และไม่มีอะไรมารองรับจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ไบค์ หัสวรรษ รัตนคเชนทร์ อายุ 23 ปี เจ้าหน้าที่ประสานงานศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 

ไบค์ กล่าวว่า ตอนนั้นตนเด็กมากจริงๆ เลยเฉยๆ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนถึงช่วงม.ปลาย เริ่มสนใจเรื่องการเมือง จึงตั้งคำถามว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงมาชุมนุม แล้วก็มีภาพเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย เป็นคลิปที่คนเสื้อแดงไปชุมนุมและโดนทหารล็อกตัว มันเลยทำให้เราหันมาสนใจ ตอนนั้นไม่เข้าใจบทบาทของคนเสื้อแดงนัก เพราะอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือแดงและเหลือง

"พอได้เริ่มเรียนรู้ ศึกษา ทบทวน ได้ทำความรู้จักกับพี่น้องคนเสื้อแดง ได้รู้ว่าคนเสื้อแดงเขาสู้มานานจริงๆ เจ็บมาเยอะ สูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง และเป็นกลุ่มคนที่กล้าออกมาในช่วงที่การเมืองยังไม่ได้เปิดรับขนาดนั้น ตอนนี้คนผู้กระทำผิดก็ยังลอยนวล และไม่มีอะไรมารองรับว่าการกระทำเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต แม้แต่กฎหมายยังไม่รองรับ การสืบคดีเก่าๆ เพื่อเรียกร้องให้กับผู้เสียชีวิต" จนท.ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม วัย 23 ปี กล่าว

ไบค์ ยังกล่าวอีกว่า มันไม่มีกระบวนการที่จะเข้าไปเยียวยาคนเหล่านี้ด้วย การชุมนุมต่างๆ ก็เกิดการแบบนี้ซ้ำๆ เกิดความรุนแรงเพียงเพราะเขาออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา ทุกวันนี้แค่ออกมาก็โดนรัฐดำคดีเต็มไปหมด 

"ผมเองไม่แน่ใจหรืออาจจะบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดงไหม นิยามของคนเสื้อแดงเป็นยังไง ผมมองแค่ว่ามันคือส่วนหนึ่งของการเรียกร้อง สนับสนุนคนเสื้อแดงที่สู้ในแนวทางของตัวเอง เขาออกมาเพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขา" ไบค์ กล่าว

10 เมษา 53 โดยสรุป 

จุดเริ่มต้นของการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53

เมื่อปี พ.ศ. 2560 รายงานพิเศษจากประชาไท เคยรายงานไว้ว่า 12 มี.ค. 2553 กลุ่มผู้ประท้วง นปช. ได้มาบรรจบกันที่กรุงเทพเพื่อแสดงความต้องการให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเลือกตั้งใหม่และยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน โดยปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนจะเคลื่อนตัวไปยังแยกราชประสงค์ในวันที่ 27 มี.ค. 2553 หลังจากนั้น การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ผู้ชุมนุมมีการใช้ยุทธศาสตร์ในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการเทเลือดหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์และหน้าบ้านพักของ อภิสิทธิ์ รวมถึงการใช้วิทยุชุมชนในการเผยแพร่ข่าวสารโจมตีรัฐบาล

เหตุผลในการชุมนุมครั้งนี้ 

ผู้ชุมนุมมีข้อสงสัยว่ากองไทยทัพอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ในปีพ.ศ 2550 ภายหลังจากการพ้นตำแหน่งของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่า อภิสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้ง จงทำให้เกิด การเมืองพลิกขั้ว โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลผสม จากเดิมที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลทักษิณ สมัครและสมชาย โดยมีรายงานอย่างกว้างขวางว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก บีบบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนย้ายมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ และอำมาตยาธิปไตย คือกลุ่มที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ "พลิกขั้วการเมือง" เมื่อปลายปี 2551 และชี้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ คือ "หัวหน้าอำมาตย์"

เหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 เริ่มขึ้นจาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม โดยในขณะนั้นใช้คำว่า ขอคืนพื้นที่ จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้า ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายราย ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิต เหตุการณ์เริ่มขึ้นในช่วงบ่ายตรงจุดปะทะบริเวณสะพานมัฆวาน ตรงจุดที่ทหารและผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่เผชิญหน้ากันในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นแยกวังแดง สะพานชมัยมรุเชษฐ หน้ากองทัพภาค1 สนามม้านางเลิ้ง ถนนดินสอ เป็นต้น  “เกรียงไกร คำน้อย” คนขับตุ๊กๆ วัย 23 ปี คือผู้ชุมนุมรายแรกที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่าถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง

ในช่วงราวๆ4โมงเย็น เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตาบริเวณถนนราชดำเนิน แบ่งเป็น2ชุดมีผู้เสียชีวิตคือนายมนต์ชัย แซ่จอง โดยญาติผู้เสียชีวิตระบุว่ามนต์ชัยอยู่ในพื้นที่ชุมนุมโดยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อโดนแก๊สน้ำตาโปรยมาจากเฮลิคอปเตอร์ทำให้เขามีอาการช่วง1ทุ่ม หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนต้องส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในช่วงกลางดึกคืนนั้น หลังการโปรยแก๊สน้ำตา มีการเริ่มต้นใช้กระสุนยางในช่วงเย็น กระสุนยางแม้ไม่มีผลถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เบิร์ด หนุ่มวัย 24 ปี ที่วิ่งหลบกระสุนในบริเวณดังกล่าวและโดนกระสุนยางเข้าที่ตาข้างขวาทำให้ตาบอดนับแต่นั้น

จนในช่วงค่ำปรากฏ ชายชุดดำ ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 ราย ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันที่10 เมษายน 2553 คือ ประชาชน20 คน ทหาร 5คน หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมต่อไป โดยเฉพาะช่วงวันที่13-19 พ.ค มีประชาชนเสียชีวิต 70คน 

การสลายการชุมนุม 

  • 10 เม.ย. 2553 เกิดเหตุการณ์ “เมษาเลือด” เมื่อรัฐบาลประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย หนึ่งในนั้นเป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น ทหารเสียชีวิต 5 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 800 คน
  • 26 เม.ย. 2553 ท่ามกลางฝุ่นตลบของสงครามข้อมูลข่าวสาร  พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นำ “ผังล้มเจ้า” เผยแพร่กับผู้สื่อข่าว
  • วันที่ 3 พ.ค. 2553 นายกรัฐมนตรีประกาศว่าเขามีความต้องการจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งในวันรุ่งขึ้น ผู้นำการชุมนุมประกาศยอมรับข้อเสนอที่จะยุติการชมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามแผนกำหนดเดิม แต่ได้มีการเสนอรายละเอียดของแผนเพิ่มเติม เมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีกระบวนการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้นำบางคนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป
  • 13 พ.ค. 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยื่นคำขาดให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม โดยใช้ปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” อย่างเต็มรูปแบบ บริเวณแยกราชประสงค์ โดยมีการประกาศเขตใช้กระสุนจริง พร้อมด้วยพลแม่นปืน และอาวุธสงครามอื่นๆ ต่อมาในวันเดียวกัน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม ถูกลอบยิงที่ศีรษะ และเสียชีวิต การเสียชีวิตของเสธ.แดง กลายเป็นสัญญาณเปิดฉากการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ส่งผลให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมา
  • 19 พ.ค. 2553 เวลาเช้ามืด ทหารพร้อมรถหุ้มเกราะ กระสุนจริงและอาวุธสงครามครบมือ เข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ สถานการณ์เต็มไปด้วยความสับสน มีรายงานข่าวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการล้อมปราบและซุ่มยิง ประชาชนหลายคนหนีตายเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม ซึ่งถูกประกาศไว้ก่อนหน้าว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทว่าภายหลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตใน “เขตอภัยทาน” นั้น 6 คน ซึ่ง 3 ใน 6 คนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ได้แก่ กมลเกด อัคฮาด, อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล และมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
  • แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในที่สุด

นอกเหนือจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนต่างนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ชายชุดดำ” และการเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จนนำไปสู่การเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “พวกเผาบ้านเผาเมือง” ขณะเดียวกัน ประชาชนในต่างจังหวัดต่างโกรธแค้นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การประท้วงหน้าศาลากลางในหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร ซึ่งบางจังหวัดมีเหตุการณ์เผาศาลากลาง และมีประชาชนถูกจับกุมตัวและดำเนินคดี

โดยแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ได้ประกาศผ่านสื่อว่า เราไม่ใช่ กลุ่มชายชุดดำ ตามที่สื่อนำเสนอ

หลังจากการสลายการชุมนุมเกิดอะไรขึ้น

คดีชายชุดดำ ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำๆ บนหน้าสื่อในช่วงที่หมอกควันเหตุการณ์ยังไม่จางนั้นอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ผู้ต้องหาหลายรายมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 รายมีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุกมาตั้งแต่กันยายน 2557 จนปัจจุบันและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี

การไต่ชันสูตรพลิกศพ ทราบจากรายงานข่าว พบว่า มีการไต่สวนการตายแล้ว 7 ราย โดยศาลสั่งว่ากระสุนที่สังหารผู้ตายมาจาก “ฝั่งทหาร” แต่ไม่ทราบผู้ยิงที่แน่ชัด จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเกรียงไกร คำน้อย, นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล  ส่วนอีก 4  รายศาลสั่งว่าไม่ทราบผู้ยิงและไม่ทราบว่ากระสุนมาจากทิศทางใด ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต, นายวสันต์ ภู่ทอง, นายทศชัย เมฆงามฟ้า, นายมานะ อาจราญ (ถูกยิงในสวนสัตว์ดุสิตด้วยกระสุนความเร็วสูง)

การไต่สวนชันสูตรพลิกศพนั้น เป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำจากนั้นอัยการรวบรวมสำนวนหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก่อนส่งฟ้องเป็นคดีอาญา

การดำเนินคดีกับกองทัพและผู้นำรัฐบาลผู้เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุม ญาติของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม(พ.ค.2553) ร่วมกับนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกทหารยิงแต่รอดชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553

คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้อง ส่วนคดีอื่นๆ สำนวนยังคงค้างอยู่ที่ดีเอสไอ คดีตัวอย่างนี้ ทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ต่างก็ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นระบุเหตุผลว่า เรื่องฟังไม่ได้ว่าทั้งสองกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน

ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติว่า ฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ล่าสุด ญาติที่เป็นโจทก์ร่วมยังคงฎีกาต่อ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามาราว 1 ปีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษา ทนายความในคดีนี้ระบุว่า กระบวนการที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฎีกาแล้ว และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดผ่านไปแล้ว คาดว่าน่าจะรอผลคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกไม่นาน

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงคดีที่มุ่งฟ้องผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น โดยที่ “กองทัพ” ยังไม่เคยก้าวมาสู่ปริมณฑลของ “จำเลย” ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใด

นักโทษทางการเมือง ศปช.ระบุว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ถึงเมษายน 2555 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ในช่วงนั้น 1,857 คน เป็นคดีทั้งสิ้น 1,381 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ศปช.พบข้อมูลด้วยว่าในช่วงหลังการสลายการชุมนุมไม่นานนัก ศาลลงโทษจำคุกจำเลยหลายรายด้วย โดยจำเลยที่รับสารภาพจะถูกจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ปฏิเสธและต่อสู้คดียาวนานทิ้งห่างช่วงเวลานั้น พบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษปรับและรอลงอาญาโทษจำคุกเกือบทั้งหมด

กรณีของคดีอาวุธและเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานนั้นเป็นคดีโทษหนัก คดีอาวุธบางรายก็ถูกจำคุกตั้งแต่ชั้นจับกุม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 38 ปีแต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เช่นกรณี บัณฑิต สิทธิทุม ผู้ต้องหายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม กรณีของการเผาศาลากลาง เช่น จังหวัดอุบล ผู้ต้องขังถูกฟ้อง 21 รายถูกคุมขังอยู่นานนับปีจนบางส่วนได้ประกันตัว มีผู้ต้องขัง 4 รายหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงที่ถูกขังตั้งแต่วันจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกพวกเขา 33 ปี 12 เดือนต่อมาศาลฎีกาพิพากษาโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยคนอื่นเพิ่มเติม โดยมีบางคนที่ถูกศาลชั้นต้นและอุทธรณ์จำคุก 1 ปีกว่าแต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เช่น ดีเจต้อย

แนวคิดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ด้วยเหตุที่มีนักโทษในคดีเกี่ยวพันกับการชุมนุมปี 2553 อยู่ในเรือนจำจำนวนไม่น้อย จึงมีแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดย คอป.เคยเสนอไว้ว่า การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

กฎหมายนิรโทษกรรมถูกผลักดันชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกกระแสต้านอย่างหนักเมื่อการนิรโทษจะกว้างขวางครอบคลุมคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร, ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมด้วย รวมถึงคดีทางการเมืองก่อนหน้านั้นในทุกฝ่าย ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปี 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 การต่อต้านถูกจุดขึ้น และขยายตัวทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยเอง จนเกิดการก่อตัวชุมนุมของ กปปส.นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ในการสลายการชุมนุมปี 2553 การชุมของ กปปส.ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนจะลามมาถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การเรียกทหารออกมาจัดการสถานการณ์ปั่นป่วน และลงท้ายด้วยการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 57

เอกสารอ้างอิง :

  • 10 เมษากับ 10 เรื่องพื้นฐานที่…อาจจำอาจจำได้ อาจไม่เคยลืม https://prachatai.com/journal/2017/04/70988
  • 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง” https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304 
  • ย้อน10เมษา53 ขอคืนพื้นที่ กระสุนจริง-คนตาย-ชายชุดดำ ที่สังคมอาจหลงลืม https://www.khaosod.co.th/politics/news_2400891

สำหรับ ศิริลักษณ์ คำทา และวีรภัทรา เสียงเย็น ผู้เขียนรายงานสัมภาษณ์นี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net