Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเปรียบเทียบกับนายพลปิโนเชต์แห่งชิลี ก็ต้องถือว่านายพลประยุทธ์และพรรคพวกแห่ง คสช.ตั้งอยู่ในความประมาทอย่างมาก เพราะไม่ได้เตรียมการเอาไว้ว่า เมื่อลงจากอำนาจแล้วจะป้องกันตนเองให้ปลอดภัยตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญที่ปิโนเชต์สั่งให้เขียนขึ้น กำหนดไว้เลยว่าอดีตประธานาธิบดีจะได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกโดยอัตโนมัติไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักของไทยว่าแก้ยากแล้ว แต่ของปิโนเชต์แห่งชิลีแก้ไม่ได้เลย เพราะต้องได้คะแนนเสียงในการลงประชามติ 5 ใน 7 ไม่มีประเทศประชาธิปไตยอะไรในโลกนี้จะสามารถทำให้มติใดชนะได้ด้วยการโหวตที่ล้นเหลืออย่างนี้

และอื่นๆ อีกมาก ที่ปิโนเชต์เตรียมการเอาไว้สำหรับต้องลงจากตำแหน่งในวันหนึ่ง ทั้งในรูปกฎหมายและในรูปอื่น

แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากนะครับว่า ทำไมปิโนเชต์จึงไม่ประมาท และประยุทธ์จึงประมาท

ในชิลี กองทัพทำรัฐประหารไม่บ่อยนัก และแต่ละครั้งก็ถืออำนาจไม่นาน สักปีสองปีก็เปิดให้เลือกตั้งแล้วตัวเองกลับกรมกอง เตรียมปืนและรถถังไว้ให้พร้อมเพื่อคุมนักการเมืองจากการเลือกตั้งไว้ในมือ บรรยากาศจึงต่างจากไทยที่กองทัพทำรัฐประหารเป็นประจำ จนไม่มีใครรู้สึกว่าได้ละเมิดกฎหมายอย่างฉกรรจ์ ในขณะที่ในชิลี รัฐประหารยังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนรู้ว่าละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง ซ้ำปิโนเชต์ยังตั้งใจจะอยู่ในอำนาจเป็นเวลานานอีกด้วย เพื่อสำเร็จความมุ่งหมายนั้น เขาต้องอาศัยความรุนแรงอย่างที่ชิลีไม่เคยประสบมาก่อน เช่น อุ้มคนหายเป็นหลายพัน ซ้อมทรมานปรปักษ์ทางการเมืองจนถึงชีวิตอีกไม่รู้จะเท่าไร เอาคนขังคุกอีกเป็นหมื่น

ไม่แต่เพียงมีรัฐประหารในเมืองไทยบ่อยๆ เท่านั้น แต่รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบอบปกครองไทย ทำหน้าที่ปรับสมดุลมิให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มคณาธิปัตย์รับไม่ได้ หรือยังไม่พร้อมที่จะรับ หรือเปลี่ยนอย่างไรจึงจะมีกำไรแก่กลุ่มคณาธิปัตย์ ตราบเท่าที่อำนาจของกลุ่มคณาธิปัตย์ไม่เคยถูกท้าทายจริงจัง นายพลที่ทำรัฐประหารย่อมปลอดภัยเสมอ บางคนมีอนุสาวรีย์ของตนเอง บางคนได้ดำรงตำแหน่งสูงๆ ด้วย เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเหตุอะไรที่นายพลประยุทธ์จะต้องรอบคอบไปกว่านายพลอื่นที่ได้ทำรัฐประหารไปแล้ว

แต่ขอให้สังเกตไว้ด้วยว่า หากกองทัพต้องอาศัยอำนาจของกลุ่มคณาธิปัตย์ กองทัพก็ไม่ใช่ผู้นำของกลุ่มคณาธิปัตย์ ครั้งสุดท้ายที่กองทัพทำรัฐประหารแล้วตั้งตัวเป็นผู้นำของกลุ่มคณาธิปัตย์คือการรัฐประหาร 2500 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่สมรรถนะของกองทัพในการทำรัฐประหารตามการตัดสินใจอิสระของตนเองกลับลดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นเพียง “เครื่องมือ” ทางการเมืองของคณาธิปัตย์เท่านั้น

และในฐานะ “เครื่องมือ” นี่แหละที่เราอาจเข้าใจ คสช.ได้ดีขึ้น

กลุ่มคณาธิปัตย์ไม่พร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 นำมา (ที่จริงอย่างอื่นนำมาก่อน แต่เพื่อสะดวกและเข้าใจง่ายจึงใช้ รธน.40 เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง) แต่การรัฐประหาร 2549 ได้แต่เพียงฉีก รธน.ทิ้ง ไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงได้จริง กลุ่มคณาธิปัตย์จึงต้องยึดอำนาจใหม่อีกครั้งใน 2557 โดยวางแผนและร่วมมือกันอย่างกว้างขวางมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม

ดังนั้น จุดมุ่งหมายหลักของรัฐประหาร คสช.คือแช่แข็งความเปลี่ยนแปลงไว้ให้ได้ เราจึงเห็นอะไรที่ตลกๆ ของหัวหน้าคณะรัฐประหารมาตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจได้ คือการฟื้นฟูและรักษาระบบคุณค่า, อภิสิทธิ์, ความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่กลุ่มคณาธิปัตย์ไว้ด้วยอำนาจดิบๆ (ผมเข้าใจว่าสิ่งที่อยากฟื้นฟูรักษานั้น ยากจะหาอำนาจที่สุกแล้วมาค้ำจุนไว้ได้อีก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย) นั่นก็คือลัทธิอนุรักษนิยมดีๆ นี่เอง ที่เราเห็นตลกก็เพราะมันเป็นอนุรักษนิยมที่สุดโต่งเสียจนเหมือนเพิ่งโผล่มาจากโรงลิเกโบราณของเจ้าคุณอะไรสักคน

จะให้ คสช.แช่แข็งประเทศต่อไปอีกนานเท่าไร ตรงนี้แหละครับที่ไม่มีใครบอกได้ เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่กลุ่มคณาธิปัตย์ไทยจะสูญเสียพลังของการปรับตัวเท่ากับในยุคสมัยนี้ ดังนั้น แทนที่จะหยุดความเปลี่ยนแปลงไว้เพียงชั่วระยะหนึ่ง พอคณาธิปัตย์ปรับตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็กลับสู่ภาวะ “ปรกติ” ทางการเมืองใหม่ได้ เปิดให้ความเปลี่ยนแปลงคืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ ภายใต้การควบคุม

เมื่อปรับตัวไม่ได้ สิ่งที่คณาธิปัตย์ทำในภาวะ “ยกเว้น” ของ คสช. คือกอบโกยประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ช่วงชิงสัมปทานที่กินได้ในระยะยาว, เพิ่มอำนาจผูกขาดตลาด, เข้าควบคุมทรัพย์สินส่วนกลางไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้, กินเงินเดือนแพงๆ ในองค์กรอิสระทั้งหลาย จะได้สักกี่ปีก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ฯลฯ

ส่วน คสช.เองก็ไม่มีแผนอะไรสำหรับอนาคต ปรับไปตามสถานการณ์เพื่ออยู่ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่คณาธิปัตย์ยังไม่พร้อมกลับสู่ภาวะ “ปรกติ” ทางการเมือง คสช.ก็แค่หาทางเอาตัวรอดไปตามสถานการณ์เท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่คณาธิปัตย์อยากจะหยุดเอาไว้คืออะไร สรุปสั้นๆ ก็คือการปรับเปลี่ยนระบบคุณค่า, อัตลักษณ์แห่งชาติ, ระบบอภิสิทธิ์แบบเดิม, ความไม่เท่าเทียม (ระหว่างเพศ, ระหว่างภาค, ระหว่างสถานะ, ระหว่างชนชั้น) ฯลฯ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ฝ่ายคณาธิปัตย์รักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยอนุรักษนิยมที่สุดโต่งเกินไป จึงยิ่งรอนพลังการปรับตัวของตนไปพร้อมกัน

เพราะความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกเรียกร้องในสังคมไทยมานานแล้ว และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วย เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมและเป็นระบบชัดเจนเท่าหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2562

พรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าที่ใครคาดคิด ทั้งๆ ที่อนาคตใหม่เสนอนโยบายที่เป็นฝันร้ายของคณาธิปัตย์ไทย การเมืองใหม่ที่อยู่พ้นการควบคุมต่อรองของฝ่ายคณาธิปัตย์ปรากฏขึ้นมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน การยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ช่วยให้ข้อเสนอเชิงนโยบายหายไป กลับเป็นที่เรียกร้องในสังคมกว้างขวางมากขึ้น ซ้ำยังทำให้ทางออกโดยสงบดูเหมือนจะหายไปด้วย เพราะสิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่เป็นหลักประกันว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

การประท้วงในที่สาธารณะเกิดขึ้นทั่วประเทศ แม้ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนในการปราบปรามสักเพียงไร ก็ไม่ทำให้การชุมนุมประท้วงยุติลงได้ จนกระทั่งโรคระบาดเข้ามาระงับการชุมนุมใหญ่ แต่ก็ยังมีการชุมนุมย่อยเกิดขึ้นตลอดมามิได้ขาด

ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมกลายเป็นฝันร้ายของคณาธิปัตย์เสียยิ่งกว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ เพราะไม่มีเพดานอะไรจำกัดระดับของข้อเรียกร้องอีกแล้ว จึงกระทบต่ออัตลักษณ์ประจำชาติ, คุณค่าที่สังคมเคยยึดถือมายาวนาน, ระบบการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งค้ำจุนกลุ่มคณาธิปัตย์และใช้ปลูกฝังพลเมืองจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป ฯลฯ

ดังนั้น จึงเกิดการแตกขั้ว (polarization) อย่างใหญ่ที่สุดกว่าที่สังคมไทยเคยเผชิญมา

แน่นอนว่า สังคมไทยก็เคยเผชิญกับการแตกขั้วมาแล้ว การปฏิวัติประชาชาติ 2475 ทำให้เกิดการแตกขั้วกันระหว่างคนสองกลุ่ม แต่ทั้งสองกลุ่มคือชนชั้นนำและบริวารจำนวนน้อยของสังคม การแตกขั้วจึงมีผลกระทบต่อสังคมไม่สู้จะมากนัก ขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ก่อให้เกิดการแตกขั้วเช่นกัน ถึงมีการรบและใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างยาวนาน แต่กลุ่มคณาธิปัตย์สามารถควบคุมพื้นที่การสื่อสารสาธารณะได้อย่างรัดกุม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม การแตกขั้วจึงไม่มีผลยั่งยืนนัก แม้ต้องเสียทรัพยากรและชีวิตผู้คนในการสงครามภายในไปจำนวนไม่น้อยทั้งสองฝ่ายก็ตาม

แต่การแตกขั้วครั้งนี้มีผลกระเทือนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะรัฐสูญเสียอำนาจควบคุมพื้นที่สื่อสารสาธารณะไปด้วยเหตุหลายอย่าง พื้นที่สื่อสารสาธารณะจึงตกอยู่ในสภาพคล้ายกับเขตชนบทป่าเขาที่ พคท.เคยใช้เป็นฐานที่มั่นในการต่อต้านรัฐ แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเสียอีก เพราะพื้นที่สื่อสารสาธารณะไม่มีที่มั่นใหญ่ให้ฝ่ายรัฐสามารถทิ้งระเบิดและบุกเข้ายึดเหมือนฐานที่มั่นบนเขาของ พคท.

ซ้ำยังทำให้กระจายข่าวสารข้อมูลของฝ่ายปฏิปักษ์คณาธิปัตย์ไปได้กว้างขวางคลอบคลุมทั้งสังคมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การแตกขั้วครั้งนี้จึงใหญ่เสียจนเป็นไปไม่ได้ว่าจะคลี่คลายไปเองโดยไม่ผ่านความรุนแรง อันที่จริงการแตกขั้วในครั้งก่อนๆ ซึ่งเล็กกว่าครั้งนี้มาก ก็ไม่เคยคลี่คลายได้โดยปราศจากความรุนแรงสักครั้ง เพียงแต่ความรุนแรงยุติลงเมื่อการแตกขั้วคลี่คลายไปแล้ว

ปัญหาที่น่าวิตกแก่สังคมไทยมากกว่าจึงไม่ใช่ความรุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แม้ในขณะนี้ก็มีการใช้ความรุนแรงและ “นอก” กฎหมายอยู่ไม่น้อย เพื่อลดกำลังของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณาธิปัตย์ แต่เมื่อการแตกขั้วคลี่คลายลง ไม่ว่าชัยชนะจะอยู่กับฝ่ายใด ความรุนแรงจะยุติลงหรือไม่ หากไม่ ประเทศไทยจะไม่ถอยหลังเพราะ คสช.และโควิดเพียงเท่านี้ แต่จะถดถอยในทุกทางสืบต่อไปอีกอย่างไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไรและอย่างไร

เรื่องนี้ผมทำนายไม่ถูก มีเหตุผลที่จะคาดได้ทั้งสองทางว่า เมื่อการแตกขั้วคลี่คลายไปแล้ว ความรุนแรงจะยุติลง หรือจะยังดำเนินต่อไป

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นเพียงบางเรื่อง

การประนีประนอมเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชัยชนะอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ไม่ใช่การตัดสินใจของบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่มีกลไกทางสังคมที่ช่วยให้เกิดการประนีประนอมได้ง่ายด้วย การแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างคู่แข่ง มักลงท้ายที่เปิดให้คู่อริสามารถบินไปใช้ชีวิตในต่างแดน (ครับไม่เสมอไปทุกครั้ง การสังหารโหดก็มีเหมือนกัน) จำนวนไม่น้อยของสมาชิก พคท.ซึ่งเคยจับอาวุธสู้รบกับรัฐมาก่อน กลายเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” นายกรัฐมนตรีพลเรือนที่สร้างความเกลียดชังและความแค้นให้บางกลุ่มในคณาธิปัตย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรีเพื่อให้พ้นออกไปสู่พื้นที่ปลอดภัย

ประนีประนอม ไม่ใช่ดีที่เลิกทะเลาะกัน แต่ประนีประนอมเป็นช่องทางให้กลืนข้อเรียกร้องของฝ่ายที่ปราชัยเข้ามาในระบบได้ ถึงจะกลืนเข้ามาโดยปรับเปลี่ยนให้ไม่เป็นอันตรายต่อฝ่ายชนะ ก็นับเป็นช่องทางของความเปลี่ยนแปลงโดยสงบแก่สังคม

แต่ลักษณะประนีประนอมเช่นนี้ดูเหมือนจะถูกมองข้ามไปในระยะหลัง เช่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งแม้ว่าสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีอนุสาวรีย์และความชื่นชมของคนรุ่นหลังอยู่บ้าง แต่ทั้งสองไม่มีความหมายแก่กลุ่มคณาธิปัตย์ (เช่น เจ้าสัวไม่แคร์หรอกว่า คุณจะนับถือจอมพล ป.หรือไม่ ตราบเท่าที่เขายังสามารถครอบงำตลาดได้) การทำลายอนุสาวรีย์ของทั้งสอง “วีรบุรุษ” จึงเป็นอาการไม่ประนีประนอมที่น่ากลัวอยู่มาก เพราะมันจะนำมาซึ่งการรื้อถอนอนุสาวรีย์อีกไม่น้อยในอนาคต (ไม่ว่าฝ่ายใดชนะขาด) จนในวันข้างหน้าอาจเกิด “สุสานอนุสาวรีย์” ที่มุมใดมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ เหมือนในมอสโกก็ได้

ไทยมีคุณค่าบางอย่างอันเป็นที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ เช่น ศีลธรรมของพระพุทธศาสนา, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ความขี้เกรงใจ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีประโยชน์ในการระงับความรุนแรงที่ไม่จำเป็น ทำให้เป็นไปได้ว่าความรุนแรงอาจยุติลง เมื่อการแตกขั้วคลี่คลายไปแล้ว

แต่ในทางตรงกันข้าม คุณค่าเหล่านี้ไม่ได้ถูกสืบทอดมาอย่างแข็งแรงนัก เพราะกลุ่มคณาธิปัตย์ซึ่งครองอำนาจมานาน ไม่เห็นประโยชน์ของคุณค่าเหล่านี้ จึงพยายามปลูกฝังคุณค่าที่ช่วยผดุงอำนาจของตนเอง หรือตีความคุณค่าเดิมให้เป็นไปในทางผดุงอำนาจของตน เช่น เน้นอาการนับถือพระรัตนตรัยมากกว่าตัวหลักธรรมคำสอน

ยังมีอะไรอีกหลายอย่างในวัฒนธรรมไทยที่อาจช่วยให้เราหยุดการทำร้ายกันโดยไม่จำเป็นได้ และความรุนแรงจะไม่สืบเนื่องไปไม่สิ้นสุด แม้แต่เมื่อการแตกขั้วได้คลี่คลายไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง บริบทเปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน เงื่อนไขใหม่ทำให้แบบปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมเปลี่ยนไปเสมอ ผมจึงคาดไม่ได้ว่า วัฒนธรรมไทยจะมีพลังพอยุติความรุนแรงลงหลังการแตกขั้วอย่างรุนแรงครั้งนี้ได้คลี่คลายลงแล้วหรือไม่

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ matichonweekly.com/column/article_533101

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net