Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฉับพลันวันแรกที่เปิดรับสมัครผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. (31 มีนาคม) ยามเย็นวันนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ปรากฏตัวเยือนผู้ประกอบการและประชาชนที่คลองโอ่งอ่าง ใจกลางกรุงเทพฯ ในส่วนที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์เป็นพื้นที่สาธารณะและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมือง ที่รัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันผลักดันสร้างภาพลักษณ์ที่พลเอกประยุทธ์ภาคภูมิใจยิ่งนัก ทว่าในทางการเมืองได้รับการวิเคราะห์ว่านี่คือการแสดงนัยทางการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. จากการแต่งตั้งของพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ด้วยอำนาจมาตรา 44 เมื่อ 5 ปีกว่าที่แล้ว เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. ต่อไปอีก 4 ปี

คำถามสำคัญคือ พลเอกประยุทธ์มีพลังอิทธิพลโน้มน้าวประชาชนผู้มีสิทธิให้เลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้มากน้อยเพียงใด

งานวิจัยปอโทชิ้นแรกที่ศึกษาภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์เมื่อปี 2560 (เสาวรักษ์ หงส์ไทย, รัฐศาสตร์ ม.บูรพา) ขณะที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็มของคณะรัฐประหาร คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ทั้งได้บริหารประเทศมาแล้วราว 3 ปี โดยศึกษาเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่างประชากร 625 คน เก็บข้อมูลจากจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น นนทบุรี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้กระจายตัวทั้ง 4 ภาค ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนมีทัศนะว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำแบบสั่งการมากที่สุดถึง 46% รองลงมาคือผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จของงาน 28% ตามด้วยผู้นำแบบสนับสนุนที่เข้าถึงง่าย ให้เกียรติให้ความเคารพผู้ใต้บังคับบัญชา 17% ส่วนผู้นำแบบมีส่วนร่วมนั้นน้อยมากเพียง 9%

แม้ประชาชนจะเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำแบบสั่งการและมุ่งความสำเร็จของงานรวม 74% แต่ประชาชนกลับเห็นว่าพลเอกประยุทธ์มีความน่าเชื่อถือและสามารถพึ่งพาอาศัยได้ระดับปานกลางลงไปถึงน้อยมากนั้นรวมถึง 57% และเช่นเดียวกับความรับผิดชอบและความรอบรู้เกี่ยวกับงาน ดังนั้น ประชาชนจึงเห็นประสิทธิผลจากฝีมือของพลเอกประยุทธ์ในระดับน้อย เช่น การรักษาความสงบสุขโดยใช้มาตรา 44 ในระดับน้อยมีถึง 40.8% การแก้ไขปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ในระดับน้อย 42.9% การพัฒนาโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟฟ้า ในระดับน้อย 40.8% ช่วยแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ในระดับน้อย 52.2% ช่วยแก้ไขราคาสินค้าและค่าครองชีพให้ถูกลง ในระดับน้อย 46.2% ช่วยแก้ไขการศึกษาไทยให้ทันสมัยและแข่งขันกับต่างประเทศไทย ในระดับน้อย 45% แก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในระดับน้อย 40.5%

ภาพรวมด้านประสิทธิผลของงานนั้น ประชาชนเห็นฝีมือพลเอกประยุทธ์อยู่ในระดับปานกลาง แต่จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าเกี่ยวกับชีวิตเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ประชาชนประเมินพลเอกประยุทธ์ไปในทางค่อนข้างล้มเหลว

เมื่อพลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2562 งานวิจัยปอโทชิ้นแรกที่เน้นศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ด้านเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 2562 (วลัยพรรณ พรวงค์เลิศ, คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต) เก็บข้อมูลแบบสอบถาม 400 ชุดจากเทศบาลนครระยอง ผลการวิจัยออกมาระดับปานกลางในทุกด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการท่องเที่ยว ด้านรายได้ของครัวเรือน ผลที่น้อยที่สุดคือประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นี้จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ของครอบครัวต่อเดือนเพิ่มขึ้น

ห่างกันไม่กี่เดือน งานวิจัยปอโทปี 2563 (วรุฬห์ทิพย์ สุทธิประเสริฐ, คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต) เพื่อศึกษาว่าประชาชนมีทัศนคติอย่างไรต่อการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ การศึกษามีขึ้นที่เทศบาลเมืองสระบุรี ซึ่งมีชุมชนทหารขนาดใหญ่อยู่ในเขตนี้ด้วย เก็บแบบสอบถามจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลนี้ดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของตนเองในระดับน้อยในทุกด้าน ได้แก่ ด้านการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ด้านการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ ด้านการปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และด้านมาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก กล่าวสรุปให้ชัดขึ้นจากการอ่านงานวิจัยนี้คือ ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ “ดีแต่พูด”

วิจัยปอโทชิ้นล่าสุดที่เก็บข้อมูลเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2565 (เบญจภรณ์ ตรีกุล, คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต) ยิ่งเน้นย้ำถึงสภาพตกต่ำของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในสายตาประชาชน เมื่อผลวิจัยการบริหารงานด้านเศรษฐกิจนั้นมีระดับน้อยในด้านเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและด้านการช่วยเหลือจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-2019 แต่ด้านรายได้ครัวเรือน ประชาชนลงคะแนนให้การบริหารงานในระดับน้อยมาก เฉลี่ย 1.72 เท่านั้น โดยประชาชนเห็นว่ารัฐบาลนี้ทำให้ครัวเรือนมีเงินออมเพิ่มขึ้น ในระดับน้อยมาก เฉลี่ย 1.69 และรัฐบาลนี้ช่วยให้ครัวเรือนมีความสุขทางเศรษฐกิจในระดับน้อยมาก มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ 1.61

กล่าวได้ว่า ช่วงเวลาที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างมีเสถียรภาพยาวนาน แต่ทว่าธุรกิจการค้าเงินทองและความสุขทางเศรษฐกิจของประชาชนก็ค่อยๆ พังทลาย

ด้านภาวะผู้นำ งานวิจัยปอโทที่ศึกษาเมื่อต้นปี 2564 (กัญญรัตน์ เสถียรไทย, คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต) เก็บข้อมูล 400 ชุดจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา พบว่า ภาวะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงของพลเอกประยุทธ์มีในระดับน้อยทุกด้าน และเกือบหล่นลงไปอยู่ในระดับน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านการมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ ด้านการดลใจ และด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา

ทั้งยังตอกย้ำด้วยงานวิจัยปอโทในหัวข้อเดียวกันที่เพิ่งจัดเก็บข้อมูลเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา (ณัฐสนัย ตำนานจิตร, คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต) โดยศึกษาจากเทศบาลเมืองราชบุรี 400 ตัวอย่าง เมื่อพิจารณาลงแบบข้อย่อย จะพบว่าประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อพลเอกประยุทธ์อย่างน่าตกใจ เช่น ท่านคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้แสดงออกถึงการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ อยู่ในระดับน้อย เฉลี่ย 2.33, ท่านคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อคำพูดและนโยบายของตนเอง อยู่ในระดับน้อย เฉลี่ย 1.94, ท่านคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้มีความซื่อสัตย์และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามของคนในชาติ อยู่ในระดับน้อย เฉลี่ย 1.98 เป็นต้น หรือสรุปได้ว่า สิ้นความเชื่อมั่น สิ้นความเชื่อถือ สิ้นศรัทธา

จากงานวิจัยในรอบ 6 ปี (2560-2565) เกี่ยวกับทัศนคติของประชาชนจากเทศบาลเมืองต่างๆ ที่มีต่อภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์และบทบาทรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในการบริหารงานทางเศรษฐกิจสังคมการเมือง ผลออกมาจะเห็นได้ว่าจากความเชื่อมั่นศรัทธาในระดับปานกลางได้ลดระดับลงมาเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาในระดับน้อย และยิ่งเวลาทอดยาวไปยังอนาคต ระดับความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนจะหล่นลงไปอยู่ถึงระดับน้อยที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีนักทหารการเมืองไทยเคยได้รับมาก่อนในรอบสามทศวรรษ

ดังนั้น เมื่อประชาชนคนเมืองไม่เชื่อมั่นไม่ศรัทธาในภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ ไม่เชื่อไม่ศรัทธาในบทบาทของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ว่าจะนำชาติไทยไปสู่ความเจริญได้ ผลการวิจัยเหล่านี้ก็น่าจะชี้ทิศทางได้ว่า พลเอกประยุทธ์ไม่อาจมีมนต์ขลังที่จะเสกเป่าให้คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ กทม. ตามที่พลเอกประยุทธ์ใฝ่ฝันได้อย่างแน่นอน แต่อาจส่งผลตรงข้ามกับที่พลเอกประยุทธ์ปรารถนายิ่งขึ้น คือ เลือกใครก็ได้ที่ไม่ใช่คนที่พลเอกประยุทธ์เชียร์

 

หมายเหตุ: เพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” มีวัตถุประสงค์ที่จะนำความรู้วิชาการด้านรัฐศาสตร์มาศึกษาการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 22 พฤษภาคม 2565 และเผยแพร่ความรู้วิชาการแก่นักศึกษาและประชาชน

ข้อมูลและทัศนะที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียน/ผู้สัมภาษณ์ ไม่ได้เป็นข้อมูล/ทัศนะของคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต แต่ประการใด

สื่อมวลชนทุกแขนงสามารถนำงานต่างๆ ในเพจนี้ ทั้งบางส่วนหรือทั้งหมด ไปเผยแพร่ต่อได้ในทุกรูปแบบ โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใดทั้งสิ้น ขอเพียงให้เครดิตผู้เขียน และมาจากเพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต”

อ้างอิง
เสาวรักษ์ หงส์ไทย. (2560). ภาวะผู้นำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามเจตคติของประชาชน. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

วรุฬห์ทิพย์ สุทธิประเสริฐ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2563). ทัศนคติของประชาชนต่อการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ. 2562: กรณีศึกษาเขตเทศบาลเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี. การประชุมนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 15 ปีการศึกษา 2563. จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต. หน้า 2091-2012.

วลัยพรรณ พรวงค์เลิศ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2563). ทัศนคติของประชาชนต่อบทบาทด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ.ศ. 2557-2562 : กรณีศึกษาเทศบาลนครระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง. การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 11, 2563, เล่ม 1, พฤษภาคม 2563, หน้า 219-227.

เบญจภรณ์ ตรีกุล. (2565). ทัศนคติของประชาชนต่อการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี. การศึกษาค้นคว้าอิสระ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต.

กัญญรัตน์ เสถียรไทย, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2564). ทัศนคติของประชาชนต่อภาวะผู้นำทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พ.ศ.2562 –2563 : กรณีศึกษาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา. การประชุมนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 16 ปีการศึกษา 2564. จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต. หน้า 526-540.

ณัฐสนัย ตำนานจิตร. (2565). ทัศนคติของประชาชนต่อภาวะผู้นำทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พ.ศ.2562 –2563 : กรณีศึกษาเทศบาลเมืองราชบุรี. การศึกษาค้นคว้าอิสระ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต.

 

 

จากบทความเดิมชื่อ: ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีพลังอิทธิพลโน้มน้าวประชาชนผู้มีสิทธิให้เลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้มากน้อยเพียงใด  

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค แฟนเพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net