Skip to main content
sharethis

วงสนทนา ครป.house 'สมรสเท่าเทียม' หรือ 'คู่ชีวิต' ยังไงดี? ระบุ 'ร่างกฎหมายคู่ชีวิต' กับ 'ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม' ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ชี้ 'ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม'ให้สิทธิที่สมบูรณ์ครบถ้วนกว่า

10 เม.ย. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ครป. และสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Soc-Dem TH) ได้จัดกิจกรรมการสนทนา “ครป.house” บนแอปพลิเคชั่นClubhouse ในหัวข้อ “สมรสเท่าเทียม” หรือ “คู่ชีวิต” ยังไงดี? ผู้สนทนาประกอบด้วย แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์, นาดา ไชยจิตติ์ คณะทำงานสิทธิความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย, พรหมศร วีระธรรมจารี ภาคีสมรสเท่าเทียม ชวนพูดคุยโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
    
ก่อนเริ่มการสนทนา วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ได้เชิญชวนผู้สนทนาและผู้ฟังร่วมกันไว้อาลัยให้กับศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คนแรกของประเทศไทย นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาทางสังคมศาสตร์เพื่อมาสนับสนุนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งท่านได้เสียชีวิตในช่วงเช้าวันที่ 9 เม.ย. นี้ 
    
จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่ประเด็น โดยได้กล่าวถึงการที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (หรือที่เรียกกันว่า “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม”)ฉบับที่นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล ไปศึกษาแล้วให้ความเห็นภายใน 60 วัน จนกระทั่งวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยอ้างว่ามีเนื้อหาคล้าย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันในวันนี้ว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เวลานี้มีทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล และยังมีฉบับของภาคีสมรสเท่าเทียมที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อจะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร(ล่าสุดมีประชาชนร่วมเข้าชื่อตามกระบวนการในรัฐธรรมนูญแล้ว 301,792 ชื่อ)ด้วย จะเดินทางกันอย่างไรต่อไป 
    
พรหมศร วีระธรรมจารี ภาคีสมรสเท่าเทียม กล่าวในฐานะผู้นำการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชนว่า ตนไม่ได้รู้สึกผิดคาดแต่อย่างใดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะคาดการณ์ ไว้แล้ว แต่ความตลกอยู่ที่ตอน ครม.แถลงได้อ้างว่าให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)ไปทำการศึกษาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว มสธ. ยังดำเนินการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ วันที่มีการศึกษาเรื่องนี้ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการต่างเห็นด้วยกับเรื่องการสมรสเท่าเทียม จึงต้องรอดูว่า มสธ. จะสรุปผลการศึกษาได้ว่าอย่างไร อย่างไรก็ตามทางภาคีสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชนเพื่อเตรียมไว้จะยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว แต่กำลังพิจารณาว่าอาจจะยื่นในยุครัฐบาลและสภาชุดต่อไปที่เราหวังว่าจะเป็นชุดที่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่าให้ยื่นร่างฯของพวกเราไปในตอนนี้ อย่างไรก็คงไม่ได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้สิ่งที่ตนรู้สึกว่าเป็นความน่าตลก คือการที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ไปนำเสนอในเวที Universal Periodic Review (UPR) หรือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการให้มีกฎหมายคู่ชีวิต เป็นการแสดงถึงความไม่จริงใจต่อประชาชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
     
ร่างกฎหมายคู่ชีวิตนั้น จากที่ตนได้ศึกษาตั้งแต่ยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ล้ำหน้ามากแล้วสำหรับบริบทสังคมยุคนั้น แต่มาในยุครัฐบาลเผด็จการ 7-8 ปี ที่ผ่านมา มันมีการปรับแก้บางส่วน ทั้งนี้ตนมองว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็คือเรื่องชีวิต คุณค่าความเป็นคน ร่างกฎหมายคู่ชีวิตไม่ได้มีความจริงใจต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยเลย เพราะสิ่งสำคัญในด้านชีวิต มันให้ผลตามกฎหมายด้วยคำว่า “อนุโลม” ซึ่งการอนุโลมในภาษากฎหมาย จะทำให้เราได้เห็นว่ารัฐผลักภาระหน้าที่ไปสู่กระบวนการตุลากร และราชการ ประชาชนมีปัญหาติดขัดในการใช้สิทธิตามกฎหมายคู่ชีวิต ก็ให้ราชการไปหาทางแก้ปัญหาเอา หรือไม่ก็ประชาชนต้องไปฟ้องศาลเอา 
    
จากนั้นแทนคุณ จิตต์อิสระ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตอบข้อซักถามของผู้ดำเนินการสนทนาเกี่ยวกับเส้นทางการเดินต่อของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับพรรคก้าวไกลและฉบับประชาชน (หากมีการเสนอเข้ามา) แม้ว่า ครม. จะไม่รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล เพราะการเสนอกฎหมายก็ยังเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ที่ ครม. มองว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับร่างกฎหมายคู่ชีวิต เพราะมีธงไว้แล้วว่าจะผลักดันกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งเป็นการที่ยังขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงรอบด้าน เพราะสิทธิต่างๆที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับจากร่างกฎหมายคู่ชีวิตก็ยังได้ไม่เท่ากับการที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เป็นสมรสเท่าเทียม ทั้งนี้เมื่อไปดูรัฐธรรมนูญหมวด3 (สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) และหมวด 5 (หน้าที่ของรัฐ) ตนก็มองว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็เข้าหลักการในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 หมวด 

ซึ่งเท่าที่ตนในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ถามผู้ใหญ่ในพรรค ท่านก็ไฟเขียวในเรื่องการให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีการมอบหมายให้ประธาน ส.ส. ของพรรค (องอาจ คล้ามไพบูลย์) ไปเจรจาคุยกับ ส.ส. ของพรรคให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องที่ยังยากพอสมควร เพราะ ส.ส. แต่ละคนก็มีเอกสิทธิ์ในการโหวต และบางคนก็มีเรื่องความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไม่อยากยกมือสนับสนุนการสมรสเท่าเทียมก็มี อย่างไรก็ตามทางพรรคฯก็ไม่ได้ขัดข้องกับหลักการที่จะให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งนี้ตนยืนยันว่าตนเห็นด้วยกับการสมรสเท่าเทียม และจะสนับสนุนทุกทางให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตราบใดที่ตนยังทำงานเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ 
    
นาดา ไชยจิตติ์ คณะทำงานสิทธิความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า วันนี้คงไม่ต้องพูดแล้วว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับร่างกฎหมายคู่ชีวิตมันต่างกันอย่างไร อย่างตอนที่ตนเป็นกรรมการยกร่างกฎหมายคู่ชีวิตฉบับอัมพวาโมเดล ตนก็บอกว่าไม่สามารถใช้คำว่า “เท่าเทียม” ได้นะ สิ่งที่พอจะทำได้มันต้องใช้คำว่า “ทัดเทียม” ทั้งนี้การจัดทำร่างกฎหมายคู่ชีวิตมันมีมาตั้งแต่ยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว และเมื่อเกิดรัฐประหาร รัฐบาลจากการรัฐประหารก็พยายามทำกฎหมายที่เป็นลักษณะการให้สิทธิ ดูแลประชากรกลลุ่มเปราะบางมาเป็นเครื่องมือในการฟอกชมพู (Pink Washing) สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลตนเอง 

ในเวที UPR รัฐบาลไทยก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะศึกษาความเป็นไปได้ของการทำกฎหมายสิทธิการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนี่ก็เป็นคำประกาศที่กว้างมาก เพราะเขาเองก็รู้ว่าหากจะผลักดันเป็นกฎหมายคู่ชีวิตก็คงจะถูกต่อต้านโจมตีอย่างหนัก จะบอกว่าให้เป็นสมรสเท่าเทียม รัฐบาลเองก็มีธงอยู่ในใจ อย่างตอนตนเป็นกรรมการร่างกฎหมาย เราก็เคยเสนอว่า ขอให้มีการจัดทำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนเป็นลำดับต้น คือเวลารัฐปักธงว่าจะออกกฎหมาย เราไม่สามารถจะไว้วางใจได้ เราก็ต้องสู้ คัดง้างให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ณ เวลานั้น เพื่อไม่ให้เกิดการออกกฎหมายตามอำเภอใจหรือตามใบสั่ง 
    
กฎหมายทางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว ดูแลมรดก จัดการทรัพย์สิน ดูแลชีวิตคู่ของกันและกัน มันก็ควรต้องบังคับใช้กฎหมายฉบับเดียวกันคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เพราะเราก็เป็นฅนเหมือนกัน มันไม่มีอะไรต้องอธิบายเพิ่มแล้ว เพียงแค่จะคิดว่าเรามีเพศวิถีที่แตกต่างแล้วจะต้องมาใช้กฎหมายที่แตกต่างจากคนอื่น มันก็ไม่ใช่แล้ว การจะบอกว่าร่างกฎหมายคู่ชีวิตกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมันก็น่าเกลียดแล้ว ร่การเอาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ฉบับพรรคก้าวไกล) ที่มันถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อกฎหมายที่จะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภามานานมาก ไปอุ้มแล้วไปปัดตกในชั้น ครม. มันก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียดมากๆ 
    
สรุปแล้วร่างกฎหมายคู่ชีวิตกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มันไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง เวลาทำกฎหมาย เราอย่าดูเพียงรายมาตรา มันต้องดูที่หลักการและความจำเป็นก่อน ซึ่ง 2 ร่างกฎหมายนี้มันคนละประเด็นกันเลย เพียงแต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้พูดถึงสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว ฉะนั้นเมื่อว่ากันที่หลักการในการเป็นกฎหมายจัดตั้งครอบครัว เราก็มาดูกันว่าร่างกฎหมายฉบับไหนให้สิทธิที่สมบูรณ์ครบถ้วนกว่า ให้ศักดิศรีความเป็นมนุษย์มากกว่า ก็ต้องยอมรับว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้มากกว่า 
    
ในตอนท้าย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ได้กล่าวสรุปว่า การพูดคุยในวันนี้ ทั้งภาคประชาสังคม และภาคพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ต่างก็มีจุดยืนร่วมกันที่จะเห็นสิทธิการจัดตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศด้วยกลไกเดียวกันคือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้หลุดพ้นจากระบบสังคม 2 เพศ (Binary) และในอนาคตตนยังคาดหวังถึงการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นสีรุ้ง เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประเทศที่ประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งการทำให้สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ 

 

*ทุกท่านที่เป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ยังสามารถเข้าไปลงชื่อร่วมเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชนได้ที่ www.support1448.org 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net