Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทยนำโดย 'ชลน่าน ศรีแก้ว' พร้อมสมาชิกพรรคเพื่อไทยและ  ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมงานรำลึก 12 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษา 53 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา - 'ตรีชฎา' ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือยาพิษ ต้นเหตุความสูญเสีย ล้อมปราบเสื้อแดงไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก จี้รัฐยกเลิก

10 เม.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่าพรรคเพื่อไทยนำโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร , นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. และโฆษกพรรค , นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรค , นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย พร้อม ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมใจร่วมงานรำลึก 12 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการการต่อสู้ของพี่น้องคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยต้องไม่ถูกลบเลือน

นายแพทย์ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ‘12 ปี 10 เมษา’ คือโศกนาฏกรรมและอาชญากรรมที่กระทำโดยรัฐ พี่น้องคนเสื้อแดงออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและรัฐบาลต้องมาจากประชาชน แต่สิ่งที่ประชาชนได้กลับไปคือหีบศพและร่างไร้วิญญาณ และวันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้วคือจุดเริ่มต้นการสั่งฆ่าโดยรัฐ ที่วันนี้ยังไร้ผู้รับผิดชอบ พร้อมยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยลืมการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน และขอยืนหยัดร่วมต่อสู้บนวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป

ขณะที่ นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนที่ลืมการต่อสู้ของพี่น้องคนเสื้อแดง คารวะทุกการต่อสู้ของ ‘นักสู้ธุลีดิน’ และขอเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทยและคนรุ่นใหม่ในพรรค ร่วมรำลึกวีรกรรมของวีรชน และจะขอร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับพี่น้องประชาชนต่อไป

พร้อมกันนี้ พรรคเพื่อไทย คนรุ่นใหม่จากพรรคเพื่อไทย และ กลุ่ม Care คิด เคลื่อน ไทย ได้ส่งหรีดดอกไม้ที่มีใจความร้อยต่อกัน คือ “นักสู้ธุลีดิน 12 ปีเราไม่ลืม – พรรคเพื่อไทย” , “นักสู้นิรนามไม่สิ้น - Care คิด เคลื่อน ไทย” และ “ผองธุลีดินจักพลิกชะตา – ทีมนาตาชาและคนรุ่นใหม่เพื่อไทย” ที่เมื่ออ่านเรียงกันได้ใจความคือ “นักสู้ธุลีดิน 12 ปีเราไม่ลืม นักสู้นิรนามไม่สิ้น ผองธุลีดินจักพลิกชะตา” ซึ่งเป็นใจความตอนหนึ่งของเพลง นักสู้ธุลีดิน แต่งโดย จิ้น กรรมาชน ที่เสมือนหนึ่งเป็นเพลงของพี่น้องคนเสื้อแดง 

'ตรีชฎา' ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือยาพิษ ต้นเหตุความสูญเสีย 10 เมษา 53 เหตุล้อมปราบเสื้อแดงไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก จี้รัฐยกเลิก
 
นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ครบรอบ 12 ปีของการล้อมปราบประชาชน 10 เมษายน 2553 ในฐานะของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันประวัติศาสตร์ของประชาชน ขอรำลึกถึงการสูญเสียวีรชน ประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการกระทำที่โหดร้ายจากผู้มีอำนาจในเวลานั้น ต้นเหตุจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่คงไว้เพื่อปราบปรามจัดการกับประชาชน แม้ครอบครัววีรชนล้มตายจำนวนมาก ทายาทของวีรชนหลายคนเติบโต  แต่วันนี้ความเป็นธรรมยังไม่มีให้กับพวกเขา ความผิดไปไม่ถึงผู้ก่อการ  แต่มีสิ่งเดียวที่ปรากฎจริงคือมีผู้บาดเจ็บจริงและตายจริงจากกระสุนจริงเท่านั้น

นางสาวตรีชฎา กล่าวว่าตนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 การชุมนุมต่อเนื่องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ตั้งแต่เดือนมีนาคม เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก และคืนอำนาจการเลือกตั้งให้กับประชาชน ช่วงเช้าของวันที่ 10 เมษายนมีคำสั่งให้ทหารเข้าควบคุมพื้นที่โดยประดิษฐ์วาทกรรมว่า ขอกระชับพื้นที่จากผู้ชุมนุม และทหารประกาศเขตพื้นที่กระสุนจริง ได้เห็นภาพการปราบปรามประชาชนดั่งพวกเขาไม่ใช่คนร่วมชาติ เสียงกระสุนปืนดังสนั่นกลบเสียงขอร้องให้หยุดยิง เสียงของกลุ่มติดอาวุธวิ่งวุ่นจนไม่มีใครได้ยินเสียงร่ำไห้ของผู้ชุมนุม คนบาดเจ็บล้มตายต่อหน้า เด็กและผู้สูงอายุแทบเอาชีวิตไม่รอด มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาในวันนั้นคือ นายมนต์ชัย แซ่จอง เสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลันเพราะแก๊สน้ำตา นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงตรงสะพานมัฆวานตอนช่วงบ่าย ช่วงค่ำนายวสันต์ ภู่ทอง ชาวสมุทรปราการที่ยืนโบกธงชาติถูกยิงที่ศีรษะตรงจุดถนนดินสอด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงทำลายสมอง กระทั่งสื่อมวลชน ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงตรงถนนดินสอ และประชาชนอีกหลายคนถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่สี่แยกคอกวัวและอีกหลายพื้นที่ในการชุมนุมที่ผ่านฟ้าราชดำเนิน การไต่สวนหาสาเหตุการตายผลการชันสูตรออกมาว่าเกิดจากวิถีกระสุนจากแนวของทหาร  ส่วนตนนั้นได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาจนส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังจากการเข้าไปปักหลักรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้นยังไร้การเยียวยา ไร้การเหลียวแล ไม่มีแม้แต่คำขอโทษจากคนสั่งยิง
 
“เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ไม่ควรเป็นบทเรียนด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ไม่มีประเทศใดในโลกที่สั่งฆ่าประชาชนด้วยอาวุธของรัฐ  ด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เปรียบเสมือนยาพิษ เหมือนใบอนุญาตจัดการประชาชน  ความสูญเสียในวันนั้นถูกรองรับด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผู้มีอำนาจหวงแหนกอดเอาไว้เพียงเพื่อคงอำนาจของตนเอง ไม่ต่างกับตอนนี้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ ไม่ใช่เพื่อจัดการโรคระบาด แต่เพราะขาดกลัวอำนาจของประชาชน  สุดท้ายจะเหลือเพียงการตายกับความสูญเสียในความทรงจำที่โหดร้ายและซากปรักหักพังของประเทศกับประวัติที่เลวร้ายสำหรับเยาวชนคนรุ่นหลัง ขอให้ความสูญเสียจบลงเพียงแค่ปี 2553 และขอให้ปี2565 คือปีแห่งการอำลาเผด็จการ สู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที ” นางสาวตรีชฎา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net