Skip to main content
sharethis
  • เมื่อ 10-25 มี.ค. 65 สธพอ.มีการเปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจและดำเนินการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อยกระดับความโปร่งใส และความเป็นธรรมในการให้บริการแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้ชาวไทย
  • พ.ร.ฎ.ฉบับนี้จะบังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มต้องแจ้งข้อมูลก่อนให้บริการในไทย ซึ่งอยู่ในมาตรา 11 เช่น ชื่อ รายได้จากการประกอบธุรกิจ ที่อยู่ URL และอื่นๆ ซึ่งเวลาเกิดข้อพิพาทจะทำให้รัฐสามารถตามตัว บ.ได้ และมาตรา 16 กำหนดข้อมูลที่บริษัทแพลตฟอร์มต้องแจ้งแก่ผู้ใช้ชาวไทย  
  • จากการสัมภาษณ์ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัล ให้ความเห็นว่า แรงงานแพลตฟอร์มจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ เนื่องจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา จะทำให้เห็นเงื่อนไขการให้บริการ การคิดธรรมเนียม ค่าตอบแทน และอื่นๆ ซึ่งแรงงานสามารถหยิบข้อมูลตรงนี้ไปใช้ร้องเรียนต่อได้  
  • ทศพล เผยว่าข้อกังวลสำคัญคือ พ.ร.ฎ.นี้ยังขาดคือการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทแพลตฟอร์มกรณีที่บริษัทฝ่าฝืนข้อบังคับ และระบบตรวจสอบข้อมูลกรณีที่บริษัทแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้อง
  • ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเสนอ สพธอ.ควรเพิ่มบังคับใช้กฎหมายมาตรการระยะกลาง เพื่อกดดันบริษัทมีการแจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนต่อผู้บริโภค และระบบตรวจสอบเพื่อเช็กว่าข้อมูลที่บริษัทส่งมาให้ถูกต้องหรือไม่   

ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริการผ่านแพลตฟอร์มมีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการรับ-ส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด คนไม่สามารถออกมาจับจ่ายซื้ออาหารได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน ทำให้บริการแพลตฟอร์มเปลี่ยนจากการให้บริการทางเลือกกลายเป็นทางหลักของคนยุคปัจจุบัน

แต่การเติบโตของแพลตฟอร์ม มาพร้อมกับข้อพิพาทจำนวนมากระหว่างเจ้าของแพลตฟอร์มและแรงงาน สะท้อนผ่านการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมของแรงงานในระบบแพลตฟอร์มตั้งแต่ 2563-2565 แรงงานแพลตฟอร์มโดยเฉพาะผู้ให้บริการรับ-ส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน มีการประท้วงบริษัทและร้องเรียนหน่วยงานรัฐบ่อยครั้ง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การใช้อำนาจบังคับบัญชาเกินขอบเขต การลงโทษคนทำงานโดยไม่มีระบบสอบสวน และอื่นๆ และแม้ว่าจะมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่แนวทางแก้ปัญหาสิทธิและการคุ้มครองสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์มยังคงถกเถียงไม่สะเด็ดน้ำ

ขณะที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.พัฒนาและส่งเสริมแรงงานนอกระบบแห่งชาติ พ.ศ. … จัดทำโดยกระทรวงแรงงาน จุดหมายสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ (ซึ่งรวมแรงงานแพลตฟอร์มด้วย) และล่าสุด อยู่ระหว่างรอเข้าสภาเพื่อพิจารณา 

แต่กฎหมายอีกตัวที่เพิ่งปิดรับฟังความเห็นไม่นานคือ (ร่าง) พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจและดำเนินการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …  หรือ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อยกระดับการดำเนินการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค  

ส่วนใหญ่ผู้วิจารณ์ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มักเน้นไปที่เรื่องการลงทุน และเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีใครหยิบยก พ.ร.ฎ.นี้มาพูดถึงในมุมมองของแรงงานแพลตฟอร์มเท่าใดนัก ซึ่งจากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า พ.ร.ฎ.นี้มีบางส่วนคาบเกี่ยวกับสิทธิแรงงานผ่านแพลตฟอร์ม เช่น การนิยามแรงงานสัมพันธ์ การเปิดเผยข้อมูลของ บ.แพลตฟอร์มต่อผู้ให้บริการ ฯลฯ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าคนงานจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.ตัวนี้หรือไม่

เพื่อหาคำตอบ ประชาไท ชวนคุยกับ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นว่า ในมุมมองของแรงงานแพลตฟอร์มมอง พ.ร.ฎ.นี้เป็นคุณหรือโทษ และมีแรงกระเพื่อมต่อการสิทธิและการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มมากขนาดไหน และมีอะไรน่ากังวลหรือต้องปรับปรุงบ้างสำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รู้จัก พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ

เมื่อ 10-25 มี.ค.ที่ผ่านมา สพธอ. ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES เปิดรับความเห็นต่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การประกอบธุรกิจและดำเนินการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … โดยจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาประชาชนหรือภาคธุรกิจถูกหลอกหรือถูกช่อโกง หรือทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งภาครัฐระบุว่าเมื่อปี 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนสูงถึง 4-5 หมื่นกรณี โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องซื้อ-ขายของออนไลน์ 

เมื่อเกิดปัญหา ภาครัฐจะใช้วิธีการไกล่เกลี่ยในการแก้ปัญหาเป็นหลัก แต่พบอุปสรรคในการติดต่อผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งไทยและต่างชาติ จึงเป็นที่มาให้ สพธอ.เสนอกลไกนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้การดำเนินแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความโปร่งใส และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 

กลไกนี้จะให้เจ้าของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยและต่างประเทศก่อนการให้บริการต่อผู้บริโภคชาวไทย ต้องแจ้งข้อมูลต่างๆ กับทาง สพธอ. ซึ่งระบุในมาตรา 11 เช่น ชื่อนิติบุคคล ชื่อแพลตฟอร์ม ที่อยู่ จำนวนผู้ใช้ รายได้ ข้อร้องเรียน และอื่นๆ ซึ่งข้อมูลที่ต้องแจ้งมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์มซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มทั่วไป และแพลตฟอร์มขนาดเล็ก รวมถึงมีข้อกำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มด้วย  เพื่อประโยชน์ของการดูแลแพลตฟอร์ม หรือหน่วยงานรัฐจะสามารถตามบริษัทแพลตฟอร์มได้ เวลาเกิดข้อร้องเรียนต่างๆ 

เมื่อแจ้งแล้ว แพลตฟอร์มจะได้รับ ‘ตรารับรอง’ (flag) เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าแพลตฟอร์มไม่ได้แจ้งข้อมูลต่อ สพธอ. เจ้าพนักงานสามารถสั่งระงับการให้บริการแก่ผู้บริโภคชาวไทยได้ จนกว่าจะส่งข้อมูลให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด และหนักสุดคือการไม่รับจดแจ้งแพลตฟอร์มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ยังอยู่ในระหว่างรับฟังความเห็น และปรับปรุงแก้ไขอยู่

นิยามแรงงานแพลตฟอร์มที่อาจเป็นปัญหา

ประเด็นหนึ่งที่นักสิทธิแรงงานกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ฎ.นี้ คือ การนิยามคนทำงานแพลตฟอร์มอย่างไรเดอร์ แม่บ้าน หมอนวด ฯลฯ เป็น “ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล หมายความว่า บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่เสนอสินค้า หรือบริการ ต่อผู้บริโภคผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการพาณิชย์” ซึ่งเมื่อการนิยามในเป็นลักษณะนี้แล้ว มันจะถูกบังคับใช้กับเรื่องการกำกับกิจการบนแพลตฟอร์มอย่างเดียว หรือจะใช้นิยามนี้ไปกับเรื่องความสัมพันธ์เชิงแรงงาน และมีผลสืบเนื่องทำให้แรงงานแพลตฟอร์มเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางด้านกฎหมายหรือไม่นั้น

แรงงานแพลตฟอร์มยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องวัคซีนโควิด-19 ให้คนทำงานด่านหน้า เมื่อ 8 มิ.ย. 64

ทศพล อธิบายว่า เวลาพูดถึงการนิยามในกฎหมาย นักกฎหมายจะเข้าใจว่า “ถ้อยคำ นิยาม ปรากฏอยู่ในกฎหมายไหน ถ้ามันไม่ได้เขียนตีความให้คลุมไปยังกฎหมายอื่น หรือไม่ได้มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่ากฎหมายอื่น การตีความหรือให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายตัวนั้น หรือกฎหมายลูก กฎหมายตัวเล็กๆ ของกฎหมายตัวนั้นเท่านั้น” ดังนั้น แล้วการนิยามนี้จะไม่ครอบคลุมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่บางคนอาจมีข้อกังวลว่า ถ้าเกิดการฟ้องร้องแล้ว ทนายหยิบเรื่องนิยามขึ้นมาสู้กันต้องมาดูว่าศาลจะฟังฝั่งไหนมากกว่ากัน

“แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ามันไม่เกี่ยวกัน และถ้าใครบอกว่าเกี่ยวกัน เราต้องไปถล่มไอ้นั่นเอาให้เละเลย เอาให้ยับเลย เอาให้เสียความเป็นนักกฎหมายเลย เพราะนักกฎหมายรู้ว่ามันต้องไม่ตีความอย่างนั้น” ทศพล ระบุ ก่อนกล่าวต่อว่าสาเหตุที่พูดอย่างนี้ เพราะเขาจะดูตรงเหตุผลของการมีกฎหมาย ซึ่งเขียนชัดเจน พ.ร.ฎ.ตัวนี้ว่าด้วยการควบคุมดูแลบริการธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เขียนหลักการและเหตุผลว่า เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และยกระดับความโปร่งใส และความเป็นธรรมของการดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์ม 

ดังนั้น พ.ร.ฎ. จะเน้นแจกแจงความสัมพันธ์ 2 ขา คือขาแรก ผู้บริโภค และขาสอง คือ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม และผู้ประกอบการแพลตฟอร์มคือคนเสนอบริการ  ใครอยู่ในธุรกิจนี้บ้าง ตกลงและประเมินอย่างไร ต้องทำให้ตรงนี้มันโปร่งใสจะได้ทราบว่าความสัมพันธ์มันอยู่ตรงไหน และให้ความยุติธรรมยังไง ซึ่งตรงนี้จะไม่มีผลต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  

ให้ User แต่แรงงานอาจได้ประโยชน์

นอกจากมาตรา 11 ที่บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มส่งข้อมูลให้ สพธอ.แล้ว ทศพล มองว่าคนที่เครียดเรื่องสิทธิแรงงานจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ โดยเฉพาะหมวด 2 มาตรา 16 ซึ่งระบุว่า เพื่อประโยชน์และความโปร่งใสของการให้บริการแพลตฟอร์ม เจ้าของแพลตฟอร์มตามมาตรา 15 ต้องแจ้งข้อมูลอะไรแก่ผู้ใช้บริการ (User) บ้าง อีกทั้ง ในกฎหมายเน้นย้ำว่า ต้องแจ้งหรือรายงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งภายใน 60 วันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ต้องแจ้งล่วงหน้าผู้ใช้แพลตฟอร์มภายในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือภายใน 30 วันตามมาตรา 14 ของ พ.ร.ฎ.

“หลักของกฎหมายไอเดียของมันคือทำให้โปร่งใสขึ้นมา มันจะไม่มีการหลบๆ ซ่อนๆ เงื่อนไข Term & Condition ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย มันต้องบอกเงื่อนไขที่จะให้บริการ จะระงับหรือหยุดให้บริการ จะคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนค่าบริการ และค่าใช้จ่ายต่อการให้บริการอย่างไร มุมหนึ่ง คือแบบว่าผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มจะไปดีล ไปมีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคอย่างไร มันก็จะชัดเจนตรงนี้” ทศพล กล่าว

แม้ว่าข้อบังคับจะเน้นไปที่การแจ้งข้อมูลแก่ผู้ใช้เป็นหลัก แต่ข้อมูลส่วนนี้จะทำให้ประชาชนเห็นโมเดลธุรกิจกระจ่างชัดขึ้น เงื่อนไขใดเป็นอย่างไร มีการเอาเปรียบไหม และเหล่านี้จะนำไปสู่การต่อยอดและแก้ปัญหาสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มต่อไป ในการกำหนดมาตรฐานไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายรับภาระค่าใช้จ่าย หรือแรงงานนำไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานต่อไป เมื่อพบความไม่เป็นธรรม 

มาตรา 16 ข้อมูลที่ต้องแจ้งผู้ใช้บริการ

(1) เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับ หรือหยุดการให้บริการการคิดค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการซึ่งเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(2) ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจ ใช้จัดอันดับหรือแนะนำรายการสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(3) ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจ ใช้ในการนำเสนอโฆษณาสินค้าหรือบริการแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(4) ปัจจัยหลักของอัลกอริทึมหรือของหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจ ใช้ในการประเมินความพึงพอใจและการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(5) การเข้าถึงและการใช้งานข้อมูลที่ได้รับจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

(6) การตอบข้อสอบถาม การจัดการข้อร้องเรียน และการระงับข้อพิพาท รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าว

(7) การดำเนินการต่อสินค้า บริการ หรือเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการจัดระดับความเหมาะสมของการนำเสนอสินค้า บริการ หรือเนื้อหา

ทศพล ยกตัวอย่างหลายอนุมาตราที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนงานแพลตฟอร์มในประเด็นต่างๆ เช่น อนุมาตรา 1 ที่ว่าด้วยเรื่องผลตอบแทน ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ต่อไปแรงงานจะทราบข้อมูลหลักการว่าบริษัทคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน และค่าบริการอย่างไร มีการผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือคนทำงานหรือไม่ โมเดลตรงนี้จะชัดเจนขึ้น ตลอดจนหลักเกณฑ์และเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้ตนเองถูกระงับบัญชีให้บริการในแพลตฟอร์ม

ไรเดอร์ แอปฯ LINE MAN รวมตัวเรียกร้องค่าตอบแทนขั้นต่ำ 40 บาทต่อรอบ ที่หน้าอาคาร T-One เมื่อ 4 มิ.ย. 64 ภาพโดย Chana La

 

ขณะที่อนุมาตรา 2 อันนี้มันมาในประเด็นที่แรงงานจะทราบว่ามีการกีดกันอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ในการเสนอการให้บริการ เวลารัศมีกระจายงานมีระบบเลือกคนทำงานอย่างไรบ้าง มีการใส่แบล็กลิสต์คนที่วิจารณ์บริษัทออกสื่อหรือไม่  

นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์มดิจิทัลบางบริษัทเอารูปคนทำงานไปขึ้นบนแอปฯ ซึ่งแบบนี้มันคือโฆษณา และเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรูปลักษณ์ภายนอกโดยเฉพาะงานที่ต้องไปเจอลูกค้าใกล้ชิดอย่างงานทำความสะอาดบ้าน หรืองานนวด เพราะคนที่เป็นผู้ใช้บริการก็อาจจะเลือกใช้บริการภาพคนทำงานหน้าตาดี หรือประเมินคะแนนดีเพราะหน้าตา ขณะที่คนที่หน้าตาไม่ถูกใจ ก็ประเมินให้คะแนนในอีกลักษณะ ซึ่งต้องมาดูว่าจะแก้ไขยังไง เนื่องจากทุกคนสวมแมสก์ไปทำงานอยู่แล้ว คุณจะต้องมาซีเรียสเรื่องหน้าตาทำไม

ด้านอนุฯ 3 ตรงนี้จะทำให้คนทำงานแพลตฟอร์มทราบว่าการประเมินของลูกค้านั้นมันส่งผลต่อการจ่ายค่าตอบแทน หรือมีผลต่อการรับงานครั้งหน้าหรือไม่ เพราะบางคนโดนตัด เพราะเข้าใจว่าตัวเองบริการไม่ดี ซึ่งแรงงานจะทราบว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ 

อาจารย์จาก มช. ระบุต่อว่า “สำหรับอนุฯ 6 การสอบถามข้อร้องเรียน และการระงับข้อพิพาท อันนี้ผมว่าดีนะ ถ้าให้บริษัทแพลตฟอร์มเปิดเผยได้” เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ไรเดอร์แพลตฟอร์มหนึ่งไปร่วมชุมนุมทางการเมือง และมีคนร้องเรียน จากนั้น บริษัทก็ไปปิดระบบบัญชีให้บริการเขาฉับพลัน ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะเป็นการเลิกจ้างเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ให้อีกฝ่ายมีโอกาสชี้แจง ต่อรอง หรือตกลงก่อนบังคับใช้ หมายความว่าคุณก็ต้องคุยกันก่อนว่า มันมีข้อเท็จจริงที่มันสะท้อนให้เห็นว่ามันมีการผิดสัญญาหรือไม่ทำตามสัญญาจริงไหม หรือก่อนที่จะนำไปสู่การเอาข้อเท็จจริงนั้นมาปรับใช้ว่ามันมีผลในเชิงสัญญาหรือการทำงานอย่างไร ถึงจะลงทัณฑ์หรือตัดความสัมพันธ์กับเขา

อย่างไรก็ตาม ทศพล ทิ้งท้ายต่อประเด็นนี้ว่า แม้ว่าหลายข้อจะส่งผลดีต่อแรงงาน แต่ก็มีข้อห่วงกังวลเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ 

การบังคับใช้กฎหมายที่ยังมีเครื่องหมายคำถาม 

ทศพล มองปัญหาของ พ.ร.ฎ.ว่า มีข้อกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากไม่มีการให้คุณให้โทษสำหรับบริษัทที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 16 อย่างมากระบุไว้ใน หมวด 2 มาตรา 29 ว่าถ้าบริษัทไม่ส่งข้อมูลให้ สพธอ.ตามที่กำหนด เจ้าหน้าที่สามารถมีคำสั่งห้ามเจ้าของแพลตฟอร์มให้บริการ จนกว่าจะทำให้ถูกต้องภายใน 90 วัน และถ้ายังไม่ทำตามตามกรอบเวลาที่กำหนด ก็จะไม่ได้รับจดแจ้งเท่านั้น หรือก็คือ flag หรือติดตรา ติดธงให้ เพื่อบอกว่าเว็บนี้ได้มาตรฐาน เว็บนี้เชื่อถือได้ ซึ่งถ้าถามว่าให้บริการต่อได้ไหม ก็อาจจะยังได้ 

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“คำถามคือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มันต้องการธงจากรัฐไทย ซึ่งเป็นรัฐโคตรน่าเชื่อถือเลยเหรอ เพื่ออะไรเหรอ อาจจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอาจจะดิ้นรนเพื่อให้มาซึ่ง flag (ธง) ตัวนี้ ถัดมา อาจจะว่าไม่ได้เขียนโทษในพระราชกฤษฎีกานี้ตรงๆ อาจจะต้องไปดูตัว พ.ร.บ.หลักของเรื่องนี้อีกทีว่ามีโทษอะไรอยู่ แต่ต้องไปตามว่าใช้โทษหรือกลไกใช้บังคับยังไง เพราะในท้ายที่สุด มันบอกว่าไม่ได้รับจดแจ้ง สุดท้ายก็จะไม่ได้ธง ไม่ได้รับการรับรอง แต่เขาก็ยังเสนอบริการได้อยู่หรือไม่ และผลจากการไม่ปฏิบัติตามมันคืออะไร ผลอาจจะออกมาในรูปที่ให้บริการโดยที่รัฐไม่อนุญาต ถือเป็นการไม่คุ้มครองผู้บริโภคแบบหนึ่งหรือไม่ นำไปสู่โทษรึเปล่า ซึ่งถ้าบังคับได้ขนาดนั้นมันก็โอเค ทีนี้ขึ้นอยู่กับความหินของคณะกรรมการนี้แล้วว่าจะเอากันขนาดไหน บีบให้ต้องเปิดเผยขนาดนั้นไหม ถ้าไม่เปิดเผยระงับเลยไหม ไม่จดแจ้ง ไม่รับรองเลยไหม มันก็ไปต่อได้” ทศพล ตั้งคำถามต่อ  

เมื่อถามว่า สพธอ. สามารถระงับการให้บริการได้เลยไหม อาจารย์จาก มช. คาดว่า เป็นไปได้ โดยการประสานงานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต เช่น ดีแทค ทรู ทีโอที และอื่นๆ ให้บล็อก URL ที่ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่ถ้าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ VPN (Virtual Private Network) หรือมี proxy ก็ยังใช้ได้อยู่

“ถ้าบล็อกกันจริง ผมไม่ดูเบานะ ถ้าห้ามจริงก็มีผลแน่นอน แต่คุณใจถึงพอรึเปล่า เพราะมันส่งสัญญาณไปยังผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลกเลยนะว่า ประเทศนี้มีบล็อกเลยนะ เพราะประเทศที่กล้าบล็อกส่วนใหญ่เป็นจีน และรัสเซีย” อาจารย์จาก มช.ให้ความเห็น

แนะเพิ่มมาตรการระยะกลาง-ระบบตรวจสอบ

ทศพล มองว่า เรื่องที่ พ.ร.ฎ.ต้องปรับปรุง คือ ต้องมีมาตรการระยะกลางในการบังคับใช้กฎหมาย และระบบตรวจสอบข้อมูลของแพลตฟอร์มว่ามีความถูกต้องหรือไม่ 

ปัญหาของ พ.ร.ฎ.ตัวนี้คือการไม่มีมาตรการที่ไล่จากเบาไปหาหนัก ซึ่งตอนนี้มีแต่หนัก กับเบา แต่ไม่มีระยะกลาง คือคนที่แจ้งข้อมูลครบตามที่ พ.ร.ฎ. กำหนดจะมีตรารับรองให้ เหมือนติด ‘ธง’ หรือ flag เพื่อแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มน่าเชื่อถือ แต่มาตรการหนักสุดคือเกมเลย โดนบล็อกไม่ให้ดำเนินการในไทย ซึ่งมาตรการในระยะกลาง กรณีที่บริษัทแพลตฟอร์มไม่ส่งข้อมูลให้มีแต่การเตือน แต่ถ้าเตือนแล้วไม่ทำอีก ก็จะไม่มีมาตรการบังคับหรือกดดันในส่วนตรงกลาง ซึ่งทศพลเสนอว่าควรมีมาตรการระยะกลางไว้ด้วย  

ประเด็นต่อมา ทศพล ตั้งคำถามต่อว่า เมื่อหน่วยงานรัฐได้ข้อมูลมาแล้วจะทำยังไงต่อ สมมติ ถ้าพบว่ามีปัญหาผิดปกติจะมีการประสานงานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อ หรือกลายเป็นว่าทำได้มากสุดคือขอข้อมูลมาและต้องไปร้องเรียนเอง  

เขาเสนอว่า สพธอ. ควรมีระบบออดิต (การตรวจสอบ) หรือระบบตรวจสอบข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วพบเห็นความผิดปกติ ก็จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหา  

“มีระบบ auditor หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจตามที่ยื่นบอกคณะกรรมการไว้ มันสวนทางกับการปฎิบัติจริงรึเปล่า อันนี้ระบบ audit (ผู้สื่อข่าว - ตรวจตรา) สำคัญ 

"แต่ถ้าไม่ audit มันจะมีปลายทางยังไง คือมีช่องทางให้ร้องเรียนเหรอ ให้ผู้บริโภคหรือผู้ให้บริการคนอื่นที่จะบอกว่า แพลตฟอร์มไม่ได้ทำตามที่บอกไว้ ร้องเรียนเข้าไปช่องทางไหนอย่างไร และสุดท้าย ถ้าแบบว่าเถียงกันไม่จบ คุณจะจบกันด้วยวิธีการยังไง คณะกรรมการวินิจฉัย ถ้าแพลตฟอร์มไม่เชื่อคณะกรรมการไปไหน ไปศาลปกครอง มันเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นไหม หรือมีกระบวนการประนีประนอมไกล่เกลี่ย แล้วประนีประนอมไกล่เกลี่ยเป็นแค่ระหว่างรัฐ-แพลตฟอร์ม หรือผู้บริโภค-ผู้ให้บริการ จะมีส่วนร่วมในการระงับไกล่เกลี่ยข้อพิพาทยังไง" อาจารย์ด้านกฎหมายดิจิทัลระบุ

แม้ว่าทาง สพธอ. กำหนดว่า บริษัทแพลตฟอร์มจะต้องส่งข้อมูลให้รัฐปีต่อปี แต่จากการเข้าฟัง ผอ.สพธอ. แจ้งกับสื่อเมื่อ 16 มี.ค. 65 พบว่าการส่งข้อมูลคือเป็นเพียงการเช็กยอดผู้ใช้หรือกิจกรรมบนแพลตฟอร์มมีมากขึ้นหรือน้อยลง ไม่ใช่การตรวจสอบว่าบริษัทมีการทำอะไรที่สวนทางกับข้อมูลหรือไม่ เพราะถ้าผู้ใช้งานมากขึ้น บริษัทแพลตฟอร์มแต่เดิมเป็นแพลตฟอร์มขนาดเล็ก อาจต้องยกระดับเป็นแพลตฟอร์มทั่วไป ซึ่งมีภาระในการแจ้งข้อมูลมากยิ่งขึ้น  

ถ้าในทางปฏิบัติเป็นแบบนี้จริง ทศพล ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานรัฐอาจไม่ได้ตั้งเป้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียว แต่อาจหมายรวมถึงการเป็นบันไดสู่การเก็บภาษีมากขึ้น เพราะข้อมูลที่ให้บริษัทแจ้งมีเรื่องของรายได้ของแพลตฟอร์มด้วย

ปัจจุบัน (ร่าง) พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ เพิ่งเสร็จขั้นตอนการรับฟังความเห็นไม่นาน หลังจากนั้น จะนำความเห็นมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา วาระ 2 และจะส่งต่อร่าง พ.ร.ฎ.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อทำการยืนยันร่าง พ.ร.ฎ. ก่อนส่งไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐบาล และทูลเกล้าฯ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูอีกครั้งว่าหลังการรับฟังความเห็นครั้งล่าสุด ทาง สพธอ.จะมีการปรับปรุงร่าง พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ ไปในทิศทางไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net