Skip to main content
sharethis
  • อัยการสั่งฟ้องธนาธร ในคดี 112 จากการไลฟ์วิจารณ์การบริหารวัคซีนของรัฐบาล โดยศาลให้ประกันตัว 
  • เปิดเอกสารคำฟ้องอ้างจำเลยทำให้ ปชช.สงสัยต่อกษัตริย์ว่ารู้เห็นกับ รบ.ที่นำงบฯ ไปสนับสนุนการผลิตและจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของ บ.สยามไบโอฯ ซึ่ง ร.10 ทรงถือหุ้น 100% แต่บริษัทเดียว เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและจวบจ้วงล่วงเกิน
  • ขณะที่ย้อนดู ที่มาของคำว่า 'วัคซีนพระราชทาน' ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีน COVID-19 ตั้งแต่ พ.ย.63 ว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจาก ร.10 พระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย

 

11 เม.ย.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า พนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน: ใครได้-ใครเสีย?” ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารวัคซีนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีลักษณะ “แทงม้าตัวเดียว” สั่งวัคซีนยี่ห้อเดียวคือแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงหากวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพหรือบริษัทส่งมอบวัคซีนล่าช้า

หลังจากอัยการส่งฟ้องธนาธรถูกนำตัวไปที่ศาลอาญา รัชดา เพื่อฝากขัง โดยศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว วางเงินประกัน 90,000 บาท ซึ่งธนาธรได้ให้ความเห็นหลังได้รับการประกันตัว ว่ากรณีของตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้กฎหมายทั้งมาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ โดยนับตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 112 จำนวนถึง 183 ราย

“ผมไม่ใช่คนแรก และจะไม่ใช่คนสุดท้าย ที่ถูกปิดปากโดยมาตรา 112 ทั้งที่การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนของผมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยความเป็นห่วงว่าคนไทยจะได้วัคซีนช้าเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ และเวลาก็พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นความจริง ตอนนี้วัคซีนที่ได้ผลที่สุดคือชนิด mRNA ไม่ใช่ไวรัลเวคเตอร์” ธนาธร กล่าว

นอกจากนี้ ธนาธรยังแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกหลังจากการเดินทางช่วงวันหยุดสงกรานต์ จนมีความเป็นไปได้ว่าวิกฤตโรงพยาบาลเต็มจะกลับมา และสถานการณ์เลวร้ายที่มีผู้นอนรอเตียงที่บ้านแบบช่วงปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้จะกลับมาอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิดปีที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าได้ผลิตเครื่องออกซิเจนความเข้มข้นสูง หรือ O2P เพื่อแจกจ่ายตามศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศมาแล้ว เพื่อบรรเทาวิกฤตเตียงเต็ม ให้ผู้ป่วยสามารถใช้เครื่องออกซิเจนพยุงอาการระหว่างการรอเตียงที่บ้านหรือศูนย์พักคอย และก่อนหน้านี้ธนาธรก็เคยผลิตห้องตรวจแรงดันลบสำหรับตรวจผู้ป่วยโควิดให้กับหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ

เอกสารคำฟ้อง : 

ด้าน ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ชี้คอนเนคชันดี พร้อมแหล่งรวมนักวิจัยหัวกะทิ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 บีบีซีไทย รายงานประเด็นเหตุที่ทำไม Siam Bioscience จึงถูกเลือกให้เป็นผู้ผลิตและรับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับแจกจ่ายในไทยและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำคำอธิบายของ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็น 1 ใน 3 แนวทางในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ตามยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ นอกจากการจัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ และการพัฒนาวิจัยวัคซีนเองภายในประเทศ แนวทางนี้มีความพิเศษตรงที่ว่า หน่วยงานเอกชนของเราคือ เอสซีจี กับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมีความสัมพันธ์กันในเชิงการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี (technology innovation research) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี 

ดังนั้นเอสซีจีจึงสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนประสิทธิภาพดี ซึ่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดชี้แจงว่าหากสนใจเรื่องดังกล่าวจะต้องประสานงานผ่านแอสตร้าเซนเนก้าเพราะเป็นผู้ดูแลการผลิตวัคซีนในต่างประเทศ และเป้าหมายของทั้งสองคือการสร้างซัพพลายการผลิตวัคซีนจำนวนมากให้เกิดขึ้นทั้งโลก ในกำลังการผลิต 3,000 ล้านโดสต่อปี

"ดังนั้น แอสตร้าเซนเนก้าก็ต้องไปหาพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เขาก็กำลังมองหาฮับในการผลิตในอาเซียนได้ ซึ่งคือที่ไทย"

ในรายงานประจำปี 2563 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต (emerging markets)

นอกจากนี้ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากจะต้องพันธมิตรที่มีศักยภาพแล้ว ยังต้องเป็นแหล่งของนักเรียนหัวกะทิที่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเมื่อประเมินแล้วทั้งในแง่บุคลากร ศักยภาพ เครื่องมือทั้งโรงงานที่มีและที่ลงทุนมาแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งทุนการผลิต สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเหมาะสม

พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวในเอกสารข่าวในวันที่บริษัท ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ศูนย์การผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ เมื่อ 24 ต.ค.63 สำนักข่าวอิศรา รายงานประเด็นนี้ไว้ผ่านคำอธิบายของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ตอบในลักษณะเดียวกัน โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีของบริษัทสยามไบโอไซเอนส์นั้น ต้องชี้แจงว่าบริษัทปูนซีเมนต์ สยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป หรือว่าเอสซีจี เขามีสายสัมพันธ์กับทางออกซ์ฟอร์ด ก็เลยช่วยให้เราได้เป็นผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งถ้าหากไม่มีความรู้จักทางธุรกิจที่ว่ามานั้น เขาก็ไม่ให้เราเหมือนกัน เพราะมันก็มีประเทศอื่นที่ใกล้ๆ เช่นประเทศสิงคโปร์เช่นกัน และอีกประเด็นนอกเหนือจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแล้วก็คือว่าต้องดูด้วยว่าประเทศเรานั้นมีโรงงานที่จะผลิตวัคซีนได้หรือไม่ ซึ่งทางเขาก็ได้มีการมาสำรวจทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แล้ว พบว่ามีอยู่ 2 ประเทศที่มีความสามารถจะผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากให้เขาได้ ซึ่งแห่งแรกก็คือบริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ที่ประเทศไทย ส่วนอีกประเทศนั้นจำไม่ได้จริงๆ

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น (24 ต.ค.63) วีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวกับสำนักข่าวอิศราด้วยว่า "เท่าที่ทราบมาก็คือในประเทศไทยนั้นมีคณะวิจัยของประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าสามารถคิดค้นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำว่าสำเร็จนั้นอยู่ที่ขั้นไหน อีกทั้งกรณีการเซ็นสัญญากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อให้ผลิตวัคซีนนั้นที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย และอยู่ดีๆก็มีข่าวปรากฎว่าบริษัทสยามไอโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญาวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ดนั้น ใช้วิธีการอะไร ออกซ์ฟอร์ดใช้วิธีการอะไร ถึงข้ามมาให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญา ก็อยากให้ชี้แจงตรงนี้ด้วยว่ามีกระบวนการเป็นอย่างไร"

"ในประเด็นเรื่องที่ระบุว่าประเทศไทยนั้นมีขีดความสามารถในการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 และต้องการห้องแล็บที่มีความพร้อมสำหรับการทดลองวัคซีนนั้น ส่วนตัวก็เห็นว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้นก็เป็นบริษัทที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้เขาไปช่วยทำการทดลองและสนับสนุนวัคซีนของประเทศไทยด้วย แต่กลับใช้ในการสนับสนุนวัคซีนของต่างประเทศแทน ซึ่งส่วนตัวตั้งคำถามไปว่า เพราะว่าการไปดีลเรื่องวัคซีนกับต่างประเทศนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ส่วนตัวบางประการมากกว่าวัคซีนของประเทศไทยใช่หรือไม่ ก็อยากจะให้มีความชัดเจนตรงนี้ด้วยเช่นกัน"  

วีระ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้ต้องการที่จะมาโจมตีใครในเรื่องนี้ แต่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงเท่านั้น จะได้คลายข้อสงสัยในประเด็นเรื่องการหาวัคซีนให้กับคนไทยว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง 

ที่มาของคำว่า 'วัคซีพระราชทาน'

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก รายงานไว้ตั้งแต่ 27 พ.ย.63 ว่า ในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีน COVID-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัท AstraZeneca จำกัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นประธานในพิธีกล่าวว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลพร้อมน้อมนำพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10  รักษา สืบสาน ต่อยอด เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ประเทศชาติ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net