นักวิชาการร่วมเจียระไนอ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต ‘อัญมณีแห่งท้องทะเล’ สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นักวิชาการแสดงความกังวลพื้นที่อ่าวกุ้ง จ.ภูเก็ต มีคุณค่าทางทรัพยากรธรรมชาติ ประดุจ ‘อัญมณีแห่งท้องทะเล’ ขณะนี้กำลังเผชิญโครงการขุดลอกร่องน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรอบจนไม่อาจฟื้นคืน แนะระงับโครงการจนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบรอบด้าน พร้อมเสนอปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เศรษฐกิจ ‘ขาเดียว’ สู่การท่องเที่ยวชุมชนที่มีความยั่งยืน ควบคู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

สรุปเสวนาวิชาการ เมื่อ 4 เม.ย. 65 หัวข้อ “อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ณ ห้องประชุมแคแสด 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ราชภัฏภูเก็ต และเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘Backpack journalist’ ‘แลต๊ะแลใต้’ และ ‘Decode’ โดยมีนักวิชาการมากมายมาร่วมเสวนาดังนี้

  1. สายสนิท พงศ์สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  2. ดร.จตุรงค์ คงแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  3. ดร.อาภา หวังเกียรติ รองคณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  4. วีรนันท์ สงสม ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมและบริการด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  5. ดร.จรัสศรี อ้างตันญา นักวิชาการประมง ชำนาญการพิเศษ ซึ่งเป็นรักษาการ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน 
  6. ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต)

 

ถ่ายทอดสดงานเสวนา "อ่าวกุ้ง อัญมณีแห่งท้องทะเล กับความท้าทายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ณ ราชภัฎภูเก็ต

สำหรับที่มาของหัวข้อเสวนาสืบเนื่องจากเมื่อปี 2564 ชาวบ้านในพื้นที่อ่าวกุ้งบางส่วนมีการร้องเรียนต่อนายกเทศบาลตำบลป่าคลอก เพื่อส่งเรื่องให้กรมเจ้าท่าจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำเดิมตามธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวอ้างว่าเคยเป็นท่าเรือเก่า ชื่อ ‘ท่าเล’ โดยการขุดร่องน้ำจะลึก 2 เมตร ร่องน้ำด้านในติดชายฝั่งกว้าง 15 เมตร และร่องน้ำด้านนอกกว้าง 30 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเรือได้ตลอดเวลา และรองรับเรือที่กินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร เพราะเรือที่ใช้ร่องน้ำนี้จะเป็นเรือประมงส่วนใหญ่ และในอนาคตหากมีการพัฒนาทางด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เรือสปีดโบ๊ต หรือเรือที่กินน้ำลึกไม่เกิน 2 เมตร จะสามารถใช้ร่องน้ำนี้ได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่อนุรักษ์และพึ่งพาจากฐานทรัพยากรตรงนี้ในการดำรงชีวิตมายาวนาน ต่างคัดค้านโครงการนี้ เนื่องจากการขุดลอกร่องน้ำอาจส่งผลต่อภูมินิเวศรอบอ่าวกุ้งอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างถกเถียงถึงความเหมาะสม และศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาครั้งนี้ ซึ่งได้เชิญนักวิชาการหลายแขนงมาร่วมกันพูดคุยถึงความเหมาะสมของการขุดลอกร่องน้ำ และทิศทางการพัฒนาข้างหน้าของอ่าวกุ้ง 

แผนที่อ่าวกุ้ง ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
 

‘อ่าวกุ้ง’ อัญมณีแห่งท้องทะเล

สายสนิท พงศ์สุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ม.ราชภัฏภูเก็ต ระบุถึงความสำคัญว่า พื้นที่อ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาทางทะเล และทางบก จนสามารถเรียกว่าเป็น  ‘อัญมณีแห่งท้องทะเล’  

สายสนิท พงศ์สุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ม.ราชภัฏภูเก็ต

สายสนิท ระบุว่า บริเวณรอบอ่าวกุ้ง ถือเป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะตัวหาที่หาไม่ได้จากที่อื่นๆ เนื่องจากจุดตั้งของอ่าวกุ้งอยู่เชื่อมต่อระหว่างช่องแคบมะละกา และช่องแคบอันดามัน อันเป็นช่องทางสัญจรของสัตว์น้ำหลายชนิด อีกทั้ง ยังมีพื้นที่ทุ่งปะการังเขากวางบนเกาะแฮ และกัลปังหาแดงกระจายตัวอยู่โดยรอบ  

มากกว่านั้น อ่าวกุ้งล้อมรอบด้วยอุทยานแห่งชาติสำคัญ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต ซึ่งมีระบบนิเวศป่าดิบชื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ 

ในเชิงชีววิทยา อ่าวกุ้งมีพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ และหาได้ยากยิ่งในจังหวัดภูเก็ต โดยด้านหน้าเป็นหาดเลนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอย่าง กุ้ง และหอย ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำในระบบห่วงโซ่อาหารอย่างปูม้า และสัตว์ทะเลอื่นๆ และความอุดมสมบูรณ์นี้กลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชาวประมงในพื้นที่ เพราะชาวบ้านสามารถทำประมงดั้งเดิมในการจับปลา เพื่อรับประทาน และหาเลี้ยงชีพได้ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ชาวภูเก็ตตกงานจำนวนมาก ก็ได้ท้องทะเลของอ่าวกุ้งช่วยเหลือเอาไว้

ประมงพื้นบ้านชาวอ่าวกุ้ง การจับหมึกโวยวาย
 

แหล่งปะการังขนาดใหญ่ 

ดร.จรัสศรี อ้างตันญา กล่าวเสริมถึงความเป็นอัญมณีของท้องทะเลของอ่าวกุ้ง ว่าจากการสำรวจแหล่งปะการังบริเวณอ่าวกุ้งในปี 2556 2561 และ 2565 รวม 3 ช่วงเวลา พบว่า บริเวณรอบอ่าวกุ้ง มีพื้นที่แนวปะการังจำนวนรวม 345 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ อีกทั้ง เป็นแหล่งปะการังเขากวาง กัลปังหาสีแดง แหล่งที่อยู่ของปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2550 เป็นต้นมา ปะการังบริเวณอ่าวกุ้งเผชิญปรากฏการณ์ ‘ฟอกขาว’ ซึ่งเกิดจากภาวะอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ปะการังทนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ไหว และตายลงกลายเป็นสีขาว แต่ ดร.จรัสศรี พบว่า ตั้งแต่ปี 2556-2564 เป็นต้นมา ปะการังบริเวณอ่าวกุ้งมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเธอเสนอว่า ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งสมอในแนวปะการัง การเดินในพื้นที่ปะการัง หรือโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อให้ปะการังกลับมาฟื้นตัวได้ดังเดิม 

ทุ่งปะการังเขากวาง อ่าวกุ้ง

“ยืนยันว่า บริเวณพื้นที่อ่าวกุ้งมีศักยภาพ และก็มองเห็นเป็นอัญมณีอันหนึ่ง” จรัสศรี กล่าว พร้อมระบุว่า แต่สิ่งที่จะเป็นตัวคุกคามปะการังได้ คือ ปริมาณตะกอน มันมีความสามารถในการทนทานตะกอนได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามากเกินจะมีปัญหาทำให้ปะการังตาย การเกิดปะการังฟอกขาวตามธรรมชาติ และปรากฏการณ์น้ำทะเลลดต่ำ หรือการแตกหักจากสมอเรือ และการเหยียบย่ำ 

"ระบบนิเวศมีการเสียหายตามธรรมชาติ และมีการฟื้นฟูตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ว่ามนุษย์เป็นคนไปซ้ำเติม ทำให้ระบบนิเวศชะงัก หรือฟื้นตัวช้า" ดร.จรัสศรี กล่าว

ผลกระทบจากการพัฒนาการขุดลอกร่องน้ำ

สำหรับอ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กำลังเผชิญโครงการพัฒนาขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศรอบอ่าวกุ้งนั้น ดร.จตุรงค์ คงแก้ว หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากหากมีการพัฒนาเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการที่จะได้ศึกษาปะการังในเขตนี้ เนื่องจากในทัศนะของเขา ปะการังอ่าวกุ้งมีคุณลักษณะที่ทนทาน และฟื้นตัวเร็ว ซึ่งสะท้อนจากกรณีที่ปะการังของอ่าวกุ้งเคยเผชิญกับการฟอกขาวปี 2551 รวมถึงตั้งอยู่เขตน้ำตื้น และต้องเจอกับแสงแดดเป็นประจำ แต่ปะการังเหล่านี้ยังไม่ตาย และฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งเขาคาดว่า ปะการังเหล่านี้อาจเป็น ‘Super Coral’ (ซูเปอร์ปะการัง) หรือโคตรปะการัง

ดร.จตุรงค์ คงแก้ว ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

จตุรงค์ อธิบายต่อว่า โคตรปะการัง คือ เทรนด์ในวงการนักวิชาการที่เขากำลังหาปะการังที่มีคุณลักษณะพิเศษคือทนทาน ปรับตัวเก่ง และฟื้นตัวไว เพื่อนำมาศึกษาและขยายพันธุ์ออกไป ซึ่งหากปะการังที่เกาะเฮ ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา อาจทำให้วงการวิทยาศาสตร์สูญเสียโอกาสทางการศึกษาตรงนี้ 

ต่อมา จตุรงค์ กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการพัฒนาขุดลอกร่องน้ำในอ่าวกุ้ง อาจจะเปรียบเสมือนการเปิดกล่องแพนโดรากล่องใหม่ เหตุที่เป็นแบบนั้น เพราะเคยมีบทเรียนการสร้างเขื่อนคอนกรีตกันคลื่น และตอนนี้มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นไปทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแสนสาหัส    

"ถ้าวันนี้มีโครงการแบบนี้ในอ่าวกุ้ง กล่องแพนโดร่าอันใหม่จะถูกเปิด หมายความว่า การขุดลอกร่องน้ำตามใจชอบ เพื่อสนองนโยบายไปตามทะเลไทยเลย ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นที่อ่าวกุ้งเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นทั่วระแหงทะเลไทย" จตุรงค์ กล่าว และย้ำว่า เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เราชั่งน้ำหนักเรื่องผลกระทบรึยัง คุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความคุ้มค่าอื่นๆ ด้วย 

กรณีศึกษาท่าเรือกันตัง จ.ตรัง

จตุรงค์ ยกตัวอย่างผลกระทบจากการขุดลอกร่องน้ำว่า หากดูข้อมูลของกรมทะเล ปี 2563 ปริมาณพื้นที่หญ้าทะเล แหล่งใหญ่ๆ มีจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และตรังมากที่สุดกว่า 2 หมื่นไร่ ซึ่งหญ้าทะเลนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของพะยูน

แต่ในจังหวัดตรัง ที่เกาะลิบง มีการขุดลอกร่องน้ำทุกปี เนื่องจากมีการตั้งท่าเทียบเรือกันตัง ท่าเรือนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นจุดย้ายเข้า-ออกสินค้า เช่น ปูซีเมนต์ ยางพารา และอื่นๆ แต่ปัญหาคือ มันมีตะกอนตลอดปี เนื่องจากที่ตรังมีการขุดลอกร่องน้ำทุกปี เมื่อมีการขุดลอก จะต้องมีการนำตะกอนไปทิ้ง ซึ่งจุดทิ้งตะกอนอยู่ห่างจากจุดขุดลอกประมาณ 6-8 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งผลกระทบจากการทิ้งตะกอน คือ หญ้าทะเลตายเป็นพันไร่ และเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถกู้คืนได้ เนื่องจากเมื่อมีตะกอนทะเลมาทับถม และปัจจัยทางกายภาพเปลี่ยนไปแล้ว หญ้าทะเลไม่สามารถอยู่ได้ จนกระทั่งตรังมีมติให้ยุติโครงการเริ่มเมื่อปี 2559 แต่ยุติจริงๆ เมื่อปี 2563 ต้องใช้เวลาราว 4 ปี เพื่อให้มีการยุติโครงการจริงๆ

จตุรงค์ สำทับว่าไม่มีร่องน้ำไหนที่ขุดแล้วไม่ขุดซ้ำอีก เอามูลค่าทางเศรษฐกิจมาคูณกลับดูว่ามันคุ้มไหม 

การเป็นแหล่งให้บริการภูมินิเวศของอ่าวกุ้ง

ดร.อาภา จากมหาวิทยาลัยรังสิต มอง ‘อ่าวกุ้ง’ ในฐานะแหล่งให้บริการภูมินิเวศที่สำคัญ เนื่องจากเราไม่สามารถมอง อ่าวกุ้ง แยกออกจากกันได้ เพราะอ่าวกุ้งเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อน และต้องมีการศึกษา

ดร.อาภา หวังเกียรติ รองคณบดี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ในประเทศไทยเริ่มมีการพูดมาสักระยะหนึ่งแล้ว เรื่อง แหล่งบริการภูมินิเวศ (Ecosystem Service) ซึ่งเธอมองว่า ระบบนิเวศต่างๆ ต้องมีการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศ ซึ่งมี 17 ด้าน แต่ข้อที่สำคัญ คือ การเป็นแหล่งผลิตอาหาร น้ำ แร่ธาตุ แพลนตอน ซากพืชซากสัตว์

อาภา กล่าวต่อว่า เป็นแหล่งบริการด้านวัฒนธรรม ซึ่งก็สำคัญ และที่นี่มีเครื่องมือประมงมากกว่า 20 ชนิด เหตุที่มีเยอะขนาดนี้ เนื่องจากมันมีความอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวบ้านต้องผลิตเครื่องมือประมงมาใช้จับสัตว์น้ำในหลายรูปแบบ มีเรื่องวัฒนธรรมการมาทานข้าวที่ชายเล ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่หาได้ยาก เนื่องจากพื้นที่อื่นๆ ตกเป็นของส่วนบุคคลหมดแล้ว เหลือแต่อ่าวกุ้ง ที่ยังเป็นพื้นที่สาธารณะ 

ท้ายที่สุด คือ เรื่องการเป็นแหล่งบริการสนับสนุน คือ ความสำคัญในการเป็นอาหารสำหรับสัตว์น้อยใหญ่ในการดำรงชีวิต เช่น ที่อ่าวกุ้ง มีดอนหอยจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้ปลากะพง ปู และหมึกโวยวาย ถ้าดอนหอยหายไป สัตว์น้ำก็ขาดแหล่งอาหาร

อาภา เสนอยุทธศาสตร์จัดการอ่าวกุ้งว่า ในขั้นแรก ให้หยุดกิจกรรมทุกอย่างอันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และธรรมชาติของอ่าวกุ้ง และขั้นที่ 2 ต้องมีการศึกษาและประเมินมูลค่าทางธรรมชาติและทางธรรมชาติอย่างรอบคอบ และรอบด้าน ต่อมา เมื่อมีข้อมูลแล้ว ถึงมาวางแผนว่าจะใช้มันใช้ประโยชน์อย่างไร ไม่ต้องรีบทำลายมันโดยที่ไม่ทราบว่าคุณค่าของมัน 

"การจะพัฒนาพื้นที่อ่าวกุ้งควรศึกษาให้รอบคอบ ให้ถ่องแท้ว่ามูลค่ามันเท่าไร ถ้าจะขุดลอกร่องน้ำ คุ้มค่าหรือไม่ที่จะเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะที่จังหวัดภูเก็ต เพราะเราเสียหายมาเยอะจากการที่เน้นการท่องเที่ยว และสร้างทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว มันถึงเวลาแล้วที่เราจะไม่เป็นศาลพระภูมิ หรือเศรษฐกิจขาเดียว ซึ่งไม่ยั่งยืน" อาภา กล่าว

เจียระไนอ่าวกุ้ง สู่โมเดลเศรษฐกิจท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

สายสนิท เสนอว่า ภูเก็ตควรทบทวนแนวทางการพัฒนาจังหวัด และเริ่มคิดถึงเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ไม่พึ่งพิงแค่การท่องเที่ยวขาเดียว เก็บพื้นที่ธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเลไว้ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนมากกว่า 

เธอมองว่าก่อนหน้านี้ จ.ภูเก็ต เผชิญมรสุมการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 ทำให้ต้องปิดประเทศ ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ 90% เลี้ยงชีพตัวเองด้วยเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ขณะที่ผลการวิจัยของราชภัฎภูเก็ต เมื่อปี 2564 พบว่า จ.ภูเก็ตมีครัวเรือนที่ทำด้านการเกษตร 4% และส่วนใหญ่ 3% อยู่ใน อ.ถลาง และ 1% กระจายไปทั่วจังหวัด 

ซ้ำร้ายกว่านั้น พอมีการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการปิดจังหวัดไม่ให้มีรถส่งสินค้าเข้ามาในจังหวัด เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ไม่มีอาหารทาน สุดท้าย ชาวบ้านกลับไปทำประมงที่บ้านเกิด ส่งอาหารไปตามที่ต่างๆ ทั่วจังหวัด ทำให้ภูเก็ตรอดมาได้

"สถานการณ์ที่ผ่านมา เรารอดมาได้ เพราะทรัพยากรในพื้นที่ป่าคลอก แต่เราอาจไม่เห็นความสำคัญ เพราะว่าผักจากที่อื่นๆ ก็มาส่งทุกวัน …มันมีความสำคัญในสถานการณ์ที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร" สายสนิท กล่าว  

หลังวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีนโยบายเปิดภูเก็ต Sandbox แต่ภูเก็ตไม่มีแหล่งท่องเที่ยว เพราะแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนอยู่เกาะยาว จ.พังงา แต่ชาวเกาะยาวกลัวเชื้อแพร่ระบาด ไม่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว นโยบาย Sandbox ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น

หลังเหตุการณ์โควิด-19 ผู้ว่าฯ ภูเก็ตจึงนิยามเศรษฐกิจของภูเก็ตว่า เป็นเศรษฐกิจศาลพระภูมิ หรือเศรษฐกิจขาเดียว เนื่องจากเสาศาลพระภูมิจะมีเสาเพียงเสาเดียว ซึ่งเสาที่ว่านั้นคือเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พอเสานี้ล้มลง เศรษฐกิจของ จ.ภูเก็ต ก็พังทลายตามกันไป  

ดังนั้น ผู้ว่าฯ มองว่าต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจขาเดียว เป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยราชภัฎภูเก็ตรับนโยบายมาศึกษา และทำโมเดลที่เกาะมะพร้าว ซึ่งมีแค่หมู่บ้านเดียว สายสนิท มองว่ามันน้อยไปแค่หมู่บ้าน เธอจึงอยากเสนอผู้ว่าฯ ภูเก็ตว่า ลองทำสักตำบลไหม เริ่มที่ ต.ป่าคลอก เพราะชุมชนตรงนั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว ป่าคลอก เป็นตำบลที่มีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน และเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง มีแหล่งอาหารและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ดังนั้น ป่าคลอก จึงมีความพร้อมที่จะเป็นโมเดลที่จะพาภูเก็ตไปสู่เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  

การท่องเที่ยวชุมชน เทรนด์ใหม่หลังโควิด

ขณะที่จตุรงค์ เสนอการท่องเที่ยวแบบชุมชน แทนการลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากในช่วงภูเก็ตมีนโยบาย "Sandbox" สถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ตไม่พอ อย่างที่สายสนิทกล่าว ทำให้โรงแรมต่างๆ เริ่มสร้างความร่วมมือกับชุมชน เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมา ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

จตุรงค์ เสนอกรณีศึกษาที่คลองลัดโนด จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ตนเคยศึกษาเมื่อปี 2560 ก่อนโควิด-19  ที่คลองลัดโนด เริ่มทำท่องเที่ยวชุมชนปี 2560 โดยได้รายได้รวม 6.8 แสนบาท ต่อมา ปี 2562 รายได้เพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท หมายความว่ารายได้เพิ่มตลอดเวลา แต่ตอนเจอโควิด-19 ปี 2563 เปิดได้แค่ 4 เดือน แต่ได้รายได้ 5.5 แสนบาท นี่เป็นรายได้จากการซื้อทัวร์อย่างเดียว ไม่รวมการซื้อของฝาก สินค้าชุมชน และอื่นๆ ซึ่งมันเป็นช่องทางกระจายรายได้ที่เป็นธรรม มากกว่าโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายงานว่าโครงการขนาดใหญ่ทั่วประเทศไม่ก่อให้เกิดการกระจายได้รายได้ที่แน่นอน 

จตุรงค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้แนวโน้มการท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวสนใจเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนผ่านรายงานของ Airbnb ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการจองที่พักเอกชน เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า นักท่องเที่ยวในปัจจุบัน คิดถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประมาณ 81% ขณะที่คนที่คิดเรื่องการกระจายได้สู่ชุมชนมีสูงถึง 65% ดังนั้น หากเรารักษาผืนธรรมชาตินี้ไว้ มันจะสร้างคุณค่าให้กับชุมชน และคนรุ่นหลังต่อไป ซึ่งอาจจะคุ้มค่ากว่าเอาเงินไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่

นลินี เสนอสอดคล้องกับสายสนิท และจตุรงค์ว่า จริงๆ แล้ว รูปแบบการท่องเที่ยวการพัฒนาแบบเก่า ควรปรับเปลี่ยนได้แล้ว บทเรียนก่อนหน้านี้ยังไม่พอเหรอ เรื่อง สึนามิ (ปี 2555) เรื่องของโควิด-19 คนแทบจะอดตาย เพราะเราพึ่งพิงการท่องเที่ยวมากเกินไป พัฒนาขายทุกสิ่งทุกอย่างแลกกับเงินนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีรึเปล่า ไม่มีใครทราบ 

"ถ้าเทียบกับความยั่งยืน ความที่อ่าวกุ้งเป็นตู้กับข้าวของคนท้องถิ่น ทำไมเราไม่เก็บครัว หรือตู้กับข้าวที่ชื่อว่าอ่าวกุ้งนี้ไว้ จนกว่าจะมีการฟื้นตัวของระบบนิเวศขึ้นมาจริงๆ และถึงเวลานั้น การใช้ประโยชน์ การพัฒนาที่มันยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ที่มันทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง มันน่าจะมีการเริ่มคิดได้แล้ว การพัฒนาเพื่อที่จะรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ ควรเป็นความคิดของสมัยเก่าที่ควรจะสูญพันธุ์ไปได้แล้ว" นลินี กล่าวทิ้งท้าย

‘ทะเล’ หลังพิงสุดท้ายของคนจน 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากจตุรงค์ คือการรักษาธรรมชาติ และทรัพยากรทางทะเล จะทำหน้าที่เหมือนเบาะดูดซับแรงกระแทกของคนจน คนรากหญ้าได้ เวลาที่เกิดวิกฤตทางธรรมชาติ

“คนที่เอาตัวรอดได้เร็วที่สุดคือคนที่กลับไปทะเล การทำนาใช้เวลา 3 เดือน เราจะได้กิน แต่ถ้าไปทำประมง คุณสามารถทำประมงได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าหลังพิงนี้มันพัง และเกิดวิกฤตขึ้นมา เราจะไม่มีทะเลช่วยรองรับแรงกระแทกจากวิกฤตดังกล่าว… ทะเลคือความมั่นคงทางอาหารของคนจน” จตุรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนชาวบ้านหมู่บ้านอ่าวกุ้ง ลุกขึ้นพูดในวงเสวนาถึงความสำคัญของพื้นที่นี้ในช่วงโควิด-19 ว่า เขาประกอบอาชีพขับรถตู้โดยสาร แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 2 แพร่ระบาด เขาไม่มีรายได้ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ตเลย 6 เดือนไม่มีงาน ตนจึงตัดสินใจขายรถตู้ และไปต่อเรือ และกลับมาทำประมงที่อ่าวกุ้งบ้านเกิด ทำให้พอมีรายได้ประทังชีวิต

ตัวแทนชาวบ้านอ่าวกุ้งร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนา

“การที่เรารักษาทะเล การักษาระบบนิเวศในทะเลเอาไว้ เป็นความคิดที่ไม่ผิด เพราะบางคนที่หมดหนทางไป ก็มีหนทางลงทะเล ให้เราพอมีรายได้ จนครอบครัวอยู่ได้ในปัจจุบัน” ตัวแทนชาวบ้านคนเดิมกล่าว    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท