Skip to main content
sharethis

 

หลังจากที่ผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสในรอบแรกจบลงด้วยการที่นักการเมืองสายกลางอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง และฝ่ายขวาจัดอย่างมารีน เลอ แปน ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ทำให้ต้องขับเคี่ยวกันในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายอีกครั้งท่ามกลางการที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยมากเป็นประวัติการณ์ และมีข้อสังเกตว่าฝ่ายซ้ายประชาธิปไตยได้รับคะแนนมากขึ้นแม้จะไม่ได้ 2 อันดับแรก แต่ขณะเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและขวาแบบดั้งเดิมที่เคยมีอำนาจกลับทำคะแนนได้แย่ที่สุด

13 เม.ย. 2565 จากผลคะแนนการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบแรกอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า เอ็มมานูเอล มาครง จากพรรคสายกลางของฝรั่งเศสได้รับคะแนนประมาณร้อยละ 28 ขณะที่มารีน เลอ แปน จากพรรคขวาจัดได้รับคะแนนประมาณร้อยละ 23.2 ส่วน ฌอง ลุค เมลองชง จากพรรคฝ่ายซ้ายได้รับคะแนนสูสีกับเลอ แปน มากอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22

ทำให้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสแล้ว มาครง กับเลอ แปน ต้องกลับมาสู้กันอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ 24 เม.ย. ที่จะถึงนี้ เพราะผลคะแนนของทั้งคู่ไม่มีใครชนะขาดคือไม่มีใครได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 เสียง

สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตหลายแง่มุมเกี่ยวกับการเลือกตั้งฝรั่งเศสในครั้งนี้ ทั้งสื่อซีเอ็นเอ็นและยูโรนิวส์ต่างก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยมาก จากผลโพลของช่องโทรทัศน์ TF1 และ LCI ของฝรั่งเศสประเมินว่ามีผู้มาใช้สิทธิเพียงร้อยละ 73.3 เท่านั้นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด นับว่าต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

ศึกในครั้งนี้จะเข้มข้นกว่าครั้งที่แล้ว

ในการเลือกตั้งสมัยปี 2560 นั้นก็ทั้งมาครง และ เลอ แปน ก็ต้องมาขับเคี่ยวกันในการเลือกตั้งรอบที่ 2 อีกครั้ง โดยที่ในตอนนั้นมาครงได้รับคะแนนในรอบแรกร้อยละ 24 ส่วนเลอ แปน ได้รับคะแนนร้อยละ 21 โดยที่ในรอบที่สอง มาครง เอาชนะได้ด้วยคะแนนโหวตร้อยละ 66 ขณะที่เลอ แปน ได้รับคะแนนร้อยละ 34

สื่อยูโรนิวส์รายงานว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญกับการขับเคี่ยวที่สูสีมากกว่าเดิมเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว สื่อซีเอ็นเอ็นระบุว่าถึงแม้มาครงจะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงที่สุดในรอบแรก แต่เขาก็เป็นผู้สมัครที่มีทั้งคนรักและคนชัง คะแนนนิยมของเขาลดลงในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งในสมัยแรก

ซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า ในสมัยแรกมาครงเป็นผู้สมัครที่มีความสดใหม่ทางการเมือง และเข้ามาเปลี่ยนแปลงเวทีแข่งขันในการเมืองฝรั่งเศสที่แต่เดิมมีอยู่แค่สองพรรคที่ครองความนิยมมาก่อนหน้านี้ คือพรรคสังคมนิยมที่เป็นซ้ายกลาง กับพรรครีพับลิกันที่เป็นขวากลาง

ในช่วงที่มาครงบริหารประเทศมีหลายเรื่องที่คนชอบเช่นเรื่องการส่งเสริมสหภาพยุโรปและการเมืองภาคพื้นทวีปยุโรป แต่การที่เขาปฏิบัติแย่ๆ ต่อกลุ่มผู้ประท้วงขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองที่ประท้วงเรื่องการขึ้นภาษีน้ำมันที่จะกระทบค่าครองชีพก็ทำให้มาครงถูกมองในแง่ลบ และเรื่องการจัดการกับ COVID-19 ก็อาจจะส่งผลดีในแง่การมีคนรับวัคซีนมากขึ้นแต่ก็ทำให้มีคนกลุ่มน้อยบางส่วนไม่พอใจเขาในเรื่องนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อานน์ ฮิดาลโก จากพรรคสังคมนิยม หรือ วาเลอรี เพครีส จากพรรคอนุรักษ์นิยม ต่างก็บอกว่าจะสนับสนุนมาครงในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายเพื่อ "สกัดกั้นพวกขวาจัด" ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าพวกเขามีความแตกต่างกันทางความคิดอุดมการณ์ ในแง่นี้มาครงได้แถลงว่าเขาทราบดีที่หลายคนจะโหวตลงคะแแนนให้เขาเพียงเพื่อต้องการสกัดกั้น เลอ แปน แต่ไม่ได้โหวตเพราะเห็นด้วยกับข้อเสนอของเขา แต่กระนั้นเขาก็ยังคงเรียกร้องให้ผู้คนออกมาใช้สิทธิในรอบที่สองอยู่ดี และบอกว่าการเลือกตั้งนี้จะ "ถือเป็นเรื่องชี้ขาดสำหรับประเทศเราและยุโรปของเรา"

มาครงแถลงอีกว่าเขาไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสออกจากสมาชิกยุโรปแล้วไปผูกพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ ที่เป็นพวกเกลียดกลัวคนนอก "นั่นไม่ใช่พวกเรา ผมต้องการให้ฝรั่งเศสมีความยึดมั่นในหลักการมนุษยนิยม และยึดมั่นในจิตวิญญาณของยุคเรืองปัญญา" มาครงกล่าว

เลอ แปน ได้รับคะแนนนิยมเพิ่ม ใช้โวหารนุ่มมนวลขึ้น แต่ความสัมพันธ์กับปูตินอาจจะสร้างปัญหา

ผลโพลจาก Ifop-Fiducial ที่ออกมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย ระบุว่ามาครงมีโอกาสจะชนะเลอ แปน ด้วยคะแนนเฉียดฉิวที่ ร้อยละ 51 ต่อร้อยละ 49 เทียบกับในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ผลโพลประเมินมาครงเอาไว้สูงกว่าที่ร้อยละ 54 ต่อร้อยละ 46 อย่างไรก็ตาม ในสมัยปี 2560 มาครงก็เอาชนะได้อย่างล้นหลามด้วยคะแนนเสียงสองในสามคิดเป็นร้อยละ 66 ต่อร้อยละ 34

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าเลอ แปน ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เสนอนโยบายแบบขวาจัดที่กีดกันผู้อพยพอย่างมากและสั่งแบนไม่ให้ชาวมุสลิมสวมฮิญาบในที่สาธารณะ แต่ในครั้งนี้เลอ แปน ก็หาเสียงด้วยแนวทางที่เป็นกระแสหลักมากขึ้น มีการใช้ภาษานุ่มนวลลง และเน้นในเรื่องที่เศรษฐกิจปากท้องอย่างเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฝรั่งเศสให้ความสำคัญระดับต้นๆ

แต่ขณะเดียวกันก็มีนักวิเคราะห์จำนวนมากที่ระบุว่ากรณีสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้อาจจะทำให้เลอ แปน ได้รับความนิยมลดลงได้ เพราะเลอ แปน เคยเป็นคนที่ออกตัวชื่นชม วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำอำนาจนิยมของรัสเซียมาก่อน และเคยเดินทางไปเยี่ยมปูตินในช่วงที่เธอหาเสียงสมัยปี 2560 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้เธอถูกบีบให้ต้องกำจัดใบปลิวที่มีภาพถ่ายเธอคู่กับปูตินออกไปหลังจากที่รัสเซียโจมตีทางทหารต่อยูเครน

โดมินิค โทมัส นักวิเคราะห์ด้านกิจการยุโรปของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ความไม่พอใจที่มีต่อมาครงอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสโดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นทำให้ผลการเลือกตั้งนี้คาดเดาได้ยาก และ เลอ แปน ก็น่าจะฉวยโอกาสใช้ตรงจุดนี้ ขณะเดียวกันโทมัสก็มองว่าถึงแม้มาครงจะมีจุดอ่อนในประเด็นภายในประเทศหลายเรื่อง แต่เลอ แปน ก็มีความยากลำบากในการทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อใจเธอในด้านการต่างประเทศจากการที่เธอมีสายสัมพันธ์กับรัสเซียมาก่อน

โฆษกของพรรคกรีนส์ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ฝรั่งเศสไม่ควรจะต้องเป็นพันธมิตรของปูตินและไม่ควรจะยอมให้มีสถาบันรัฐที่เหยียดเชื้อชาติสีผิว เรื่องนี้ทำให้พวกเขาบอกว่าจะโหวตให้มาครง ไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนมาครงแต่เพราะต้องการโหวตให้ประเทศฝรั่งเศส

ซีเอ็นเอ็นยังได้วิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์อีกว่า พื้นที่ๆ โหวตให้มาครงจำนวนมากมักจะเป็นภูมิภาคตะวันตกของฝรั่งเศสที่เอียงซ้ายและภูมิภาคบริททานี พื้นที่ๆ โหวตให้เลอ แปน จำนวนมาก คือพื้นที่ฝ่ายขวาทางตอนใต้และพื้นที่ๆ เขตอุตสาหกรรมในอดีตทางตอนเหนือของประเทศ ขณะที่พื้นที่ย่านชานเมืองของกลุ่มชนชั้นแรงงานในกรุงปารีสโหวตให้ฝ่ายซ้ายอย่างเมลองชงจำนวนมาก

พรรคฝ่ายซ้ายทำได้ดีขึ้น?

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พรรคฝ่ายขวากลางอย่างรีพับลิกันฝรั่งเศสก็ดูจะได้รับความนิยมมากกว่าพรรคฝ่ายซ้ายเล็กน้อย จากคะแนนเสียงในรอบแรกที่ผู้สมัคร ฟรังชัวส์ ฟิลิยง ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 20 ขณะที่เมลองชงจากฝ่ายซ้ายได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 19.5 เทียบกับในการเลือกตั้งปีล่าสุดที่พรรคฝ่ายซ้ายทำได้ดีกว่ามาก คือมีคะแนนเสียงร้อยละ 21.9 ขณะที่พรรครีพับลิกันฝรั่งเศส ตกไปอยู่ที่ร้อยละ 4.7

ซีเอ็นเอ็นระบุว่าเมลองชงได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจนก่อนหน้านี้เคยมีการประเมินว่าอาจจะเป็นม้ามืดที่สามารถมาท้าทายมาครงได้

ขณะเดียวกันก็มีการจับตามองว่าในครั้งนี้ ผู้ที่ได้อันดับที่สามอย่างเมลองชงจะออกตัวสนับสนุนฝ่ายมาครง หรือฝ่ายเลอ แปน ถึงแม้ว่าเขาจะเคยบอกกับผู้สนับสนุนเขาว่า "พวกเราจะต้องไม่ให้คะแนนแม้แต่คะแนนเดียวกับ คุณ เลอ แปน" แต่เขาก็ยังไม่ได้ออกตัวสนับสนุนมาครงตรงๆ (จากข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2565 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)

เมื่อที่สามอย่างเมลองชงกลายเป็น "ผู้กำหนดตัวผู้นำ" มาครงต้องใส่ใจผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายมากขึ้น

มีการประเมินจากสื่อไฟแแนเชียลไทม์ว่า ในแง่นี้ทำให้เมลองชงและผู้ลงคะแนนให้ฝ่ายซ้ายเสมือนได้รับบทบาทเป็น "ผู้กำหนดตัวผู้นำ" หรือ "คิงส์เมเกอร์" (Kingmaker) เพราะคะแนนเสียงของพวกเขามากพอที่จะทำเช่นนั้น ถึงแม้ว่าเมลองชงจะแสดงท่าทีต่อต้านเลอ แปน แต่การจะสนับสนุนมาครงหรือไม่นั้น ต้องมีการหารือกับสมาชิกพรรคของเขาก่อน

งานนี้ทำให้มาครงต้องเรียกร้องการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนเมลองชงให้ได้มากที่สุด ทำให้เขาต้องหาเสียงเพื่อชนะใจฝ่ายซ้ายจัดให้ได้ จากการที่ไฟแนนเชียลไทม์ประเมินว่าในครั้งนี้ฝ่ายซ้ายจัดมีทีท่าสนับสนุนมาครงน้อยกว่าในปี 2560 และมีโอกาสที่จะงดออกเสียง เนื่องจากไม่พอใจที่มาครงไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน

ครูสอนการกีฬาที่ย่านคนจนในปารีสบอกว่ามีจำนวนคนยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มาขอความช่วยเหลือและขออาหารในศูนย์สังคมสงเคราะห์ที่เธอทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ เธอบอกว่าเธอจะไม่ลงคะแนนให้เลอ แปน เป็นอันขาด แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามาครงจะทำให้อะไรๆ แย่ลงสำหรับครอบครัวคนยากจนหรือไม่ เธอไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงอาจจะโหวตไม่ลงคะแนนเลือกใครเลย

หรือพรรคฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวาแบบดั้งเดิมของฝรั่งเศสจะตกยุคไปแล้ว?

พรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาแบบดั้งเดิมคือพรรคสังคมนิยมและพรรครีพับลิกันได้รับคะแนนเสียงน้อยมากเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดักลาส เวบเบอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัย INSEAD ฝรั่งเศสกล่าวว่า พรรคการเมืองที่เคยมีอำนาจดั้งเดิมสองพรรคนี้ "ล้มเหลวเกือบจะโดยสิ้นเชิงในระดับประเทศ" และบอกว่าเป็นช่วงที่สองพรรคนี้อ่อนแรงที่สุดทั้งจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกสภา

ขณะที่ ทารา วาร์มา ประธานประจำสำนักงานในปารีสของคณะมนตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปถึงขั้นกล่าวว่า สองพรรคนี้ "ได้ตายไปแล้ว" และบอกว่า "ฝรั่งเศสกำลังจะมีการจัดระเบียบการเมืองเป็นรูปแบบใหม่โดยสิ้นเชิง มันได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และในคราวนี้มันจะเสร็จสิ้น"

นอกจากนี้พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และพรรคกรีนส์ของฝรั่งเศสก็ทำคะแนนได้แย่มากในครั้งนี้เช่นกัน

การขับเคี่ยวของฝ่ายทางการเมืองรูปแบบใหม่

เวบเบอร์บอกอีกว่าเรื่องนี้ทำให้การเมืองของฝรั่งเศสไม่ใช่เรื่องของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่เป็นการเลือกระหว่างฝ่ายมาครงที่มีลักษณะการเมืองแบบ "สากลนิยม, เสรีนิยม และเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ" กับฝ่ายเลอ แปน ที่เป็น "ชาตินิยม อนุรักษ์นิยม เน้นแยกตัวจากสังคมโลก"

วาร์มาบอกว่าค่ายการเมืองสองค่ายนี้มีแนวคิดมุมมองในเรื่องยุโรปและนโยบายการต่างประเทศที่ต่างกันมาก และเรื่องนี้จะส่งผลต่อนโยบายเกี่ยวกับอธิปไตยยุโรป, สมาชิกภาพนาโต และการอพยพ

มีผู้มาลงคะแนนน้อยเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งรอบแรกนี้มีผู้ที่ไม่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะมากถึงร้อยละ 26.31 จากตัวเลขของกระทรวงกิจการภายในฝรั่งเศส มีคนรุ่นใหม่ๆ หลายคนในฝรั่งเศสที่กล่าวต่อสื่อยูโรนิวส์ว่าพวกเขาไม่เชื่อในระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี

แกสปาร์ด แฮร์มานน์ คนทำงานก่อสร้างอายุ 24 ปี บอกว่าคนส่วนใหญ่จะโหวตเพื่อคัดค้านต่อต้านผู้สมัครรายใดรายหนึ่งมากกว่าที่จะโหวตตามความเชื่ออุดมการณ์ของตัวเอง


เรียบเรียงจาก
Mélenchon the kingmaker: Macron and Le Pen count on far-left votes in battle for presidency
Six takeaways from the first round of France's presidential election, Euro News, 11-04-2022
Emmanuel Macron to face Marine Le Pen in French presidential election runoff, CNN, 11-04-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/2022_French_presidential_election
https://en.wikipedia.org/wiki/2017_French_presidential_election

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net