ลำดับเหตุการณ์: วิกฤตการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่ 'ศรีลังกา'

2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดประท้วงใหญ่ในศรีลังกา เพื่อขับไล่รัฐบาลเครือญาติตระกูลราชปักษาที่บริหารบ้านเมืองล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย ประชาไทชวนดูลำดับเหตุการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศเกาะแห่งทวีปเอเชียใต้ อ้างอิงจากสำนักข่าวอัลจาซีรา 


ที่มาภาพ: Wikimedia

13 เม.ย. 2563 อัลจาซีรารายงานว่าศรีลังกาเพิ่งประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศกว่า 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะขาดอาหาร เชื้อเพลิง และสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพ วิกฤติที่เกิดขึ้นถือเป็นขาลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2491

ศรีลังกาผ่านความบอบช้ำมามากแล้ว หลังเพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองกับกบฎพยัคทมิฬอีแลมมาเมื่อ พ.ศ. 2552 ประเทศเกาะในทวีปเอเชียใต้แห่งนี้ยังต้องเจอกับเหตุการณ์ระเบิดโบสถ์ชาวคริสต์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 265 คนใน พ.ศ. 2563 จากนั้นยังถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ตั้งแต่ 31 มี.ค. - 12 เม.ย. 2565 มีเหตการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในศรีลังกาดังนี้

31 มี.ค. : บุกบ้านประธานาธิบดี

ผู้ประท้วงหลายร้อยคน รวมตัวกันโดยการนัดหมายของนักกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และพยายามบุกเข้าไปในบ้านของประธานาธิบดี เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก 

ตำรวจพยายามสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ มีผู้บาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 1 ราย จากนั้นรัฐบาลจึงประกาศเกอร์ฟิวในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศ

1 เม.ย. : ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อการประท้วงขยายวงกว้างออกไป ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มอบอำนาจให้ฝ่ายความมั่นคงในการจับกุมและฝากขังผู้ต้องสงสัย 

2 เม.ย. : วางกำลัง เกอร์ฟิวทั่วประเทศ

รัฐบาลศรีลังกาประกาศเกอร์ฟิวเป็นเวลา 36 ชั่วโมงทั่วประกาศ และส่งกำลังพลไปตามพื้นที่ต่างๆ คำสั่งที่ว่านี้มีผลตั้งแต่เช้าตรู่ของวันดังกล่าว ก่อนจะถูกยกเลิกต่อมาในวันที่ 4 เม.ย. ตามคำชี้แจงของตำรวจ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประกาศว่าจะมีการประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาล

3 เม.ย. : คณะรัฐมนตรีลาออก

รัฐบาลปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียชั่วคราว ก่อนจะถูกยกเลิกต่อมาโดยคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของศรีลังกา สมาชิกคณะรัฐมนตรีทั้งหมดลาออกหลังการประชุมในช่วงดึกของวัน ส่งผลให้ประธานาธิบดี และมหินทรา ราชปักษา พี่ชายผู้เป็นนายกรัฐมนตรีถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง

4 เม.ย. : ลาออกเพิ่มเติมอีก

ประธานาธิบดีราชปักษายื่นข้อเสนอแบ่งอำนาจกับฝ่ายค้าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ โดยเขาจะเป็นผู้นำการปกครองร่วมกับมหินทรา ราชปักษา ผู้เป็นพี่ชาย แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ในวันเดียวกัน ตลาดหุ้นของศรีลังกาประกาศระงับการซื้อขาย  ผู้ว่าธนาคารกลางของศรีลังกา ซึ่งที่ผ่านมาปฏิเสธข้อเรียกร้องในการขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

5 เม.ย. : ประธานาธิบดี 

สถานการณ์เลวร้ายลงอีก สำหรับประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษา เมื่ออาลี ซาบรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศลาออก หลังจากเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเพียง 1 วัน โดยเขาสูญเสียเสียงข้างมากในสภา และเผชิญกับเสียงจากอดีตพันธมิตรที่เรียกร้องกดดันให้เขาลาออก เขายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกัน

7 เม.ย. : ข้อเรียกร้องปรับโครงสร้างหนี้

ประธานาธิบดีราชปักษาแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่สถาบันจัดระดับความน่าเชื่อถือต่างๆ เตือนว่าศรีลังกาอาจเข้าสู่ภาวะไม่สามารถชำระหนี้ได้ 

8 เม.ย. : ดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยกว่า 700 หน่วยฐาน (Basis Point) ซึ่งนับว่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินรูปีของศรีลังกาดิ่งลงอีก หลังก่อนหน้านี้มูลค่าลดลงกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียง 1 เดือน 

9 เม.ย. : ประท้วงใหญ่เป็นประวัติการณ์

ประชาชนนับหมื่นคนเดินขบวนไปชุมนุมและเข้ายึดทำเนียบของประธานาธิบดี และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีราชปักษาลาออกจากตำแหน่ง

10 เม.ย. : ยารักษาโรคขาดแคลน

แพทย์ในศรีลังกาออกมาเปิดเผยว่ายารักษาที่จำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยใกล้หมดแล้ว และเตือนว่าวิกฤติครั้งนี้อาจส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสูงกว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

11 เม.ย. : นายกฯ ขอให้ผู้ประท้วง "อดทน"

นายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ระบุว่ากำลังขอให้ผู้ประท้วง "อดทน" และขอเวลาให้รัฐบาลแก้วิกฤติเศรษฐกิจ  ขณะที่ผู้ประท้วงออกมาชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้ง 

12 เม.ย. : ประกาศระงับการชำระเงินกับต่างชาติ

ศรีลังกาประกาศว่าจะพักชำระเงินกว่า 51 พันล้านดอลล่าร์ ในส่วนที่ติดผู้ให้กู้ต่างชาติอยู่ทั้งหมดไว้ก่อน โดยระบุว่านี่เป็น "ทางเลือกสุดท้าย" แล้ว หลังจากกองทุนเงินตราต่างประเทศที่ใช้เพื่อนำเข้าสินค้ากำลังหมดลง แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังระบุว่าการระงับชำระหนี้ไว้ก่อนเป็นไปเพื่อ "ปฏิบัติต่อเจ้าหนี้ทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม" ก่อนการพูดคุยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

13 เม.ย. : นายกพร้อมเจรจากับผู้ประท้วง

ก่อนเทศกาลปีใหม่ของศรีลังกา มหินทรา ราชพฤกษา ระบุว่าเขาพร้อมพูดคุยกับผู้ประท้วงเพื่อนำมุมมองของผู้ประท้วงมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

ที่มา
Timeline of Sri Lanka’s worst economic crisis since independence (Al Jazeera, 13 Apr 2022)
On eve of Sri Lankan New Year, PM Rajapaksa offers to hold talks with protesters On eve of Sri Lankan New Year, PM Rajapaksa offers to hold talks with protesters (Ashoke Raj, ANI, 13 Apr 2022)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท