ชายทิเบตวัย 81 ปี เผาตัวเองประท้วงการปกครองของจีน เสียชีวิตรายที่ 160 นับตั้งแต่ปี 52

สำนักข่าว RFA รายงานว่าชายทิเบตอายุ 81 ปี เสียชีวิตแล้วหลังประท้วงต่อต้านการปกครองของจีนด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง นับเป็นผู้เสียชีวิตจากการประท้วงด้วยการเผาตัวเองรายที่ 160 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ในภาพรวม รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต และองค์ดาไล ลามะ เริ่มมีความเคลื่อนไหวหลายอย่างตั้งแต่ปลาย มี.ค. ถึงกลาง เม.ย. ที่ผ่านมา 

ชายทิเบตอายุ 81 ปี จุดไฟเผาตัวเองที่สถานีตำรวจหน้าวัดกีรติในมณฑลเสฉวน เมื่อ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา แหล่งข่าวมาจากสาขาของวัดกีรติในอินเดียบอกกับ RFA

"เมื่อ 27 มี.ค. เวลาประมาณตี 5 ทาปุน ชายอายุ 81 ปีเผาตัวเองที่หน้าสถานีตำรวจใกล้กับวัดกีรติ เพื่อต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลจีน" คันยัก เซอริง โฆษกของสาขาวัดกีรติในเมืองธรรมศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลทิเบตผลัดถิ่นและดาไล ลามะในอินเดีย กล่าวให้ข้อมูลกับสำนักข่าว RFA

"เขาถูกตำรวจจีนพาตัวออกไปทันที แม้เราจะรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มา 2-3 วันแล้ว แต่ตอนนี้เพิ่งได้รับการยืนยันว่าเขาเสียชีวิต" โฆษกกล่าว

วัดกีรติ มีอายุเก่าแก่กว่า 550 ปี ตั้งอยู่ในเมืองงาบา (หรืออาป้าในภาษาจีน) เขตการปกครองตนเองทิเบตในมณฑลเสฉวน ก่อนหน้านี้บริเวณดังกล่าวเคยเป็นเขตอัมโดของทิเบต แต่ถูกผนวกรวมเข้ากับจีนในเวลาต่อมา

"สถานที่ที่ทาปุนเผาตัวเองคือหน้าสถานีตำรวจ ซึ่งอยู่ตรงกับด้านนอกของทางเข้าวัดกีรติพอดี" เซอริงกล่าว

"มีนาคมปกติแล้วเป็นเดือนที่ละเอียดอ่อนอย่างมากสำหรับชาวทิเบต และเราพบเห็นบ่อยครั้งว่าชาวทิเบตหลายคนในงาบาเคยเผาตัวเองในอดีตมาแล้ว" เซอริงกล่าว

"มีการประกาศข้อห้ามและการวางกำลังตำรวจในช่วงนี้มากกว่าปกติ และชาวทิเบตมักถูกสอบปากคำโดยตำรวจจีนอย่างไร้เหตุผล" เซอริงกล่าวเสริม

10 มี.ค. เป็นวันรำลึกการลุกฮือของชาวทิเบต​ใน พ.ศ. 2502 ในช่วงดังกล่าวชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน นำไปสู่การปราบปรามโดยกองทัพจีน ส่งผลให้ดาไลลามะองค์ปัจจุบันต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอินเดียนับตั้งแต่นั้น

ชายอายุ 81 ปีผู้นี้ นับเป็นผู้ประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเองคนที่ 160 เกือบทั้งหมดทำเพื่อประท้วงการปกครองของจีนในเขตการปกครองตนเองทิเบต รวมถึงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวนและมณฑลชิงไห่

เหตุการณ์นี้ถูกเปิดเผยเมื่อ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ก่อนเหตุการณ์ที่วัดกีรติ 3 วัน ชายอีกคนก็จุดไฟเผาตัวเองที่หน้าสถานีตำรวจแห่งหนึ่งใกล้กับวัดแห่งหนึ่งในเมืองกเยกูโด (เจ๊่ยกู่ ในภาษาจีน) เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตยูชูล (ยู่ชู่) ในมณฑลชิงไห่ นอกจากทราบเพียงว่าชื่อเซอริงแล้ว ยังไม่พบรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเขาและชะตากรรมของเขาหลังจากนั้น

ที่ผ่านมาในทิเบตเกิดการประท้วงขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่มีการประท้วงเป็นวงกว้างในช่วงก่อนการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี 2551 ในช่วงหลังมานี้ เทคโนโลยีคุณภาพสูงที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อควบคุมโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารออนไลน์ในพื้นที่ทิเบต ส่งผลให้ข่าวการประท้วงในทิเบตและการจับกุมชาวทิเบตไม่สามารถเผยแพร่ออกสู่โลกภายนอกได้

ในช่วงนี้ ทิเบตมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นหลายอย่าง

ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. นี้ เปนปา เซอริง ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต ระบุว่าจะเดินทางไปพบกับแนนซี เปโลซี ประธานรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตันดีซี หลังจากนั้นจะเดินทางไปพบกับอุซรา เซยา ผู้ประสานงานด้านประเด็นทิเบตของกระทรวงต่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และตัวแทนขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐอื่นๆ

ที่ผ่านมา รัฐบาลพลัดถิ่นได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งแก่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน แต่ยังระงับการส่งรายงานไว้ก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตพยายามผลักดันให้จีนเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ดาไล ลามะเคยเจรจากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน 9 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2545 จนถึง พ.ศ. 2553 แต่ไม่มีการพูดคุยต่ออีกหลังจากนั้น

เมื่อต้น เม.ย. ที่ผ่านมา ดาไล ลามะ ออกมาพูดในเทศกาลโชดันของทิเบต เสนอให้ใช้ "ทางสายกลาง" ในการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่ด้านการเมืองและการปกครองเท่านั้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั้งชาวจีนและชาวทิเบต พร้อมเรียกร้องให้ชาวทิเบตหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง​ และขอให้คนรุ่นเก่าอุ้มชู และส่งต่อภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และขนมธรรมแก่คนรุ่นใหม่

ดาไล ลามะ ปรากฎตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี เมื่อ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ธรรมศาลาเพื่อแสดงธรรมด้วยนิทานชาดก ตามด้วยพิธีสร้างโพธิจิตที่วัดสุกลาคาง ซึ่งเป็นอารามหลักของชาวทิเบต โดยมีผู้ศรัทธาและผู้นำรัฐบาลผลัดถิ่นของทิเบตเข้าร่วมด้วยจำนวนมาก สุขภาพของดาไล ลามะยังคงแข็งแรงดี

ปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปิดตัวสารคดี Never Forget Tibet: The Dalai Lama's Untold Story โดยดาไล ลามะบอกเล่าประสบการณ์การลี้ภัยด้วยตัวเองในสารคดีดังกล่าว และมีการเปิดเผยไดอารี่ของฮาร์ มันเดอร์ ซิงห์ ข้าราชการการเมืองชาวอินเดียที่เป็นผู้ต้อนรับองค์ดาไล ลามะขณะกำลังข้ามชายแดนเข้ามายังอินเดีย

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  • HITS TOP 10 (No.7) US BOX OFFICE THURS. https://www.neverforgettibet.com/?fbclid=IwAR2cX8tg23UxCbXor4vV5xA0qUOsfT31o5iDcU2XVJGK-e-hJxp_0whd_DY
  • ‘Middle Way’ approach for Tibet not just about politics: Dalai Lama https://www.rfa.org/english/news/tibet/approach-04132022161253.html
  • Tibetan exile leader set to visit Washington in April https://www.rfa.org/english/news/tibet/visit-04062022104400.html
  • 81-year-old Tibet man dies after self-immolation protest at Kirti Monastery https://www.rfa.org/english/news/tibet/ngaba-immolation-04032022060549.html 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท