สงกรานต์พม่าเหงา หลัง PDF-ฝ่ายต่อต้านขอ ปชช.บอยคอต-รัฐไทยแจ้งสถานการณ์ตรงข้ามแม่สอดไม่มีเหตุปะทะ

สงกรานต์พม่าเหงา แม้กองทัพพยายามชวนคนออกมาเล่นน้ำ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพม่าคืนสู่ภาวะปกติ แต่ฝ่ายต่อต้าน และกองกำลัง PDF ขอ ปปช.บอยคอตไม่เข้าร่วม ด้านการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA และกองทัพพม่า ในรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามแม่สอด ซึ่งเริ่มเมื่อปลาย มี.ค. ล่าสุดศูนย์สั่งการชายแดนฯ เผยไม่มีเหตุปะทะ ด้านผู้ลี้ภัยพม่าหนีสงครามอยู่ในไทย 1,514 ราย 

 

14 เม.ย. 65 สำนักข่าวสัญชาติพม่า 'อิรวดี' และ 'มิสซิม่า' (Mizzima) รายงานเมื่อ 13 เม.ย. 65 ชาวเมียนมาที่ปกติมักจัดเทศกาลสงกรานต์ด้วยความคึกคักและสนุกสนาน เต็มไปด้วยความเงียบเหงา และการบอยคอต แม้กองทัพพม่าพยายามเชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมฉลอง 

สำหรับประเทศเมียนมาขณะนี้เรียกว่าอยู่ในวิกฤตทางการเมือง หลังพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของอองซานซูจี เมื่อ 1 ก.พ. 2564 ส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารทั่วประเทศ ขณะที่กองทัพพม่าเลือกใช้ความรุนแรงในการปราบปราม จนปัจจุบันการต่อสู้ภายในพม่ายังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564-14 เม.ย. 2565 มีผู้ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงพม่าปราบจนเสียชีวิต จำนวนสูงถึง 1,751 ราย และมีผู้ถูกจับกุม 13,266 ราย

 

 

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ของพม่า ตรงกับวันที่ 13-15 เม.ย. หรือบางปีถึงวันที่ 16 ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชำระล้างเพื่อต้อนรับปีใหม่ตามคติของศาสนาพุทธ ผู้คนจะออกมาทำบุญที่วัดวาอาราม เล่นสาดน้ำตามท้องถนนอย่างสนุกสนาน รวมถึงมีการจัดพิธีเทศกาลเฉลิมฉลองอย่างครื้นเครง

อย่างไรก็ตาม บนท้องถนนของนครย่างกุ้ง เมื่อ13 เม.ย. 65 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพม่าปีนี้กลับเต็มไปด้วยความเงียบเหงา ไม่มีวี่แววของการเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์ แม้ทหารพม่าจะพยายามเชิญชวนให้คนออกมาเล่นน้ำและเฉลิมฉลอง

ในนครย่างกุ้ง มีเพียงประชาชนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นเด็กหลายคนและทหารเพียงนายเดียวเล่นสาดน้ำใส่กันด้านหลังกระสอบทรายของด่านรักษาความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนคนอื่นๆ ยืนมองจากอีกฝากของถนน 

บริเวณเจดีย์ซูเหล่เต็มไปด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของฝ่ายความมั่นคง มีการวางสิ่งกีดขวางที่เวทีสงกรานต์ ซึ่งบนเวทีมีนักร้องเพลงพื้นเมือง และนักเต้น กำลังทำการแสดง ซึ่งปีนี้กองทัพพม่าเป็นผู้ออกทุนสนับสนุนงานสงกรานต์

ภาพจากช่องโทรทัศน์ของทางการพม่า เผยให้เห็นนักร้อง และนักดนตรี กำลังแสดงเพลงพื้นเมืองประจำเทศกาลสงกรานต์ ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศเมียนมา  

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศยังคงเต็มไปด้วยความอึมครึม เนื่องจากกองทัพพม่ายังคงปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง 

"เราไม่แผนเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ (2565)" ซินซิน (นามแฝง) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี พร้อมระบุต่อว่า "ผมคงไม่ออกไปข้างนอก และไม่สนใจว่าคนอื่นๆ จะเฉลิมฉลองหรือไม่ เรากังวลว่าอาจมีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้น"

ท้องถนนเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อ 14 เม.ย. 65 (ที่มา Tachilek News Agency)
 

อนึ่ง เมื่อปี 2563 เทศกาลสงกรานต์พม่ามีอันต้องงดชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 แต่ในปี 2564 หลังการทำรัฐประหาร ประชาชนออกมาบอยคอตการเฉลิมฉลองของเทศกาลสงกรานต์ เพื่อประท้วงต่อต้านเผด็จการพม่า และการยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

ปีนี้เผด็จการพม่าพยายามบังคับให้ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองในวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกปี เวทีการแสดงของเทศกาลสงกรานต์มักได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนธุรกิจ แต่ว่าปีนี้กลับไม่มีบริษัทไหนลงทะเบียนให้การสนับสนุนเวทีสงกรานต์ดังกล่าว ดังนั้น กองทัพพม่าจึงต้องลงทุนสร้างเวทีสงกรานต์ด้วยตัวเองในหลายเมือง เช่น นครย่างกุ้ง นครมัณฑะเลย์ กรุงเนปยีดอ และที่อื่นๆ อีกหลายเมือง นอกจากนี้ กองทัพพม่าพยายามชักชวนให้เจ้าของธุรกิจโรงแรม และบาร์ มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าสถานการณ์ในพม่ากลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว  

ภาพเวทีสงกรานต์ในเขตเชาก์ เมืองมะเกว่ ประเทศเมียนมา ท่ามกลางการยืนคุมของทหารพม่า เมื่อ 14 เม.ย. 65 (ที่มา Tachilek News Agency)

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอจะทำให้ประชาชนออกมาเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่กองกำลังป้องกันพลเรือน หรือ PDF ซึ่งกองกำลังที่จัดตั้งโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ออกคำเตือนอย่างเข้มงวด ขอให้ประชาชนไม่เข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ดังกล่าว PDF เตือนด้วยว่า อาจมีแผนโจมตีเทศกาลสงกรานต์ที่มีกองทัพพม่าเป็นผู้สนับสนุน และพวกเขาจะไม่รับผิดชอบต่อผู้ได้รับบาดเจ็บที่เกิดจากการโจมตีของกลุ่ม PDF 

นอกจากนี้ ข่าวจากสำนักข่าวท้องถิ่นเผยให้เห็นผู้ประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารพม่ากลุ่มเล็กๆ ทั่วประเทศ นักกิจกรรมบางรายคือป้ายเรียกร้องให้มีการบอยคอตเทศกาลสงกรานต์ 

ไม่มีเหตุปะทะตรงข้ามแม่สอด

สำหรับสถานการณ์ชายแดนตรงข้ามแม่สอด จ.ตาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสู้รบระหว่างกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA กองพลน้อยที่ 6 ซึ่งเป็นปีกกองทัพของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ทำการสู้รบกับกองทัพพม่า ตั้งแต่เมื่อ 27 มี.ค. 2565

ขณะที่เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 65 สื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก’ รายงานว่า ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ชี้แจงสถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จ.ตาก ฉบับที่ 58 ประจําวันที่ 13 เม.ย. 2565 เมื่อเวลา 18.00 น.

โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น. ไม่มีรายงานการปะทะบริเวณฝั่งเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก 

ขณะที่จำนวนผู้หนีภัยสงคราม หรือผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาในไทย ปัจจุบัน มีทั้งหมด 1,514 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 4 แห่ง คือ 1) บ้านเซอทะ ต.หนองหลวง เดิมจำนวน 729 คน แต่มีคนข้ามมายังประเทศไทยเพิ่มอีก 5 คน จำนวนรวม 734 คน 2) ที่ ต.หนองหลวง จำนวน 260 คน 3) บ้านเลตองคุ จำนวน 450 คน และ 4) บ้านไม้ระยองคี ต.แม่จัน จำนวน 70 คน 

ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์สั่งการชายแดนฯ ระบุได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม ขณะที่กองอำนวยการร่วมยังคงดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับการสู้รบฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างกองกำลัง KNLA และกองทัพพม่า เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อกองทัพพม่าพยายามส่งกองกำลังเข้ามาจับกุมฝ่ายต่อต้านกองทัพภายในเมืองเลเก๊ะก่อ รัฐกะเหรี่ยง เขตรับผิดชอบของ KNLA กองพลน้อยที่ 6 จนสร้างความไม่พอใจให้ฝ่าย KNLA และออกมาปะทะกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท