Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน รุดช่วยเหลือช่างเชื่อมถูกนายจ้างหลอกทิ้งข้างทาง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวจากการที่เพจทีมงานสายไหมต้องรอด ได้เข้าช่วยเหลือ นายสมประสงค์ บริบูรณ์ อายุ 54 ปี ซึ่งกำลังอุ้ม นางพัทธนันท์ ทายะ อายุ 55 ปี ภรรยาที่ป่วยพิการท่อนล่างไม่สามารถเดินได้ลงจากสะพานลอยข้ามข้างทางรถไฟ ด้านหลัง ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพราะถูกนายจ้างปล่อยทิ้งไว้ข้างทางที่สถานีรถไฟ

หลังถูก "นายจ้าง" หลอกใช้ เบี้ยวค่าแรงหลายเดือน ว่าทันทีที่ได้รับทราบข่าวดังกล่าวผมได้สั่งการให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี เข้าไปรับคำร้องและสอบข้อเท็จจริงเพื่อติดตามนายจ้างมาจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และดำเนินการกับนายจ้าง และมอบหมายนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมทีมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปทุมธานี เดินทางไปส่งพร้อมกับทางเพจสายไหมต้องรอด รวมทั้งมอบเงินช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ท่ารถรังสิตเพื่อกลับบ้านที่จังหวัดตาก และสั่งการให้จัดหางานจังหวัดตากเตรียมตำแหน่งงานว่างให้ได้ทำงาน หรือฝึกพัฒนาอาชีพตามที่ต้องการอีกด้วย

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนดุจคนในครอบครัว เมื่อเขาได้รับความเดือดร้อนก็ต้องเร่งให้การช่วยเหลือในทันที ตามนโยบายรัฐบาลที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันนี้จึงได้มอบหมายให้ดิฉันพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทางเพจสายไหมต้องรอด มอบเงิน จำนวน 2,000 บาท ให้แก่นายสมประสงค์และภรรยา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดตาก

โดยทั้งสองคนได้ขึ้นรถกลับเวลาประมาณ 21.00 น.ที่ท่ารถรังสิต ทั้งนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดตากได้ทราบเรื่องแล้ว เมื่อคุณลุงสมประสงค์และภรรยาได้เดินทางถึงภูมิลำเนา สำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก จะได้เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับให้ได้งานทำ เนื่องจากขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีตำแหน่งงานว่างรองรับจำนวนกว่า 150,000 อัตรา ผ่านระบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” รวมทั้งฝึกพัฒนาอาชีพให้ตามที่ต้องการต่อไป

"กระทรวงแรงงานขอขอบคุณเพจสายไหมต้องรอดเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานในครั้งนี้ หากพี่น้องผู้ใช้แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือต้องการขอรับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 " นางเธียรรัตน์ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/4/2565

ก.แรงงาน เร่งฝึกทักษะเยาวชน ก่อนไปฝึกงานประเทศญี่ปุ่น ตามข้อตกลงความร่วมมือกับ IM Japan

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศ มีนโยบายรักษาและขยาย ตลาดแรงงาน ในต่างประเทศ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนขยาย ตลาดแรงงาน ในหลายประเทศ และเร่งจัดทำบันทึกความเข้าใจ อาทิ มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ในปี 2565 กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับ องค์กรพัฒนาแรงงาน ระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น หรือ IM Japan (Public Interest Foundation, International Manpower Development Organization, Japan) เปิดโอกาสให้แรงงานไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการแรงงานไทย จำนวนกว่า 2,000 คน ต้องการขยายตลาดแรงงานเชิงรุก เช่น บริษัท Hisada จังหวัดโอจิ มีความต้องการแรงงานไทยไปฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค สาขาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และบริษัท Heiwa Do ต้องการแรงงานในสาขาผลิตวัตถุดิบอาหาร นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีนโยบายขยายสาขาการฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคและขยายตลาดแรงงานกลุ่มทักษะเฉพาะ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศญี่ปุ่น

รวมถึงกำกับดูแลไม่ให้แรงงานดังกล่าวถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้แรงงานไทยที่ได้รับโอกาสนี้ได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมในทุกๆด้านก่อนเดินทาง โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมทักษะให้แก่แรงงานก่อนจะเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น โดยฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายสร้างความมั่นใจให้แก่แรงงาน นายจ้าง และสถานประกอบกิจการ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีหน่วยฝึกอบรมที่มีความพร้อมทั้งในหลักสูตร วิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่น อาคารสถานที่ฝึกอบรม ซึ่งการฝึกอบรมทักษะให้แก่แรงงานก่อนไปฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา (Part)

ช่วงที่ 1 เน้นภาคทฤษฎี ระยะเวลา 3 เดือน ดำเนินการฝึกอบรมโดย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี

ช่วงที่ 2 ระยะเวลา 1 เดือน เน้นฝึกภาคปฏิบัติเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกาย ประเพณี วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตประจำวัน ดำเนินการฝึกอบรมโดย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี

ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมที่พักให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมภายในหน่วยฝึกเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการ ละลายพฤติกรรม สร้างความสามัคคี และสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน หลังจากนั้นจะมีนายจ้างและสถานประกอบกิจการจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาคัดเลือก ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสฝึกปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกปฏิบัติงาน

เมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน (ประมาณ 200,000 บาท) ซึ่งเมื่อแรงงานฝึกปฏิบัติงานครบ 3 ปีแล้ว หากนายจ้างเดิมประสงค์ให้แรงงานฝึกปฏิบัติงานต่อ แรงงานสามารถสมัครเพื่อฝึกปฏิบัติงานต่อได้ตามสัญญาอีก 2 ปี หรือทำงานในกลุ่มแรงงานทักษะเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย

ทั้งนี้ แรงงานที่ผ่านการฝึกปฏิบัติงานจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับการพัฒนาเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงมีศักยภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในและต่างประเทศ และเข้าถึงค่าจ้างที่สูง นอกจากจะสามารถหารายได้นำเม็ดเงินกลับสู่ประเทศแล้ว ยังเป็นบุคลากรสำคัญ และมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/4/2565

ก.แรงงาน แนะนายจ้างอย่าละเลยมาตรการป้องกันโควิด หลังสงกรานต์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนและหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างยิ่ง โดยกำชับ กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบ ดูแลความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ทั้ง แรงงานไทย และ แรงงานข้ามชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมโรคและทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น

ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการ ดูแลให้ลูกจ้างทั้งคนไทยและคนต่างชาติในความดูแล เฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ด้วยความระมัดระวัง ไม่ละทิ้งมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข หากลูกจ้างยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ที่สาธารณะสุขกำหนด นายจ้างสามารถพาลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติรับวัคซีนได้ตามสิทธิ เพื่อความปลอดภัยของลูกจ้างเอง และลดความเสี่ยงจากการแพร่บาดของโรคโควิด -19 ในสถานประกอบการ

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 ประสานนายจ้าง/สถานประกอบการในพื้นที่ของตน เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันและควบคุมโรค

รวมทั้งแนะนำให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาด เช่น สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ หมั่นล้างมือ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่างระหว่างกัน ทำความสะอาด เช็ดถูพื้นผิววัสดุอุปกรณ์ ที่มีการใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ การจัดกิจกรรมรดน้ำดำหัว ขอให้จัดกิจกรรมในสถานที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หรือที่โล่ง ไม่หนาแน่นหรือคับแคบ

และเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน หากมีการเดินทางท่องเที่ยว แนะนำให้ประเมินความเสี่ยงสังเกตอาการของตนเอง หรือตรวจ ATK ด้วยตนเอง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง การพบปะ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/4/2565

อาชีวะ เร่งผลิตแรงงานป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าระยะแรกขับเคลื่อนผ่าน 6 ยุทธศาสตร์

11 เม.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่า

แนวโน้มการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้ว่า เทคโนโลยีของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ส่งผลต่อการเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อมรองรับ

กระทรวงศึกษาธิการโดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าวที่จะต้องยกระดับการพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา เรื่อง Zero Emission Vehicle (ZEV) ให้มีปริมาณเพียงพอ และมีคุณภาพรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น

เรื่องการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การประกอบยานยนต์ การบำรุงรักษา และการซ่อมบำรุงหลังการขาย รวมทั้งการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับระบบนิเวศ (Eco system) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น การผลิตมอเตอร์ ระบบควบคุม และแบตเตอรี่ เป็นต้น

ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้เกิดการผลิตและสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ไม่ว่าจะสนับสนุนการผลิต หรือมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ ล้วนบ่งบอกว่ากระทรวงศึกษา ต้องเร่งสร้างและพัฒนาทักษะกำลังแรงงานอาชีวศึกษาให้ทันเทคโนโลยี เพื่อรองรับและตอบโจทย์การเป็นแรงงานอาชีวศึกษาคุณภาพสูงในตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอนาคต

ด้าน ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ

และได้ขับเคลื่อนเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบหมายให้เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นประธานขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว

สำหรับการประชุมวันนี้ที่ประชุมมีมติในการขับเคลื่อน 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ในการทำงานในระยะแยก คือ

ประเด็นที่ 1 การสร้างการรับรู้ กับประชาชนเรื่องการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ประเด็นที่ 2 การดำเนินงานการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

ประเด็นที่ 3 การจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

ประเด็นที่ 4 การจัดทำฐานข้อมูล Demand, Supply และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 5 การพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจัดทำหลักสูตร Re-Skill, Up-Skill และ New-Skill

ประเด็นที่ 6 การจัดนิทรรศการเพื่อจัดแสดงและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในงาน OVEC EV Expo ซึ่งจะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ภายในธีมของการจัดงานที่เน้นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่ผลิตภายในประเทศผ่านฝีมือของครู นักเรียน นักศึกษาของอาชีวศึกษา เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ และ การแพ็คแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/4/2565

ช่วยลูกจ้างเดอะวันประกันภัย รับเงินสงเคราะห์เพิ่มกว่า 2 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้แสดงความห่วงใยถึงอดีตลูกจ้างบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปิดกิจการส่งผลให้ลูกจ้างตกงานทันที และได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีพ จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างแล้วเป็นจำนวนเงิน 5,027,890 บาท และในวันที่ 31 มีนาคม 2565 คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้มีมติเห็นชอบในการจ่ายเงินสงเคราะห์ กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เพิ่มให้แก่อดีตลูกจ้างบริษัทดังกล่าวจำนวน 340 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,346,769.26 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเงินสงเคราะห์ภายในเดือนเมษายนนี้

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพิ่ม เป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่น แต่นายจ้างไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องมายื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ กสร.จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสายด่วนโทร 1506 กด 3 หรือ 1546 และทางสื่อออนไลน์ของกรมทุกช่องทาง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11/4/2565

บริษัทเคนวูดในนิคมอุตสาหกรรมนวนครปิดกิจการถาวร แจ้งล่วงหน้าจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่พนักงานทุกคน

เพจข่าวสารชลบุรี-ระยอง ได้เปิดเผยภาพ โรงงานผลิตเครื่องเสียงดัง บริษัท เจวีซีเคนวูด อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด. เลขที่ 107 หมู่ 18 นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี. ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ประกาศปิดกิจการถาวร

โดยบริษัท ได้แจ้งล่วงหน้าต่อพนักงาน จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่พนักงานทุกคน และมีเงินสบทบให้แก่พนักงานก้อนใหญ่ เพื่อให้พนักงานไปดำรงชีวิตและใช้จ่าย ซึ่งไม่มีการประท้วงใดๆ และมีการร่ำลากันอย่างอาลัย

สำหรับบริษัทได้ทำการย้ายฐานผลิตกลับไปที่ประเทษญี่ปุ่น โดย บริษัท เจวีซีเคนวูด อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์

ที่มา: ข่าวสด, 9/4/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net