Skip to main content
sharethis

นิด้าโพล เผยคน กทม. ยึดนโยบายผู้สมัครเป็นปัจจัยหลักชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ - ผู้สมัครอิสระและพรรคขนาดเล็ก ตั้งโต๊ะแถลงเรียกร้องสื่อเปิดพื่นที่ข่าวหาเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครที่มีชื่อเสียง

17 เม.ย. 2565 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-8เมษายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขี้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,325 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0 มีผลสำรวจดังต่อไปนี้

เมื่อถามประชาชนถึงสถานการณ์การเมืองระดับชาติ กับการส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 31.25% ระบุว่า ส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 30.41% ระบุว่า ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลย ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 24.38% ระบุว่า ค่อนข้างส่งผลต่อการตัดสินใจ และที่เหลืออีก 13.96% ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผลต่อการตัดสินใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 44.75% ระบุว่า นโยบายของผู้สมัคร รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 28.91% ระบุว่า คุณสมบัติ/ชื่อเสียงส่วนตัวของผู้สมัคร ส่วนอีก 9.36% ระบุว่า ฐานเสียงจัดตั้งของผู้สมัคร ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 6.19% ระบุว่า อิทธิพลของบุคคล/กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนผู้สมัคร และอีก 6.04% ระบุว่า กลยุทธ์/แนวทางการหาเสียงของผู้สมัคร โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 4.00% ระบุว่า การสนับสนุนของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้สมัคร และที่เหลืออีก 0.75% ระบุว่า งบประมาณในการหาเสียงของผู้สมัคร

'สกลธี' หาเสียงตลาด ชูแผนจับมือแบงก์ทำโครงการทุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ค้า

Thai PBS รายงานว่านายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 3 ใช้ช่วงวันหยุดสงกรานต์เดินหน้าลงพื้นที่หาเสียงกับชาวกรุงเทพฯ ล่าสุดเดินทางไปตลาดกิตติ, ตลาดสะพาน 2 และตลาดแสงจันทร์ เขตสาทร ท่ามกลางประชาชนที่เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย

นายสกลธี กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า ช่วงนี้เลือกลงพื้นที่ตลาดเกือบทุกเช้าในแต่ละเขต เพราะจะได้พบกับคนในพื้นที่ที่สามารถสะท้อนปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งข้อแนะนำที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำมาหากิน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงอยากได้ข้อมูลเพื่อหาวิธีช่วยเหลือ

จากที่พูดคุยกับหลายตลาด พบว่ามีปัญหาเรื่องพื้นที่ที่จะใช้ในการค้าขาย ความสะดวกเรื่องพื้นที่ทางเท้า และปัญหาน้ำท่วมต่างๆ รวมถึงเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งเรื่องทุน ตอนที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ได้ประสานกับหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารออมสิน ที่มีโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยได้ร่วมมือกันที่จะหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ประกอบอาชีพ เพราะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 บางคนเงินทุนหายไปทั้งหมด ซึ่งเรื่องเงินทุนเริ่มต้นใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น

“จากการลงพื้นที่ตลาดต่างๆ พบปัญหาไม่แตกต่างกัน คือเรื่องกำลังซื้อที่หายไป”

นายสกลธี กล่าวอีกว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มาตรการของรัฐก็จะผ่อนคลายลงด้วย ในส่วนของ กทม.ก็จะเข้าไปช่วย อย่างที่ตนคิดคือเรื่องเงินช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และการหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ดอกเบี้ยไม่สูง โดยประสานพันธมิตรกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เพื่อมาทำเป็นโครงการร่วมกัน

ด้านเจ้าของร้านพริกแกงร้านหนึ่ง กล่าวหลังจากได้พูดคุยกับนายสกลธี ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คนตื่นตัว โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ย่ำแย่ ขายของไม่ค่อยได้ พร้อมเห็นว่าการที่ผู้สมัครที่มีจำนวนมากเริ่มลงพื้นที่หาเสียง ทำให้กรุงเทพฯ ดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ส่วนตัวอยากได้คนรุ่นใหม่ไฟแรงมาบริหาร และมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ขณะที่เรื่องสำคัญคือเรื่องการค้าขาย เรื่องทางเท้า รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการที่จำเป็นกับคนกรุงเทพฯ

'ศิธา' ลั่นรถไฟฟ้าต้องเป็นขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง ชี้รัฐต้องมองผลประโยชน์ ปชช.มากกว่า

เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) หมายเลข 11 พร้อมด้วยนายประภัสร์ จงสงวน ผู้อำนวยการเลือกตั้งกทม. นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ รองโฆษกพรรค และทีมไทยสร้างไทย ลงพื้นที่สำรวจการเดินทางรถสาธารณะผ่านบริการสาธารณะจากสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง ไปยังสถานีรถไฟฟ้าอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

น.ต.ศิธา กล่าวว่า การเดินทางของพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ โดยเฉพาะระบบรางสาธารณะรถไฟฟ้าที่ควรจะเป็นทางเลือกที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ แต่ผู้มาใช้บริการกลับเป็นคนเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป อีกทั้งการใช้บริการรถไฟฟ้ามีความยุ่งยาก เพราะต้องต่อถึง 3 สายจากดอนเมือง เพื่อเข้าไปสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ต้องเสียค่าบริการรวมทั้งสิ้นกว่า 85 บาท/คน การคำนวณทุกวันนี้ สามารถตีมูลค่าได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่หากค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และต้องมีความสะดวกมากที่สุด จะทำให้ลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน รวมถึงมลพิษก็จะลดลง และที่สำคัญพลังงานที่นำเข้าอย่างน้ำมันก็จะลดลงด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรมองเฉพาะผลตอบแทนทางการเงินแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะรัฐต้องเข้าใจว่าแม้จะขาดทุนทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้อย่างสะดวกแต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

น.ต.ศิธา กล่าวว่า วิธีคิดของขนส่งสาธารณะระบบรางทั่วโลก คือประชาชนทุกระดับต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากที่สุดตามค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการก่อเกิดของรถไฟฟ้าไทยก็ใช้วิธีคิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการเหมือนกัน ตามชื่อขององค์กรคือ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ” แต่ทำไปทำมามวลชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ตามชื่อองค์กรกลับไม่ได้ใช้บริการ แต่กลับเป็นคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น กลายเป็นมาเน้นผลตอบแทนทางการเงิน มากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันการเมืองที่มีความจริงใจกับประชาชนอย่าง “ไทยสร้างไทย” ที่มีวิสัยทัศน์ เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง และสะดวกมากที่สุด เข้ามาดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

“ในวันนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากมหาวิกฤติโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายกิจการปิดตัวลง ประชาชนจำนวนมากตกงาน และอีกหลายคนมีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นปัญหาด้านการเดินทางจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่พรรค ทสท. ให้ความสำคัญ ซึ่งผมและท่านประภัสร์จะมีการเปิดนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการบริการรถไฟฟ้าอีกครั้งในเร็วๆ นี้” น.ต.ศิธา กล่าว

ทั้งนี้ การเดินทางด้วยการบริการสาธารณะ 3 ประเภท ประกอบด้วยรถไฟฟ้า ที่มี น.ต.ศิธา และนายประภัสร์ ร่วมเดินทางโดยเริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน-รฟท. (ดอนเมือง-บางซื่อ) ต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-รฟม. (บางซื่อ-สวนจตุจักร) ก่อนที่จะไปต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว-บีทีเอส (หมอชิต-อนุสาวรีย์ชัย) เพื่อเปรียบเทียบกับเวลาการเดินทาง และค่าโดยสารรถแท็กซี่ และรถเมล์สาธารณะสายจากสนามบินดอนเมือง ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยรถไฟฟ้ามีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 85 บาท/คน ประเภทที่ 2 คือ รถแท็กซี่ ที่มีนายรัฐภูมิ และนายปณิธาน ประจวบเหมาะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที มีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 170 บาท และประเภทที่ 3 รถเมล์สาธารณะ ที่มีนางสาวพัสวี ไกรเดชอุดมไพศาล และนายทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล ใช้เวลาการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง มีค่าบริการรวมทั้งสิ้น 30 บาท/คน

ผู้สมัครอิสระและพรรคขนาดเล็ก ตั้งโต๊ะแถลงเรียกร้องสื่อเปิดพื่นที่ข่าวหาเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครที่มีชื่อเสียง

Thai PBS รายงานว่าผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 6 คน นำโดยนายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 22 , พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ผู้สมัครหมายเลข 15 ,นายธเนตร วงษา ผู้สมัครหมายเลข 14, นายภูมิพัฒน์ อัศวภูมินทร์ ผู้สมัครหมายเลข 27, นายกฤติชัย พยอมแย้ม ผู้สมัครหมายเลข 29 พรรคประชากรไทย, นายประยูร ครองยศ ผู้สมัครหมายเลข 12 และนายวิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครหมายเลข 31

ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่สื่อในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม และชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการหาเสียงในช่วง 35 วันที่เหลือนับจากนี้ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 22 พ.ค.2565 ที่จะหาเสียงแบบกลุ่ม พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด

นายภูมิพัฒน์ อัศวภูมินทร์ เสนอ กกต.จัดเวทีปราศรัยให้ผู้สมัครทุกคน หรือ 30 คน ได้หาเสียงกันอย่างเท่าเทียม ผู้สมัครบางคนยอมรับอาจจะไม่ได้ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ต้องการความเท่าเทียมในพื้นที่สื่อ แต่บางคนยังไม่ยอมแพ้ยืนยันหาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเต็มที่

ผู้สมัครแต่ละคนต่างแสดงความพร้อมเป็นตัวเลือกของชาว กทม. โดยนายประยูร ในฐานะอดีตข้าราชการลูกหม้อ กทม. ได้แสดงความพร้อมเป็นผู้ว่าฯ กทม. ย้ำนโยบายหาเสียงเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ก่อนจะชี้คุณสมบัติผู้ว่าฯ ที่เข้าไปบริหารงาน ต้องเป็นคนดีไม่ทุจริตคอร์รัปชัน มีความสามารถ บริหารงานสุจริตโปร่งใส ไม่ลุแก่อำนาจ มีความจริงใจ

วิโรจน์ชี้ รัฐสวัสดิการที่ดีทำได้-ต้องแบ่งเค้กเท่าเทียม-เสนอตัดงบ PR รัฐ เพิ่มขนาดเค้ก กทม.

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่าวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สัครผู้ว่าฯ กรุงเทพ เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ว่าด้วยการจัดทำรัฐสวัสดิการที่ดี ต้องเพิ่มขนาดเค้ก หรือขนาดรายได้ของรัฐก่อน โดยวิโรจน์ยืนยันว่าการเพิ่มขนาดเค้กเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องแบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม และปกป้องเค้กของประชาชนไม่ให้ถูกเบียดบัง มิฉะนั้นต่อให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้นแค่ไหน ประชาชนก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์

“หากเราไม่สนใจที่จะจัดสรรอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าเค้กจะใหญ่ขึ้นสักเท่าใดคนที่ได้รับประโยชน์ก็จะไม่ใช่ประชาชนอยู่ดี และอันที่จริง เค้กของประเทศไทยไม่ใช่ว่าจะไม่ใหญ่ขึ้น แม้ GDP ไทยจะโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็โตทุกปี แต่ในขณะที่เค้กใหญ่ขึ้น คนจนกลับจนลง คนรวยกลับยิ่งรวย จนประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก การจัดสรรอย่างเป็นธรรมจึงต้องทำทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้เค้กใหญ่ขึ้นก่อนแล้วค่อยจัดสรร” วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์ยังเสนออีกว่า หากเปรียบงบประมาณทั้งหมดเป็น เค้ก 1 ก้อน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อสร้างเมืองที่คนเท่ากัน มี 3 สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน ได้แก่

1. ปกป้องเค้กของประชาชน มีตัวอย่างมากมายที่เค้กถูกตัดไปใช้ในโครงการที่ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์ หนักไปกว่านั้นคือมีคนแอบกินเค้ก จากที่เล็กแทบจะไม่พออยู่แล้วก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปอีก แต่เราก็ไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ คนไหนลุกขึ้นมาปกป้องเค้กของประชาชน

ต่างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะคนที่จะมาปาดหน้าหรือแอบกินได้ หากไม่ใช่พวกพ้องที่ต้องคอยเกรงอกเกรงใจแล้ว ก็ต้องเป็นคนใหญ่โต ผู้มีบารมี ไม่ใช่ตาสีตาสา อะไรที่ไม่จำเป็น อะไรที่ฟุ่มเฟือย ผู้ว่าฯ ต้องกล้าหาญพอที่จะตัดทิ้ง รวมถึงการแอบเบียดบังเค้กก็ต้องถูกจัดการให้หมดไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งเค้กของประชาชน

2.แบ่งเค้กอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าเค้กจะก้อนเล็กหรือใหญ่ มันจะต้องถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม

และรัฐสวัสดิการคือหนึ่งในสิ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม

3. ทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น หากเราทำข้อ 1 และ 2 ได้ดี เค้กก็จะดูใหญ่ขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะการแบ่งที่เท่าเทียม และการป้องกันไม่ให้ใครมาเบียดบังแอบกินเค้ก

อย่างไรก็ตามด้วยงบประมาณที่มี แม้เราจะสามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ แต่ก็ยังไม่ดีพอ

วิโรจน์เสนอว่า สำหรับ กทม. สิ่งที่ผู้ว่าฯ สามารถทำได้ทันทีเพื่อให้ได้เค้กก้อนที่ใหญ่ขึ้น ได้แก่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีป้ายให้ครบถ้วน เพราะทุกวันนี้ กทม. ปล่อยให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เจ้าของห้างสรรพสินค้า นายทุนพลังงาน นายทุนทหาร เอาที่ไปล้อมรั้วปลูกกล้วย แยบยลกว่านั้นคือการซอยที่ให้เป็นที่เส้นก๋วยเตี๋ยวหรือที่ตาบอดเพื่อเลี่ยงภาษี ส่วนภาษีป้ายโฆษณา ปัจจุบัน กทม. จัดเก็บเข้าระบบได้เพียง 30-40% เท่านั้น ที่เหลือเป็นป้ายเถื่อนที่ใช้ระบบมาเฟียเส้นสาย ทำกำไรมหาศาลโดยไม่เข้ารัฐ

อีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กทม. คือการกำหนดค่าธรรมเนียมขยะใหม่ กทม. มีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะปีละ 7,000 ล้าน (หรือ 12,000 ล้าน หากรวมค่าจ้าง ค่าเสื่อมราคา ค่าซ่อมแซมรถขนส่งขยะ) ต่เก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะได้เพียง 500-600 ล้านบาทต่อปี วิโรจน์ยืนยันว่ารัฐสามารถขาดทุนเพื่อให้บริการสาธารณะได้ แต่รัฐไม่ควรขาดทุนเพื่อโอบอุ้บนายทุน เพราะเมื่อลงไปดูรายละเอียดเราจะพบว่าเหล่าห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่ผลิตขยะเป็นจำนวนมหาศาลกลับจ่ายค่ากำจัดขยะเพียงเดือนละไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังเสนอมาตรการเก็บค่าปรับไซต์ก่อสร้างที่ล่าช้าให้ได้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อขอให้ยืดระยะเวลาส่งมอบงานและไม่ต้องจ่ายค่าปรับก่อสร้างล่าช้า ทำให้ กทม. สูญเสียรายได้ และประชาชนก็ต้องเดือดร้อนกับงานก่อสร้างที่ไม่จบสิ้น

ข้อเสนอสุดท้ายของวิโรจน์ในการเพิ่มรายได้ กทม. คือการลดงบ PR ภาครัฐ ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการขึ้นป้ายหรือพิธีกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์สร้างภาพหรือเพิ่มคะแนนนิยมให้กับบุคคลหรือองค์กรเท่านั้น

“หากผมเป็นผู้ว่าฯ จะจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้ายให้ครบถ้วน เก็บค่าขยะห้างใหญ่เพิ่ม สั่งปรับไซต์ก่อสร้างที่ส่งงานช้า ตัดงบ PR ภาครัฐให้หมด ทั้งหมดจะทำให้เค้ก กทม. ก้อนใหญ่ขึ้น นโยบายสวัสดิการที่เรานำเสนอ เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็ก จะสามารถทำได้ภายใต้งบประมาณที่เรามี” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net