Skip to main content
sharethis

ต่อสู้กันในชั้นศาล กระทั่ง 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อ่านทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 305 ที่กล่าวถึงเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขมาตราทั้งสองในเวลาต่อมา

6 กุมภาพันธ์ 2564 กฎหมายมาตรา 301 ถูกแก้ อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยประกอบกับมาตรา 305 ที่ถูกแก้เช่นกันว่า

1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น

2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

กฎหมายแก้แล้ว ทว่า 14 เดือนผ่านไป การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในทางความเป็นจริงยังสวนทางกับกฎหมาย

สำนักปลัดฯ สธ. ไม่ผ่านร่างประกาศ หวั่นเกินขอบเขตอำนาจ

หลังจากที่กฎหมายได้รับการแก้ไข กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ร่างประกาศกระทรวงรองรับการทำงานให้สอดคล้อง ซึ่งทางคณะกรรมการยกร่างได้ร่างเนื้อหาออกมา 3 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 การให้การปรึกษาทางเลือก หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ และหมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง ต่อมากรมอนามัยได้ส่งร่างประกาศไปยังกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ให้รัฐมนตรีลงนาม

ปรากฏว่าทางสำนักปลัดฯ ทักท้วงว่า เนื้อหาร่างในหมวดที่ 2 และ 3 จะถือว่าเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่มาตรา 305 ระบุไว้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการให้การปรึกษาทางเลือกเพียงอย่างเดียว

ความกังวลของสำนักปลัดฯ คือหากประกาศใช้ร่างดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว อาจจะถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย

“ทางกรมอนามัยก็หารือกับคณะกรรมการยกร่าง ซึ่งทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ขณะนี้จึงจะมีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดโดยใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้นและอ้างอิงมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญาโดยตรง โดยทางสำนักปลัดฯ ต้องมีความชัดเจนตั้งแต่แรกและคาดว่าร่างนี้จะได้รับการลงนามจากรัฐมนตรีแน่นอน

เข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัย

ด้านกฎหมายยังติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่ในระบบราชการ ตกลงกันไม่ได้ แต่สถานการณ์ของผู้หญิงท้องไม่พร้อมไม่เคยหยุดรั้งรอ สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 กล่าวว่า ยังมีช่องว่างสามสี่ประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการทำแท้งปลอดภัย

ประการแรก คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประการที่ 2 ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ยังมีไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและพื้นที่อย่างเพียงพอ ประการที่ 3 บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ประการต่อมา ยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมที่เข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ และประการสุดท้าย ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนยังมีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม

การให้บริการปรึกษาท้องไม่พร้อมตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 ของ 1663 สมวงศ์ แจกแจงสถิติว่า จำนวนผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 มีผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน

“ถ้าอายุครรภ์มากกว่า 12-20 สัปดาห์ เขาจะไปหาบริการได้ที่ไหน มีมากพอหรือยัง อยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ อำนาจการต่อรอง การตัดสินใจ ไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิง แต่อยู่ที่แพทย์ เป็นคำถามว่าถ้ามากกว่า 20 สัปดาห์ เป็นเรื่องสุขภาพหมอทำให้ ถ้าไม่ใช่เรื่องสุขภาพไม่ทำให้ มันมีความแตกต่างอย่างไรในการยุติการตั้งครรภ์ ผมก็ยังสงสัยอยู่ ทำไมอำนาจไม่อยู่ที่ผู้หญิง

“มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาล แต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย เป็นผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย และมากกว่า 20 ปี 79 ราย เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ”

ผู้ใช้บริการยังถูกละเมิดสิทธิ

ด้านสุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง เปิดข้อมูลตัวเลขรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขเป้าหมายการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของปี 2563 โดยตั้งเป้าไว้ที่ 23,000 ราย ทำได้จริง 4,924 พอถึงปี 2564 จึงมีลดเป้าหมายให้ต่ำลงคือ 12,000 ราย ทำได้จริง 5,294

“แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน”

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เหตุผลที่ผู้หญิงท้องไม่พร้อมเข้าถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ จุดนี้สุพีชามองว่าปัญหาหลักเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องมีกฎกระทรวง

กลุ่มทำทางแจกแจงสภาพปัญหาได้ดังนี้

1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ เนื่องจากทั้งตัวเจ้าหน้าที่และประชาชนเองก็ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่รู้สถานที่ให้บริการ ไม่ได้รับมอบหมายนโยบาย ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร เมื่อมีผู้มาขอรับบริการ

2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ ในไทยขณะนี้มีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการยุติการตั้งครรภ์ 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง เป็นของเอกชน 21 แห่ง ทั้ง 91 แห่งนี้ให้บริการในพื้นที่เพียง 38 จังหวัด ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2564 พบว่าจำนวนสถานพยาบาลที่ให้บริการเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 10

“เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค เช่น ค่าบริการแตกต่างกัน ต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางทีให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครอง ซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”

3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ เช่น ค่าบริการ ค่าอัลตร้าซาวด์ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ สูญเสียรายได้จากการหยุดงาน หรือที่ทำงานไม่ให้หยุด

“การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น” สุพีชา กล่าว “คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”

4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และได้รับบริการที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งการปฏิเสธบริการถือเป็นการละเมิดสิทธิ

5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา เช่น มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์

“จำเป็นต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์” สุพีชา เสนอว่า “นโยบายของกระทรวงต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย

“และจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย สิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอบ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะ ต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง”

14 เดือนของการหยุดชะงักอันเนื่องจากระบบราชการ สิทธิเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของผู้หญิงจึงยังเผชิญอุปสรรคอีกมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net