ราคาแห่งเสรีภาพ: เมื่อสิทธิการประกันตัวยุค 112 ต้องแลกด้วยเงินหลักล้าน

ปรากฏการณ์การเรียกเงินประกันในจำนวนสูงลิ่ว (บางครั้งถึงหลักล้านบาท) ยังเป็นปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในคดีความผิด “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในขณะที่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์เตือนว่าแนวปฏิบัติเช่นนี้อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการไต่สวนที่เป็นธรรม 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ “กองทุนราษฏรประสงค์” มีบทบาทอย่างมากในการระดมทุนบริจาค เพื่อสงเคราะห์เงินประกันตัวสำหรับคนที่ทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ แต่ผู้ประสานงานกองทุนดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากคดีมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้แต่หลักการพื้นฐานที่บัญญัติไว้ว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติจริงเสมอไป

กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวอยู่ด้านนอกศาลฏีกากรุงเทพ เมื่อ 24 ก.ย. 64 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คืนวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ แกนนำปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 2 คน ได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันพวกเขาแล้ว หลังถูกจองจำอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาหลายเดือน แต่ติดอุปสรรคใหญ่หลวงอยู่หนึ่งประการ นั่นคือ เงินประกันตัวของทั้งสองคนถูกตั้งไว้ที่ 2,070,000 บาท และพวกเขาต้องหามาจ่ายให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง 

หนึ่งวันก่อนหน้า ชายคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าสาดสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10) ต้องใช้เงินสูงถึง 600,000 บาทสำหรับการประกันตัว ในเดือนมกราคม ชายอีกคนหนึ่งที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาด้วยกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องวางเงินกว่า 150,000 บาท เพื่อเป็นหลักค้ำการประกันตัว

ในอีกกรณี ผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกเป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมนี ถูกตั้งวงเงินในการประกันตัวไว้ที่ 200,000 บาทถ้วน

“ตามกฎหมาย เค้าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ถ้าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องปฏิบัติเหมือนไม่ได้ทำผิด ... ต้องอำนวยให้เค้าได้ประกันตัวอย่างสะดวก การได้รับการประกันต้องเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ข้อยกเว้น”  วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายที่ว่าความให้กับจำเลยหลายคนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวในการสัมภาษณ์

“แต่ปัจจุบัน การไม่ให้ประกันตัวกลายเป็นหลักละ [การประกันตัว]ต้องเอามาแลกเปลี่ยนด้วยเงินระดับสูงๆ”
 
แม้ว่าแนวคิด “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มีหลายครั้งที่ผู้ต้องสงสัยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องจ่ายเงินหลักแสนหรือหลักล้านบาท เพื่อแลกกับเสรีภาพในการต่อสู้ข้อกล่าวหานอกเรือนจำ ดังที่ยกตัวอย่างมาแล้ว 

และเงื่อนไขที่หยิบมาพิจารณาการให้หรือไม่ให้ประกัน ก็แทบไม่มีหลักการในกฎหมายรับรอง ดังที่นักกฎหมายอาวุโสท่านหนึ่งได้อธิบาย พร้อมเตือนว่าหากปรากฏการณ์นี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นได้ 

“พอเป็นคดีมาตรา 112 เนี่ย ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่า ศาลท่านคงอาจจะระมัดระวังมาก กลัวว่า ถ้าให้ปล่อยตัวไป จะโดนหาว่าพวกเดียวกันรึป่าว” ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวให้สัมภาษณ์

“แต่ศาลต้องว่าไปตามเนื้อผ้านะครับ” ปริญญากล่าวต่อ “ศาลต้องระวังนะครับ ถ้าใช้กระบวนทางกฎหมายอย่างไม่ระมัดระวัง ก็จะกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้นะครับ เพราะถ้าไม่ให้ประกัน ประชาชนก็อาจสงสัยกันว่ามีใบสั่งมั้ย"

ราคาอันสูงลิ่ว

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ถึงแม้ตัวบทกฎหมายจะครอบคลุมเฉพาะเพียงการกระทำหรือคำพูดที่ “ดูหมิ่น” หรือ “อาฆาตมาตร้าย” พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดตามมาตรานี้มักขยายวงออกไปครอบคลุมถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่ถูกตีความได้ว่ามีความหมายเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ในกระบวนการส่งตัวฟ้องศาลหลายๆ กรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 พนักงานสอบสวนทำคำร้องขอฝากขังและคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยาน ฯลฯ

หากศาลปฏิเสธคำร้องของตำรวจ ผู้พิพากษาอาจสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องยื่นหลักประกันตัวใดๆ ก็ได้ แต่หลายครั้ง ศาลเลือกที่จะกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก 

กรณีอย่างหลังเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้บ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ  เงินประกันหลายครั้งถูกตั้งไว้เป็นเงินสดหลายแสนบาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยในประเทศไทยอย่างมาก ตามหลักของกฎหมายนั้น คนที่ไม่สามารถหาเงินประกันมาวางตามที่ศาลตั้งไว้ ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ

ผู้ชุมนุมคนหนึ่งประท้วงอยู่ด้านนอกศาลฏีกากรุงเทพ เมื่อ 25 ต.ค. 64 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

ด้วยวงเงินประกันที่สูงลิ่วเช่นนี้ หลายคนหันไปพึ่ง “กองทุนราษฎรประสงค์” ซึ่งมีประวัติดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยเป็นความริเริ่มเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่ทุนทรัพย์ไม่เพียงพอในการประกันตัว ก่อนจะกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการประกันตัวสำหรับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหรือคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในปัจจุบัน

กองทุนราษฎรประสงค์อาศัยการระดมทุนจากสาธารณะ มีอาสาสมัครดำเนินงานและจัดการทุกอย่างเพียง 2 คน หนึ่งในนั้นคือไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์วารสาร “อ่าน” แม้ไม่เคยเป็นทนายความมาก่อน แต่ทั้งคู่ดำเนินงานของกองทุนด้วยความละเอียดอย่างมาก ตั้งแต่การส่งเงินประกันตัวให้แก่ศาลต่างๆ การติดตามบันทึกรายรับรายจ่าย ไปจนถึงการประสานงานกับนายประกันคนต่างๆ 

“การติดตามหลักฐานใบเสร็จ หลักฐานคดี และการติดตามเงิน จึงค่อนข้างยุ่งยากและกลายเป็นภาระงานก้อนใหญ่ที่น่าปวดหัวมาก” ไอดากล่าวให้การสัมภาษณ์ 

“แต่ด้วยสำนึกว่าเราสองคนที่ถือบัญชีต้องรับผิดชอบต่อเงินทุกบาทอย่างเคร่งครัด ทั้งในความหมายทางหลักการที่มันเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เงินของเรา และในความหมายทางบัญชีที่มันดันเป็นเงินในชื่อส่วนตัวของเรา เราจึงไม่มีทางอื่นนอกจากต้องรับผิดชอบกับมันไปอย่างนี้ และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” 
 
นอกจากคดี 112 แล้ว กองทุนราษฎรประสงค์ยังจัดหาเงินประกันให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อพ.ร.ก. ฉุกเฉินและข้อหาอื่นๆ จำเลยหลายคนเป็นเยาวชนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย โดยเพจเฟสบุ๊คของกองทุนจะชี้แจงรายละเอียดของแต่ละคดีที่มีการใช้เงินเพื่อจ่ายเงินประกันตัวอยู่สม่ำเสมอ

หากได้อ่านดู จะพบว่าจำนวนเงินประกันตัวที่ตั้งโดยศาลบางครั้งก็ชวนให้ตาลาย เงินประกันตัวจำนวนสูงสุดที่กองทุนเคยจ่ายอยู่ที่ 3.1 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ในครั้งนั้นศาลกำหนดวงเงินประกันตัวอยู่ที่คนละ 100,000 บาท สำหรับผู้ประท้วง 31 คน แม้ว่าพวกเขาไม่ได้ขัดขืนการจับกุมและไม่ได้พยายามหลบหนีจากสถานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ไอดากล่าว

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนต้องช็อกไปตามๆกันในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อศาลเรียกเงินประกัน 2,070,000 บาทสำหรับการปล่อยตัวนักกิจกรรม 2 คน “อานนท์ นำภา” และ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ซึ่งต้องจ่ายภายในเวลา 1 ชั่วโมง

ไฟล์ภาพนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย อานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์ 

ไอดากล่าวว่าเธอรู้สึกตกใจไม่ใช่เพียงกับจำนวนเงินเท่านั้น แต่ตกใจกับการให้เหตุผลของศาลด้วย โดยศาลอธิบายว่าหากไม่สามารถยื่นเงินในคืนนั้นได้ กระบวนการพิจารณาจะต้องเริ่มใหม่ในเช้าวันถัดมา และศาลอาจจะเปลี่ยนใจไม่ให้ประกันก็เป็นได้

“ดิฉันเข้าใจไม่ได้อย่างถึงที่สุดว่า ถ้าศาลอนุญาตให้ประกันในเวลาหกโมงเย็นของวันหนึ่ง แล้วพอแปดนาฬิกาของเช้าวันรุ่งขึ้นมันจะมีข้อเท็จจริงอะไรที่เปลี่ยนไปในชั่วยามวิกาลนอกเวลาราชการหนึ่งคืนนั้นถึงขนาดที่จะทำให้ศาลต้องเปลี่ยนใจไม่ให้ประกัน” ไอดากล่าว “เหตุผลของการให้ประกันมันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงอย่างชนิดดอกบวบที่สลดบ่ายแล้วเช้าขึ้นมากลับชูคอสลอนหรืออย่างไร?” 

ทั้งที่แจ้งกระทันหันเช่นนี้ กองทุนราษฎรประสงค์ก็ยังสามารถรวบรวมเงินได้ครบ และไม่ใช่เพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น แต่ได้ถึง 10 ล้านบาทในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการโจษจันอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดีย

กฎกติกาที่คาดเดาไม่ได้ 

นอกจากนี้ หลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่าวงเงินประกันตัวที่กำหนดไว้สำหรับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือคดีชุมนุมทางการเมือง เป็นจำนวนเงินที่เทียบเท่าหรือสูงกว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดร้ายแรงอย่างคดีฆาตกรรมหรือคดีความทางเพศด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่างกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขี่ “บิ๊กไบค์” ชนแพทย์หญิงรายหนึ่งเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้รับการปล่อยตัวหลังจากยื่นเงินประกันตัว 50,000 บาท

เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ศาลแห่งหนึ่งตั้งเงินประกันตัวสำหรับลูกชายเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งที่ถูกแจ้งข้อหาข่มขืนนักเรียนอายุ 17 ปีไว้ที่ 200,000 บาท ขณะที่กลุ่มครูโรงเรียน 5 คนที่ถูกจับในปี 2563 ในข้อหาล่วงละเมิดนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 30,000 บาท 

เทียบกับ “หฤษฎ์ มหาทน” นักเขียนและนักวาดการ์ตูนอายุ 31 ปี ซึ่งเพิ่งถูกยกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อไม่นานมานี้ เขาต้องจ่ายค่าประกันตัวสูงถึง 500,000 บาท จากคำบอกเล่าของผู้เป็นทนายความ

“เค้ามักจะมองว่า บุคคลที่ทำผิดเกี่ยวกับสถาบัน หรือความมั่นคง หรือผู้นำประเทศเนี่ย เค้าให้ใช้หลักประกันสูงๆ เพราะมองว่า บุคคลเหล่านั้นตรงกันข้ามกับรัฐ อาจจะสร้างความเสียหายต่อรัฐได้”  วิญญัติ ทนายความที่ทำคดีให้หฤษฎ์และจำเลยคนอื่นๆ กล่าวให้สัมภาษณ์ “แต่กลับไม่มองสาเหตุแต่แรก มีข้อหาหรือเหตุผลอะไรไปจับเค้าหรือดำเนินคดีแต่แรก”

กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวอยู่ด้านนอกศาลฏีกากรุงเทพ เมื่อ 24 ก.ย. 64 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

จริงอยู่ว่า มีหลักเกณฑ์ของศาลในการกำหนดวงเงินประกันตัวอยู่บ้าง หรือที่เรียกกันในวงการทนายว่า “ยี่ต๊อก” เช่น “บัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย” ออกโดยศาลฎีกาใน พ.ศ. 2562 ทว่าตัวเลขกลับไม่ตรงกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง 

ในบัญชีเกณฑ์ดังกล่าว ศาลฎีกากล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าในคดีความที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี วงเงินประกันตัวไม่ควรสูงเกิน 300,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าจำนวนเงินประกันตัวของหฤษฎ์และจำเลยในคดี 112 คนอื่นๆ 

ไอดากล่าวว่า สิ่งที่น่าฉงนยิ่งกว่าคือศาลแต่ละศาล มักกำหนดวงเงินประกันตัวต่างกัน ทั้งที่เป็นคดีความหรือรูปคดีลักษณะเดียวกัน 

“สำหรับคดี 112 ทำไมศาลจังหวัดสมุทรปราการและศาลจังหวัดนราธิวาสจึงมีอัตราเรียกคงที่อยู่ที่ 150,000 บาทตลอดทุกคดี ? แล้วทำไมศาลจังหวัดพังงาเรียกหลักทรัพย์สูงผิดเพื่อนถึง 300,000 บาททั้งที่เป็นคดีที่เกิดจากการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียเหมือนกันกับที่ศาลสมุทรปราการและนราธิวาส?” ไอดาตั้งข้อสังเกต

“ส่วนศาลจังหวัดธัญบุรีก็เรียกสูงถึง 300,000 บาท โดยที่พฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหาคือการร้องเพลงเท่านั้น ยี่ต๊อกของธัญบุรีคือเท่าไหร่กันหรือ? ส่วนศาลอาญาตลิ่งชันก็เป็นได้ตั้งแต่ 100,000 บาทจนถึง 250,000 บาท”

แม้แต่ศาลเดียวกันก็อาจเปลี่ยนแปลงอัตราเงินประกันตัวได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เช่น ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยกำหนดเงินประกันตัวสำหรับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้ที่ 150,000 บาท ปัจจุบันค่าประกันตัวสูงขึ้นเป็น 200,000 บาท ไม่ว่าลักษณะของความผิดตามข้อกล่าวหาจะเป็นอย่างไร 

“คาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ตกลงมียี่ต๊อกไหม?” ไอดากล่าว 

เมื่อกฎหมายปะทะกับ “ดุลยพินิจ”? 

ความไม่เสมอต้นเสมอปลายเหล่านี้มักจะได้รับการอธิบายด้วยคำว่า “ดุลยพินิจ” อันเป็นเหตุผลครอบจักรวาลที่ปรากฏในแทบทุกระดับของการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย กล่าวคือ แม้แนวทางในการกำหนดวงเงินประกันตัวจะมีอยู่จริง แต่จำนวนเงินจริงๆ ก็ยังขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาที่นั่งไต่สวนบนบัลลังก์แต่ละท่านนั่นเอง 

“ปกติมีการพิจารณาไม่กี่ข้อ เช่น หลักประกันน่าเชื่อถือมั้ย ถ้าปล่อยแล้วจะหนีมั้ย หรือถ้าปล่อยจะไปยุ่งเหยิงกับพยาน หรือขัดขวางการสอบสวนมั้ย” วิญญัติกล่าว 

“ผมว่ามันเป็นเรื่องดุลยพินิจครับ [กรณี 112] เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความลำบาก และจำกัดสิทธิ์ประชาชนด้วย เข้าถึงการปล่อยชั่วคราวยากขึ้น” 

ปริญญา นักวิชาการนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกเช่นกันว่าเหตุผลบางส่วนที่ศาลใช้อ้างในการกำหนดวงเงินประกันตัวสูงๆ สำหรับผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวไปเลยนั้น แทบไม่มีอะไรรองรับในระบบกฎหมายเลยแม้แต่น้อย 

ตัวอย่างเช่น เมื่อศาลปฏิเสธการประกันตัวให้กับ “เบญจา อะปัญ” นักกิจกรรมอายุ 23 ปีในเดือนตุลาคม ศาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ "อัตราโทษสูง" ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ศาลให้เหตุผลต่างออกไปเมื่อปฏิเสธการประกันตัวของ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” โดยระบุว่า “จำเลยเคยกระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้มาแล้วหลายคดี”  

ไฟล์ภาพของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ปริญญากล่าวว่าทั้ง 2 ประเด็นไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักในการปฏิเสธการประกันตัวของจำเลย ตามมาตรา 108/1 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำกับดูแลกระบวนการประกันตัว

ตามมาตราดังกล่าว ศาจจะปฏิเสธการประกันตัวได้ก็ต่อเมื่อ

    (1) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะหลบหนี
    (2) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปยุ่งเหยิง กับพยานหลักฐาน
    (3) ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
    (4) ผู้ร้องขอประกัน หรือ หลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
    (5) การปล่อยชั่วคราว จะเป็นอุปสรรค หรือ ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงาน หรือ การดำเนินคดีในศาล

จะสังเกตได้ว่าไม่มีบทบัญญัติใดพูดถึง "อัตราโทษสูง" หรือความเสี่ยงว่าผู้ต้องสงสัยอาจ "กระทำในลักษณะทำนองเดียวกันกับคดีนี้" เลย 

ปริญญาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการไม่ยอมให้ประกันตัวในคดี 112 ด้วยเหตุผลว่าเป็นคคีโทษอัตราสูงเป็นสิ่งที่ผิดตรรกะด้วยตัวมันเองด้วยซ้ำ เนื่องจากที่ผ่านมามีการอนุมัติประกันตัวให้กับผู้ต้องสงสัยที่ถูกฟ้องในคดีที่โทษสูงกว่านี้เป็นปกติ เช่น คดีฆาตกรรม ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

“ศาลอย่าให้ใครสงสัยครับ” ปริญญากล่าว “ถ้ามีการปฏิบัติที่แตกต่าง การประกันตัวในบางคดี หลักทรัพย์หนักกว่า ให้ประกันยากกว่า เงื่อนไขมากกว่า ก็จะถูกเปรียบเทียบได้”

สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกิจการของฝ่ายตุลาการ ปฏิเสธไม่แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ โดยผู้ช่วยของโฆษกท่านดังกล่าวได้แจ้งกับประชาไทอิงลิชว่า

“[โฆษก]ไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะจะเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล การกำหนดหลักเกณฑ์การประกันตัว เป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่าน” 

ราคาที่ต้องจ่าย

อีกคำถามที่หลายคนสงสัยคือเมื่อวางเงินประกันตัวแล้ว เงินส่วนนั้นไปอยู่ที่ไหน ทนายวิญญัติเล่าขั้นตอนว่าเงินดังกล่าวเจ้าหน้าที่เสมียนศาลจะเป็นผู้รับไว้ และจากนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ดูแลเงินส่วนนี้ โดยปกติแล้วจะอยู่ในรูปแบบของบัญชีเงินฝากหรือพันธบัตร

ถึงแม้จะมีกฎระเบียบห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการไม่ให้ใช้เงินประกันตัวของจำเลยเพื่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ แต่ดอกเบี้ยที่มาจากการฝากเงินดังกล่าวกลับตกเป็นทรัพย์สินของรัฐ ไม่ใช่ของจำเลย 

“ดอกเบี้ยไม่ได้นะครับ ตกเป็นของรัฐนะครับ เจ้าของเงินได้อะไร ได้อิสรภาพไงครับ” ทนายวิญญัติกล่าว

เงินประกันจะถูกคืนให้แก่จำเลยหลังจากคดีถึงสิ้นสุดแล้วเท่านั้น ซึ่งมักจะใช้เวลาหลายปี และในทางปฏิบัติก็กลายเป็นการ “แช่แข็ง” ทรัพย์สินขนาดเท่ากับเงินเก็บทั้งชีวิตสำหรับหลายๆ คน เช่น ในกรณีของหฤษฎ์ นักวาดการ์ตูนที่ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดในคดี 112 กระบวนการในชั้นศาลใช้เวลากว่า 6 ปี ในช่วงดังกล่าวเขาต้องฝากเงินไว้กว่า 500,000 บาทเพื่อเป็นหลักค้ำประกัน

วิญญัติ ทนายความฝ่ายจำเลย ระบุว่าบางคนที่เขาทำคดีให้โดยเฉพาะแกนนำการประท้วง ต้องยื่นเงินสดสำหรับการประกันตัวมากขึ้นอีก เมื่อพวกเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศ วิญญัติยกตัวอย่างว่าเคยมีจำเลยในคดีชุมนุมเสื้อแดงยื่นเงินประกันตัวไปแล้ว 600,000 บาท ต่อมามีธุระต้องเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยถูกสั่งให้วางเงินเพิ่มอีก 600,000 บาทก่อนเดินทาง รวมเป็นหนึ่งล้านกว่าบาท 

พรหมศร วีระธรรมจารี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กอดผู้สนับสนุนคนหนึ่งหลังเพิ่งได้รับการประกันตัวที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อ 10 พ.ค. 2564 ด้วยวงเงินประกัน 200,000 บาท

บางคนไม่ได้รับเงินประกันเงินคืนเลย ด้วยเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา เช่น ในกรณีของ “ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์” ภรรยาของ “สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์” นักกิจกรรมที่หายสาบสูญในปี 2561 ขณะลี้ภัยในประเทศลาว

สุรชัย ซึ่งมีประวัติวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หลายครั้ง หลบหนีออกจากไทยก่อนการรัฐประหาร 2557 ในขณะที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพค้างอยู่ระหว่างการไต่สวน แม้เพื่อนและครอบครัวของเขาเชื่อว่าสุรชัยถูกอุ้มฆ่าเสียชีวิตไปแล้ว ศาลยังถือว่าสุรชัยยังมีชีวิตอยู่ และเข้าข่ายหลบหนีระหว่างประกันตัว พร้อมยึดเงินประกันทั้งหมด 500,000 บาท ตามคำบอกเล่าของปราณี

อ.ปริญญาเสริมด้วยว่า การที่ศาลมักตีหลักประกันสำหรับผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเงินสดอยู่บ่อยๆ ยังขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายด้วย เพราะมาตรา 110 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า  “ในคดีมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว ต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วย หรือไม่ ก็ได้”

หมายความว่าศาลอาจเลือกปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องยื่นเงินประกันใดๆ เลยก็ได้ หรือหากต้องมีหลักค้ำประกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดเสมอไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลก็อนุญาตให้จำเลยบางคนใช้อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือ ส.ส. ใช้ตำแหน่งของตนเป็นหลักประกัน แทนการใช้เงินประกันตัว เช่นในเดือนมกราคม ศาลจังหวัดธัญบุรีให้ประกันตัวผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ หลังอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อใช้ตำแหน่งของตนเองเป็นหลักค้ำประกัน 

แต่ทว่าในอีกหลายกรณี ศาลกลับปฏิเสธไม่ให้ส.ส.หรืออาจารย์ยื่นตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาในคดี 112 

“ไม่มีแม้แต่คำเดียวเลยที่บอกว่าต้องวางเงินสดเท่านั้น กฎหมายพูดแค่หลักประกัน ไม่ได้บอกว่าเป็นเงิน หลักการคือป้องกันเพื่อไม่ให้หลบหนี แค่นั้น ถ้ามีวิธี ก็ไม่ต้องใช้เงินก็ได้ กฎหมายเล็งเห็นว่า ไม่อย่างงั้น คนจนไม่มีเงิน ติดคุกสิครับ” ปริญญากล่าว

“ในเมื่อคนเรามีเงินไม่เท่ากัน ถ้ากระบวนการยุติธรรมเอาเงินเป็นเงื่อนไข [ในการประกันตัว] ขัดหลักเสมอภาคนะครับ”

ขัดต่อรัฐธรรมนูญ?

แนวคิดว่าด้วยการไต่สวนที่เป็นธรรม หรือ fair trial ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ในอดีตนั้นผู้ถูกกล่าวหาถูกไต่สวนโดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีความผิด จนกว่าจะถูกพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

“ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกคคอง เราไม่มีวิธีพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามอำเภอใจผู้พิพากษาหมดครับ” ปริญญาอธิบาย

ประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกเพิ่งได้รับการรวบรวมและนำมาใช้ใน พ.ศ. 2477 สองปีหลังการปฏิวัติสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนำโดย “ปรีดี พนมยงค์” เนติบัณฑิตที่จบการศึกษาจากฝรั่งเศส

“แต่ในตอนนั้นเนี่ย ก็ยังไม่มีหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์ จนกว่าจะตัดสินว่าผิดจริง” ปริญญากล่าว

กว่าที่จะมีหลักนี้ปรากฏในกฎหมาย ประเทศไทยต้องรออีกกว่า 15 ปี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ระบุเป็นครั้งแรกว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้" 

ข้อความนี้สามารถพบได้ในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ตามมา รวมถึงฉบับปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ด้วย แต่ทว่าประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2477 ยังคงมีผลบังคับใช้โดยที่เนื้อหาบางส่วนไม่ได้ปรับปรุงให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ

กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์อย่างไม่ลดละรวมตัวกัน เมื่อ 16 ส.ค. 2563 เพื่อสนับสนุนให้มีบทลงโทษรุนแรงขึ้นต่อผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในกรุงเทพ

ปริญญาเห็นว่า นี่คือเหตุผลว่าทำไมประมวลกฎหมายอาญาจึงเต็มไปด้วยคำศัพท์และหลักเกณฑ์ที่สันนิษฐานให้ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับพิสูจน์ว่าไม่มีความผิดในชั้นศาล ความขัดกันนี้อาจจะเห็นได้ชัดที่สุดในหลักเกณฑ์ว่าด้วยการประกันตัว 

“ที่ผมสงสัยมาตลอดคือ ทำไมป.วิอาญาถึงไม่ใช้คำว่า ‘ประกันตัว’ แบบที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไปใช้คำว่า ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ วะ” ปริญญากล่าวด้วยน้ำเสียงกังขา “แสดงว่า assume [คิดไว้ก่อน] ว่าจับเป็นหลัก ปล่อยเป็นชั่วคราวสิแบบนี้” 

ปริญญากล่าวเสริม “แปลว่าป.วิอาญายังใช้หลักการ presumption of guilt [สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีความผิด] จับมาต้องขังไว้ก่อนจนกว่าพิพากษา แล้วค่อยมาดูทีหลังว่ามีเหตุอันควรให้ปล่อยมั้ย ถึงให้ปล่อย”

นักวิชาการท่านนี้กล่าวว่าเขารู้สึกยิ่งตกใจเมื่อเห็นข่าวว่าศาลบางแห่งอ้างเหตุผลเกินว่าที่บัญญัติไว้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อปฏิเสธการประกันตัวผู้ต้องสงสัยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า อนุญาตให้กักขังผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยได้ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือหากต้องทำเพื่อป้องกันการหลบหนี 

เรื่องนี้มีตัวอย่างอยู่หลายครั้ง เช่น ในเดือนมกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้หญิงวัย 63 ปีคนหนึ่ง โดยอ้างว่าความผิดของเธอ “นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดี” พร้อมเหตุผลอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

“ถ้าหากศาลมีเหตุไม่ให้ประกันเพิ่มมานอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ถือว่าขัดทั้ง ป.วิอาญา ขัดทั้งรัฐธรรมนูญนะครับ” ปริญญากล่าวเตือน

‘กฎหมายควรต้องเป็นกฎหมาย’

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมทางการเมืองรวมกว่า 1,700 คน ในจำนวนนี้มีประมาณ 170 คนที่ถูกฟ้องหรือแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)

ไอดากล่าวว่ากองทุนราษฎรประสงค์จะยังคงเดินหน้าระดมทุนและช่วยเหลือเรื่องการประกันตัวให้กับจำเลยที่ต้องการต่อไป แม้เธอและเพื่อนร่วมงานของเธอจะถูกเพ่งเล็งและคุกคามจากการรังควานของผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์สุดโต่งก็ตาม 

ในเดือนกุมภาพันธ์ นักกิจกรรมฝ่ายรอยัลลิสต์ชื่อดัง “สนธิญา สวัสดี” เรียกร้องให้ตำรวจสอบสวนไอดาและบทบาทของเธอในกองทุนราษฎรประสงค์ โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นผู้ช่วยสนับสนุนขบวนการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้ประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รวมตัวกันหน้าสถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพ เมื่อ 26 ต.ค. 2563

บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่ากองทุนราษฎรประสงค์อาจจะมีไว้ “บังหน้าเลี้ยงโจร” 

“ทั้งหมดนี้ ถามเพื่อให้ตอบ จะได้ขจัดครหาที่มีว่า ทั้งทนายเพื่อสิทธิฯ ทั้งกองทุนประกัน นั่นคือ "ฉากหน้า" แต่ฉากหลัง คือร่วมขบวนการสามนิ้ว "ปฏิรูปแบบปฏิวัติ" เพื่อล้มสถาบันด้วยกัน เพียงแยกบทบาทกันแสดงเท่านั้น และเงินกองทุน "๔๐ กว่าล้าน" ทั้งบ้าน-ทั้งเมือง อยากให้กรมสรรพากรตรวจสอบที่มาว่าใครคือผู้ใจบุญเหล่านั้น จะได้เคลียร์ให้ชัด ว่าเป็นกองทุนเพื่อเสรีภาพจริงๆ ไม่ใช่กองทุนบังหน้า "ท่อน้ำเลี้้ยงโจร" ล่มสถาบัน?” ตอนหนึ่งของบทความระบุไว้

ไอดากล่าวว่าเธอ “ทำใจ” ไว้แล้ว

“ในชีวิตปกติก็อยู่แบบอีกหลายคนที่รู้ว่าตัวเองอยู่ในสายตาของรัฐ อยู่แบบที่รู้ว่าโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียของตัวเองไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆ อีกต่อไป” ไอดากล่าว “และทำใจไว้แล้วว่าวันไหนเขาจะบุกมายึดโทรศัพท์ยึดคอมพิวเตอร์ค้นบ้านเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่ว่าในยามที่มีการระดมประกันครั้งใหญ่แต่ละรอบ ก็จะได้รับคำเตือนแกมข่มขู่กดดันหนักหน่อยมาเป็นรอบๆไป”

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไอดายืนยันว่าเธอจะไม่หนีไปไหน และจะดำเนินการกองทุนต่อไป 

“ค่อนข้างแน่ใจว่าเราจะไม่ได้รับความยุติธรรมถ้าถึงคราวที่เราต้องโดนคดี แต่เราก็จะไม่ปิดบัญชีหนี และจะไม่หนีไปไหน เราจะยังคงทำในสิ่งที่อยากให้พวกเขาเป็นฝ่ายทำบ้างตลอดมา คือการยืนยันในหลักการอย่างหนักแน่นว่ากฎหมายควรต้องเป็นกฎหมาย”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท