เลือกตั้งฝรั่งเศส: เมื่อฐานเสียงฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งหันไปหนุนผู้สมัครขวาจัด 'เลอ แปน'

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบสอง นักวิเคราะห์การเมืองนานาชาติ จอห์น เฟฟเฟอร์ เผยแพร่บทความใน FPIF อธิบายสาเหตุฐานเสียงพรรคฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส 1 ใน 4 หันไปเทคะแนนในการเลือกตั้งรอบแรกให้ 'มารีน เลอแปน' ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคขวาจัด และทำไมการอาศัยพลังฝ่ายขวาเพื่อทำลายระเบียบโลกแบบเดิมจะกลายเป็นเรื่องที่อันตราย

แฟ้มภาพแคมเปญหาเสียงของมารีน เลอแปน ผู้นำพรรคขวาจัดในฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 (ที่มา: Wikipedia)

ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 ฝ่ายซ้ายคือกลุ่มที่นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มต่อต้่านเผด็จการฟาสซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก ในสเปน, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในเยอรมนี หรือ เบนิโต มุสโสลินี ในอิตาลี และในช่วงยุคสมัยสงครามเย็น กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายก้าวหน้าก็ต่อต้านเผด็จการขวาจัดอย่าง ออกุสโต ปิโนเชต์ ในชิลี และ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในฟิลิปปินส์ ฝ่ายซ้ายเหล่านี้มีการขับเคลื่อนต่อต้านนีโอ-นาซี ในเยอรมนี และกลุ่มติดอาวุธฝ่ายขวาในสหรัฐฯ รวมถึงต่อต้านการก่อตัวของกลุ่มเผด็จการฟาสซิสต์เหล่านี้ที่อื่นๆ ในโลก

แต่ทว่า จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสื่อ Foreign Policy In Focus ก็ตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันมีกลุ่มฝ่ายซ้ายบางส่วนที่กลับทำตัวตรงกันข้ามคือแทนที่จะเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการฝ่ายขวาแต่กลับกระโดดไปอยู่ฝั่งฝ่ายขวาเสียเอง ตัวอย่างล่าสุดสำหรับปรากฏการณ์ที่ว่านี้คือการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่รอบแรกเพิ่งจะสิ้นสุดลง

ในกฎหมายการเลือกตั้งฝรั่งเศสระบุว่า ผู้สมัครที่จะชนะการเลือกตั้งในรอบแรกได้ต้องมีคะแนนมากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไปถึงจะถือว่าชนะขาด ไม่เช่นนั้นผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกจะต้องมาตัดสินกันอีกครั้งในการเลือกตั้งรอบที่ 2 และผลการเลือกตั้งล่าสุดของฝรั่งเศสในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เอ็มมานูเอล มาครง ผู้สมัครสายกลางทางการเมืองก็ได้คะแนนเสียงมากสุดอยู่ที่เกือบร้อยละ 28 อันดับที่สองคือ มารีน เลอ แปน จากพรรคขวาจัดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 23 ส่วนผู้แทนพรรคฝ่ายซ้าย ฌอง ลุค เมลองชง ได้คะแนนร้อยละ 22

มีการประเมินว่า มาครงมีโอกาสชนะ เลอ แปน มากกว่า ถ้าหากว่าผู้ลงคะแนนให้ฝ่ายซ้ายเลือกลงคะแนนให้มาครง และผู้เลือกพรรคฝ่ายขวากลางกับซ้ายกลางในรอบแรกดเทคะแนนไปทางมาครงด้วย อย่างไรก็ตามการสำรวจโพลของ Ipsos France ระบุว่า กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายอยางเมลองชงร้อยละ 36 ประกาศว่าจะโหวตให้กับมาครง แต่ก็มีถึงร้อยละ 27 ที่ประกาศว่าจะโหวตให้กับเลอ แปน นับได้เป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของฐานเสียงพรรคฝ่ายซ้ายที่อยากจะโหวตให้กับพรรคขวาจัด เรื่องนี้เป็นเรื่องเรื่องแปลกใจสำหรับเฟฟเฟอร์ว่าทำไมฝ่ายซ้ายกลุ่มย่อยๆ กลุ่มนี้ถึงจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่เฉียดๆ จะเป็นฟาสซิสต์อย่างพรรคของ เลอ แปน

บริบททางการเมืองในฝรั่งเศส

เฟฟเฟอร์ประเมินว่าเรื่องที่ฝ่ายซ้ายบางส่วนในฝรั่งเศสหันไปเลือกฝ่ายขวาจัดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดูเหมือนว่าในรอบนี้จะแย่ยิ่งกว่าในสมัยปี 2560 เนื่องจากในตอนนั้นมีผู้สนับสนุนเมลองชงร้อยละ 7 เท่านั้นที่จะหันไปสนับสนุน เลอ แปน ในการเลือกตั้งรอบที่สอง และในครั้งนั้นมาครงก็ชนะ เลอ แปน อย่างขาดลอยในการเลือกตั้งรอบที่สองด้วยคะแนนร้อยละ 66 ต่อร้อยละ 33 แต่ก็มีผู้ประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่มาครงอาจจะชนะอย่างเฉียดฉิวอยู่ที่ร้อยละ 51 ต่อร้อยละ 49

เฟฟเฟอร์ชี้ว่าสาเหตุน่าจะเป็นทั้งเรื่องการโต้วาทีของมาครงที่ทำได้ไม่ดีนัก รวมถึงการที่ฐานเสียงสายเสรีนิยมในฝรั่งเศสมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันน้อยลงด้วย การที่ฝ่ายซ้ายบางส่วนหันไปซบขวาจัดก็มีโอกาสจะทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่น่าตื่นตะลึงพอๆ กับชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในยุค 2559 และการทำประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษที่เรียกว่าเบร็กซิต นั่นก็คือการที่ เลอ แปน จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเฟฟเฟอร์ระบุถึงบริบทการเมืองในฝรั่งเศสว่า พรรคการเมืองขวาจัดของเลอ แปน มีประวัติการพยายามไปเรียกคะแนนสนับสนุนจากฐานเสียงพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสมานานแล้ว เพื่อชนะใจอำนาจในระดับท้องถิ่น ในพรรคเนชันแนลแรลลีของ เลอ แปน ถึงขั้นมีอดีตคอมมิวนิสต์ที่ย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายขวาชาตินิยม เช่น เฟเบียน แองเกลมานน์ ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีสังกัดพรรคเนชันแนลแรลลีผู้ที่เคยเขียนหนังสือชื่อ "จากแนวคิดฝ่ายซ้ายมาเป็นแนวคิดชาตินิยม"

ขณะเดียวกันพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสก็หันมาสอดรับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้กลายเป็นแบบเสรีนิยมใหม่ แล้วพอพรรคของพวกเขาล่มในเวลาต่อมาก็กลายเป็นช่องว่างให้ เลอ แปน เข้าไปช้อนเอาฐานเสียงนักสังคมนิยมผู้ผิดหวังเหล่านี้มาเป็นของตัวเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าพวกที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายซ้าย" ในที่อื่นๆ ของโลกจำนวนหนึ่งก็โหวตให้กับผู้นำอำนาจนิยมฝ่ายขวาอย่าง ทรัมป์ หรือ รอดริโก ดูเตอร์เต ในฟิลิปปินส์ เช่นกัน แม้กระทั่งว่าผู้นำอำนาจนิยมบางคนที่ไม่ได้พยายามจะแสร้งทำตัวเป็นฝ่ายซ้ายเลยอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ก็ทำให้ฝ่ายซ้ายบางคนในฝรั่งเศส รวมถึงเมลองชงรู้สึกใกล้ชิด อบอุ่นใจ และในกรณีของเมลองชงนั้น เขาถึงขั้นเคยพูดสนับสนุนปูตินตอนที่ปูตินก่ออาชญากรรมสงครามในซีเรียด้วยซ้ำไป

เฟฟเฟอร์เปรียบเปรยว่าสภาพการเมืองฝรั่งเศสในตอนนี้เปรียบเสมือนโดนัท ที่ฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายจัดวนมาบรรจบที่ด้านมืดของแต่ละฝ่าย ขณะที่ตรงกลางที่เคยเป็นพื้นที่ของฝ่ายซ้ายกลางกับขวากลางซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งแบบดั้งเดิมในฝรั่งเศส ก็เริ่มจะว่างโหวง

ความเกลียดเสรีนิยม?

บทความของเฟฟเฟอร์ระบุถึงการที่ผู้คนส่วนหนึ่งเริ่มเกลียดชังทั้งเสรีนิยมแบบการเมืองสายกลางเพราะพวกเขามองว่าระบอบนี้นำมาซึ่งเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ การค้าเสรี และการลดการกำกับควบคุมจากภาครัฐ ผู้คนกลุ่มนี้มองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มบรรษัทข้ามชาติและชนชั้นเศรษฐีไม่กี่คนบนโลกร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนอื่นๆ ยังคงประสบปัญหาความยากจน

และการที่พรรคสังคมนิยมสายกลางบางส่วนที่หันไปสอดรับกับเศรษฐกิจเสรีกับโลกาภิวัตน์เช่นนี้ด้วยก็ทำให้บางคนรู้สึกผิดหวัง และฝ่ายขวาจัดก็บินลงมาโฉบเอากลุ่มคนที่ผิดหวังเหล่านี้ไปเป็นพวกตัวเอง

"ตรรกะวิบัติของนักคิดบนหน้าสื่อ" ทำไมการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ถึงไม่ใช่ผู้ร้ายแบบที่นักคิดเหล่านี้ชอบอ้าง

อย่างไรก็ตามมีจุดหนึ่งของบทความในเฟฟเฟอร์ที่ผลิตซ้ำความเชื่อผิดๆ ว่า การเน้น "การเมืองเรื่องอัตลักษณ์" จากฝ่ายซ้ายใหม่ทำให้เกิดกลุ่มคนที่หันไปอยู่ฝ่ายขวาด้วยเรื่องนี้ และถึงขั้นทำให้มีการโหวตให้กับนักการเมืองฝ่ายขวาอย่างทรัมป์ แต่ก็มีบทความที่ระบุว่าข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริงในเชิงสถิติ

เพราะกลุ่มคนขาวในสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ กลับโหวตให้ทรัมป์ น้อยกว่า มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งสมัยก่อนหน้านี้ นั่นยังไม่นับว่าทรัมป์ได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนโดยรวมน้อยกว่ารอมนีย์ด้วย เพียงแต่ชนะด้วยระบบ "คณะผู้เลือกตั้ง" เท่านั้น

นอกจากนี้ บทความของ เจคอบ ที เลวี ประธานภาควิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขการแพ้ชนะระหว่างผู้สมัครพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตในยุคสมัยนั้นก็มาจากปัจจัยหลายอย่างเช่นความล้มเหลวในการหาเสียงของคลินตันในบางพื้นที่ และปัจจัยทางท้องถิ่นอื่นๆ หลายประการ ดังนั้นแล้ว เลวีจึงมองว่า การลดทอนเรื่องชัยชนะของทรัมป์ให้เป็นแค่ความผิดของ "ความถูกต้องทางการเมือง" (political correctness) นั้น นับว่าเป็น "ตรรกะวิบัติของนักคิดบนหน้าสื่อ" (pundit's fallacy)

สาเหตุที่เลวีเรียกมันว่าเป็น "ตรรกะวิบัติของนักคิดบนหน้าสื่อ" เพราะเดิมทีแล้วผู้อ้างตัวเป็น "นักคิด" เหล่านี้มีอคติต่อประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ของกลุ่มคนชายขอบ ต่อเรื่องความถูกต้องทางการเมือง และต่อเรื่องความเป็นธรรมในสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกนักคิดที่มีอคติเหล่านี้จึงอ้างเอาผลลัพธ์ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งลากโยงแบบตรรกะวิบัติมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเขา "ถูก" ทั้งๆ ที่ไม่มีการพิสูจน์ความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลต่อกันแต่อย่างใด

เรื่องจึงน่าจะมาอยู่ที่ว่า ฝ่ายซ้ายจำพวกหนึ่งหรือคนที่คิดว่าตัวเองเป็น "ฝ่ายซ้าย" เหล่านี้มองแบบตีขลุมว่าระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนอย่างเสรีที่ทำให้เกิดผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่กลุ่มคนเหล่านี้เกลียดเป็นสิ่งที่มาด้วยกันเป็นแพ็กเกจ และความเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ถูกฉวยใช้ประโยชน์จากกลุ่มขวาจัดที่มีจุดยืนในเชิงเหยียดเชื้อชาติสีผิวและการเกลียดกลัวคนนอกแบบเดียวกับ "ฝ่ายซ้าย" จอมทิฐิกลุ่มนี้

อย่าเลือกโหวตประชดเพราะแค่อยาก "เขย่า" หิ้งแบบเปลือกๆ มันจะส่งผลร้าย

ในมุมมองของเฟฟเฟอร์ อารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้โหวตให้กับ เลอ แปน, ทรัมป์ และจาอีร์ บอลโซนาโร (ผู้นำขวาจัดคนปัจจุบันของบราซิล) คือความต้องการจะเห็นผู้แทนเหล่านี้เข้าไป "เขย่า" หิ้งการเมืองสถาปนาแบบดั้งเดิม เพราะต้องการให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนให้พ้นไปจากสภาพดั้งเดิม

แต่เฟฟเฟอร์ก็มองว่า ความคิดต้องการ "เขย่าหิ้ง" แต่เปลือกนอกแบบนี้เป็นมุมมองที่ติ้นเขินมากเกินไป เป็นการมองการเมืองในแบบที่ทำให้เป็นเรื่องบันเทิงไปเสีย ราวกับว่าการเมืองเป็นรายการเรียลลิตีโชว์ พอคนเบื่อนักการเมืองมุขเดิมๆ ที่เดาทางได้ก็หันไปหานักการเมืองที่มีการแสดงออกดูเหมือนจอมเจ้าเล่ห์ เกกมะเหรกเกเร ไม่ว่าจะเป็น ทรัมป์, บอริส จอห์นสัน (นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน), ดูเตอร์เต, บอลโซนาโร คนพวกนี้แค่ทำให้คนหัวเราะได้และเรียกร้องความสนใจเก่ง

อย่างไรก็ตามเฟฟเฟอร์ระบุว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายที่แท้จริงที่มีลักษณะแบบ "เขย่าหิ้ง" ก็มีอยู่เช่นกัน คือ คนอย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ส และ อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ ผู้เป็นนักการเมืองสายก้าวหน้าในสหรัฐฯ เพียงแค่พวกเขาดูเคร่งขรึมกว่า ขณะเดียวกัน ฝ่ายขวาอย่าง มาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน ก็ทำให้สภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ กลายเป็นเหมือนสวนสนุกเพี้ยนๆ พิลึกพิลั่น

 

แต่การเมืองก็ไม่ใช่เรื่องภาพลักษณ์ความบันเทิง

แต่สุดท้ายแล้วคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เหล่านี้ได้ "เขย่าหิ้ง" ที่เป็นระบบเศรษฐกิจและการเมืองแบบดั้งเดิมจริงหรือไม่ ทรัมป์แค่เคยพูดด่านาโตออกสื่อ เคยมีภาพที่นั่งอยู่กับคิมจองอึน (ผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ) แล้วก็เคยพูดจาเหยียดประเทศโลกทางใต้ทั้งหมดว่าเป็นพวกประเทศ "รูเน่า" ("ประเทศโลกทางใต้" หรือ Global South คือ กลุ่มประเทศที่ถูกแบ่งตามลักษณะทางเศรษฐกิจมากกว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น ประเทศในละตินอเมริกา, แอฟริกา, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน มักจะมีการเปรียบเทียบว่ามีความยากจนกว่า "ประเทศโลกทางเหนือ" คือ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ รัสเซีย และออสเตรเลีย)

ถึงแม้ทรัมป์จะใช้โวหารจองหองเช่นนี้แต่ก็เป็นแค่เรื่องเปลือกนอก ตัวเขาไม่ได้เขย่าหิ้งสภาวะดั้งเดิมทางเศรษฐกิจที่กดขี่ผู้คนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเขากลับยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจกดขี่หนักยิ่งขึ้นด้วยการงดเว้นภาษีคนรวยล้นฟ้า และเอาใจกลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ เขาแสร้งทำเป็นหาเสียงว่าจะทำเพื่อ "ผู้แพ้ของโลกาภิวัตน์" แต่สุดท้ายแล้วก็แค่หลอกให้เชื่อแล้วตลบหลัง พอเขาอยู่ในทำเนียบขาวแล้วเขาก็ทำให้ความมั่งคั่งไปกองอยู่กับคนชั้นสูง

แต่อย่างไรก็ตามมีฝ่ายขวาจัดบางส่วนที่ทำออกนโยบายในเชิงเอาใจประชาชนทางเศรษฐกิจอยู่เหมือนกัน นั่นรวมถึง เลอ แปน ด้วย นโยบายบางอย่างของเลอ แปน ดูจะเอาใจฝ่ายซ้ายในบางด้านด้วยซ้ำ เช่น การเพิ่มการลงทุนภาครัฐต่อทั้งภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ล้มเหลว และลงทุนในด้านความมั่นคง หรือถึงขั้นเอาใจสายสิ่งแวดล้อมด้วยการสัญญาว่าจะส่งเสริมการปรับระบบอุตสาหกรรมให้เป็นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และลดการใช้วัตถุดิบลง แต่ก็ไม่แน่ใจว่านี่จะเป็นแค่สัญญาลมปากแล้วตลบหลังแบบทรัมป์ หรือเธอจะทำมันจริงๆ กันแน่

ถึงแม้ฝ่ายขวาจัดอาจจะพยายามเอาใจผู้คนทางเศรษฐกิจบางด้าน จนทำให้ฝ่ายซ้ายที่เกลียดเสรีนิยมแบบหน้ามืดตามัวหันไปหลงใหลไปกับฝ่ายขวาจัดเหล่านี้ แต่เฟฟเฟอร์ก็เตือนให้ไม่ลืมว่า แม้กระทั่งเผด็จการที่ก่อเหตุนองเลือดอย่างเหี้ยมโหดอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็เคยมีนโยบายเศรษฐกิจเอาใจผู้คนโดยหยิบยืมจากแนวคิดฝ่ายซ้ายที่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองของเขาในตอนนั้นเช่นกัน เช่นเรื่องการจ้างงานเต็มที่สำหรับทุกคน และโครงการลงทุนของรัฐขนาดใหญ่อย่าง "ออโตบาห์น"

ทั้งนี้ยังมีผู้ที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายซ้ายบางคนที่กลับชื่นชมได้แม้กระทั่งคนอย่างปูตินที่เพิ่งจะทำสงครามรุกรานยูเครนไป อาจจะเพราะภาพลักษณ์แบบเปลือกๆ ที่มองว่าคนเช่นนี้เป็นคนที่ฝ่าฝืนระเบียบโลกใหม่แบบเสรีนิยมก็เป็นได้ แต่การทำลายระเบียบโลกแบบเดิมโดยอาศัยพลังอำนาจแบบฝ่ายขวาจัดแบบนี้ดีจริงหรือ หรือนับว่าเป็นเรื่องอันตรายกันแน่

เฟฟเฟอร์ระบุว่า ความจริงที่น่าเศร้าเกี่ยวกับพวกขวาจัดคือ พวกนี้จะทำให้สภาวะดั้งเดิมพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ทว่า สภาวะดั้งเดิมบางอย่างที่พวกเรายังคงมีอยู่ในตอนนี้อย่างการเคารพในอธิปไตยของประเทศอื่นๆ การตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตย การต้้งอยู่บนบรรทัดฐานหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ควรต้องรักษาไว้ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเมืองน้ำเน่าแบบดั้งเดิมก็ถือเป็นเรื่องดี แต่เราก็ควรเอาใจใส่กับความเป็นอยู่ที่ดีของลูกหลานเราในอนาคตผู้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

เรียบเรียงจาก

WHEN THE LEFT IS RIGHT…FAR RIGHT, Foreign Policy in Focus, 13-04-2022

Will left-wing voter apathy in France hand Marine Le Pen electoral victory?, The New States Man, 11-04-2022

The Defense of Liberty Can’t Do Without Identity Politics, Jacob T. Levy, 13-12-2016

เว็บไซต์ของ เจคอบ ที เลวี
http://jacobtlevy.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท