กองทัพพม่าอภัยโทษนักโทษช่วงสงกรานต์ราว 1,600 ราย แต่ไร้รายชื่อผู้ต้องหาคดีการเมือง 

กองทัพพม่า ประกาศรายชื่อนักโทษผู้ได้รับการอภัยโทษช่วงเทศกาลสงกรานต์ ราว 1,600 ราย โดยมีรายชื่อชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย 42 คน แต่ไร้รายชื่อนักโทษคดีการเมือง 

 

19 เม.ย. 65 สำนักข่าว ‘อิรวดี’ รายงานเมื่อ 18 เม.ย. 65 ระบุว่า ครอบครัวของนักโทษการเมืองพม่าต้องผิดหวัง หลังพบว่าญาติของพวกเขาไม่อยู่รายชื่อได้รับการอภัยโทษ 1,619 ราย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์พม่า หรือภาษาพม่าเรียกว่า ‘ตะจ่านปแว’ สำหรับปีนี้

อิระวดี รายงานว่า สถานการณ์ในประเทศพม่ายังคงอยู่ในความวุ่นวายหลังกองทัพพม่า นำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อ 1 ก.พ. 65 ส่งผลให้เกิดการต่อต้านและประท้วงในหลายพื้นที่ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกใช้กำลังในการกดปราบผู้ต่อต้าน

สื่อทางการสภาทหารพม่า ประกาศรายชื่อผู้ได้รับอภัยโทษจำนวน 1,619 ราย โดยในจำนวนนี้มีนักโทษชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย 42 ราย เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์พม่า ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลดังกล่าว ทางการพม่าจะมีการอภัยโทษนักโทษเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยเมื่อปีที่ผ่านมา (2564) มีนักโทษได้รับการอภัยโทษ และถูกปล่อยตัวทั้งสิ้น 23,000 ราย 

บรรยากาศประชาชนมารอรับนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวที่หน้าเรือนจำ เมื่อ 17 เม.ย. 65 บันทึกโดยสำนักข่าว Myanmar Now

นักโทษรายหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์ว่า “นักโทษคดีการเมืองและผู้ประท้วงไม่อยู่ในรายชื่อได้รับการปล่อยตัว” พร้อมระบุว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแค่นักโทษคดีอาชญากรทั่วไปเท่านั้น 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 มีประชาชนมากกว่า 100 คน รวมตัวที่หน้าเรือนจำ โดยหวังว่าจะได้พบกับญาติและสมาชิกครอบครัวของตนเอง ก่อนที่จะเริ่มแยกย้ายกลับบ้านในช่วงบ่ายวันเดียวกัน หนึ่งในผู้ที่ไปยืนรอคือผู้หญิงคนหนึ่งที่หวังว่าจะได้พบกับหลานอายุ 19 ปีของเธอ ซึ่งถูกลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหายุยงปลุกปั่นต่อต้านกองทัพ

หญิงที่ไปยืนรอหลานรายนี้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า หลานของเธอยังเยาว์วัย และเขาอาจจะยังมีความรู้สึกอยากต่อสู้อยู่ เธอกล่าวด้วยว่า "ฉันหวังว่าเด็กและเยาวชนทุกคนจะได้รับการปล่อยตัวรวมถึงหลานของฉันด้วย พวกเขาล้วนแต่บริสุทธิ์"

ผู้ที่มารอหน้าเรือนจำอีกคนหนึ่งชื่อ ‘เอมยิ้น’ เปิดเผยว่า ลูกสาวของเธออายุ 19 ปี ถูกลงโทษจำคุก 3 ปี ด้วยข้อหาทางการเมือง ซึ่งถ้านับตามเวลาปัจจุบัน ลูกสาวของเธอถูกจำคุกมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว เอมยิ้น หวังว่า ลูกสาวจะได้รับการปล่อยตัว

แต่เมื่อถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 17 เม.ย. 2565 เจ้าหน้าที่เรือนจำประกาศยืนยันว่ามีนักโทษประมาณ 160 ราย ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่ง โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

ในการประกาศของเรือนจำไม่มีการระบุถึง “ฌอน เทอร์เนลล์” อดีตที่ปรึกษาของอองซานซูจี ผู้ที่ถูกจับกุมหลังจากรัฐประหารไม่นาน เทอร์เนลล์ กำลังถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายความลับทางราชการ ซึ่งในกฎหมายระบุให้มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี รายละเอียดของคดีนี้ไม่มีการเผยแพร่ออกมาต่อสาธารณะ แต่สื่อช่องกองทัพรายงานเรื่องนี้โดยอ้างว่า เทอร์เนลล์สามารถเข้าถึง "ข้อมูลลับทางการคลังของรัฐบาล" ได้ และกล่าวหาว่าเขาพยายามหลบหนีออกจากประเทศ

สำหรับเทศกาลสงกรานต์พม่า โดยปกติเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริงของชาวพม่า ตามท้องถนนมักพบประชาชนออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน และเป็นประจำทุกปี รัฐบาลพม่าจะมีการประกาศให้อภัยโทษนักโทษในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่สงกรานต์พม่ามีแต่ความเงียบเหงา เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีการบอยคอตไม่ออกมาเริ่มเฉลิมฉลองในงานสงกรานต์ เพื่อเป็นต่อต้านกองทัพพม่า แม้ว่ากองทัพพม่าจะพยายามเชิญชวนให้คนออกมาร่วมงานก็ตาม 

นอกจากนี้ ย้อนไปเมื่อ 16 เม.ย. 2564 ช่วงเทศกาลสงกรานต์พม่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วงชิงบทบาทการบริหารประเทศจากกองทัพพม่า ประกาศจัดตั้งรัฐบาลขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมประกาศโผคณะรัฐมนตรีอีกหลายตำแหน่ง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงจาก

Myanmar Political Prisoners not Among 1,600 Freed in New Year Amnesty, The Irrawaddy, 18-04-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท