Skip to main content
sharethis

ศาลสั่งเพิกถอนประกัน 'ตะวัน' ในคดี ม.112 เหตุร่วมขบวนเสด็จเมื่อ 17 มี.ค. มีจุดประสงค์สร้างความวุ่นวาย และโพสต์เฟซบุ๊กซ้ำเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ตร.ศาลแจ้งว่าจะควบคุมตัวทัณฑสถานหญิงทันที ทั้งที่ทนายยังไม่ได้ทำเรื่องยื่นประกันแต่อย่างใด เจ้าตัวโพสต์ฝากสู้ต่อด้วย

20 เม.ย.2565 ทวิตเตอร์บัญชี @TLHR2014 ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (20 เม.ย.) ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกัน "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระวัย 20 ปี ในคดี มาตรา 112 ถูกกล่าวหาจากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินเมื่อ 5 มี.ค. 65 ระบุว่า การเข้าร่วมขบวนเสด็จเมื่อ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจุดประสงค์สร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และการโพสต์เฟซบุ๊กซ้ำเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ศาลอาญาได้นัดไต่สวนคำร้องเพิกถอนประกันตัว "ตะวัน" ที่ยื่นโดย ตร.สน.นางเลิ้ง

ศูนย์ทนายความฯ รายงานอีกว่า หลังจากฟังคำสั่งในวันนี้ ทำให้ ตะวัน ถูกควบคุมตัวอยู่ห้องเวรชี้ใต้ถุนศาล ต่อมา 11.37 น. ตำรวจศาลแจ้งว่าจะควบคุมตัวตะวันไปทัณฑสถานหญิงทันที ทั้งที่ทนายความยังไม่ได้ทำเรื่องยื่นประกันแต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้นเวลา 10.58 น. ตะวัน โพสต์เฟซบุ๊กข้อความสั้นๆ ว่า "ฝากสู้ต่อด้วย ออกไปสู้ก็ฝากคิดถึงกันด้วยนะ"

ทั้งนี้ศูนย์ทนายฯ รายงานรายละเอียดการไต่สวนเพิ่มเติมด้วยว่าทางศาลได้เอาเอกสารภาพถ่ายจำนวน 4 แผ่นมาประกอบการไต่สวนถอนประกันเพิ่มเติมที่ศาลเป็นผู้จัดหามาให้ทานตะวันและทนายได้ตรวจสอบเพิ่ม

โดยเอกสารดังกล่าวเป็นภาพถ่ายขณะตะวันเข้าร่วมกิจกรรมรอรับขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 และกิจกรรมเรียกร้องความยุติธรรมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรณีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ได้อำนวยการให้มีการจับกุมควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนสามคน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565 ขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดว่ามีเหตุจากกิจกรรมรอรับเสด็จในเวลาใกล้เคียงกัน และประกอบกับรายงานการสืบสวนของกลุ่ม “มังกรปฏิวัติ” โดยเอกสารอย่างหลังนี้ ศาลไม่ได้ชี้แจงว่าตำรวจเป็นผู้ยื่นต่อศาลเพิ่มเติมหรือศาลเป็นผู้จัดทำเอง 

หลังศาลให้ตะวันตรวจสอบเอกสารดังกล่าว ศาลได้ถามว่า ต้องการคำตอบเพียงว่าทานตะวันเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองครั้งดังกล่าวจริงหรือไม่ 

ทานตะวันแถลงต่อศาลยอมรับว่า เข้ารับกิจกรรมทั้งสองครั้งดังกล่าวจริง ทนายแถลงต่อว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 6 เม.ย. 2565 นั้น เป็นการร่วมรอรับขบวนเสด็จจริง แต่ทานตะวันนั่งอยู่ในพื้นที่จุดคัดกรอง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนล้อมรักษาความสงบอยู่โดยรอบ และในวันดังกล่าวเธอไม่ได้รบกวนหรือสร้างความวุ่นวายต่อขบวนเสด็จเลยแม้แต่น้อย 

ส่วนกิจกรรมวันที่ 15 เม.ย. 2565 ทนายแถลงว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จหรือสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่เป็นกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรณีเยาวชน 3 ราย อายุ 13, 16 และ 17 ปี ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ พม. เข้าจับกุมขณะนั่งรับประทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัล ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565  

จากนั้นศาลได้พูดย้ำถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ จำนวน 3 เงื่อนไข ว่าเข้าใจเงื่อนไขทั้งสามหรือไม่ และพูดอีกว่า “เอาเวลาของคุณมาสู้คดีที่มีก่อนดีกว่า อย่าเพิ่งไปสร้างคดีใหม่ สู้คดีที่มีกับศาลก่อนเพื่อแสดงเจตนาว่าบริสุทธิ์จริงๆ ทำแบบนี้มีแต่จะเพิ่มคดี เพิ่มเงื่อนไขการปล่อยตัวให้กับตัวเอง”

ทนายแย้งศาลว่า “การร่วมรับเสด็จนั้นเป็นสิ่งปกติที่ราษฎรพึงทำได้ไม่ใช่หรือ”

ศาลตอบว่า “การร่วมรับเสด็จนั้นประชาชนทุกคนสามารถทำได้ แต่กรณีของทานตะวันถือว่าผิดวิสัย ใส่เสื้อดำ ไม่ได้ใส่เสื้อเหลือง และยังถูกกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ด้วย” และได้พูดเปรียบเทียบอีกว่า “หากคุณใส่เสื้อดำไปร่วมงานแต่งงาน เขาจะให้คุณเข้างานไหม เขาคงไม่ให้คุณเข้างานหรอก เพราะมันไม่ปกติ” และบอกอีกว่า การร่วมรอรับขบวนเสด็จของผู้ต้องหาในวันที่ 6 เม.ย. 2565 หากไม่มีตำรวจอยู่ดูแลความสงบโดยรอบ ผู้ต้องหาคงจะก่อเหตุต่อขบวนเสด็จไปแล้ว

ศาลบอกอีกว่า “ตั้งแต่เป็นผู้พิพากษาทำคดีมา ยังไม่เคยเห็นใครไปทำกิจกรรมที่ผิดเงื่อนไข ขณะที่ศาลยังทำการไต่สวนไม่แล้วเสร็จเลย”

ทนายแถลงเพิ่มเติมอีกว่า “ผู้ต้องหาถูกจับกลุ่มและถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษด้วย”  ศาลตอบว่า “นั่นสิ ทำไมนักเรียนไทยมีเป็นแสนเป็นล้านคน ทำไมเขาถึงไม่ถูกรบกวนเหมือนอย่างนี้บ้าง”

ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมอีกว่า หลังศาลไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วเสร็จ ศาลได้อ่านคำสั่งต่อทันที โดย นายพริษฐ์ ปิยะนราธร มีคำสั่งถอนประกันตะวันในคดีนี้ รายละเอียดคำสั่ง มีดังนี้

“เห็นว่าตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ปรากฏภาพของผู้ต้องหาโพสต์หมายกำหนดการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ซึ่งเป็นหมายกำหนดการของวันที่ 17 มี.ค. 2565 

“แสดงว่าผู้ต้องหาทราบหมายกำหนดการเสด็จแล้ว แต่ผู้ต้องหายังคงเดินทางไปบริเวณที่มีการเสด็จตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. และอยู่ในบริเวณดังกล่าวจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ตลอดระยะเวลาที่ผู้ต้องหาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความบรรยายถึงพื้นที่โดยรอบ โดยมิได้มุ่งหมายเข้าร่วมกับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง แม้ผู้ต้องหาจะระบุข้อความว่า ‘จะไปกินแม็คก็ไม่ยอมให้ไป เพราะขบวนเสด็จพ่อหลวงจะผ่านตรงนั้น ทรงพระเจริญ’ ตามเอกสารท้ายคำร้องแผนที่ 14 

“แต่หากผู้ต้องหาต้องการไปรับประทานอาหารจริง ผู้ต้องหาสามารถระบุสถานที่รับประทานอาหารได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวได้ แต่หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ผู้ต้องหามุ่งที่จะร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งการที่ผู้ต้องหาโพสต์ตามเอกสารท้ายคำร้องแผ่นที่ 9 พร้อมบรรยายข้อความว่า ‘ขบวนเสด็จเดือดร้อน’ แม้จะเป็นภาพที่ผู้ต้องหาเคยโพสต์มาก่อน แต่ผู้ต้องหาก็เลือกที่จะโพสต์ข้อภาพดังกล่าวได้อีกหรือไม่ก็ได้ การที่ผู้ต้องหาเรื่องโพสต์ข้อความดังกล่าวอีกครั้งถือว่าผู้ต้องหากระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในคดีนี้

“อีกทั้งผู้ต้องหารับข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 และวันที่ 15 เม.ย. 2565 ผู้ต้องหาให้การรับว่าเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับตามเอกสารที่ศาลให้ตรวจดู การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงให้ถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา”

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทานตะวันถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งข้อหาขัดคำสั่งและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หลังถูกจับกุมขณะไลฟ์สดบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 65 ซึ่งต่อมาวันที่ 7 มี.ค. 65 ศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์วงเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติด EM และกำหนดเงื่อนไข 

“ห้ามมิให้ผู้ต้องหากระทำในลักษณะแบบเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” 

ภายหลังทานตะวันได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เจ้าของสำนวนคดี ได้รับรายงานว่า ทานตะวันมีความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กส่วนตัวนับได้ 10 ครั้ง และพยายามขับรถเข้าใกล้พื้นที่ขบวนเสด็จอีก 1 ครั้ง โดยตำรวจเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ในลักษณะที่น่าจะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 65 พนักงานสอบจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันทานตะวันต่อศาลอาญา และศาลได้นัดไต่สวนคำร้อง 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

อ่านรายละเอียดคำร้องขอถอนประกันได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/42298

มวลชนไปให้กำลังใจที่เรือนจำ

หลังจากแฟนเพจ "มังกรปฏิวัติ" นัดรวมตัวกันที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่เวลา 15.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประชาชนมารวมตัวกันเพื่อรอให้กำลังใจและรอผลคำสั่งศาลว่าจะให้ทานตะวันได้ประกันตัวหรือไม่

อย่างไรก็ตามหลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ทานตะวันประกันในเวลา 16.35 น. ประชาชนที่มารอให้กำลังใจต่างก็แสดงความไม่พอใจต่อคำสั่งของศาล 

เจมส์ เจษฎา ศรีปลั่ง สมาชิกเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ที่มาร่วมให้กำลังใจ “ตะวัน” หลังถูกถอนประกันที่ฑัณทสถานหญิงกลางให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า หลังทราบว่าศาลยกคำร้องขอประกันทานตะวัน มองรัฐตั้งใจขู่นักกิจกรรมให้ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหว

"ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การฝากขัง เพื่อเป็นการปรามไม่ให้มีการออกมาแสดงความเห็น เช่น การทำโพลอีกต่อไป เพราะว่าการทำโพลเป็นกระแสที่ได้รับความนิยม และคนเริ่มกลับมาแสดงความเห็น"

"ครั้งแรกๆ คนทำโพลมีแต่คนหน้าเดิมๆ อาจจะพูดได้ แต่ครั้งสองครั้งสาม ไม่ใช่ มีการแปะมากขึ้น และกระจายไปหลายๆ จังหวัด ผมมองว่ามีการตื่นตัวพอสมควรสำหรับคนรุ่นใหม่" เจมส์ กล่าว

เจมส์ กล่าวต่อว่ารู้สึกผิดหวังกับคำสั่งศาลในกรณีทานตะวันมากกับวันนี้ และยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลที่ไต่สวนเงื่อนไขประกันตัวของชลธิชา แจ้งเร็วเมื่อวานนี้ที่ศาลบอกว่าไม่สามารถเปิดเผยชื่อศาลที่ตัดสินคดีเพราะถูกคุกคามด้วย

"ผมยืนยันว่า ถ้าเขาทำถูกต้องก็ควรจะเปิดเผยชื่อเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ" เจมส์ ระบุ

เจมส์ มองว่า ถ้ารัฐต้องการปราบนักกิจกรรมด้วยวิธีนี้ มันจะไม่สำเร็จ เพราะเมื่อไม่มีทานตะวัน ก็จะมีคนใหม่ขึ้นมาอยู่ดี เพราะตอนที่แกนนำนักกิจกรรมคนือื่นๆ อย่าง เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือเบนจา อะปันถูกจับ ก็มีทานตะวัน หรือใบปอ ณัฐนิช และกลุ่มอื่นๆ ทำกิจกรรม

เขาเสนอด้วยว่า วิธีที่จะลดความไม่พอใจต่อสังคมได้ รัฐต้องลดทิฐิ และรับฟังเสียงของเด็ก

"รัฐต้องรับฟัง อยากให้เสียงนี้ไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ให้ลดทิฐิลง ถ้าหากผู้ใหญ่เริ่มรับฟังเด็ก ... ถอยคนละก้าว และหันหน้ามาคุยกัน นั่นละสังคมจะเดินหน้าต่อไปได้" เจมส์ ทิ้งท้าย

เวลา 18.00-19.00 น. มีประชาชนมาทำกิจกรรมยืน หยุด ขัง ที่หน้าประตูเรือนจำคลองเปรม เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง 

ดิว สมาชิกกลุ่มทะลุคุก อายุ 37 ปี จาก จ.เพชรบูรณ์ และผู้ร่วมกิจกรรม ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า การถอนประกันตัวของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ วันนี้เป็นกลั่นแกล้งจากภาครัฐ และมองว่าการใส่เครื่องแต่งกายสีดำไปรับเสด็จ ไม่น่าเป็นเรื่องที่ผิด

ดิว ระบุต่อว่า การฝากขังนักกิจกรรม จะไม่ทำให้นักกิจกรรมคนอื่นๆ กลัวที่จะออกมาวิจารณ์ปัญหาบ้านเมือง

“ถ้ากลัวก็คงไม่ออกมากัน ขังได้แต่ตัว แต่ใจเรามันเป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว มันฝังไว้ในสายเลือด มันต้องออกมาพูดอยู่แล้ว” ดิว กล่าว

ดิว ระบุต่อว่า เหตุผลที่เขาออกมาร่วมกิจกรรม ยืน หยุด ขัง เนื่องจากมองว่าไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดี ม.112 และโดนจับ มันเป็นการปิดปากประชาชนไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว 

“เรามองว่า การที่ทำแบบนี้มันทำให้ภาครัฐเห็นว่าพวกเรายังสู้อยู่ เราไม่ยอมแพ้กฎหมายเถื่อนที่ว่าใครออกมาเรียกร้องอะไรก็จับ คือกฎหมายของพวกคุณมันเขียนเองอยู่แล้ว คุณจะทำอะไรก็ได้ตามใจคุณ แต่ว่าเราออกมาสู้แล้ว เราไม่ยอมหยุดแน่นอน”

“ฝากบอกว่า น้องๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำ สู้ไปด้วยกัน พวกเราจะสู้กับน้องๆ และฝากถึงภาครัฐ การที่พวกคุณมาทำแบบนี้ มันทให้พวกเรากดดันมากเกิน เราก็ออกมาเรียกร้องให้มากที่สุด และทำให้พวกคุณยอมเรา” ดิว ทิ้งท้าย 

18.30 น. มวลชนยังคงมาให้กำลังใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมนำป้าย "ปล่อยเพื่อนเรา" "112 กดขี่ประชาชน" และมีการติดป้ายผ้า "ตามตะวันกลับบ้าน" ที่แนวรั้วหน้าป้ายเรือนจำคลองเปรมและร่วมกันร้องเพลง และมีกิจกรรมจุดเทียน

ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมีการกล่าวถึงบทบาทของทานตะวันในการทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาที่คอยติดตามคดีของเพื่อนนักกิจกรรมและการวางแผนและเข้าร่วมการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net