นักข่าวรัสเซียวิเคราะห์ ทำไมหัวหน้ากรมข่าวกรองรัสเซียถูกส่งเข้าคุกอันตราย

"พล.อ. อาวุโส เซอร์เก เบเซดา" หัวหน้าหน่วยข่าวกรองกรมที่ 5 ของรัสเซีย อดีตหนึ่งในนายพลที่ "ปูติน" ไว้ใจที่สุดถูกจับส่งเข้าเรือนจำซึ่งเคยเอาไว้ใช้ประหารหมู่ในยุคสตาลิน แต่นี่ไม่ใช่วิธีการทั่วไปที่ปูตินใช้กับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนอื่นๆ และปูตินก็ปล่อยให้เบเซดาอยู่ต่อแม้เคยทำงานพลาดมาหลายครั้ง อันเดร โซลดาตอฟ นักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียง วิเคราะห์เหตุผลว่าสาเหตุที่แท้จริงอาจเป็นเพราะความหวาดระแวงของปูตินต่องานข่าวกรองอเมริกา ด้วยเหตุนี้ เซอร์เก เบเซดา จึงตกเป็นเป้าของการ "หาที่ลง"

พล.อ. อาวุโส เซอร์เก เบเซดา ภาพจากเว็บไซต์ของ FSB

อันเดร โซลดาตอฟ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านหน่วยงานข่าวกรองของรัสเซีย เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงในเว็บไซต์ของสำนักข่าวมอสโกทามส์ว่า พล.อ. อาวุโส เซอร์เกย์ เบเซดา หัวหน้ากรมที่ 5 ของหน่วยความมั่นคงกลางแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (หรือ FSB) ขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเลฟอร์โตโว หลังถูกสั่งกักบริเวณอยู่ในบ้านมาตั้งแต่ช่วงหลายเดือน มี.ค.

ก่อนหน้านี้มีข่าวลือเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างเบเซดาและวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซียพยายามอธิบายการจับกุมเบเซดาว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ โดยนำเสนอว่าเป็นการจับกุมเพื่อพาตัวมาสอบปากคำเท่านั้น แต่การพาตัวเบเซดาไปไว้ที่หนึ่งในเรือนจำที่อันตรายที่สุดของรัสเซีย ซึ่งได้รับการบอกเล่าโดยแหล่งข่าวของอันเดร ไม่ใช่กระบวนการทำงานตามปกติแต่อย่างใด

การจับกุม พล.อ. อาวุโส เบเซดา สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไประหว่างประธานาธิบดีและหน่วยข่าวกรองของรัสเซียได้เป็นอย่างดี หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ปูตินบังคับให้เรียกว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" กำลังเข้าสู่เดือนที่ 2 และต้องล่าถอยจากกรุงเคียฟไปโจมตีทางตะวันออกของยูเครนแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าว่าจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ยึดเมืองหลวงของยูเครนให้ได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

หน่วยข่าวกรองกรมที่ 5 ของรัสเซียมีความเป็นมาที่น่าสนใจ กรมที่ 5 เคยเป็นหน่วยงานเล็กๆ เพียงแห่งเดียวที่ได้รับการก่อตั้งโดยปูติน ขณะที่ปูตินเป็นผู้อำนวยการของ FSB ในปี 2541 โดยมีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานระดับภูมิภาคที่รับผิดชอบในการรับสมัครชาวต่างชาติ 20 ปีหลังจากการก่อตั้ง กรมที่ 5 กลายเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจอย่างมาก และมีขอบเขตอำนาจในการสอดแนมประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประเทศเหล่านี้อยู่ในเขตอิทธิพลของรัสเซีย

เซอร์เกย์ เบเซดา ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของกรมที่ 5 นี้ เคยเป็นหนึ่งในนายพลที่ปูตินไว้ใจที่สุด เขาเริ่มสายอาชีพของตัวเองที่กรมปฏิบัติการต่อต้านข่าวกรอง ซึ่งเป็นสถานที่รวมของคนที่เก่งที่สุดของ FSB ไว้ด้วยกัน เบเซดาเคยได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยของวาเลนติน คลีเมนโก หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อต้านปฏิบัติการข่าวกรองของหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา (หรือ CIA) ในกรุงมอสโก แต่สิ่งที่ย้อนแย้งคือคลิเมนโกเป็นหนึ่งในผู้ติดต่อประสานงานหลักของ CIA ในกรุงมอสโก ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และช่วงต้นทศวรรษที่ 2000

ในช่วงต้น 2003 เมื่อหน่วยงานเล็กๆ ที่ก่อตั้งโดยปูตินได้รับการเลื่อนสถานะกลายเป็นกรมที่ 5 อย่างเต็มภาคภูมิ อันเดร โซลดาตอฟ นักข่าวของมอสโกทามส์ได้ทำการสืบสวนสอบสวนปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองนี้ พบว่ากรมที่ 5 ยังคงปฏิบัติการในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเป็นหลัก แต่ได้รับภารกิจเพิ่มประการหนึ่ง ซึ่งเป็นงานละเอียดอ่อน นั่นคือการเข้ามาทำหน้าที่แทนหน่วยงานของคลิเมนโกในฐานะผู้ติดต่อประสานงานหลักกับ CIA เบเซดาซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของคลิเมนโก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของกรมใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง

งานของกรมที่ 5 ก่อให้เกิดหายนะทางการทูตหลายต่อหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ของเบเซดามักถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะปฏิบัติการในต่างประเทศ เช่นที่ อับคาเซีย (ตอนใต้ของจอร์เจียที่ประกาศตนเองเป็นรัฐเอกราช) มอลโดวา และยูเครนโดยเบเซดาเคยปรากฎตัวอยู่ระหว่างที่เกิดการปฏิวัติไมดานด้วย แต่ไม่ว่าผิดพลาดอย่างไร ปูตินก็ยังคงเก็บเบเซดาไว้ โดยกรมที่ 5 มีขอบเขตงานหลักในการให้ข่าวกรองเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในยูเครน และบ่มเพาะพลังทางการเมืองในยูเครนเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลรัสเซีย

แต่ปูตินไม่เก็บเบเซดาไว้อีกต่อไปหลังการรุกรานยูเครน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อันเดร โซลดาตอฟ เห็นว่าอาจมีเหตุผลอธิบายได้หลายอย่าง บ้างบอกว่าเป็นเพราะกรมไม่สามารถให้ข่าวกรองที่มีประโยชน์ได้ก่อนการรุกรานยูเครน ทำให้รัสเซียประสบความล้มเหลวในการบุกยึดกรุงเคียฟ ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวใน FSB เห็นว่าเป็นเพราะเบเซดาล้มเหลวในการสร้างและให้ทุนสนับสนุนแก่ฝ่ายสนับสนุนรัสเซียในยูเครน เหตุผลเหล่านี้แหล่งข่าวต่างๆ ระบุว่าถูกใช้เป็นเหตุผลของการสอบสวนอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม อันเดร โซลดาตอฟ เห็นว่าเหตุผลเหล่านี้ไม่เพียงพออธิบายได้ว่าทำไมปูตินถึงตัดสินใจส่งเบเซดาเข้าเรือนจำเลฟอร์โตโว โดยใช้ชื่อปลอมเพื่อปกปิดการกักขัง เลฟอร์โตโวเป็นเรือนจำเพียงแห่งเดียวที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ FSB และมีชื่อเสียงไม่ดีนักมาจากเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 ปัจจุบันเรือนจำดังกล่าวยังมีสนามยิงเป้าที่เต็มไปด้วยรูกระสุนมาจากช่วงที่รัฐบาลสตาลินทำการกวาดล้างครั้งใหญ่ และใช้เรือนจำนี้เพื่อประหารคนทีละมากๆ ในอดีต

ปูตินมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การไล่เบเซดาออก แบบเดียวกับที่ทำกับโรมัน กาฟริโลฟ รองผู้บัญชาการกองกำลังปกป้องชาติแห่งรัสเซีย (National Guard) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีปูติน มีสถานะแยกขาดจากกองทัพปกติของรัสเซีย (มีหน้าที่ปกป้องชายแดน ควบคุมการถือครองปืน ต่อต้านการก่อการร้าย และขบวนการอาชญากรรมในประเทศ) ปูตินสามารถส่งเบเซดาไปหน่วยงานอื่นๆ ได้เช่นกัน แบบที่เคยทำกับ พล.อ.โอเลก ไซโรโมโลตอฟ อดีตรองผู้อำนวยการ FSB ซึ่งถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศแทน แทนที่จะทำแบบนั้น ปูตินกลับส่งเบเซดาเข้าเรือนจำที่อันตราย

อันเดร โซดาตอฟ ให้ความเห็นว่าคำอธิบายที่น่าจะเป็นมากที่สุดคือกรมที่ 5 ของเบเซดายังคงมีหน้าที่ในการเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับ CIA อยู่ เพราะที่ผ่านมาหลายคนในรัฐบาลรัสเซียตั้งคำถามว่าทำไมข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาจึงมีความแม่นยำสูงอย่างมากก่อนการรุกรานยูเครน คำถามนี้ก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกัน เมื่อปูตินรู้สึกหวาดระแวงขึ้นมา เขาจะเริ่มมองหาผู้ทรยศในสถานที่และองค์กรต่างๆ ที่รับรู้กันดีว่ามีการติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วใน พ.ศ. 2559 เมื่อปูตินรู้สึกหวาดระแวง หลังหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาล่วงรู้ว่าหน่วยงานของรัสเซียเข้าไปเแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงดังกล่าว ส่งผลให้ศูนย์ความปลอดภัยข้อมูลของ FSB ถูกกวาดล้างอย่างหนัก เซอร์เก มิคาอิลอฟ รองหัวหน้าของศูนย์ดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่ให้ข้อมูลกับสหรัฐอเมริกาในประเทศต่างๆ เกี่ยวกับไซเบอร์ ถูกส่งไปยังเรือนจำเลฟอร์โตโวในทันทีโดยถูกฟ้องในข้อหากบฎ ใน พ.ศ. 2565 เมื่อปูตินรู้สึกหวาดระแวงและโกรธอีกครั้ง เซอร์เก เบเซดาจึงถูกส่งเข้าเรือนจำเลฟอร์โตโวเช่นกัน

 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท